เลือกเฟอร์นิเจอร์ไม้อย่างไร ไม่ให้ถูกหลอก

ช่างแม่น พูดมาก

          เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กับเพื่อนร่วมรุ่น ที่ไม่ได้เจอกันนานหลายสิบปี เลยต้องใช้เวลาพูดคุยกันนานหน่อย ตอนแรกๆ ก็เป็นการถามไถ่ทุกข์สุขกันตามประสาเพื่อนเก่าที่จากกันมานานแสนนาน จากนั้น ก็วกมาเรื่องครอบครัว ต่อด้วยเรื่องงานที่ทำกันอยู่ พอเพื่อนๆ ได้ทราบว่าผมมาได้ดิบได้ดีมีงานประจำทำอยู่ที่บริษัทที่มีชื่อเสียง ก็เลยสอบถามกันยกใหญ่ ส่วนใหญ่ก็มักจะถามถึงเรื่องราวเก่าๆ ที่ผมเคยได้เขียน ได้เล่าไว้เมื่อนานมาแล้ว แต่มีเพื่อนเก่าอยู่คนนึง แกสงสัยว่าราคาเฟอร์นิเจอร์ที่ขายๆ กันอยู่ ทำไมราคามันแตกต่างกันได้เยอะจัง ว่าแล้ว แกก็ยกตัวอย่างถึงโต๊ะคอมพิวเตอร์ที่ขายกันในดิสเคานท์สโตร์ต่างๆ ที่ขายกันตัวละไม่ถึงห้าร้อยบาท และมีตู้วางทีวีราคาแปดเก้าร้อยบาท สีไม้ก็สวยดี เรียบร้อย ในขณะที่เฟอร์นิเจอร์ของยี่ห้อดังๆ หน้าตาคล้ายๆ กันขายปาเข้าไปหลายพัน แพงกว่ากันหลายต่อหลายเท่า

          นี่ยังไม่นับเอาเฟอร์นิเจอร์ที่บริษัทของผมเป็นผู้ผลิตที่ขายชิ้นนึงเกือบหมื่น หรือหลายหมื่นก็มี หรือเฟอร์นิเจอร์ที่เค้าว่ากันว่าอิมพอร์ตเข้ามา บางชิ้นก็หลักแสน ทั้งๆ ที่หน้าที่ของมันก็เป็นแค่โต๊ะธรรมดาตัวนึงเท่านั้นเอง


          พอกลับมา ผมก็มานั่งคิดนอนคิดแล้วก็เลยไปปรึกษากับ บอกอ Hana และคุณ Isyss ว่าจะมาเขียนเรื่องเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ไม้แต่ละชนิดดีมั้ย เวลาท่านผู้อ่านของเราไปเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ตามห้างต่างๆ จะได้มีความเข้าใจมากขึ้น และไม่ต้องโดนคนขายเค้าหลอกเอา ซึ่งทั้งสองท่านก็เห็นด้วยและอนุญาตให้ผมนำเอาเรื่องนี้มาสาธยายให้ทุกท่านฟัง


          เอาล่ะครับ เข้าเรื่องกันดีกว่า กล่าวคือเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เราๆ ท่านๆ ได้เห็นผ่านหูผ่านตากันมานั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ กล่าวคือ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ Knock Down, กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้เพาะโครงหรือไม้อัดที่เราๆ ท่านๆ มักจะเรียกกัน ทั้งนี้ผมจะขอเล่าไปทีละกลุ่มเลยนะครับ...ตามผมมาเลยครับ...

 

 

 
   
 

 

            กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ Knock Down เป็นเฟอร์นิเจอร์กลุ่มที่มีวิวัฒนาการมาเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ โดยเกิดจากแนวความคิดแบบอุตสาหกรรมที่จะผลิตเฟอร์นิเจอร์ได้ทีละมากๆ และมีคุณภาพเหมือนๆ กัน ดังนั้นจึงได้มีการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถถอดออกเป็นชิ้นส่วนและนำมาประกอบใหม่ได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า Knock Down ซึ่งแปลความได้ว่าสามารถถอดออกเป็นชิ้นๆ ได้นั่นเองครับผม

 

            ทีนี้พอรู้วิธีผลิตได้จำนวนมาก ก็ดูเหมือนปริมาณไม้ที่จะนำมาใช้ผลิตก็ดูจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็เลยมีคนคิดค้นวัสดุตัวใหม่ๆ ที่นำมาทดแทนไม้ได้ นั่นก็คือ เจ้า Particle Board นั่นเองครับ โดยแผ่น Particle Board นี้เกิดจากการนำเอาเศษไม้ชนิดต่างๆ ที่เหลือจากการผลิตเฟอร์นิเจอร์มาย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดเท่าๆ กัน แล้วนำมาเชื่อมกันด้วยกาวชนิดหนึ่ง พอแห้งแล้วก็แข็งตัวกลายเป็นแผ่นเรียบๆ มีความแข็งแรงพอสมควร นำมาใช้ทดแทนไม้แผ่นได้ แถมยังมีราคาถูกมากอีกด้วย ดังนั้น บรรดาโรงงานต่างๆ ก็ร้องดีใจเพราะสามารถผลิตสินค้าได้ทีละมากๆ ในราคาไม่แพง

 

            แต่เนื่องจากเจ้า PB หรือ Particle Board นี้มักจะมีหน้าตาไม่ค่อยสวย คือเป็นสีน้ำตาลและมีเศษเล็กๆ กระจายอยู่เต็มแผ่น ทำให้ลูกค้าไม่ค่อยนิยม ก็เลยต้องมีคนฉลาดๆ ออกมาให้ความเห็นว่า เฟอร์นิเจอร์ที่ขายกันได้ในท้องตลาดนั้น เป็นเพราะทำจากไม้ มีลวดลายสวยงาม ดังนั้นหากอยากจะขายเฟอร์นิเจอร์ Knock Down ให้ได้ปริมาณมากๆ ก็ควรจะทำจากไม้ หรือมีผิวเหมือนไม้ ซึ่งหากจะเอาผิวไม้ที่เรียกว่า Veneer มาปิดผิวบนแผ่น PB ก็คงจะไม่คุ้มนัก เพราะราคาจะสูงขึ้นมาก สุดท้ายบรรดานักอุตสาหกรรมในยุคนั้น ก็ได้พยายามหาแนวทางในการพัฒนาผิวที่เหมือนไม้ขึ้นมา และก็ได้พัฒนากระดาษออกมาปิดบนแผ่น PB โดยเจ้าผิวกระดาษนี้ ก็สามารถที่จะพิมพ์ลายไม้ลายไหนก็ได้ลงไป และพอปิดทับเจ้า PB ก็สามารถหลอกสายตาให้รู้สึกว่าเป็นไม้ไปได้เหมือนกัน

 

 

 
   
 

 

 

            ในที่สุด พอผิวกระดาษลายไม้ออกมา ลูกค้าก็ชอบใจเพราะได้เฟอร์นิเจอร์ราคาถูกกว่าเฟอร์นิเจอร์ไม้จริงๆ มากและใช้งานได้เหมือนๆ กัน ก็เลยมีการพัฒนาลวดลายต่างๆ ขึ้นมามากมาย รวมทั้งมีการเพิ่มลายนูนๆ บนผิวกระดาษ พอลูบดูแล้วจะรู้สึกเหมือนมีเส้นๆ ขึ้นมา ทำให้รู้สึกเหมือนไม้มากยิ่งขึ้น

 

            จากนั้นเป็นต้นมา เฟอร์นิเจอร์ Knock Down ที่ทำจากไม้ Particle Board ก็ได้ขายไปทั่วโลก เพราะราคาถูกและถอดเคลื่อนย้ายได้สะดวก

 

            แต่เมื่อมีข้อดี เจ้าเฟอร์นิเจอร์ประเภทนี้ก็มีข้อเสียด้วยเช่นกันครับผม คือตัวไม้ PB เอง จะมีสารอยู่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Formaldehyde หรือที่เรามักเรียกกันว่าน้ำยาดองศพ ซึ่งอยู่ในกาวที่เชื่อมเศษไม้เข้าด้วยกัน โดยเจ้าสารชนิดนี้จะมีความเป็นพิษค่อนข้างสูง และระเหยได้ เคยมีข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่าชาวไต้หวันคนหนึ่งเสียชีวิตเพราะได้รับพิษจากสารชนิดนี้ ซึ่งแฝงตัวอยู่ในเฟอร์นิเจอร์ ทางการไต้หวันจึงได้มีการสั่งให้ตรวจสอบสารพิษในเฟอร์นิเจอร์ประเภท Knock Down กันยกใหญ่

 

            ส่วนทางฝั่งยุโรปเอง ก็ได้มีคำสั่งให้งดเว้นการใช้และการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ประเภท Knock Down ที่ทำจาก Particle Board กันมานานแล้ว โดยเฟอร์นิเจอร์ Knock Down ที่จะเข้ามาขายในฝั่งยุโรปได้ ต้องทำจากไม้ Board ชนิดอื่นๆ หรือ Particle Board ที่มีสารพิษต่ำ โดยมีรหัสว่า E1 ครับผม

 

            ในขณะที่ทางญี่ปุ่นเอง ก็หนักกว่าฝั่งยุโรปเสียอีก เพราะยอมรับไม่ได้กับปัญหาพวกนี้ เลยกำหนดให้ PB ที่นำเข้าไปในประเทศญี่ปุ่นต้องปลอดสารพิษ หรือมีสารพิษในปริมาณที่ตรวจจับไม่ได้ ที่เรียกว่า E0

 

            ส่วนบ้านเรานั้น ยังไม่มีข้อกำหนดใดๆ ในเรื่องนี้ ทำให้ผู้บริโภคบ้านเราสามารถได้สูดกลิ่นสารพิษชนิดนี้ได้อย่างเปิดเผยจากบรรดาเฟอร์นิเจอร์ Knock Down ราคาถูกๆ ที่ขายกันอยู่ตามห้างลดราคาทั้งหลาย เรียกได้ว่ายิ่งถูกยิ่งได้รับสารพิษมากทีเดียวครับ

 

 
 
 
 

 

 

            ในขณะที่บรรดาแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปต่างๆ ก็ได้รณรงค์เรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง โดยออกสินค้าที่ผลิตจาก PB แบบ E1 แต่ดูเหมือนว่าผู้บริโภคบ้านจะไม่สนใจกับเรื่องสารพิษเท่าไร คงเป็นเพราะอยู่บนถนนก็มีควันพิษเต็มไปหมดอยู่แล้ว เลยทำให้สินค้าบางส่วนขายยากเพราะราคาของ E1 นั้นแพงกว่า PB แบบปกติมาก ตอนนี้ในแบรนด์ต่างๆ ก็เลยมีสินค้าที่ผลิตจาก PB ทั้งสองแบบมาวางขายปนกันอยู่ ดังนั้น ท่านผู้อ่านคงไม่ต้องแปลกใจแล้วนะครับ ว่าทำไมสินค้าบางประเภทที่มีหน้าตาคล้ายกัน กลับมีราคาขายที่ต่างกันได้

 

            นอกจากนี้ เจ้าผิวกระดาษที่ใช้ก็ยังมีผลต่อราคาสินค้าด้วยเช่นกัน เพราะเฟอร์นิเจอร์ที่ทำขายในห้างลดราคาทั้งหลายจะบางมาก และมีความคงทนต่ำ ซึ่งหากจะเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือกระดาษที่เราใช้เขียนกันอยู่ทั่วๆ ไปนั้น จะมีการเรียกความหนาของกระดาษตามน้ำหนักต่อพื้นที่ เช่น 80 กรัม ก็มักจะหมายถึงกระดาษนี้ 1 แผ่นจะมีน้ำหนักประมาณ 80 กรัมต่อตารางเมตร ซึ่งน้ำหนักกระดาษยิ่งมาก ก็จะทำให้กระดาษมีความหนามากและมีความทนทานสูงและจะทำให้มีราคาสูงขึ้นไปด้วย โดยปกติแล้ว กระดาษมาตรฐานที่เราใช้เขียนหนังสือกัน จะมีน้ำหนักอยู่ประมาณ 80-100 กรัมต่อตารางเมตร แต่ถ้าเป็นร้านถ่ายเอกสารมืออาชีพที่ทำราคาได้ถูกมากๆ ก็จะใช้กระดาษขนาด 60 กรัมหรือน้อยกว่านั้นมาถ่ายเอกสารให้กับลูกค้า

 

            ทีนี้ เจ้าผิวกระดาษที่ใช้ปิดแผ่น Particle Board นั้น มักจะใช้ขนาดประมาณ 30-45 กรัมต่อตารางเมตร คือบางกว่ากระดาษที่ใช้ถ่ายเอกสารกันเสียอีก เพียงแต่ว่าผิวกระดาษเหล่านี้นอกจากจะพิมพ์ลายต่างๆ ลงไปแล้ว ก็มักจะมีการเคลือบสารต่างๆ ลงไปเพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้กับกระดาษด้วย เช่น กัน UV หรือกันชื้น เป็นต้น

 

            โดยเจ้าคุณสมบัติของการกัน UV นั้น ไม่ใช่เพื่อผิวเรานะครับ แต่เป็นการกันไม่ให้รังสี UV มาทำปฎิกริยากับลวดลายและสีที่อยู่ในเนื้อกระดาษ ซึ่งผลส่วนใหญ่ของรังสี UV คือจะทำให้กระดาษมีสีเหลือง ดังนั้น บางครั้งในวงการเฟอร์นิเจอร์ KD จึงมักจะเรียกคุณสมบัติข้อนี้ว่ากันเหลืองไปด้วย

 

 
   
 

 

            ส่วนการกันความชื้นนั้น เป็นเรื่องใหญ่ของกระดาษเลยทีเดียว เพราะกระดาษไม่ว่าจะมีเนื้อหนาเนื้อแน่นขนาดไหน หากโดยความชื้น หรือน้ำเข้าไปแรงๆ ก็บอกลาได้อย่างเดียวแหละครับ ดังนั้นเฟอร์นิเจอร์พวกนี้จึงเปราะบางและไม่ทนต่อความชื้นใดๆ เลย พวกแบรนด์ดังๆ ก็เล็งเห็นปัญหาในข้อนี้ จึงได้หาซื้อผิวกระดาษที่สามารถทนทานต่อความชื้นได้บ้าง กล่าวคือ พอน้ำหยดลงไปแล้วรีบเช็ดออกภายในไม่เกินกี่นาที ก็จะไม่ทำให้เกิดอาการบวมของผิว แต่ก็อย่างว่าแหละครับ เพราะเพิ่มคุณสมบัติพิเศษเข้าไป ก็เลยทำให้ราคาของผิวกระดาษสูงขึ้นไปด้วย ดังนั้น ราคาของเฟอร์นิเจอร์แบรนด์เนมทั้งหลายจึงมักจะมีราคาแพงกว่าเฟอร์นิเจอร์ในห้างลดราคาทั่วๆ ไป แม้ว่าจะมีหน้าตาเหมือนกันก็ตาม

 

            อย่างไรก็ดี ใช่ว่าผมจะเชียร์แต่เฟอร์นิเจอร์แบรนด์เนมนะครับ เพราะราคาของต้นทุนสินค้าที่แพงขึ้นก็ไม่ได้ทำให้ราคาพุ่งขึ้นมาหลายเท่าจากห้างลดราคาแต่ประการใด ราคาส่วนเกินอื่นๆ ก็มาจากค่าเช่าร้านขนาดมหึมา ค่าการตลาด และค่าจ้างพนักงานต่างๆ อีกจิปาถะครับ

 

            ดังนั้น กล่าวโดยสรุปแล้ว ผมชอบเฟอร์นิเจอร์ Knock Down ตรงที่มีราคาถูก ไม่แพงมาก แต่ก็ต้องยอมรับในข้อเสียหลายๆ เรื่องของมันเหมือนกัน อย่างเช่น สารพิษที่แฝงเข้ามาในเนื้อวัสดุ ซึ่งจะไม่มีวันหายไป ยกเว้นแต่คุณจะเอามันออกไปทิ้งนอกบ้าน หรือปัญหาในเรื่องของความแข็งแรง และความคงทนที่มักจะแพ้ทางกับความชื้น ซึ่งบ้านเราก็ดันเป็นเมืองฝนตกซะด้วย

 

            แต่ถ้าผมจะไปสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ Knock Down แบรนด์เนมทั้งหลาย ซึ่งจะมีรูปแบบหลากหลายให้เลือก แต่ก็คงต้องมานั่งทำใจพอสมควรกับราคาที่บวกเพิ่มค่าความสะดวกต่างๆ ที่ใช้เพิ่มยอดขาย เช่น ค่าเช่าร้าน ค่าโฆษณา เป็นต้น

 

            โอ้โห...แค่คำถามของเพื่อนเก่าแค่ข้อเดียว ทำเอาผมมานั่งโม้ได้หลายหน้ากระดาษเลยครับ แต่ก็อย่างว่าแหละ คนมันชอบคุยจะให้คุยทั้งวันก็ยังไหว แต่ดูเหมือนว่าโควต้าของผมจะหมดลงแล้วครับ สำหรับตอนนี้ เอาไว้ตอนหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้อีกสองประเภทที่เหลือนะครับ...

 

 
     
     
 

 

-- ช่างแม่น --

 

 

 


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538