nterior design&decoration ออกแบบ ตกแต่งภายใน

 

 

 

 

                         เกิดเป็นคนไทยในประเทศนี้ คงหนีไม่พ้นต้องคุ้นเคยกับตึกแถวเรียงติดกันเป็นพรืด เต็มทุกท้องถนน ส่วนใหญ่ ก็หน้าตาคล้ายๆ กัน จนบรรดาสถาปนิกทั้งหลาย ก็พากันรังเกียจ ไม่อยากออกแบบตึกแถว ถึงกับตั้งกฎเกณฑ์ กฎหมายผังเมืองอะไรต่อมิอะไร เพื่อกีดกันบรรดาตึกแถวทั้งหลาย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ตึกแถว ก็มีประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพสำหรับบรรดา SME ทั้งน้อยใหญ่ในประเทศไทย จนหลายต่อหลายรายกลายเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีกันไปตามๆ กัน


 

 

 
   
 

 

 

                  ทีนี้ เรื่องการออกกฎหมายต่างๆ เราคงไม่เข้าไปวุ่นวาย ปล่อยให้บรรดาพวกท่านๆ ทั้งหลายทำหน้าที่กันไป ส่วนเราๆ หากมีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในตึกแถวเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลทางธุรกิจหรือการสืบทอดมรดกหรือแม้กระทั่งเพื่อทำเลที่ตั้ง ที่แสนจะสุดยอดและใจกลางเมืองก็แล้วแต่ เราก็คงหนีไม่พ้นที่จะอยากเสกสรรสวรรค์บนดินเพื่อสร้างโลกส่วนตัวที่หลบซ่อนจากความวุ่นวายเบื้องล่าง

 

                  สำหรับบทความนี้ ผมได้รับมอบหมายให้ทำการสร้างกิเลสให้กับท่านที่มีนิวาสถานประเภทอาคารพาณิชย์, ตึกแถวหรือ Town House โดยเฉพาะ


                  อันว่าตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์นั้น มีต้นกำเนิดมาจากการที่คนเรามีลักษณะที่ชอบอยู่ร่วมกัน เป็นกลุ่ม เป็นชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในใจกลางเมือง หรือย่านธุรกิจ ซึ่งเมื่อมีชุมชนหนาแน่นขึ้น ก็หลีกหนีไม่พ้นการที่จะต้องสร้างบ้านให้ติดกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนในที่สุดก็เกิดอาคารประเภทที่มีการใช้เสา, ผนังและฐานรากร่วมกัน ซึ่งกลายเป็นที่มาของบ้านแถว (Row House) ในสมัยก่อน จากนั้น เมื่อมีพัฒนาการทางด้านงานก่อสร้าง จากบ้านไม้กลายเป็นอาคารคอนกรีต ชื่อเรียกก็เลยเปลี่ยนไปเป็นตึกแถวแทน

 

 

 
   
 

 

 

                    พอต่อมาอีก เจ้าของโครงการจัดสรรขายตึกแถว ก็ไม่อยากได้ชื่อนี้ ก็สรรหาคำใหม่ๆ มาเรียกกัน จนได้คำว่า “ อาคารพาณิชย์ ” ในปัจจุบัน ดังที่เราจะได้เห็นป้ายโฆษณาตามถนนเกิดใหม่ แถวชานเมืองว่า “ อาคารพาณิชย์ ทำเลทอง สำหรับผู้มองการไกล ” (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะไกลสักแค่ไหน จะสิบหรือยี่สิบปี บางทีกว่าผู้มองการไกลจะเห็นผล ผู้มองการใกล้ก็เข้ามาเซ้งหรือซื้อต่อไปทำภายหลังจากเจ้าของรายแรกขาดทุนย่อยยับ เพราะถนนช่วงแรกยังไม่บูม พอ)

 

 

 
   
 

 

 

                    สำหรับฝรั่งนั้นเอง ก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปบ้างเหมือนกัน คือ Row House, Town House หรือบางที Shop House ก็เรียก (คำว่า Shop House ค่อนข้างจะตรงกับตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์ของบ้านเรามากที่สุด คือเป็นทั้งร้านค้า และบ้านในตัวเดียวกัน ในขณะที่ Town House มักจะหมายถึงอาคารแถวที่เป็นบ้านโดยเฉพาะมากกว่า ซึ่งอาจจะมีที่จอดรถในบ้าน หรือไม่มีก็ได้) แต่โดยรวมความแล้ว เราสามารถใช้คำว่า Town House แทนอาคารประเภทนี้ทั้งหมดก็ได้

 

                    ลักษณะโดยทั่วไปของ Town House จะเป็นอาคารหน้าตาเหมือนๆ กันเรียงต่อกัน จนเป็นอาคารขนาดใหญ่ แต่แบ่งซอยตามแนวตั้ง เพื่อแยกความเป็นเจ้าของ ดังนั้น อาคารประเภทนี้จึงมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ไม่มีช่องแสงโดยรอบอาคาร (โดยมากมักจะมีช่องแสงเฉพาะด้านหน้าและด้านหลังเท่านั้น ยกเว้นห้องหัวมุม ที่อาจมีด้านข้าง ข้างใดข้างหนึ่งเพิ่มขึ้นมา) รวมถึงลักษณะของการวางผัง ที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมเป็นหลัก และหน้าตาอาคารที่ต้องจำกัดความสวยงาม (สวยเกิน เดี๋ยวคนแย่งกันซื้อ) ตลอดจนผนังและเสาที่ต้องใช้ร่วมกันกับข้างบ้าน (ถ้าไม่มีข้อนี้ แสดงว่าคุณต้องไม่ได้อยู่ตึกแถว หรือ Townhouse แน่ๆ เลย)

 

 

 
   
 

 

 

                    เมื่อมีข้อจำกัดกันมากขนาดนี้ หลายต่อหลายท่านอาจจะถามในใจว่า เอ๊ะ ! แล้วจะทำอย่างไรให้ตึำกแถวมันกลายเป็นสวรรค์บนดินได้ล่ะ เอาละครับ จากนี้ไป เราจะมาว่ากันด้วยการปรุงตึกแถวของเราให้สวยเริ่ดกันดีกว่า ซึ่งจากนี้ไป คงต้องเริ่มกันทีละส่วน ตั้งแต่ด้านหน้าอาคารก่อนนะครับ

 

 

 
  -- x 10--  
     
           
           

 

 

 

 
Home | About Bareo | News & Events | Art of Design | Decor Guide | The Gallery | Living Young | Talk to Editor | Links
 
บริษัท บาริโอ จำกัด
50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700 Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538