editor talk


 

           

 

         เป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้ว ว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งของบ้านแบบทาวน์เฮาส์ คือเรื่องของ Space ที่เป็นกล่องๆ และหน้าต่างช่องแสงที่มีอยู่จำกัด (เฉพาะด้านหน้าและหลัง ยกเว้นห้องหัวมุมเท่านั้นนะครับ) ทีนี้ การที่เรามีบ้านที่เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมก็ใช่ว่าจะจัดออกมาไม่สวยนะครับ ไม่เชื่อก็ลองตามขึ้นบันไดมาดูเลยครับ

 

   
 

 

 

         •  Tribeca Town House, New york 1997. Dean / Wolf Architect แสดงการแบ่งพื้นที่บันไดทางขึ้นดาดฟ้า แยกออกจากส่วนพื้นที่ใช้สอยภายในห้อง ทำให้พื้นที่ภายในดูมี “ อะไร ” มากขึ้น รวมถึงการเปิดช่องด้านบนทะลุจากฝ้าเพดานลงมา ตลอดจนการสร้างกล่องไม้เก็บของที่ดูเหมือนเชื่อมต่อกับชานพักบันไดด้านนอก ทำให้ Space ดูซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ การเลือกใช้เส้นสายที่ได้เหลี่ยม ได้มุมฉากต่างๆ สลับกับการเลือกใช้วัสดุ ทำให้พื้นที่นี้ดูเรียบง่าย ลงตัว และทันสมัย

         •  Watrous Weatherman House, New york 1998. Leslie Gill & Bryce Sanders ภาพโถงบันได เมื่อมองย้อนขึ้น จะเห็นเส้นสายในแนวตั้ง ซึ่งปกติ เราคงไม่ได้เห็นภาพนี้ในบ้านทาวน์เฮาส์ของเรา เนื่องเพราะเรามักไม่ให้มีพื้นที่เหลือในโถงบันไดสักเท่าไร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การเว้นพื้นที่ด้านข้างบันได ให้เป็นพื้นที่โล่งทะลุกันตลอด จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อของ Space เข้าหากันทุกชั้น และทำให้บ้านดูโอ่โถงขึ้น และมีการระบายอากาศที่ดีขึ้นด้วยครับ


         •  พื้นที่โถงชั้นบนของบ้านหลังเดียวกัน ที่มีการจัดวางเก้าอี้นั่งเล่น กับชั้นโชว์ เราจะพบว่ายังคงมีข้อจำกัดของ Townhouse ในเรื่องผนังทึบที่ด้านข้าง แต่การที่มีโถงบันไดที่โล่งเปิดถึงกันตลอด จะช่วยแก้ไขบรรยากาศให้ลดความอึดอัดลงได้อย่างมากทีเดียว


         •  แสดงการตกแต่งส่วนห้องครัว ที่มีการกั้นพื้นที่ทางเดินของโถงบันไดไว้ต่างหาก ทำให้การใช้สอยดูลงตัวและไม่สับสน แน่นอนว่าการออกแบบเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก และคุณอาจต้องซื้อทาวน์เฮาส์ที่มีหน้ากว้างอย่างน้อย 5-6 เมตร หรืออาคารอย่างน้อยสองห้อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบ้านทาวน์เฮาส์ขนาดเล็กจะคิด Space สวยๆ ไม่ได้

 

 

 
 

 
 

 


         
•  แสดงการตกแต่งส่วนห้องครัว ที่มีการกั้นพื้นที่ทางเดินของโถงบันไดไว้ต่างหาก ทำให้การใช้สอยดูลงตัวและไม่สับสน แน่นอนว่าการออกแบบเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก และคุณอาจต้องซื้อทาวน์เฮาส์ที่มีหน้ากว้างอย่างน้อย 5-6 เมตร หรืออาคารอย่างน้อยสองห้อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบ้านทาวน์เฮาส์ขนาดเล็กจะคิด Space สวยๆ ไม่ได้

 

 
 
 

 

         •  Private Town House, New York 1998. Kiss + Zwigard แสดงการตกแต่งในส่วนโถงทางเดินอีกแบบหนึ่ง ที่มีการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบเตี้ย ในการกั้นพื้นที่ ซึ่งเหมาะสมกับบ้านที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เพราะเป็นการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่สูญเสียความโล่งของพื้นที่ภายใน นอกจากนี้ การเลือกใช้ประตูบานเลื่อนเพื่อเปิดหรือปิดกั้นพื้นที่ตามต้องการ ก็จัดว่าเป็นไอเดียที่สุดบรรเจิดเช่นเดียวกัน

         •  เส้นสายที่โค้งละมุมของราวบันไดเวียนสเตนเลส ก็ช่วยให้เกิดความลื่นไหลของ Space ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะทำให้งานออกแบบดูน่าสนใจมากขึ้นแล้ว บันไดเวียนยังต้องการพื้นที่โล่งด้านบน ซึ่งในที่นี้ น่าจะเป็นพื้นที่เหมือนกันชั้นลอยบ้านเรา ทำให้เกิดความรู้สึกถึงการเชื่อมต่อของ Space ระหว่างชั้นล่างกับชั้นบนได้เป็นอย่างดี ทีนี้ หากคุณต้องการติดตั้งบันไดเวียนให้กับชั้นลอยในบ้านของคุณ ผมขอแนะนำให้คงบันไดปกติไว้ด้วย เพราะจะสะดวกกว่าและปลอดภัยกว่า สำหรับการใช้สอยอื่นๆ เช่นการยกของขึ้นลง หรือการใช้สอยสำหรับเด็ก เป็นต้น

         •  แสดงบรรยากาศของโถงบันไดที่เป็นแบบ Double Volume ซึ่งคุณจะเห็นได้ว่า บันไดเวียนนั้นมีอานุภาพในการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างชั้นมากเพียงใด

 

 
 

 
 

 


         •  Hilpert House , New York 1998. Ogawa / Depardon. แสดงการกั้นพื้นที่ใช้สอยของส่วนบันได และส่วนพื้นที่ใช้สอยออกจากกัน แม้ว่าเราจะไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของ Space แต่เราก็จะสามารถเลือกใช้วัสดุประเภทกระจกฝ้ามาใช้ได้ โดยข้อดีของกระจกฝ้าคือการที่ยอมให้แสงผ่านเข้ามาได้ เพียงเท่านี้ โถงบันไดของคุณก็จะไม่กลายเป็นที่อับอากาศอีกต่อไป


          •  แสดงการเชื่อมต่อของโถงบันได กับพื้นที่ใช้สอย ซึ่งหากคุณเลือกที่จะตกแต่งโดยให้โถงบันไดเป็นตัวเชื่อมต่อกับพื้นที่ในส่วนต่างๆ คุณจะพบกับความมหัศจรรย์ของ Space ที่คุณจะคาดไม่ถึง ด้วยเทคนิคง่ายๆ เพียงเท่านี้เอง

 

 
 
 
 

 


         

         •  Laz House, Boston 1997. Christopher W.Robinson. ภาพนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ที่น่าจะใกล้เคียงกับขนาดของทาวน์เฮาส์และตึกแถวในบ้านเรามากที่สุด โดยทาง Architect ได้จัดสรรพื้นที่อย่างชาญฉลาด และแบ่งพื้นที่ในแต่ละชั้นออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนหน้า-โถงบันได-ส่วนหลัง โดยพื้นที่ส่วนหน้ากับส่วนหลังเป็นพื้นที่ใช้สอยจริง ส่วนโถงบันได ก็จะเป็นการเชื่อมต่อ Space โดยยอมลดพื้นที่ลงบ้าง เพื่อเปิดให้มีการเชื่อมต่อกับ Space ด้วยการใช้บันได และช่องโล่ง สุดท้าย ภาพรวมที่ออกมาจึงลวงตาทำให้บ้านดูมีขนาดและพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่าความเป็นจริง


         
•  Stairway to Heaven, Seaside 1994. Alexander Gorlin. บ้านหลังงามหลังนี้ ได้เคยลงรูปด้านไว้ครั้งหนึ่งแล้ว ในตอนที่แล้ว ภายในมีการจัดพื้นที่ที่เปิดโล่งอันเนื่องมาจากข้อได้เปรียบของงานสถาปัตยกรรมที่นำเสนอหน้าต่างขนาดใหญ่แบบ Double Volume และยกเอาบันไดไปไว้ภายนอกอาคาร ดังนั้นมุมมองภายในอาคารจึงดูโล่งกว้าง และอลังการ เสมือนนั่งอยู่ในห้องโถงขนาดใหญ่เลยทีเดียว


         •  ภาพเมื่อมองจากห้องโถงด้านหน้า กลับเข้าไปภายใน จะเห็นจุดเด่นของสถาปัตยกรรมที่บันไดเวียนโค้ง แบบดอกสว่านที่น่าประทับใจ (แต่อาจจะไม่ถูกต้องกับหลักฮวงจุ้ย) นอกจากนี้ การเลือกใช้ไม้สนย้อมสีธรรมชาติกับสีขาว ก็สร้างบรรยากาศแบบ Scandinavian Modern ได้เป็นอย่างดี

 

 

 
 
 
 

 

 

         •  Chicago Town House, Chicago 1997. Lohan Associates. (ภาพที่ 13-15) พื้นที่ภายในของบ้านหลังนี้ถูกเชื่อมต่อกับอย่างลงตัวด้วยเส้นสายทางงานสถาปัตยกรรม เฉกเช่นงานศิลปะที่ประดับภายในอาคาร งานออกแบบตัวบันไดที่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ในการออกแบบไว้ล่วงหน้า ทำให้เกิดเส้นนำสายตาขึ้นไปสู่ชั้นบนของอาคาร รวมทั้งการเลือกใช้วัสดุประเภทกระจกใส เพื่อให้เปิดเผยเส้นสายความงามของขั้นบันได ทำให้อาคารหลังนี้ ดูเป็น Gallery มากกว่าที่จะใช้เป็นที่พักอาศัย


         •  ลักษณะของการตกแต่งในส่วนรับแขก ซึ่งจะยังคงเห็นเส้นสายของบันไดที่ชัดเจนและงดงาม ประดับเสมือนเป็นฉากหลังให้กับห้องรับแขก

         •  แสดงการเล่นเส้นสายที่ตรง และซับซ้อน ทำให้เกิดมิติและเงาที่สวยงาม รวมถึงการจัดวางกล้องดูดาว นอกจากจะมีประโยชน์ใช้สอยแล้ว ยังสามารถแทนค่าตัวประติมากรรมประดับในอาคารได้อีกด้วย

 

 

 
 
 
 

 

         

ดังตัวอย่างทั้งหมดที่ผมยกมาให้ชมนี้ ผมพยายามจะเน้นในเรื่องของการจัด Space ที่ดี และเหมาะสมกับการอยู่อาศัยของเรา ซึ่งในบ้านแบบทาวน์เฮาส์หรือตึกแถวนี้ “ บันได ” น่าจะเป็นจุดเชื่อมต่อของ Space ที่สำคัญและมีผลต่องานออกแบบได้ชัดเจนที่สุด นอกจากนี้ การเลือกใช้วัสดุต่างๆ เพื่อนำมาแบ่ง Space เพื่อการใช้สอย ก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง

และจะเห็นได้ชัดเจนว่า งานสถาปัตยกรรมที่ดีนั้น ไม่จำเป็นต้องมีขนาดที่ใหญ่ หรือมีลักษณะที่หลุดโลกแต่อย่างใด แม้แต่อาคารตึกแถวหรือทาวน์เฮาส์นั้น หากมีการ “ คิด ” ที่ดีและเหมาะสม ก็จะให้ผลสะท้อนที่น่าประทับใจ สิ่งที่ผมพยายามนำเสนอในหัวข้อ “ ฝันอยากมีทาวน์เฮาส์ ” ทั้งสามตอนนั้น มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้สถาปนิกให้ความสำคัญกับการ “ คิด ” มากขึ้น และมีบทบาทในการพัฒนารูปแบบอาคาร เพื่อตอบสนองต่อความเป็นอยู่ที่แท้จริง และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการจัดสรรต่างๆ หันมาคำนึงถึงผู้บริโภคอย่างจริงจัง รวมถึงกระตุ้นให้ผู้บริโภคทั้งหลายได้มีความตื่นตัว ในการที่จะเลือกซื้อสินค้าที่ดีและมีคุณภาพ ตลอดจนไม่ยอมรับต่อชะตากรรมที่เกิดจากการกำหนดผลกำไรล่วงหน้าของฝ่ายผู้ประกอบการแต่เพียงฝ่ายเดียว

ที่สุดแล้ว ผมเชื่อว่ารูปแบบการอยู่อาศัยของมนุษย์ เป็นรูปแบบที่มนุษย์ควรจะเป็นผู้เลือก มิใช่เป็นผู้ถูกเลือก และมนุษย์ควรจะมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม มิใช่เกิดจากข้อจำกัดทางการค้า ตลอดจนผมยังเชื่อว่า เราสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองได้ หากทุกฝ่ายต่างทำหน้าที่กันอย่างจริงจัง..สถาปนิก คิดและออกแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต..ผู้ประกอบการ สร้างและขายในราคาที่เหมาะสม..และผู้บริโภค รู้จักเลือกเฉพาะในสิ่งที่ดี และไม่ยอมรับสินค้าที่คุณภาพด้อย เพียงเพราะว่าไม่มีสินค้าอื่นในท้องตลาดให้เลือกซื้อ..หากทำได้เช่นนี้ ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นการพัฒนาสังคม ที่ดีขึ้นในเร็ววันนี้ครับ

หากจะมีความดีใดๆ ในบทความของผมทั้งสามตอนนี้ ผมขอยกให้กับหนังสือ “The new American Town house” เขียนโดย Alexander Gorlin และ Paul Goldberger ซึ่งหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Rizzoli และจำหน่ายในประเทศโดย B2S ครับผม..

 

เนื้อหา : มาจากหนังสือ The new American townhouse
แต่งโดย.... ALEXANDER GORLIN foreword by PAUL GOLDBERGER

 
 

 

-- Crouching Tiger --

       
           
           
           


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538