ไขปัญหากับช่างแม่น พูดมาก

ตอน สีทาบ้าน

            เอาล่ะครับ กลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่ง อันที่จริงวันนี้ ผมอยากจะพูดเรื่องเกี่ยวกับงานระบบไฟฟ้าบ้าง แต่บังเอิญมีคิวด่วนจากบอกอหญิงโสดของเรา
(ต้องโปรโมทซะหน่อย เดี๋ยวจะเลยวัย) ให้มาพูดเรื่องสีทาบ้าน ผมเองใจจริงก็อยากจะขัด แต่ก็กลัวจะไม่ได้ค่าเรื่องมาสังสันท์ยามเย็นกับบรรดา Foreman คนอื่นๆ เลยต้องยอมตามเสียหน่อย ถึงแม้พื้นความรู้เรื่องนี้จะไม่แน่น  (อันที่จริง ก็ไม่แน่นทุกเรื่องนะแหละ บ.ก.)  แต่ก็จะมาโม้ให้ทุกท่านฟัง ผิดถูกประการใด ก็ทักท้วงกันมาได้นะคะร้าบบบบบบ.....


            สีทาบ้าน จะเริ่มเกิดมาในยุคใดสมัยใดนั้น ผมก็ไม่ทราบได้ แต่คาดว่านานแล้ว เพราะตั้งแต่จำความได้ ก็ร่ำๆ ว่าจะเคยเห็นมาแล้วเหมือนกัน โดยประโยชน์ของเจ้าสีทาบ้านนั้น แรกๆ ผมเข้าใจว่าเพื่อสร้างความสวยงามให้กับอาคารบ้านเรือนต่างๆ และปกปิดร่องรอยของงานปูนและสีของปูนโดยเฉพาะปูนซีเมนต์ที่ไม่ค่อยจะน่าพิสมัยนัก

 

 

 
 
 
 

 

 


             มาในสมัยนี้ สีทาบ้านออกจะเฟื่องฟู เพราะขายดิบขายดีเหลือเกิน ทำเอาเจ้าของโรงงานผลิตสีขายร่ำรวยกันบานเบิก ว่ากันว่าบ้านทุกหลังในสมัยนี้ต้องทาสี จะมากจะน้อยก็ต้องมีสี เพียงแต่ว่าจะเป็นสีชนิดไหน และสีอะไรเท่านั้น นอกจากนี้ สีทาบ้านเดี๋ยวนี้ ยังมีคุณสมบัติพิเศษอีกมากมาย ตั้งแต่ กลบรอยปูนร้าว กันความชื้น กันเชื้อรา กันเปื้อนชนิดให้ลูกไปทาสีเล่นตอนเช้า แล้วตอนเย็นไปเช็ด
(รอยเปื้อน) ออกยังมีเลยคู้ณ..


             หากเราจะแบ่งสีทาบ้านออกเป็นประเภทใหญ่ๆ เราน่าจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ สีที่มีตัวทำละลายเป็นน้ำ หรือที่เราเรียกว่าสีน้ำ กับสีที่มีตัวทำละลายเป็นน้ำมัน หรือที่เราเรียกว่าสีน้ำมันนั่นเอง


             เราจะมาว่ากันในเรื่องของสีน้ำก่อนนะครับ.. เจ้าสีน้ำที่เราใช้กันอยู่ แต่ก่อนเราเรียกว่าสีน้ำพลาสติก เพราะมีส่วนผสมของสารพลาสติกบางตัว (อันนี้ ไม่รู้จริงๆ ว่าเรียกว่าอะไร) ทำให้ยึดเกาะผนังได้ดี และสีเรียบสวย แต่ในปัจจุบันนี้ สีเหล่านี้ได้พัฒนาชื่อเรียกตัวเองเป็นสีน้ำอะครีลิค เพราะมีอะครีลิค ผสมอยู่ด้วย ถ้าพูดอย่างนี้ เดี๋ยวทุกท่านจะงง งั้นผมขอขยายตรงนี้เพิ่มอีกสักหน่อย คือสีที่เราใช้อยู่ปัจจุบันเนี่ย จะประกอบไปด้วยส่วนประกอบสำคัญ 4 ชนิด คือ ตัวเนื้อสี หรือ Pigment ซึ่งมีหน้าที่ทำให้เกิดที่สวยสดงดงามกับตาของเรา (หมายถึงเรามองเห็น ไม่ใช่สามีของยายนะครับ) อย่างไรก็ดี เจ้า Pigment อย่างเดียวก็ไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ หากไม่มีส่วนประกอบสำคัญลำดับต่อไป

 

 
   
 

 

            ส่วนประกอบที่สำคัญ ลำดับถัดไปที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง คือ กาว (Binder) ที่ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะกับตัวผนัง และนอกจากนี้ ยังมีหน้าที่เป็นเนื้อของสี ที่เป็นตัวปกปิดพื้นผิวของบริเวณที่เราทาสี โดยหากเราทาเจ้าตัว “กาว” นี้ โดยไม่มี Pigment ผสม เราก็จะได้เป็นสีที่ออกขาวๆ ดังนั้น Pigment กับ Binder จึงต้องอยู่คู่กันตลอดล่ะครับท่าน..


            ต่อไป ก็คือ ตัวทำละลาย (Solvent) เป็นตัวที่ใช้ทำให้เจ้าสองตัวแรกเจือจางลง จนสามารถนำมาทาได้ในบริเวณที่กว้างขึ้น ซึ่งถ้าเป็นสีน้ำ ก็ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย แต่ถ้าเป็นสีประเภทสีน้ำมัน ก็จะใช้ทินเนอร์เป็นตัวทำละลาย ซึ่งบทบาทของตัวทำละลายนี้จะมีอยู่แค่ช่วงที่อยู่ในกระป๋อง และตอนที่ทาสีเท่านั้น หลังจากนั้น เจ้าตัวนี้ ก็จะค่อยๆ ระเหยออกไป ปล่อยให้สีแห้งและแข็งตัวอย่างถาวร คือไม่สามารถนำกลับไปละลายเพื่อใช้งานได้อีกต่อไปนอกจากจะหลุดร่อนไปตามกาลเวลา เมื่อสีหมดอายุ

 

 
 
 
 

 

            ส่วนประกอบสุดท้าย สำหรับสีทาบ้าน คือ Additive หรือตัวเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ เพื่อให้สีมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไปไงครับคุณ ซึ่งแต่ก่อนเจ้าตัวนี้ จะมีบทบาทไม่มากนัก แต่ปัจจุบัน เจ้าตัวนี้ กลับกลายมาเป็นพระเอกอย่างสมภาคภูมิ เพราะเดี๋ยวนี้ ที่บริษัทสีที่แข่งขันกัน ก็แข่งกันที่ตัวนี้แหละครับ เดี๋ยวก็ผสมสารตัวโน้น เพิ่มคุณสมบัติอย่างนี้ แล้วก็ผสมสารตัวนี้ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติอย่างนั้น ทนกรด ทนด่าง ทนความชื้น ปกปิดรอยร้าว โอ๊ย..สารพัด..เล่นเอาผู้บริโภคอย่างเราๆ เลือกกันไม่ถูกเลยทีเดียว


             ทีนี้ ทุกท่านคงจะอยากทราบว่าแล้วเจ้าสีแต่ละประเภทเหมาะสำหรับการใช้งานอย่างไร และบนพื้นผิวอะไรใช่มั้ยครับ..งั้นตามมาดูกันต่อดีกว่า.. คือเจ้าสีทาบ้านประเภทสีน้ำจะสามารถเกาะตัวได้ดีบนพื้นผิวหยาบ เช่น ปูน ยิปซั่ม ไม้ เป็นต้น และสีน้ำจะไม่เกาะตัวบนพื้นผิวที่เรียบและเป็นมันวาว ซึ่งไม่เหมือนกับสีน้ำมัน ที่สามารถยึดเกาะได้ดีบนวัสดุทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุผิวมัน วาว อย่างเช่นโลหะอีกด้วย ดังนั้น สีน้ำมันจึงเป็นสีที่ค่อนข้างจะครอบจักรวาล (สำหรับการทาสีบ้าน) แต่อย่างไรก็ดี ด้วยกลิ่นที่รุนแรงที่เกิดจากทินเนอร์ อันเป็นข้อเสียโดยเฉพาะของมันและความเงามันของสีที่บาดตาสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ พอสมควร ทำให้สีชนิดนี้ถูกจัดว่าเป็นสีรุ่นโบราณ และมีการใช้งานน้อยลงเรื่อยๆ ไม่เหมือนกับสีน้ำหรือสีอะครีลิค


             ดังนั้น หากคุณๆ ทั้งหลายต้องการทาสีบนพื้นผิวหยาบ ก็สามารถเลือกได้ทั้งสีน้ำและสีน้ำมัน เพียงแต่สีน้ำมันจะให้กลิ่นที่รุนแรงกว่า และให้สีที่เป็นเงามัน ในขณะที่สีน้ำจะให้สีที่ค่อนข้างเรียบเนียน และมีกลิ่นน้อยกว่า แต่ถ้าหากคุณต้องการทาสีบนวัสดุผิวมันเช่น โลหะ ก็คงไม่มีทางเลือกนอกจากจะใช้สีน้ำมัน ส่วนคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ ก็แล้วแต่จะชอบใจล่ะครับ อยากได้อะไร ก็ซื้อแบบนั้น แต่พื้นฐานก็จะคล้ายๆ กันทั้งหมดแหละครับ

 

 
   
 

 

            ในสถานที่บางแห่งที่ต้องการรักษาความสะอาดมากเป็นพิเศษ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียนอนุบาล เป็นต้น สีน้ำมันน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะให้ผิวหน้าที่เป็นมันเงาและทำความสะอาดง่าย อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตสีหลายต่อหลายแห่งก็ได้พัฒนาสีน้ำอะครีลิคที่มีเนื้อแน่นและทำความสะอาดง่าย ขึ้นมาสำหรับตลาดส่วนนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อดีของสีน้ำรุ่นนี้ นอกจากจะทำความสะอาดง่ายแล้ว ยังเรียบเนียนสวย มีให้เลือกหลากหลายสี และไม่มีกลิ่นที่รุนแรง แต่แน่นอนว่าราคาค่าตัวของสีรุ่นนี้ก็จะแพงขึ้นไปอีกหน่อยนะครับ ผมว่าน่าจะเหมาะสมสำหรับบ้านพักอาศัยที่มีลูกเล็กๆ และต้องการรักษาความสะอาดได้ง่ายนะครับ


             นอกจากนี้ เรายังมีสีชนิดพิเศษอื่นๆ ที่มาทำให้คุณๆ สับสนอีกเล็กน้อย เช่นสีทารองพื้น สีทากันสนิม เป็นต้น โดยเจ้าสีทารองพื้นนี้ โดยมากมักจะมีคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยป้องกันปัญหาที่ไม่พึงประสงค์จากตัวพื้นผิว และยังช่วยให้สีทาบ้านมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะและทนทานต่อการใช้งานมากขึ้น เช่น สีรองพื้นสำหรับผนังปูนใหม่ก็จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผนังปูนใหม่และตัวสีทาบ้าน ซึ่งจะคอยกันความชื้นและสารเคมีที่ยังคงตกค้างอยู่ ไม่ให้ไปทำอันตรายต่อตัวสีทาบ้านได้ และในขณะเดียวกันก็ยังเพิ่มความสามารถในการยึดเกาะพื้นผิวของสีทาบ้านได้อีกด้วย รวมทั้ง ยังทำให้ทาสีขึ้นง่ายอีกด้วย โดยไม่ต้องทาทับหลายเที่ยว นับว่าเป็นการประหยัดอยู่พอสมควร


             ส่วนสีรองพื้นของผนังปูนเก่า ก็จะเน้นในการทำหน้าที่ป้องกันสารเคมีประเภทเกลือที่จะมีมากบนผนังปูนเก่า และเพิ่มแรงยึดเกาะให้กับตัวสีเป็นหลัก เพื่อป้องกันการหลุดร่อน ดังนั้น หากจะทาสีผนัง อย่าลืมซื้อสีทารองพื้นด้วยนะครับ เพราะมีประโยชน์มากๆ เลยทีเดียว


             และที่จะแนะนำเป็นรายการสุดท้าย คือสีทากันสนิม ซึ่งสนิมนี้มักจะเกิดขึ้นบนเนื้อเหล็ก ซึ่งในงานก่อสร้าง โลหะที่เรามักจะใช้กันมากที่สุดในส่วนของโครงหลังคาสมัยใหม่ และราวกันตกบางแห่งก็มี ซึ่งสีทากันสนิม ก็จะทำหน้าที่ปกปิดเนื้อเหล็กให้ไม่เจอกับออกซิเจนในอากาศ จึงลดโอกาสที่เหล็กของคุณจะเกิดสนิมไปในที่สุด

 

 

 
   
 

 

 

              สำหรับการทาสีบ้าน และเทคนิคการทาสีบ้าน ผมเห็นมีหลายๆ website แนะนำไว้แล้ว เลยไม่อยากจะแนะนำซ้ำ แต่จะขอบอกไว้ จะได้ให้คุณๆ ไปหาอ่านกันเอาเองตามลิงค์เหล่านี้นะครับ

  1. สีเบเยอร์ ซินโนเท็กซ์ ชิลด์ สีคุณภาพสูงที่ได้รับความเชื่อใจของโครงการใหญ่ๆ มากมาย ใน website มีการบรรยายคุณสมบัติของเนื้อสีและข้อแนะนำในการทาสีอย่างค่อนข้างละเอียดด้วยครับ http://beger.co.th/detail.php?id=27&type=Decorative


  2. สี TOA มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ตามความต้องการ ลองศึกษาก่อนออกไป Shopping ก็จะได้ประโยชน์มากทีเดียวครับ http://www.toagroup.com/th/prdct/main_prdct.htm?crrntusr=2;crrntmn=1

  3. แนะนำวิธีการทาสีบ้านแบบคร่าวๆ ให้เข้าไปตาม Link นี้แล้วลองไปดูที่หมวด Home Décor นะครับ http://www.homeworks.co.th/diy.asp#


              เอาล่ะครับ ผมช่างแม่น คงต้องขอตัวสำหรับเดือนนี้ เพียงแค่นี้ (เดือนนี้รีบส่งเรื่องเร็วมาก กลัวไม่ทันอีก จะโดนเจ้านายด่าเอา..อิอิ..) และสุดท้ายก็ขอขอบคุณ พตท.นพ.วรวุฒิ ชัยยศบูรณะ ท่านผู้บริหารของสีเบเยอร์ (หจก.ทวีรุ่ง) ด้วยนะครับที่ได้กรุณาให้คำแนะนำกับท่านผู้จัดการของผม ซึ่งก็ได้ถ่ายทอดต่อมายังผมอีกทอดหนึ่ง และสำหรับคุณๆ ที่สงสัยอะไรเพิ่มเติม จะเขียนมาถามผมที่ Comment ข้างล่างนี้ หรือจะเข้าไปถามใน Consults ก็ได้นะขอรับ ผมรอรับใช้คุณๆ อยู่ซะเหมอ...

 

 

 
 

 

-- ช่างแม่น --

 

 

   


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538