|
ขออนุญาตลอกชื่อจากหนังซีรีส์เกาหลีก็แล้วกันนะครับ เพราะผมมีเหตุบังเอิญได้ไปถ่ายภาพพลุเฉลิมพระเกียรติที่เมืองทองธานี ที่มีการประกวดแข่งขันพลุระหว่างสามชาติ อันได้แก่ ออสเตรเลีย, อิตาลี และประเทศจีน
โดยที่มาของการไปถ่ายภาพในครั้งนี้ เกิดจากเพื่อนคนหนึ่งของผมได้รับบัตรเชิญจากคณะกรรมการจัดงานมาหลายใบด้วยกัน แล้วบัตรใบหนึ่งก็สามารถเข้างานได้สองคน เพื่อนของผมเลยนำเอาบัตรมาแจกจ่ายให้พรรคพวกเพื่อนร่วมก๊วนไปถ่ายภาพพลุด้วยกัน
|
|
|
|
|
|
พอพวกเราในก๊วนได้ทราบข่าว ก็ไม่รู้ว่าจะดีใจหรือเสียใจดี เพราะปีที่แล้ว มีคนที่ไปถ่ายภาพพลุที่เดียวกันนี้แหละ และกลับมาโอดครวญถึงปัญหาการจราจรที่เหนือคำบรรยาย โดยกว่าจะหลุดจากเมืองทองได้ ก็ปาเข้าไปเที่ยงคืน แถมบางคนยังไม่ได้ภาพสวย เพราะมีแต่ฝูงชนมากันแน่นขนัด ทำให้กางขาตั้งกล้องลำบาก
ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท พวกเราจึงตกลงที่จะเอาคนขับรถไปช่วยขับให้ และออกเดินทางไปที่งานตั้งแต่ช่วงบ่าย เพื่อไปดูทำเลก่อน จากนั้น ก็ไปรวมตัวกันในงานนิทรรศการที่ Impact เพื่อฆ่าเวลาและทานอาหารเย็นให้เรียบร้อย
เมื่อถึงเวลาหกโมงเย็น พวกเราก็ให้คนขับรถพาไปส่งที่หน้างาน และไปวนหาที่จอด โดยสรุปให้จอดในที่จอดรถของ Impact ก่อน เพราะมีการจัดระเบียบและน่าจะออกได้ง่ายกว่าที่จอดรถของงานแสดงพลุที่ต้องจอดกลางแจ้ง และซ้อนคัน ซึ่งน่าจะออกได้ยากเมื่องานเลิก
|
|
|
|
|
|
จากนั้น พวกเราก็ได้เดินเข้าไปในงาน ซึ่งทางคณะกรรมการได้มีการแบ่งพื้นที่กั้นระหว่างผู้ที่มีบัตรกับประชาชนทั่วไป แต่เนื่องจากพวกเรามีกล้องถ่ายรูปมาด้วย เลยจำเป็นต้องไปเข้าอีกประตูหนึ่งที่มีการตรวจสอบอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย
หลังจากเข้ามาในงานได้ พวกเราก็เดินไปหาสถานที่ที่น่าจะตั้งกล้องได้เหมาะสมที่สุด ซึ่งพวกเราก็เลือกเอาริมทะเลสาบเป็นฐานที่มั่น โดยในระหว่างนั้น ก็ได้มีบรรดาตากล้องทั้งหลายค่อยๆ ทยอยมายึดบริเวณโดยรอบจนเต็ม จากนั้น พวกเราก็มีการทบทวนความรู้กันเล็กน้อย เพื่อเตรียมถ่ายภาพพลุกัน
เมื่อได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ ประธานในพิธีกล่าวเปิดงานเสร็จ พวกเราก็พร้อมที่จะถ่ายภาพพลุกัน โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้ามาพูดคุยกันพวกเราหลายท่าน โดยมาก จะเข้ามาแนะนำถึงจุดที่พลุของชาติต่างๆ ที่จะขึ้น ตลอดจนอธิบายคร่าวๆ ถึงลักษณะของพลุชาติต่างๆ
|
|
|
|
|
|
ออสเตรเลียเป็นชาติแรกที่นำเสนอพลุประกอบเสียงเพลงได้อย่างน่าประทับใจ มีลูกเล่นและลีลาหลากหลาย ทั้งยังมีเส้นสายของพลุสีประกอบ ทำให้พวกเราชมพลุกันได้อย่างสนุก เสียแต่ว่าตอนแรก พวกเรายังไม่ค่อยพร้อมเท่าไร การปรับกล้องก็ยังไม่เข้าที่นัก เพราะนานๆ จะได้ถ่ายพลุสักที ภาพในตอนต้นก็เลยหลุดไปเยอะเหมือนกัน น่าเสียดายมาก
อิตาลี เป็นชาติต่อมาที่นำเสนอพลุที่มีสีสันสวยงามมาก เหมือนกับภาพ Painting (ลองดูภาพประกอบ - ส่วนใหญ่เป็นแนวตั้งทั้งหมด) ดูแล้วชอบมาก เสียแต่ว่าพลุจะมีขนาดเล็ก และยังเกิดไฟไหม้ที่ฐานยิงพลุ ทำให้เกิดควันหนาลอยมารบกวนพลุเสียนี่ เลยเสียคะแนนไปเยอะ ทั้งๆ ที่เป็นตัวเต็งที่น่าจะชนะในคราวนี้
จีน ซึ่งเป็นผู้ชนะในครั้งนี้ ได้นำเสนอพลุประกอบเพลงได้อย่างอ่อนช้อย น่าประทับใจ มีลีลาที่ถูกใจชาวเอเชียอย่างพวกเรามาก เลยได้คะแนนไปโขทีเดียว แต่พลุของจีน มักจะเน้นใหญ่ และกลมๆ ไม่ค่อยมีลูกเล่นมากนัก เรียกว่าอาศัยจังหวะและเสียงเพลงเก็บคะแนนซะมากกว่า...
|
|
|
|
|
|
หากถามว่าใจผมเทคะแนนเลือกชาติไหน ตอนแรกผมก็เลือกไม่ถูก เพราะรู้สึกว่าพลุของจีนถ่ายภาพง่าย มีลีลา แต่พอกลับมาดูจากภาพแล้วพบว่าพลุของจีนเน้นใหญ่ เป็นหลัก แต่ลูกเล่นมีน้อย สู้พลุของออสเตรเลียไม่ได้ ดูดีและมีลูกเล่นแพรวพราวไปหมด น่าประทับใจมาก แต่ที่โดนใจสุดๆ ตอนที่ดูจากจอ LCD หลังกล้องต้องเป็นสีของพลุจากอิตาลีที่ให้ความรู้สึกเหมือนภาพ Painting มากๆ
แต่สุดท้าย เมื่อกลับมาทำภาพเสร็จเรียบร้อย ผมตัดสินใจเลือกพลุจากออสเตรเลียครับ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ชนะในครั้งนี้ แต่พลุของออสเตรเลียนำเสนอได้อย่างหลากหลาย และที่สำคัญที่สุด คือมีภาพพลุหัวใจสุดสวยที่ผมบันทึกภาพได้โดยบังเอิญ และนำมาฝากทุกท่าน เนื่องในโอกาสเดือนมหามงคลของชาวไทยเราทุกคนด้วยครับ
|
|
|
|
|
|
ปล. หลังจากงานแสดงพลุเสร็จสิ้น พวกเราก็ได้บันทึกภาพที่ประชาชนที่เข้าไปชมงาน ยืนร่วมร้องถวายพระพรองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราจนงานเลิก จากนั้นพวกเราก็รีบเดินไปขึ้นรถที่คนขับรถของเราได้นำมาจอดไว้บริเวณทางขึ้นทางด่วน ทำให้พวกเราสามารถออกจากบริเวณนั้นได้อย่างรวดเร็วและกลับถึงบ้านได้โดยสวัสดิภาพ
ขอขอบคุณคุณ KC ที่ได้เอื้อเฟื้อนำบัตรเชิญมาแจกให้พวกเราได้เข้าไปถ่ายภาพในงานพลุนี้ได้อย่างสนุกสนาน และมีความสุขครับ
|
|
|
|
|
|
Tips: การถ่ายภาพพลุให้สวย
- โดยพื้นฐานแล้ว การถ่ายภาพพลุจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องที่ค่อนข้างมั่นคงเหมาะสมกับขนาดและน้ำหนักของตัวกล้อง เพราะภาพพลุที่สวยมักจะต้องใช้เวลาบันทึกภาพที่ค่อนข้างนานกว่าปกติ (ตั้งแต่ 2-8 วินาที)
- ในการถ่ายภาพพลุ ควรเลือกใช้เลนส์มุมกว้าง ประมาณ 17-35 มม. (สำหรับกล้อง DSLR ที่มีตัวคูณ) หรือประมาณ 24-50 มม. สำหรับกล้อง DSLR แบบ Full frame หรือกล้อง SLR
- กล้องที่ใช้ถ่ายภาพ ควรเลือกระยะเวลาบันทึกภาพแบบ B (Bulb) ได้ เพราะเราจะเลือกได้ว่าจะบันทึกภาพพลุนานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งโดยมาก กล้องถ่ายรูปแบบ SLR และ DSLR จะมีให้เลือก B ได้เมื่อปรับ Mode การถ่ายภาพให้อยู่ใน Mode M และหมุนเลือกระยะเวลาการถ่ายภาพไปจนสุด ก็จะเจอ B ขึ้นมาครับ
|
|
|
|
|
|
- ตั้ง ISO ให้ต่ำที่สุด เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด และเปิดหน้ากล้องประมาณ F/8 ขึ้นไป
- ให้ปิด Noise Reduction ในตัวกล้อง เพื่อให้ระยะเวลาการทำงานของกล้องน้อยลง และกลับมาถ่ายภาพใหม่ได้เร็วมากขึ้น
- เมื่อเริ่มถ่ายภาพพลุ อย่ามองในช่อง Viewfinder แต่ให้มองที่ตัวพลุโดยตรง และรอจนพลุเริ่มโต จึงค่อยกดชัตเตอร์
- เมื่อพลุเริ่มโรย ก็ให้ปิดชัตเตอร์ แต่หากต้องการถ่ายภาพพลุที่ซ้อนกันหลายลูก ก็ให้หาผ้าดำมาคลุมหน้ากล้องเมื่อพลุลูกแรกเริ่มโรย และเปิดผ้าออกเมื่อพลุเริ่มขึ้นมาใหม่ จนครบตามที่ต้องการ
- พยายามระวัง อย่าบันทึกภาพพลุที่นานเกินไป เพราะพลุจะไม่คม และส่วนสว่างของพลุจะขาดรายละเอียด
|
|
|
|
|
|
|
-- Isyss --
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|