ตอนที่ 1: “ศาสตร์แห่งการเก็บ”

          คนไทยกับการเก็บนั้น อยู่คู่กันมานานแสนนาน จนแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการที่มีถ้อยคำเกี่ยวกับการเก็บไว้อย่างมากมาย เช่น “เก็บเล็กผสมน้อย” ซึ่งหมายถึงการค่อยๆ สะสมทีละเล็กทีละน้อย หรือ “เก็บหอมรอบริบ” ซึ่งก็หมายถึงการสะสมเงินทอง ตลอดจน “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” นี่ก็หมายความถึงการเก็บอีกเช่นเดียวกัน


          การเก็บสำหรับคนไทย จึงหมายถึงการค่อยๆ รวบรวม หรือสะสมไว้เพื่อใช้ในภายภาคหน้า ซึ่งถือว่าหนทางที่สำคัญยิ่งในการสร้างวิถีชีวิตที่มั่นคงให้กับตนเอง แต่บางครั้งการเก็บสะสมของใช้บางอย่าง โดยไม่ยอมทิ้ง เพราะอาการเสียดาย ก็อาจจะทำให้เปลี่ยนการเก็บเล็กผสมน้อย ให้กลายเป็น “การเก็บสมบัติบ้า” ก็ได้ และที่หนักไปกว่านั้น ก็จะพาลทำให้บ้านแสนรักของคุณกลายเป็นบ้านแสน “รก” ไปได้เหมือนกัน


           บ่อยครั้งทีเดียว ที่บ้านที่คุณอุตสาห์ลงทุนตกแต่งไปมากมายหลายล้าน ต้องเปลี่ยนสภาพจากวิมานในฝัน เป็นโกดังเก็บของที่รกหูรกตา และที่สำคัญคือรกใจรกสมอง ถึงขนาดบางท่านต้องมีอาการทำงานทำการไม่ได้ เพราะมันหงุดหงิดไปหมด ไหนจะเรื่องที่ทำงานที่แสนจะวุ่นวาย พอกลับถึงบ้านยังต้องเห็นภาพวิมานที่กลายสภาพ ยิ่งคิดก็ยิ่งช้ำใจไปเลยทีเดียว

 


 
 

 
 

 


           โดยส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาของบ้านรกนี้ มักจะเกิดจากสาเหตุหลักๆ 3 ประการ ดังนี้

           1. การซื้อของเข้าบ้านมากเกินไป อันนี้เป็นสาเหตุประการแรกของปัญหาบ้านรก ซึ่งมีที่มาจากการโฆษณาแบบบ้าเลือดในปัจจุบันที่ “ยิ่งช็อปยิ่งคุ้ม” หรือ “ยิ่งซื้อยิ่งรวย” ที่มายั่วกิเลสตามรายการโทรทัศน์ต่างๆ จนบางครั้ง เราอาจจะเผลอใจไปซื้อของที่เราเองก็ไม่ได้ต้องการใช้จริงๆ แต่พอรู้สึกตัวจะทิ้ง ก็ไม่ได้เสียแล้ว เพราะซื้อมาแพง ทำให้เราๆ ท่านๆ โดยเฉพาะท่านที่มีเงินทองล้นเหลือ ต้องมีของประเภท “ขยะราคาแพง” ไว้คอยทิ่มตาเราตามมุมห้องต่างๆ ในบ้านอยู่เสมอ

           2. การสะสมโดยไม่ทิ้งเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุประการที่สอง อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วในตอนต้น ที่ว่าคนไทยเราถูกสั่งสอนมาให้รู้จักประหยัดและอดออม จนทำให้การทิ้งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นเรื่องฟุ่มเฟือย ซึ่งอย่าว่าแต่คิดจะทิ้งเลย คิดจะขายก็ยังเสียดาย ไม่เหมือนกับฝรั่ง ที่เวลาบ้านรกหรือบ้านเต็ม ก็จะเปิด Garage Sale เอาของที่ไม่คิดว่าจะใช้แล้ว มาเลหลังขายกันถูกๆ ที่โรงรถหน้าบ้านนั่นแหละ เพียงเท่านี้ ของต่างๆ ที่รกหูรกตา ก็จะหายไป เหลือพื้นที่หรือที่เก็บของไว้ให้เจ้าของบ้านออกไปซื้อของมาเตรียมเลหลังรอบใหม่ในอีกสองสามปีข้างหน้า


 
   
 

 


           3. ที่เก็บของน้อยเกินไป อันนี้เป็นสาเหตุใหญ่ประการที่สาม ซึ่งในอดีตก็ไม่ค่อยสำคัญนัก แต่ในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งที่มาก็เป็นเพราะ Trend ของการตกแต่งภายในแบบ Minimalism ที่นิยมความเรียบ ง่าย และสะอาดตา ทำให้ Designer บ้านเราในปัจจุบัน มักจะเข้าใจผิด นึกว่าออกแบบบ้านเป็นโชว์รูม เลยไม่ได้เผื่อตู้หรือชั้นสำหรับเก็บของไว้ จนต้องเดือดร้อนเจ้าของบ้านที่ต้องไปสร้างห้องเก็บของเอาใหม่แยกต่างหาก เวลาจะใช้ก็วุ่นวาย หาของก็ยากลำบาก บางครั้งของก็หาย หาไม่เจอ ซึ่งผมอยากจะบอกว่า เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะงานออกแบบไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหนก็ตาม จะมี Concept หลักที่ต้องตอบสนองต่อการใช้งานของมนุษย์เสมอ เพียงแต่ใครจะมีวิธีคิดที่ฉลาดหรือแยบยลกว่าในการสร้างความประทับใจในความงามที่ผสานไปด้วยประโยชน์ใช้สอยได้มากกว่ากันเท่านั้น การออกแบบโดยคิดแต่เพียงในด้านความสวยงามอย่างเดียว ถือเป็นการกระทำของ Designer ที่ไร้จรรยาบรรณและมักง่าย ตลอดจนเป็นการเอาเปรียบเจ้าของบ้านที่กว่าจะรู้ถึงปัญหานี้ ก็ภายหลังจากที่ได้ใช้งานไปแล้วเท่านั้น และด้วยสาเหตุในข้อนี้เอง ที่ทำให้ผมตัดสินใจเขียนบทความเกี่ยวกับ “ศาสตร์ว่าด้วยการเก็บ” นี้ขึ้นมา โดยหวังว่าจากนี้ไป งานออกแบบในบ้านเราจะสามารถยกระดับในการตอบสนองต่อการใช้สอยได้ดีมากยิ่งขึ้น มีความสวยงามและความชาญฉลาดในการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ของเจ้าของบ้านได้ตรงและถูกต้องมากขึ้น

 

 
   
 

 


           มาถึงตอนนี้ เราคงจะทราบถึงสาเหตุของปัญหา “บ้านรก” กันแล้วนะครับ โดยบทความที่ผมเขียนขึ้นนี้ จะเน้นในเรื่องของการแก้ไขสาเหตุในข้อที่ 3 ที่เป็นผลมาจากการออกแบบ โดยทิ้งสาเหตุใหญ่ในสองข้อแรกให้กับท่านเจ้าของบ้านช่วยพิจารณาและแก้ไขด้วยตนเองครับ

           สำหรับบทความนี้ ผมตั้งใจที่จะแบ่งออกเป็น 3 ตอน โดยตอนแรกนี้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักพื้นฐานของงานออกแบบและรูปแบบของที่เก็บของแบบต่างๆ ส่วนในตอนที่สองจะเกี่ยวข้องกับเทคนิคและรูปแบบของการเก็บของในห้องต่างๆ ภายในบ้าน และในตอนสุดท้าย จะเป็นเรื่องที่ว่าด้วยการจัดวางและการบริหารของที่จะจัดเก็บ

           รู้จักกับของที่ต้องจัดเก็บ

           ก่อนที่เราจะไปถึงพื้นฐานของงานออกแบบที่เก็บของชนิดต่างๆ ผมอยากจะขอให้ท่านมารู้จักกับของที่ต้องจัดเก็บกันเสียก่อน ของเหล่านี้ บางท่านอาจจะบอกว่าท่านรู้จักของๆ ท่านดีอยู่แล้ว ไม่ต้องมาแนะนำให้รู้จักกันให้เสียเวลาอีกก็ได้

           ซึ่งผมก็เชื่อเช่นกันว่า ท่านคงจะรู้จักกับของๆ ท่านดีอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นจะเสียเงินซื้อมาทำไม ใช่มั้ยครับ เพียงแต่ท่านสามารถแยกประเภทของต่างๆ ที่ท่านซื้อมาได้หรือไม่ การแยกประเภทเพื่อให้การจัดเก็บเป็นไปด้วยความง่ายและราบรื่นนั้น เราจำเป็นต้องแบ่งออกเป็น 4 ชนิดจำแนกออกตามการใช้งาน อันได้แก่

 

 
   
 

 


           1. ของที่ต้องเก็บเพื่อโชว์ (Show Items)
ของเหล่านี้ มักจะเป็นของที่ท่านถูกใจและซื้อมาเพื่อสะสม หรือซื้อมาเพื่อแสดงให้แขกได้ชื่นชม รวมไปถึง “ความทรงจำ” ของท่าน ที่อาจจะมาในรูปของภาพถ่าย ภาพเขียน หรือเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวท่านและครอบครัว หรืออาจจะเป็นหนังสือประเภทต่างๆ ซึ่งโดยมากของเหล่านี้ เราจะจัดเก็บใน “ตู้โชว์” หรือชั้นที่วางในห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่นเป็นหลัก และเราจะให้อยู่ในกลุ่ม “เก็บเพื่อโชว์” ครับ


           2. ของที่เก็บเพื่อใช้งาน (Daily-use Items)
ของเหล่านี้ จะถูกเก็บไว้ในที่ๆ มิดชิดกว่าของแบบแรก เพราะมักจะเป็นของใช้ประจำวันเสียเป็นส่วนใหญ่ จำพวกเสื้อผ้า เครื่องใช้จิปาถะ ตลอดจนแผ่น CD, DVD จำนวนมากมาย เป็นต้น โดยของเหล่านี้ จะเป็นของที่เรามักจะไม่โชว์ให้ใครเห็น (ไม่ว่าจะเพื่อความเป็นส่วนตัว เช่นเสื้อผ้า หรือเพื่อไม่ให้รกหูรกตา เช่น CD) โดยอาจจะเก็บไว้ค่อนข้างมิดชิด แต่ก็จำเป็นต้องเข้าถึงได้ง่าย (Easy-to-Access) เพราะต้องใช้งานเป็นประจำทุกวัน โดยของเหล่านี้ มักจะมี “ตู้” ชนิดต่างๆ ทำหน้าที่ในการเก็บครับ


           3. ของที่เก็บสำรองไว้ใช้งาน (Live Stock)

หมายถึงของที่เราจัดเก็บเพื่อสำรองไว้ใช้งานโดยมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น ผ้าขนหนูสำรองที่ใช้เปลี่ยนทุก 3 วัน ผ้าปูเตียงสำรองที่เปลี่ยนทุกสัปดาห์ ชุดจานชามที่เปลี่ยนใช้ทุกเทศกาล หรือแม้กระทั่ง กระดาษชำระที่นำมาทดแทนเมื่อม้วนเก่าหมดไป เป็นต้น โดยสิ่งของเหล่านี้ จำเป็นต้องเก็บไว้ค่อนข้างมิดชิด (เพราะมักจะรก) แต่ก็จะต้องเข้าถึงได้ง่ายเช่นเดียวกัน (แม้ว่าจะไม่ง่ายเท่ากับของประเภทที่ 2) เราจึงมักจะมีเก็บของเหล่านี้ไว้ในห้องเก็บของ หรืออาจจะเก็บในตู้ขนาดใหญ่ในห้องครัวก็ได้


           4. ของที่เก็บสะสมไว้เผื่ออนาคต (Dead Stock)

หมายถึงของที่เราซื้อมาเก็บสะสมไว้สำหรับใช้ในอนาคต โดยไม่มีกำหนดเวลาใช้ที่ตายตัวแน่นอน ซึ่งของเหล่านี้ อาจจะหมายรวมถึงของสะสมขนาดใหญ่ ที่เราจะเลือกโชว์ตามโอกาส เช่น ภาพเขียนหรือ ประติมากรรม รวมถึงชุดแฟนซีต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะรวมถึงกระเบื้องหลังคาสำรอง, กระเบื้องพื้น, Wallpaper ม้วนสำรองที่เก็บไว้เพื่อใช้ในกรณีซ่อมบ้าน ซึ่งบางบ้านอาจจะมีของประเภทนี้ แต่บางบ้านอาจจะไม่มีก็ได้ แต่โดยมากของเหล่านี้ เรามักจะเก็บไว้ในห้องเก็บของใต้หลังคา หรือห้องเก็บของนอกบ้าน

 

 
   
 

 


           ประเภทของที่เก็บของ

           เอาล่ะครับ หากทุกท่านอ่านมาถึงตรงนี้ คงพอจะรู้จักแล้วว่าสิ่งของต่างๆ ที่เราซื้อมานั้น มักจะสามารถจัดให้อยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งเสมอ และเมื่อเรารู้จักแยกประเภทของสิ่งของภายในบ้านของเราแล้ว เราก็จะสามารถเลือกใช้ “อาวุธ” เพื่อจัดการกับสิ่งของที่เป็นต้นตอของปัญหา “บ้านรก” ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วล่ะครับ


           สำหรับบ้านพักอาศัย ผมอยากจะขอแยกประเภทของที่เก็บของออกเป็น 3 ประเภทตามลักษณะทางกายภาพ ดังนี้นะครับ


           1. ตู้แบบลอยตัว (Movable Furniture หรือ Loose Furniture)

ตู้แบบนี้จะมีขนาดเล็ก และสามารถเคลื่อนย้ายได้ เหมาะสำหรับเก็บของกระจุกกระจิกที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ที่สามารถเรียกใช้ได้ในทันที โดยมากเรามักจะวางตู้ลอยตัวเหล่านี้ไว้ตามห้องต่างๆ เพื่อเก็บของเฉพาะในห้องนั้นๆ ตัวอย่างของตู้เหล่านี้ ได้แก่ ตู้ข้างเตียงที่มีลิ้นชัก (Night Table) ตู้ลิ้นชักในห้องรับแขก (Chest of Drawers) หรือแม้กระทั่งตู้ข้างโต๊ะทำงาน เป็นต้น ตู้ประเภทนี้ มักจะมีรูปแบบที่สวยงาม และสร้างอารมณ์ให้กับงานตกแต่งได้เป็นอย่างดี


           2. ตู้แบบติดตั้งกับที่ (Built-in Furniture)

ตู้ชนิดที่สองนี้ จะเป็นตู้ที่มีหน้าที่เก็บของโดยเฉพาะ จะแข็งแรง ทนทาน เก็บของได้มากและมีประสิทธิภาพสูง มักจะออกแบบให้สูงเต็มผนังเพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มที่ และแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นที่จะสะสมบนหลังตู้ ในงานออกแบบยุคแรกๆ มักจะมีบานตู้ปิดทึบคล้ายผนัง แต่ในปัจจุบัน งานออกแบบตู้ประเภทนี้ได้พัฒนาไปมาก จนกลายเป็นตู้ที่ใช้วางของโชว์ และมักจะเป็นตัวกำหนด Style หรือ Theme ของบ้านอีกด้วย

 

 
   
 

 


           3. ห้องเก็บของ (Storage)
เป็นห้องที่มักจะถูกลืม และยิ่งในปัจจุบัน ที่ราคาค่าที่ดินหรือห้องพักใจกลางเมืองที่มีราคาสูงขึ้นมาก ห้องเก็บของก็อาจจะถูกกลืนหายไปได้ง่ายๆ ทั้งๆที่เป็นห้องที่มีประโยชน์ที่สุดห้องหนึ่งของบ้าน แต่สำหรับบ้านที่พอมีบริเวณ ผมอยากจะแนะนำให้กำหนดพื้นที่ห้องเก็บของไว้อย่างน้อย 2 ห้อง โดยห้องแรกมีพื้นที่ประมาณ 5-10 ตารางเมตรสำหรับเก็บของสำรองไว้ใช้ในบ้าน และห้องที่ 2 ที่อาจจะมีขนาดเล็กหน่อย สักประมาณ 2-4 ตารางเมตร ไว้เก็บของที่ไว้เผื่อในกรณีซ่อมแซมบ้าน หรือของใช้ที่นานๆ จะใช้สักครั้ง


           ในที่สุด ผมก็ได้แนะนำท่านให้ได้รู้จักกับปัญหา “บ้านรก” และสาเหตุของปัญหา ตลอดจนแยกประเภทของสิ่งของต่างๆ ในบ้าน รวมถึงประเภทของที่เก็บของที่แอบแฝงอยู่ในบ้านของท่าน เป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ สำหรับเดือนหน้า ผมจะนำเอาตัวอย่างของตู้แบบต่างๆ ที่มีแนวความคิดใหม่ๆ มานำเสนอ เพื่อจุดประกาย หรือสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านนำไปปรับใช้ทั้งกับบ้านที่อยู่ในปัจจุบัน และบ้านที่กำลังจะสร้างใหม่นะครับ
สำหรับเดือนนี้ ผมขอตัวก่อนครับ สวัสดีครับ

 

 
  -- X10 --        
           
           
 
 
Home | About Bareo | News & Events | Art of Design | Decor Guide | The Gallery | Living Young | Talk to Editor | Links
 
บริษัท บาริโอ จำกัด
50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700 Tel. 66 2881 8536-7 Fax. 66 2881 8538