สำหรับเดือนนี้ Hana จะพาผู้อ่านทุกท่านไปชมส่วน Function ของบ้านอีกส่วนหนึ่งที่มักจะไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่โดยส่วนตัวแล้ว Hana โปรดปรานมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นที่ที่หนอนหนังสือตัวเล็กๆ อย่าง Hana จะได้ใช้เวลาช่วงบ่ายที่มีแสงแดดอุ่นๆ นั่งอ่านหนังสือนิยายเล่มโตๆ พลางจิบกาแฟดำร้อนๆ โห..สุโขล่ะค่ะ..
Reading Space คือส่วนที่ Hana กำลังจะพูดถึงงัยล่ะคะ..
อันที่จริงแล้ว การอ่านหนังสือจัดว่าเป็นงานอดิเรกยอดฮิตที่แทบทุกคนบนโลกใบนี้ต้องรู้จัก เพราะการอ่านหนังสือเป็นการสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมาได้อย่างง่ายๆ และรวดเร็ว ปราศจากข้อจำกัดใดๆ เพียงแค่มีหนังสือดีๆ สักเล่ม ที่นั่งสบายๆ สักที่ ไม่ว่าจะเป็น ในสวน ริมระเบียง หรือปลายเตียงที่มีเบาะนุ่มๆ ให้นอนเอกเขนก แค่นี้ ก็เพียงพอต่อการมีความสุขจากการอ่านแล้วค่ะ
แต่ถ้าหากคุณเป็นหนอนหนังสือตัวยง ประเภทที่แทบจะใช้เวลาได้ทั้งวันเพื่อการอ่าน แถมยังมีหนังสือเรื่องเยี่ยมสะสมไว้เป็นกองโตเต็มบ้านแล้วละก้อ Hana ว่าน่าจะได้เวลาที่เราจะมาหาพื้นที่เพื่อสร้างเป็น Reading Space อย่างจริงจังแล้วล่ะคะ
โดยปกติแล้ว Reading Space มักจะมาควบคู่ไปกับตู้เก็บหนังสือ เพราะคงไม่มีใครที่จะอยากอ่านหนังสือที่หนึ่งแล้วเดินไปหาเล่มต่อที่ตู้ในห้องถัดไปใช่มั้ยคะ.. ดังนั้นตู้เก็บหนังสือจึงเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับพื้นที่ส่วนนี้ และไม่ว่าคุณจะมีตู้แบบง่ายๆ ที่ซื้อมาจากร้านขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน หรือสั่งทำขึ้นมา ก็ใช้ได้ทั้งนั้นคะ เพียงแต่ Hana มีข้อแนะนำนิดนึงว่า ไม่ว่าอย่างไร ตู้เก็บหนังสือโดยเฉพาะหนังสือหายาก หรือหนังสือสะสม ก็ควรจะมีหน้าบานตู้เพื่อกันฝุ่นสักหน่อยก็ดีค่ะ เพราะบางทีหนังสือจำนวนมากๆ เราก็อ่านกันไม่หมดหรือไม่ได้หยิบใช้บ่อยๆ ฝุ่นจะจับกันตามสันหนังสือหนากันเป็นนิ้วๆ แล้วพอเอาออกมาทีนึง ก็ต้องเป่าฝุ่นให้ฟุ้งกระจาย ทำเอานึกไปถึงนวนิยายสยองขวัญกันเปล่าๆ
และหากอยากจะโชว์หนังสือไปด้วย พร้อมๆ กับการกันฝุ่น ก็ลองใช้หน้าบานกระจกใสๆ สวยๆ ก็ทำให้หนังสือดูมีคุณค่าขึ้นอีกค่ะ ในกรณีที่ตู้หนังสือของเราหันหน้าเข้ารับแดดเต็มๆ ไม่ว่าจะเช้าหรือบ่าย ลองใช้บานกระจกตัดแสงสีเขียวอ่อนๆ ดู จะช่วยยืดอายุของหนังสือของเราได้อีกนานทีเดียวค่ะ
สำหรับที่นั่งอ่านหนังสือ Hana คงแนะนำให้ลองใช้เก้าอี้ที่นั่งสบายๆ นุ่มๆ และมีขนาดใหญ่สักหน่อยนึง ที่เราจะสามารถนอนเอนหลัง พลิกหน้า กลับหลังได้ตามใจชอบ เพราะเวลาอ่านหนังสือได้อารมณ์ เรามักจะอยากทำตัวให้สบายเต็มที่ เพราะฉนั้น เก้าอี้สำหรับอ่านหนังสือ ก็ไม่ควรจะเป็นทางการมากนักนะคะ
นอกจากนี้ เรื่องของแสงก็เป็นสิ่งสำคัญ ก็ถ้าเราไม่มีแสงสว่างที่เพียงพอ คงปวดลูกกะตาน่าดูเลย เวลาอ่านหนังสือนานๆ ดังนั้น Hana จึงอยากให้ Reading Space นี้ติดหน้าต่างบานใดบานหนึ่ง ถ้าเป็นไปได้ แล้วพอหน้าหนาวมาเยือน การได้เอาหน้าไปแนบกับหน้าต่างอุ่นๆ อ่านหนังสือสนุกๆเนี่ย อย่าให้ใครมากวนเชียว..เป็นเรื่องแน่ๆ
พอพูดถึงที่นั่งอ่านริมหน้าต่าง Hana เลยนึกขึ้นมาได้ว่าน่าจะพูดถึงที่นั่งริมหน้าต่างหรือ Window Seat กันสักหน่อยคะ คืออันที่จริง เจ้า Window Seat นี้มีจุดกำเนิดมาจากการพยายามใช้พื้นที่ที่ไร้ประโยชน์ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เช่น พื้นที่บริเวณห้องใต้หลังคา หรือชานพักบันไดที่มีขนาดใหญ่เกินไป ตลอดจนเฉลียงข้างบ้านที่เพิ่งจะต่อเติมใหม่ ซึ่งบางครั้ง การนำเอา Function บางอย่างไปใส่ก็ดูเหมือนจะไม่ลงตัว แต่การนำเอา Window Seat ไปใส่ ก็ทำให้พื้นที่ส่วนนั้น ดูมีประโยชน์มากขึ้นเยอะทีเดียว
Window Seat เอง ดูเหมือนจะไม่มีกฎเกณฑ์อันใดมาบังคับ เราสามารถที่จะสร้างสรรค์ให้เป็นที่นั่งแบบม้านั่งเล็กๆ แคบๆ ให้ใช้นั่งทำกิจกรรมเฉพาะบางอย่าง หรือจะเป็นที่นั่งพักระหว่างทางขึ้นบันได จนถึงจัดให้เป็นโซฟาขนาดใหญ่รูปตัว U หรือรูปตัว L เพื่อใช้รับรองแขกได้อย่างเต็มรูปแบบก็ได้ตามชอบใจค่ะ
นอกจากนี้ การที่ Window Seat จะต้องติดกับหน้าต่าง (ไม่งั้น คงไม่ได้ชื่อว่า Window Seat หรอกค่ะ) ทำให้ที่นั่งบริเวณนี้ เป็นที่นั่งที่สามารถรับแสงแดดอุ่นๆ ในหน้าหนาว ชมทิวทัศน์หรือสวนข้างบ้านตอนกลางวัน ตลอดจนนอนรับลมในตอนค่ำๆ ก็ยังได้ ทำให้บางบ้านจึงนิยมใช้รูปแบบของ Window Seat ในการตกแต่งเป็นห้อง Family หรือ ห้องพักผ่อนตามอัธยาศัย
Hana เองก็เคยเห็นบ้านจัดสรรหลายต่อหลายแห่งที่นิยมออกแบบให้ตัวบ้านมี Bay Window ซึ่งเหมาะสมกับการตกแต่งแบบ Window Seat มากๆ หากท่านผู้อ่านท่านใดมีพื้นที่แบบนี้ แล้วสนใจอยากตกแต่งให้เป็น Window Seat บ้างก็ลองดูนะคะ..
บางครั้ง การจัดส่วนหนึ่งของบ้านให้ดูเป็นห้องสมุด ก็ดูเหมือนเป็นความใฝ่ฝันของหลายต่อหลายคนเลยทีเดียว
|