“อู่เยว่กุยหลาย ปู๋ค่านซาน, หวงซานกุยหลาย ปู๋ค่านเยว่”
          “ไปห้าภู กลับมาจะไม่มองภูเขาอื่น, ไปหวงซาน กลับมาจะไม่มองภูทั้งห้า”

          คำบรรยายที่สุดอลังการนี้เป็นของสีวีเซี่ยเค่อ นักเดินทางสมัยราชวงศ์หมิง ที่กล่าวบรรยายชมภูเขาหวงซานว่าเป็นที่สุดของที่สุดของภูเขาทั้งปวง โดยเขาได้กล่าวถึงภูเขาที่สวยที่สุดของจีนทั้งห้า อันได้แก่ ไท่ซานแห่งมณฑลชานตง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก, เห็งซานแห่งมณฑลซานซี ตั้งอยู่ทิศเหนือ, เหิงซานแห่งมณฑลหูหนานอยู่ทางทิศใต้, ฮว๋าซาน (หัวซาน หรือฮั่วซัว) แห่งมณฑลส่านซี อยู่ทิศตะวันตก และซงซานแห่งมณฑลเหอหนาน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกลางของภูเขาทั้งสี่ (เขียนไป ก็นึกถึง “มังกรหยก” ของกิมย้ง ที่มี ภูตบูรพา, ยาจกอุดร, พิษปัจฉิม, ราชันทักษิณ และพหูสูตรศูนย์กลาง นอกจากนี้ ภูทั้งห้านี้ยังเป็นฉากสำคัญในเรื่อง “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ของกิมย้งอีกด้วย)


          ภูเขาทั้งห้านี้ ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมากของจีน แต่ในบรรดาภูเขาเหล่านี้ กลับไม่มีภูเขาใดจะเทียบเคียงกับความงามของ “หวงซาน” แห่งมณฑลอานฮุย (Anhui) ได้เลย และเพราะคำบรรยายที่สุดอลังการนี้ ทำให้ผมและครอบครัวเกิดความรู้สึกอยากจะพิสูจน์ว่า “หวงซาน” จะสวยงามและยิ่งใหญ่สมกับคำร่ำลือหรือไม่


          ประเทศจีนเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศที่หลากหลายและสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภูเขา” เนื่องจากประเทศจีนจะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเปลือกโลกส่วนที่เลื่อนเข้าหากันเป็นเวลาหลายล้านปี จึงทำให้เกิดพื้นดินส่วนที่ถูกดันขึ้นมาจนกลายเป็นภูเขา และมีภูเขาที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ภูเขาหิมะมังกรหยก” (Jade Dragon Snow Mountain) หรือ “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์เหมยลี่” (Meili Seishan) ที่ผมเคยไปสัมผัสมาแล้ว และความงามของภูเขาเหล่านั้นยังติดตราตรึงใจผมไว้ไม่รู้ลืม ดังนั้น การที่จะมีใครมาบอกว่ามีภูเขาที่ “งดงาม” กว่าภูเขาเหล่านั้น จึงค้านกับความรู้สึกของผมมากพอสมควร


          อย่างไรก็ดี จากการหว่านล้อมของภรรยาผม เธอพยายามยกเหตุต่างๆ นานามาอ้าง แต่สุดท้ายที่โดนใจผมมากที่สุด คงไม่พ้นว่า หากไปถึงหวงซาน เรายังจะมีโอกาสได้ไปดูหมู่บ้านโบราณต่างๆ ที่รายรอบอยู่ในบริเวณนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือหมู่บ้านหงชุน (Hongcun) และซีตี้ (Xidi) ที่เป็นฉากในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องโปรดของผม “Crouching Tiger, Hidden Dragon”

 

 
   
 

 

          ดังนั้น บนเที่ยวบินของ China Eastern Airlines ในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2007 จึงมีชื่อของครอบครัวเราและ Hana บ.ก.ของเราเป็นผู้โดยสารบนเครื่องลำนั้นด้วย พวกเราขึ้นเครื่องบินจากสุวรรณภูมิใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ก็มาลงที่สนามบินผู่ตง (Pudong) ในเซี่ยงไฮ้ในช่วงบ่าย โดยเราได้ติดต่อและจองให้รถจากบริษัททัวร์ท้องถิ่นมารับเข้าเมือง ทั้งๆ ที่อยากจะนั่งรถไฟ Maglev ใจจะขาด เพราะใช้เวลาเพียงแค่ 8 นาทีในการเข้าเมือง แต่เนื่องด้วยคืนแรก เราจะบินต่อไปพักที่เมืองอื่น เราจึงไม่สะดวกที่จะแบกสัมภาระติดตัวไปไหนต่อไหนกัน จึงจำเป็นต้องใช้บริการรถตู้ เพื่อจะได้ใช้เก็บสัมภาระต่างๆ ในระหว่างที่เราออกไปตระเวณท่องตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ และใช้เดินทางกลับมาที่สนามบินอีกครั้ง เพื่อต่อเครื่องไปลงที่ถุนซี (Tunxi) ซึ่งเป็นที่หมายที่เราจะไปตะลุยสุดยอดภูเขาแห่งหวงซาน อย่างไรก็ดี พวกเราก็ต้องใช้เวลาเดินทางเข้าและออกจากเมืองโดยทางรถยนต์นานถึงเที่ยวละ 45 นาที แทนที่จะเป็น 8 นาทีบนรถไฟ


          เซี่ยงไฮ้ในช่วงที่ผมและครอบครัวไปเยือนนั้น เป็นช่วงท้าทายลมหนาวตอนปลายปีของจีนพอดี ด้วยอุณหภูมิราวๆ 7-8 องศาเซลเซียสในตอนบ่าย ทำให้พวกเราต้องเปิดกระเป๋าเอาเสื้อโค้ทอย่างหนาออกมาสร้างความอบอุ่น บวกด้วยถุงมือกันนิ้วแข็งก่อนที่จะทำกล้องถ่ายรูปตกเพราะขยับนิ้วไม่ถนัด ซึ่งบ่ายวันนั้น พวกเราก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าเดินไปที่ Super Brand Mall ที่เป็นของมหาเศรษฐีชาวไทยไปเปิดไว้ แล้วก็ไปเบียดกับหนุ่มสาวชาวจีนเพื่อเข้าคิวซื้อกาแฟ (อย่างแพง) ที่ Star Bucks แล้วก็เพิ่มน้ำหนักให้กระเป๋านิดหน่อยด้วยเสื้อกันหนาวสวยๆ อีกคนละตัวสองตัว ก่อนที่จะไปตระเวณหาร้าน Ramen แสนอร่อยในย่านนานจิงลู่ (Nanjing Lu)


           ยิ่งตกค่ำ อากาศก็ยิ่งหนาวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผมเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของ Long John ที่อยู่ในกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ที่ฝากไว้ในรถตู้ แต่โชคดีที่พวกเราหาร้าน Ramen ที่แสนอร่อยจากทริปเซี่ยงไฮ้เมื่อหลายปีที่แล้ว นั่นคือร้าน “Ajisen Ramen” ที่อัดแน่นไปด้วยลูกค้าเต็มร้าน ซึ่งอันที่จริง ร้านนี้ก็มาเปิดสาขาที่เมืองไทยเหมือนกัน แต่เมนูและรสชาดห่างกันราวกับฟ้ากับเหว การได้ทาน Ramen ร้อนๆ อร่อยๆ ในอากาศหนาวๆ ช่างเป็นความรู้สึกที่มีความสุขเหลือเกิน และด้วยเมนูที่หลากหลายบวกกับรสชาดที่แสนอร่อย ทำให้พวกเราต้องมีเบิ้ลกันอีกคนละนิดคนละหน่อย โดยไม่แคร์ต่อสายตาของอาหมวยเจ้าของประเทศที่ยืนรอคิวจนตาเขียว

 

 

 
   
 

 


          หลังจากอิ่มหนำสำราญกันเรียบร้อยแล้ว พวกเราออกมาโต้ลมหนาวที่ลดเหลือประมาณ 2 องศา แถมด้วยลมที่หนาวเย็นพัดมาเป็นระยะๆ พวกเราได้เดินดูคนจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาเดินเล่นบนถนนนานจิงลู่จนเต็มไปหมด และมีการถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกนิดหน่อยก่อนจะถึงกำหนดเวลากลับไปที่สนามบินเพื่อต่อเที่ยวบินไปลงถุนซี ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของเรา อันที่จริง ตามแผนของเรา พวกเราจะได้กลับมาตะลุยเซี่ยงไฮ้อีกรอบหลังกลับจากหวงซาน เลยไม่จำเป็นจะต้องรีบร้อนอะไรมากมายนัก


           พวกเราออกจากผู่ตงไปถึงสนามบินในถุนซีประมาณเที่ยงคืน ซึ่งผู้โดยสารส่วนใหญ่จะมีรถมารอรับ แต่พวกเราจำต้องเรียกแท็กซี่ เพราะไม่ได้เช่ารถมารอรับ เราจะใช้รถเพียงแค่ตอนที่ออกเดินทางไปที่โรงแรม และจากโรงแรมขึ้นเขาเท่านั้น โดยจะได้ใช้รถอีกครั้งก็ตอนที่กลับลงมาจากหวงซานแล้ว หากเช่ารถ เราต้องจ่ายค่าเช่าเหมารวมตลอดสี่วัน คิดอย่างไรก็ไม่คุ้ม เลยอาศัยเรียกแท็กซี่เป็นครั้งๆ ไป จะถูกกว่ามาก


          ที่สนามบิน พวกเราทั้งห้าต้องเรียกแท็กซี่เป็นสองคัน เพราะกระเป๋าของพวกเรามีขนาดยักษ์ๆ ทั้งนั้น ขึ้นท้ายรถคันเดียวไม่หมด และที่สำคัญรถแท็กซี่สองคันนั้นเป็นสองคันสุดท้ายในสนามบิน พอพวกเราขึ้นรถแล้ว คนขับรถก็ขับวนไปปิดไฟของที่จอดรถ ทำเอามืดไปหมด ก็ให้ความรู้สึกแปลกดีเหมือนกัน ที่คนขับรถช่วยประหยัดไฟให้สนามบินด้วย


          โรงแรมห่าวเซิ่ง (Hua Sheng) ที่พักของเราอยู่ห่างไปจากสนามบินแค่ห้านาที ซึ่งคนขับรถคันที่ภรรยาของผมและ Hana นั่งบอกว่า พวกเราไม่น่าจะมาพักที่โรงแรมที่ห่างจากเชิงเขาหวงซานมากขนาดนี้ เพราะจากโรงแรม เราต้องใช้เวลาเดินทางขึ้นไปบนเขาอีกชั่วโมงครึ่ง น่าจะไปพักในตัวเมืองเลย ตอนเช้าจะได้ขึ้นเขาสะดวกหน่อย ซึ่งภรรยาของผมก็บอกกับคนขับรถว่าเราจองมาล่วงหน้า และไม่รู้ด้วยว่าโรงแรมอยู่ตรงไหน หน้าตาเป็นอย่างไร ก็เลยตามเลยแล้วกัน ส่วนคนขับรถแท็กซี่คันของผม เขาไม่พูดอะไรเลย ซึ่งถึงเขาพูดมา ผมก็ฟังไม่ออกอยู่ดี

 

 
   
 

 

          เช้าวันต่อมา พวกเราลงมาที่ Coffee Shop ของโรงแรมเพื่อทานอาหารเช้า พบว่านอกจากพวกเราแล้ว ทางโรงแรมยังมีแขกอยู่อีกโต๊ะหนึ่ง ซึ่งไม่มีอาหารเช้าแบบบุฟเฟต์ไว้บริการ น่าจะเป็นเพราะแขกน้อย ทางโรงแรมเลยจัดเตรียมอาหารไว้ให้เป็นชุดๆ แทน เป็นอาหารจำพวกซาลาเปาไส้ถั่วแดง ไข่ต้ม มันต้ม และถั่วอีกหลายชนิด พวกเราก็อึ้งกันไปเล็กน้อย นึกในใจว่าคิดผิดซะแล้วที่เลือกโรงแรมที่ไกลจากหวงซาน ทำให้ไม่ค่อยมีแขกมาพัก ยิ่งช่วงหน้าหนาวซึ่งเป็นช่วง Low Season แบบนี้ เลยต้องมาทนกล้ำกลืนทานอาหารบ้านๆ แบบนี้ (แต่พวกเราก็เล่นไข่ต้มกันคนละฟองสองฟอง แบบไม่มีซีอิ๊ว เพราะเรียกชื่อไม่ถูก อาหมวยอีก็ทำหน้าชอบกล) แถมเวลาเราต้องการน้ำส้ม ก็กลายเป็นน้ำส้มแบบอุ่นๆ รู้สึกไม่คุ้นยังไงไม่รู้เหมือนกันครับ


          เอาเป็นว่า พวกเราออกจากโรงแรมตอนเก้าโมงเช้า โดยรถแท็กซี่คันเมื่อคืนที่รับอาสาไปส่งเราบนเขา (ฟันค่าโดยสารไปหลายตังค์เหมือนกัน เพราะดันไม่ได้เปรียบเทียบราคา) โดยคราวนี้ พวกเราเอากระเป๋าใหญ่ทั้งหมดฝากไว้ที่โรงแรม แล้วเอาเฉพาะกระเป๋าเล็กไปขึ้นเขา เพราะตอนอยู่บนเขา เราต้องอาศัยกำลังขาของเราเท่านั้น ในการเดิน เดิน และเดินโดยปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ยกเว้นไม้เท้า พวกเราเลยจำใจลดความสำอางลงบ้าง และเลือกเฉพาะสัมภาระที่สำคัญๆ ติดตัวขึ้นไปบนเขา


          หวงซานนี่ขึ้นชื่อมากในเรื่องของความงามของภูเขา แต่ในขณะเดียวกันก็ขึ้นชื่อเรื่องความโหด เพราะอยู่บนเขาแล้ว จะปราศจากยานพาหนะใดๆ ที่จะช่วยผ่อนแรงพวกเรา อันที่จริง ผมก็นึกถึงคนแบกเกี้ยวเหมือนกัน เพราะเคยใช้บริการที่หุบเสือกระโจน ซึ่งดูๆ แล้วก็ไม่น่าจะสูงเท่าไร แต่พอเดินขึ้นเขาไปได้ไม่ไกล ก็หมดแรงต้องนั่งดมยาดมบนเกี้ยวจนถึงข้างบน


          ที่จริงแล้ว หวงซานไม่ได้มีชื่อเสียงแค่ภูเขาเท่านั้น แต่จะมีชื่อเสียงระบือไกลถึงสี่รายการ ได้แก่ สนโบราณบนภูเขา นัยว่าเป็นสนที่มีพัฒนาการจนสามารถชอนไชรากและเติบโตได้บนก้อนหิน ชื่อเสียงอย่างที่สองคือภูเขาที่มีรูปทรงแปลกประหลาดและสวยงาม ต่อมาคือธารหมอกที่มีให้พบเห็นได้ตลอดทั้งปี (และทั้งวันด้วย หากไปในช่วงหน้าหนาวจัดๆ อย่างพวกเรา) สุดท้ายคือน้ำพุร้อน ที่พวกเราขอผ่าน เพราะหนาวออกปานนั้น ไปเที่ยวก็คงทำอะไรไม่ได้มากนัก

 

 
   
 

 

          สำหรับเรื่องไม้เท้านี่ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเดินขึ้นเขา หรือเดินระยะไกลๆ เพราะจะช่วยผ่อนแรงได้มากทีเดียว และยังช่วยป้องกันการใช้หัวเข่ามากเกินไปได้อีกด้วย (ลงจากเขา จะได้ไม่กลายเป็นคนพิการ) โดยเราไม่จำเป็นต้องซื้อไม้เท้ายี่ห้อดังๆ ราคาแพงๆ ไปจากกรุงเทพก็ได้ เพราะที่หวงซานจะมีไม้เท้าให้คุณได้เลือกอย่างจุใจ (ไม่อยากจะบอกว่าไม้เท้ายี่ห้อดังๆ หลายยี่ห้อ จ้างโรงงานในจีนผลิตให้) ไม้เท้าจะมีราคาตั้งแต่ 2 หยวน (สิบบาท) เป็นไม้เท้าที่ทำจากไม้และขัดแบบหยาบๆ ไม่ให้มีเสี้ยนมาบาดมือ ซึ่งไม้เท้านี้ จะมีราคาแพงขึ้นเมื่ออยู่บนเขา ดังนั้น ผมอยากแนะนำให้หาซื้อที่เชิงเขาและต่อราคาให้เสร็จ แต่ถ้าเป็นช่วง Peak ในเดือนมิถุนายน ราคาไม้เท้าจะแพงขึ้นไปอีก


          นอกจากนี้ ไม้เท้าอลูมิเนียมที่ยืดหดได้ และมีที่จับทำด้วยพลาสติกอย่างดี ก็มีราคาประมาณแปดสิบหยวน และจะขึ้นเป็นร้อยยี่สิบหยวนบนเขา ซึ่งโชคดีที่พวกเราไปช่วงหน้าหนาวสุดขั้ว (ตอนนั้น อุณหภูมิลดเหลือ 2 องศา แถมลมหนาวพัดมาเป็นระลอก) เลยทำให้ไม่มีลูกค้า เราก็เลยต่อราคาลงได้เหลือเพียงสี่สิบหยวน (200 บาท)


          เมื่อลงจากแท็กซี่ พวกเราก็พากันไปเลือกซื้อไม้เท้า โดยมีหนุ่มจีนสองสามคนเข้ามาสอบถามว่าจะใช้บริการยกกระเป๋าไปที่กระเช้าหรือไม่ คิดค่าบริการคนละสิบหยวน พวกเราเห็นว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับน้ำหนักกระเป๋าของพวกเรา เราก็เลยหยวนๆ ไปเหมือนกัน


          ในระหว่างที่เราเลือกซื้อไม้เท้า ก็ได้เจอหนุ่มไทยคนหนึ่งที่เพิ่งลงจากเขา เราก็เลยสอบถามข้อมูลสำคัญๆ อย่างเช่น เดินไกลมั้ย เดินเส้นทางไหนจะเห็นภาพที่สวยที่สุดและสั้นที่สุด เดินเส้นยาวที่สุดสักสองชั่วโมงพอมั้ย ฯลฯ ซึ่งนับว่าคำถามของพวกเราเป็นการบ่งบอกถึงศักยภาพในตัวเราได้เป็นอย่างดี เพราะเพื่อนใหม่ของเราทำหน้าแปลกๆ ชอบกล และพอตอบคำถามเสร็จก็รีบลาลงจากเขาไป พวกเราเลยต้องเก็บคำถามที่ยังสงสัยอยู่ไว้ไปไขคำตอบเอาเองบนเขา


          การเดินทางขึ้นไปบนเขาหวงซาน จำเป็นต้องขึ้นกระเช้า ซึ่งมีอยู่สองเส้นทาง คือเส้นทางสายหยุนกู่ (Yungu Telpher) และสายอี้ผิง (Yuping Telpher) โดยเส้นทางสายหยุนกู่ จะยาวกว่า และค่อนข้างสบายกว่า เพราะขึ้นไปใกล้กับโรงแรมที่พักของเราเลย (ดูจากแผนที่ กะว่านิดเดียว) ส่วนเส้นทางสายอี้ผิง จะสั้นกว่า และมีทางเดินที่โหดกว่า (ดูจากแผนที่อีกเหมือนกัน เห็นเขียนเส้นบันไดซะถี่ เลยไม่เลือกดีกว่า)

 

 
   
 

 


          ค่าโดยสารขึ้นกระเช้า คิดคนละแปดสิบหยวน ถ้าเด็กสูงไม่เกิน 1.20 ม. คิดครึ่งราคา และที่สำคัญในช่วง Hi Season ต้องไปรอคิวอย่างน้อยสองชั่วโมง แบบเดียวกับขึ้นเขาหิมะมังกรหยกเลยครับ แต่ก็โชคดีอีกนั่นแหละ ที่พวกเราดันเลือกไปช่วงที่คนอื่นเขาไม่ไปกัน เลยเดินปรู๊ดเดียวไปซื้อตั๋ว และอีกปรู๊ดนึงก็ขึ้นกระเช้าแล้ว เรียกว่าคนขายตั๋วยังขำๆ ที่หน้าหนาวขนาดนั้น ยังมีคนไทยอย่างพวกเราไปเที่ยวกันอีก โถ...ทีคนจีนยังบินมาดูหาดเมืองไทย คนอาหรับมาดูฝนตก ส่วนฝรั่งก็ดิ้นรนมาหาแดด แล้วทำไม คนไทยจะบินไปดูหิมะบนยอดเขาหวงซานไม่ได้ล่ะครับ...


           ตอนซื้อตั๋ว ภรรยาของผม (ซึ่งเป็นคนเดียวที่พูดภาษาจีนกลางพอได้บ้าง) ก็ขอซื้อตั๋วผู้ใหญ่สามใบ เด็กสองใบ แต่คนขายตั๋วบอกว่าเป็นผู้ใหญ่สอง เด็กสามต่างหาก คุยกันอยู่ตั้งนาน กลายเป็นว่าพวกเขาเข้าใจว่า Hana บ.ก.ของเราเป็นเด็ก เพราะเห็นว่าตัวเล็ก แถมหน้ายังเด็กกว่าอายุจริง ทำเอา บ.ก.ของเรานั่งหน้าบานบนกระเช้าจนถึงยอดเขาเชียวครับ


          แถมอีกนิดนึง การที่บ.ก.ของเราหน้าเด็กกว่าอายุ ทำให้คนเข้าใจผิดมาเยอะแล้ว เช่น มีน้องคนหนึ่งที่มักจะหิ้วอุปกรณ์ถ่ายภาพ (จากฮ่องกง) มาขายผม ยังเข้าใจผิดจนถึงป่านนี้ว่า Hana อายุน้อยกว่า ผมเลยไม่อยากจะทำร้ายจิตใจ (ของทั้งสองคน) เฉลยไปว่าอายุที่แท้จริงของ Hana เป็นเท่าไร ปล่อยให้เรียก Hana เป็นน้องต่อไปก็แล้วกัน


          เอาล่ะครับ ถึงตอนนี้แล้ว พวกเรากำลังจะขึ้นกระเช้าไปบนเขาหวงซานแล้ว แต่เนื่องด้วยผมใช้โควต้าเกินมาเยอะ เลยขอไปโม้ต่อว่าสุดยอดภูเขาของจีน ที่ว่าสวยกว่าภูเขาทุกแห่งบนพื้นปฐพี จะสวยงามแค่ไหนในเดือนหน้าก็แล้วกันนะครับ สำหรับเดือนนี้ ก็ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านสนุกสนานไปกับเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาวๆ ในเดือนนี้นะครับ สวัสดีครับ...

 


 
   
           
           
           
  -- Isyss --        
           

 

 

 
Home | About Bareo | News & Events | Art of Design | Decor Guide | The Gallery | Living Young | Talk to Editor | Links
 
บริษัท บาริโอ จำกัด
50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700 Tel. 66 2881 8536-7 Fax. 66 2881 8538
house servic, decoration design home architect architecture interior design designer homeplan residential furniture family decorat building build planning bareo cost news information structure arch drawing apartment idea bangkok develop foreman เฟอร์นิเจอร์ การซ่อมแซมบ้าน วัสดุแต่งบ้าน ห้องนอน ห้องรับแขก ห้องอาหาร ออกแบบ ตกแต่งภายใน ออกแบบตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ บ้านสวย มัณฑนากร สถาปัตย์ ตกแต่ง บาริโอ บารีโอ บริการ ปรึกษา รับสั่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ตามแบบ รับเหมาตกแต่ภายใน วรวุฒิ ธรรมกุลางกูร มยุรี ธรรมกุลางกูร