|
|
|
|
|
|
|
กริ๊ง กริ๊ง.... เสียงเตือนปลุกจากโทรศัพท์มือถือดังขึ้น บอกเวลา 6 โมงเช้าแล้ว ห้องของเรา ผลัดกันเข้าห้องน้ำล้างหน้าล้างตา ออกมาเจอกันกับคนอื่นๆ (คนที่ตื่นทัน) ที่หน้าห้อง เสียงกลองดัง ตุ้ม ตุ้ม ตุ้ม จากวัดเชียงม่วน หรือวัดจุมค้องตรงข้ามกับโรงแรมก็ดังขึ้น พวกเราต่างเร่งออกไปหาจุดที่เราจะตั้งหลักเพื่อร่วมตักบาตรข้าวเหนียว กับพระสงฆ์ 285 รูป (เยอะมากค่ะ) เป็นกิจกรรมที่พลาดไม่ได้เมื่อมาถึงหลวงพระบาง จะมีพระเดินออกมาบิณฑบาต ตามถนนต่างๆ แต่ถ้าจุดที่มีพระจำนวนมากที่สุดคือบริเวณแยกบ้านเจ็กค่ะ จะพระจะเดินมาจากฝั่งถนนสะกรินทร์ตรงมาถึงแยกบ้านเจ็กจะเลี้ยวขวาเข้าถนนสีสะหว่างวงษ์วัฒนา
ตามธรรมเนียมของชาวหลวงพระบางจะปั้นข้าวเหนียวใส่ในบาตรของพระที่มาเดินบิณฑบาต ส่วนกับข้าวชาวบ้านจะตามไปถวายอีกทีที่วัดช่วงสายค่ะ เวลาตักบาตรข้าวเหนียว ผู้บ่าวจะยืนใส่บาตร ในขณะที่ ผู้สาวจะนุ่งซิ่นและนั่งกับพื้นใส่ค่ะ ถ้าเป็นชาวพื้นเมืองจะปั้นข้าวเหนียวร้อนๆ ได้อย่างรวดเร็วมาก ก่อนมา Hana ก็เตรียมตัวมาคิดว่าน่าจะใส่ทัน แต่พอเอาเข้าจริงปั้นใส่ไม่ทันค่ะ พอดีมีช่วงหนึ่งที่พระขาดช่วง Hana อาศัยช่วงนี้ปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนๆ รอไว้ก่อนเลย คราวนี้สบายมากค่ะ ใส่ทัน
|
|
|
|
|
|
หลังจากข้าวเหนียวของ Hana ที่อยู่กระติ๊บเล็กๆ หมดไป ก็มีเวลาเดินเก็บภาพคนอื่นๆ แล้วก็ได้เจอ Highlight ของเช้านี้ คือคุณป้าชาวลาว คุณป้าปั้นข้าวเหนียวใส่ได้อย่างเร็วมากค่ะ เพราะทั้งจก (คงต้องใช้คำนี้เหมาะมากกว่าปั้น) และหยิบห่อขนมเทียนใส่พร้อมๆ กันยังทันเลยค่ะ เล่นเอาสาวๆ อาย คุณป้าเตรียมของมาใส่บาตรได้อลังการมากค่ะ ใส่บาตรพระสงฆ์ 268 รูปแล้วยังมีพอเหลือแจกจ่ายให้กับคนอื่นๆ ชิมอีกด้วยค่ะ จากที่คุยจึงทราบว่าวันนี้เป็นวันเกิดเลยเตรียมของมากหน่อย เราเลยร่วม อวยพรวันเกิดคุณป้าด้วยค่ะ (วันนี้วันที่ 29 ธันวาคมค่ะ)
จากนั้นเดินกลับไปอาบน้ำ ที่โรงแรม เพราะนัดรถไว้ 9 โมงเช้า อาหารเช้าแรกของหลวงพระบาง คือ เฦอ เราเดินเข้าซอยไปกินเฝอตามคำแนะนำจากหนุ่มน้อยที่เคาน์เตอร์โรงแรมแนะนำมาค่ะ รสชาติเฝอก็งั้นๆ แต่หมูหวานที่เป็นกับแกล้มแยกต่างหากนี่สิเรียกได้ว่าโดนมากๆ หากมีข้าวสวยร้อนๆ สักจานก็โอเลยค่ะ ที่ร้านนี้ทำให้เรารู้ว่าที่นี่มี 2 ราคา(แอบฟังคนลาวคุยกัน) คือ ราคานักท่องเที่ยว 10,000 กีบ ส่วนคนลาว 6,000 กีบ แหมฟังแล้วดูอินเตอร์เชียวค่ะ ไม่อยากจ่ายแพงเลยค่ะ แต่ก็เข้าใจ เหมือนบ้านเรางัยคะ ที่เก็บฝรั่งแพงกว่าคนไทย
|
|
|
|
|
|
โปรแกรมวันนี้เราเริ่มที่ พระราชวังหลวงพระบาง หรือพิพิธภัณฑ์วังเจ้ามหาชีวิต จากทางเข้าด้านหน้าทางซ้ายมือจะป็น อนุสาวรีย์เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ผู้ที่เป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนชาวลาว ส่วนทางด้านขวามือ เป็น "หอพระบาง" และมองตรงไปผ่านต้นตาลคู่สองข้างทางนั่นคือ พระราชวังหลวงพระบาง ค่ะ
หอพระบาง เป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ หมายจะใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบาง พระพุทธรูปคู่บ้าน คู่เมืองหลวงพระบาง เป็นอาคารแบบล้านช้าง ที่มีความอ่อนช้อยงดงามมาก และหากนำพระบางมาประดิษฐานที่นี่น่าจะดี สมเกียรติยศมากกว่าอยู่ในห้องลูกกรงกันขโมยอย่างที่ประดิษฐานอยู่เวลานี้ส่วนอาคารของพระราชวังเป็นอาคารยกพื้นสูงชั้นเดียว เป็นสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสมีหน้าบันเป็นรูปช้างสามเศียร สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1904 เมื่อขื้นไปบนอาคารเราต้องเก็บกระเป๋าทุกอย่างที่ห้องงทางญิฝั่งซ้าย ตรงนี้ทำให้ hana ยืนลังอลอยู่นานว่าจะเข้าดีหรือเปล่า เค้าให้เก็บทุกอย่างรวมทั้งกล้องด้วย (โหดเชียว) เพราะคิดว่าถ้าออกมาแล้วกล้องหายละก็ โห..ไม่อยากจะนึก (ในที่สุดก็ฝาก ก็เห็นใครๆ ก็ต้องฝากนิ)
ห้องทางด้านซ้ายสุดเป็นพระบางสิ่งศักดิ์สิทธ์คู่บ้านคู่เมืองชาวหลวงพระบางค่ะ จะนำออกห้องนี้มาให้ชาวบ้านทรงน้ำเพียงปีละ 3 วันในช่วงงานบุญสงกรานต์เท่านั้นค่ะ ด้านในเป็นห้องพิธีต่างๆ ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นท้องพระโรงที่จัดแสดงราชบัลลังก์ไม้แกะสลักหุ้มทองตกแต่งด้วยกระจกหลากสีบนพื้นทอง กระจกเหล่านี้นำมาจากญี่ปุ่นค่ะ นำมาติดเป็นเรื่องราวต่างๆ ห้องด้านหลังเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิต และมเหสี อีฝั่งเป็นที่รับรองแขกและเป็นห้องแสดงของขวัญจากประเทศต่างๆ ค่ะ
|
|
|
|
|
|
ออกจากพระราชวัง คนขับรถและไกด์ พาเราไปบ้านผานม เป็นหมู่บ้านไทลือ เดิมเป็นหมู่บ้านของผู้อพยพที่ถูกกวาดต้อนมาหลังสงคราม ผู้หญิงมีความชำนาญในการตำแผ่น(ทอผ้า) จึงเป็นผู้ทอผ้าถวายแก่เจ้ามหาชีวิตตามคำสั่ง ต่อมากลายเป็นหมู่บ้านธรรมดา แต่ยังมีการสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าอยู่ ปัจจุบันจึงกลายมาเป็นศูนย์คล้ายๆ Otop บ้านเรามีงานจำพวกงานทอผ้าฝ้าย ผ้าไหม และเครื่องเงินเป็นหลัก เป็นจุดที่ชาวบ้านแต่ละครอบเรือนนำสินค้าของตัวเองมาขาย ทางด้านหลังของศูนย์มีกี่กระตุกวางเรียงรายกว่าสิบตัวด้วยกัน มีคุณป้าคนหนึ่งนั่งทำกระดาษสาอยู่คนเดียว เราเลยได้ดูวิธีการทำกระดาษสาแบบครัวเรือนค่ะ พวกเราเดินเข้า เดินออกวน 2 รอบรู้สึกว่ายังไม่โดน ได้ผ้าทอกันนิดๆ หน่อยๆ เพราะราคาผ้าฝ้ายที่นี่จะถูกกว่าที่ตลาดมืด ฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านทำเครื่องเงิน หลังจาก hana เดินวนไป 1 รอบก็รีบออกเพราะราคาแพงมาก มีกำไรข้อมืออันเล็กๆ ที่คราวก่อนมาซื้อไปไม่น่าจะเกิน 200 บาท ครั้งนี้ตั้งใจว่าจะมาซื้อแบบนี้อีกเพราะชอบมาก วันนี้ที่นี่ขายวงละ 750 บาท ได้ยินแล้วตะลึงค่ะ ด้วยความที่อยากได้เลยรีบเดินออก กลัวได้ค่ะ..
|
|
|
|
|
|
วนกลับเข้าเมืองแวะวัดวิชุนนาราช เป็นที่ตั้งของ พระเจดีย์พระปทุม หรือ พระธาตุดอกบัวใหญ่ หรือคนลาวเรียกว่า พระธาตุหมากโม ด้วนเนื่องจากรูปทรงที่ต่างไปจากพระธาตุอื่นๆ คือ มีลักษณะคล้ายแตงโมตัดครึ่งคว่ำอยู่ค่ะ บนยอดมีรัศมีเปลวไฟคล้ายยอดพระพุทธรูปแบบสุโขทัย มีประตูด้านข้างสามารถเดินออกไปเป็นวัดอารามที่อยู่ติดกันได้ค่ะ ภาษาลาวจะเรียกว่า วัดอาฮาม ที่วัดอารามนี้มี หอเสื้อเมือง หรือ หอเทวดา สำหรับเก็บรักษารูปสัญลักษณ์ของปู่เยอย่าเยอ
กลางวันนี้กินข้าวร้านอาหารตามสั่งลองสั่งผัดซีอิ้ว รสชาติเหมือนกินตามร้านบ้านเรา จานละ 15,000 กีบ ก็ประมาณ 60 กว่าบาท แหม..ราคาพอๆ กับ back canyon เชียวนะนี่
|
|
|
|
|
|
จากนั้นไปวัดเชียงทอง วัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่โขง เป็นวัดใหญ่และสวยงามที่สุดในหลวงพระบางก็ว่าได้ค่ะ ภายในวัดมี พระพุทธสีมา (สิม หรือพระอุโบสก) เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างแท้ๆ ลักษณะที่โดดเด่นคือ มีโครงสร้างต่ำ หลังคามุงกระเบืองดินเผาซ้อนกันถึง 3 ชั้น ยาวลงมาเกือบจรดฐานของพระอุโบสก ตรงกลางบนสันหลังคามีเครื่องยอดสีทองอร่ามสูงขึ้นมาคนลาวเรียกว่า ช่อฟ้า ส่วนช่อฟ้าในบ้านเรา คนลาวเค้าเรียกันว่า โหง่ มีรูปลักษณ์คล้ายเศียรพญานาค ผนังด้านนอกทางขวาเป็นเศียรช้างประดับกระจกมีช่องทางระบายน้ำจากรางรดสรง ในงานบุญสงกรานต์ประชาชนจะมาสรงน้ำพระ จากนั้นน้ำจะไหลผ่านทางท่อที่ฝั่งไว้และออกทางเศียรช้างนี้ ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
|
|
|
|
|
|
วิหารน้อย หรือที่เรียกกันว่า หอไหว้น้อย เป็นหอไหว้เก่ามีหลังคาแบบใบโพธิ์ตัดครึ่งตามรูปแบบของศิลปะลาวดังเดิม มี โหง่ ลักษณะพญานาคชูคอเหมือนกับพระพุทธสีมา ในวิหารน้อยประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติทำจากทองคำ ที่เจ้ามหาชีวิตราชอาณาจักรถวายแก่เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ค่ะ
|
|
|
|
|
|
โรงเมี้ยนโกศ(โรงเก็บโกศ) ภายในมีราชรถมีพระโกศ 3 องค์ด้วยกันองค์ใหญ่กตรงกลางเป็นของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ องค์เล็กด้านหลังเป็นของพระราชมารดา และองค์เล็กด้านหน้าเป็นของพระเจ้าอา พระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ เมื่อ ค.ศ. 1959 โรงเมี้ยนโกศ สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1962 ผนังส่วนด้านหน้าสามารถถอดออกได้ทั้งหมด เพื่อนำราชรถออกมาได้ ที่สวยงามมากๆ คงเป็นผนังของโรงเมี้ยนโกศที่เป็นรูปแกะสลักเรื่องรามายนะ เช่น รูปนางสีดาลุยไฟ ออกแบบโดยเจ้ามณีวงศ์ แกะสลักโดยมีพ่อเฒ่าเพียตันเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการแกะสลัก เดิมเป็นงานลงรักปิดทอง แต่ด้วยเหตุที่มีการบูรณะแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงทาสีทองทับไปทั้งหมดค่ะ
ออกจากวัดเชียงทองทั้งไกด์และคนขับสามัคคีกันบอกพวกเราว่าจะแวะส่งพวกเราที่โรงแรม เพื่อเก็บของ และเดินไปขึ้นพระธาตุเอง พวกเราก็งง อ้าว..แล้วไม่ไปส่งหรอ.. เค้าบอกว่าเดินไปเองได้ใกล้ๆ รถเข้าไปส่งไม่ได้ เพราะเค้าจะปิดถนน พวกเราเลยเอ๋อไปตามๆ กัน โอเค กลับโรงแรมก็ได้ เอาของเก็บจากนั้นก็นั่งจิบกาแฟที่ สภาโต๊ะเขียว (ที่โรงแรมบริการชา-กาแฟ ฟรี ตลอดวันค่ะ) เมาท์ไกด์และคนขับแบบเมามันมาก และแล้ววันนี้ก็ไม่ได้ขึ้นพระธาตุอีกแล้ว...
|
|
|
|
|
|
|
|
|
จบโปรแกรมของวันนี้ด้วยตลาดมืดอีครั้งค่ะ วันนี้ Hana ได้กำไรเงิน ที่น่าจะเป็นเงินเหรียญของกะเหรี่ยงมาถึง 4 วง ค่ะ แหม.. ก็ใจมันรักนิเลย เตรียมตัวและเตรียงตังไว้ตั้งแต่ก่อนมาแล้วว่าจะต้องจ่ายค่าเครื่องเงินอยู่แล้ว พลาดจากเมื่อกลางวันมาแล้วเลยคิดว่าซื้อที่นี่แหละเอาไว้ใส่เล่นๆ เพราะแบบเค้าน่ารักดีค่ะ แล้วแปลกด้วยค่ะ เดินกันจนตลาดวายค่ะกลับถึงที่พักประมาณ 5 ทุ่ม น้องรูมเซอร์วิสก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลยค่ะ list รายการที่จะให้เราไปพรุ้งนี้ไว้ถึง 7-8 รายการ แต่คาดว่าน่าจะเก็บไม่หมด ก่อนแยกย้ายกันนัดพรุ้งนี้ 6 โมงเช้านะ ไปตักบาตร ใครที่เมื่อเช้าตื่นไม่ทันพรุ่งนี้แก้ตัวค่ะ
เช้านี้ตื่นเช้ากันถ้วนหน้า วันนี้ Hana ไม่ได้ตักบาตรอีก แต่เดินเก็บบรรยากาศเอาค่ะ วันนี้ได้คำตอบที่สงสัยมาตั้งแต่เมื่อวานว่า มีทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ถือกล่องและตะกร้าเก่าๆ ยืนตามจุดต่างๆ ที่มีพระเดินผ่าน ครั้งแรกที่เห็น Hana คืดว่าพระท่านเลือกทิ้งอาหารบางอย่างที่ไม่ต้องการ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ค่ะ พระท่านรับบาตรมาแล้วเมื่อเดินออกมาพบเด็กๆ เหล่านี้ ท่านจะเลือกหยิบอาหารทั้งข้าว ผลไม้ นม โยนใส่กล่องตรงหน้าเด็กที่นั่งพนมมืออยู่ เรียกได้ว่าเป็นการทำทานอีกต่อหนึ่งค่ะ อันนี้รู้จากเด็กหญิงน่าจะสัก 4-5 ขวบเท่านั้น ชื่อ นางน้อย นางน้อยเล่าว่าจะมาที่นี่ทุกเช้าพร้อมกับแม่ เมื่อขออาหารได้นางน้อยและแม่ก็จะนำอาหารเหล่านี้ไปแบ่งให้กับคนอื่นๆ ในบ้านได้กินและใช้กันค่ะ เรียกได้ว่าเป็นสังคมอุปถัมภ์ เพราะต่างพึ่งพาอาศัยกันและกันเป็นวงจรค่ะ
|
|
|
|
|
|
จากนั้นไปเดินตลาดเช้าที่ตลาดมีของสดขายมากมาย แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองเค้าค่ะ มีสัตว์แปลกๆ ขายด้วยมีทั้งค้างคาว หนู กระรอก กระแต งู ตัวตุ่น แบบตัวเป็นๆ มาขาย ให้ชาวบ้านเค้าเอาไปทำอาหารค่ะ เดินชมตลาดกันไปจนสุดทาง ออกอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อจะได้กินกาแฟที่ร้านประชานิยม เป็นร้านแนะนำตาม web site ต่างๆ ค่ะว่าให้มากิน ก็ให้ผิดหวังค่ะ เพราะคนเยอะมากเราเลยตัดใจไม่กินละกันกลับไปกินกาแฟที่ สภาโต๊ะเขียว แทนละกัน(เซฟเวลา) เพราะวันนี้เรามีโปรแกรมแน่นเอี๊ยดค่ะ
9 โมงตรงล้อหมุนค่ะ ที่แรกของวันคือ วัดมโนรมย์ เป็นวัดที่สร้างโดยพระเจ้าสามแสนไท ราชโอรสของพระเจ้าฟ้างุ้ม ผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทองสำริดองค์ใหญ่ ที่คาดว่าน่าจะสร้างในช่วงปี ค.ศ. 1378-1379 แต่โดนพวกฮ่อมาปล้นและทำลายไป พระพุทธสีมาหลังใหม่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1972 เดิมบริเวณแถบนี้เป็นที่พักอาศัยของควาญช้างในพระราชวัง และเป็นที่ขบวนช้างมาทำพิธี ช้างเรียนเกย ด้านข้างของวัด (ที่เกย คือที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จก้าวขึ้นลงเวลาทรงช้าง) ครั้งแรกที่มาถึงวัดมโนรมย์ไม่น่าเชื่อว่าสร้างมากว่า 30 ปีแล้วเพราะดูเหมือนใหม่มาก และสวยมากค่ะ
|
|
|
|
|
|
ถัดมาเป็นวัดโพนเผ่า วันนี้น้องที่แนะนำเค้าบอกว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ลักษณะโบสถ์จะเป็นเหลี่ยมๆ แปลกตาไปจากวัดอื่นๆ และสามารถมองเห็นวิวเมืองหลวงพระบางได้กวางๆ ค่ะ สวยดี ภายในโบสถ์เป็นชั้นๆ มีถึง 3 ชั้นค่ะ แต่ Hana ไม่ค่อยชอบภาพเขียนภายในเพราะลักษณะเหมือนโหดๆ ออกจากวัดโพนเผ่ากลับไปที่บ้านผานมอีกครั้งหนึ่ง เพราะมาดามเบตงอยากได้ผ้าไหมทอไปฝากพระมารดาด้วยค่ะ เราเลยจัดให้ค้า..
|
|
|
|
|
|
จากนั้นไปหมู่บ้านสร้างฆ้อง(ช่างฆ้อง) เป็นหมู่บ้านที่ทอผ้า ทำหระดาษสา ผ้าทอและกระดาษสาของที่นี่ดูสวยกว่าที่หบ้านผานม แต่ราคาก็สูงตาม หมู่บ้านนี้รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตก เห็นได้จากมีชาวต่างชาติขี่มอเตอร์ไซต์ และจักรยานมาแวะชมกัน (หาคนไทยไม่เจอเลยค่ะ) อาจเป็นเพราะอยู่นอกเส้นทางและอยู่นอกโปรแกรมท่องเที่ยวของคนไทยที่นิยมมากันค่ะ มีร้านหนึ่งที่ถูกใจมากๆ เป็นร้านของศูนย์ศิลปอะไรประมาณนี้แหละค่ะ ข้างในมีทั้งส่วนที่เป็นส่วนทอผ้า ส่วนนี้มีทั้งการเพาะเลี้ยงไหม การสาวไหม ไปจนถึงการทอผ้าเป็นผืน ส่วนที่ทำกระดาษสา พื้นที่ขายของแยกเผ้นส่วนทั้งของกระดาษสา ผ้าทอ และงาน Handmade อื่นๆ ค่ะอาคารนี้พนักงานบอกว่าส่วนที่เป็นไม้เป็นบ้านเก่าที่แยกชิ้นส่วนและนำมาประกอบขึ้นใหม่ ให้คงสบาพเดิม แต่โครงสร้างหลักที่เป็นปูนนี้ทำขึ้นใหม่เพื่อให้บ้านแข็งแรงขึ้น ลักษณะบ้านอื่นๆ คล้ายๆ กัน (เค้าว่ากันว่า ที่นี่เป็นตลาดส่งกระดาษสาแหล่งใหญ่สู่เชียงใหม่ค่ะ)
ออกจากหมู่บ้านสร้างฆ้อง แวะกินข้าวเปียกร้านอร่อยอยู่เลยวัดมโนรมย์ไปหน่อย ร้านนี้ยกนิ้วให้ค่ะอร่อยที่สุดตั้งแต่กินมา ข้าวเปียกเส้นจะเหมือนกับเส้นก๋วยจั๊บญวนบ้านเรา ส่วยเฝอคือก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กที่กินที่ไรไม่เคยนิ่ม hana เลยชอบที่จะกินข้าวเปียกมากว่า เวลาเสริฟที่ร้านจะเสิร์ฟพร้อมกับผัก 1 กระจาด ต่อข้าวเปียก 1 ชาม กินผักกันแบบเมามันมาก อันนี้ชอบมากค่ะ
|
|
|
|
|
|
เติมพลังแล้วไปต่อที่น้ำตกกวางสี ผ่านทางเข้าไปหน่อยทำคล้ายๆ กับสวนสัตว์ เห็นมีหมีอยู่ 4-5 ตัว มีกวางอยู่นิดหน่อย ส่วนสัตว์อื่นๆ นี่ไม่เห้นเหมือนกัน เอ..หรือไม่ได้สนใจ เดินไปตามทางขึ้นไปเรื่อยๆ จะพบน้ำตกกวางสีค่ะ เป็นน้ำตกขนาดกลางมีความกว้างประมาณ 70 เมตร เป็นชั้นๆ ลักษณะคล้ายน้ำตกแม่ขมิ้นบ้านเราแต่ดูแล้วสวยคนละแบบกับแม่ขมิ้นบ้านเรา เพราะน้ำตกกวางสีน้ำจะไม่ใส แต่เป็นสีเขียวขุ่น ไม่เหมือนในบ้านเรา มีละอองจากน้ำตกให้ถ่ายภาพออกมาแล้วมันวิ้งๆๆ ค่ะ ในแต่ละชั้นจะเป็นแอ่งน้ำมีฝรั่งโดดน้ำเล่นกันสนุกสนาน พวกเราขอเดินชมและผ่านค่ะ ระหว่างทางเดินลงเจอเพื่อนของเพื่อน(คนไทย) บ่นใหญ่เลยว่าดีแล้วที่กรุ๊ปเราไม่ไปถ้ำติ่ง เพราะไม่มีอะไรเลย นั่งเรือไปตั้งไกล ในถ้ำมีพระพุทธรูปน้อยใหญ่วางเรียงเป็นชั้นๆ ถ้ำติ่งเป็นรายการที่เราตัดออกจากโปรแกรมตั้งแต่แรกเพราะคิดว่าไม่ค่อยน่าสนใจ รถก็ไปไม่ถึง แล้วถ้านั่งเรือเราก็จะเสียเวลาไปครึ่งวัน จึงลงความเห็นกันว่าตัดออก เพราะมีที่ที่อยากไปมากกว่า
|
|
|
|
|
|
ขากลับเร่งทำเวลานิ๊ดหนึ่ง เพราะอยากไปตลาดจีนและตลาดโพธิ์ศรี ตลาดจีนเป็นตลาดที่ขายของที่นำเข้าจากจีน มาดามเบตงอยากซื้อมือถือมาก i-Phone จีนราคา 3,000 กว่าบาทเองค่ะ แต่พวกเราคัดค้านเพราะหากเครื่องมีปัญหา พวกเราคงไม่ว่างพามาเปลี่ยนค้า.. ส่วนตลาดโพธิ์ศรีเป็นตลาดสดเหมือนตลาดสดบ้านเราแต่เป็นตลาดสดขนาดใหญ่ เดินโฉบไป 1 รอบ มาดามเบตงกรี๊ดค่ะ เพราะเจอผักน้ำในฝัน มาดามเหมาซื้อมาถุงเบ้อเร้อ จะเอาไปฝากคุณแม่ค่ะ แวะเถลไถลมากไม่ได้ ต้องรีบกลับ เพราะวันนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะไปดูพระอาทิตย์ตกบนพระธาตุภูสีค่ะ และก็เหมือนเดิมรถไปส่งให้เก็บของที่โรงแรม แล้วก็ให้เดินไปพระธาตุภูสีเอง (ไม่เข้าใจจริงๆ แค่นี้ไปส่งไม่ได้หรอ..)
เดินขึ้นพระธาตุแบบเหนื่อยหอบมาก จากอากาศเย็นๆ ยังร้อนเลยค่ะ ถอดทั้งเสื้อกันหนาวและผ้าพันคอออกแทบไม่ทันเลยค่ะ ยิ่งขึ้นไปถึงยอดแล้วตกใจค่ะ มีคนขึ้นมารอชมพระอาทิตย์ตกดินเยอะมากค่ะ นั่งรอกันเหมือนนั่งบนอัศจรรย์เชียวค่ะ มีเป็นชั้นๆ พวกเราเร่งหามุมส่วนตัวที่พอจะแทรกได้ เพราะพระอาทิตย์กำลังจะตกแล้วค่ะ คนที่มารอชมในวันทำให้เราเริ่มรู้ว่าว่ามีนักท่องเที่ยวมากันมากจริงๆ เพราะในแต่ละที่ที่ผ่านมาจะพบนักท่องเที่ยวกระย๋อมกระแย่มค่ะ
|
|
|
|
|
|
ภูสี คือภูเขาที่สวยงามแห่งหนึ่งสูงประมาณ 150 เมตร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงพระบาง ทางขึ้นอยู่ตรงกันข้ามกับพระราชวังที่เรามากันเมื่อวาน ภูสี ชื่อเดิม คือ ภูสรวง แต่เปลี่ยนตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฎค่ะ ส่วนพระธาตุจอมสี มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมยาวต่างจากประธาตุอื่นๆ ตัวพระธาตุเป็นสีทองอร่ามย่อมมุมมีเศวตฉัตรทองสำริด 7 ชั้น 4 อัน การขึ้นพระธาตุภูสีต้องเดินขึ้นบันได จำนวน 328 ขั้นค่ะ บริเวณโดยรอบของภูสีมีวัดถ้ำภูสี วัดป่าแค วัดป่ารวกด้วยค่ะ (แต่ไม่ได้ไปค่ะ)
ที่นี่เป็นจุดชมวิวที่เรียกได้ว่าสวยที่สุดของหลวงพระบางค่ะ เพราะอยู่ใจกลางเมืองแล้วยังสามารถมองเห็นเมืองได้โดยรอบ เวลาที่สวยที่สุดคือ ยามเย็น มาชมพระอาทิตย์ตกดิน ถือได้ว่าเป็น Highlight ค่ะ มีคำกล่าวว่า ไปย่าม(เยี่ยม) นครหลวงพระบาง ถ้าบ่ได้เบิงภูสี หรือว่าขึ้นไปไหว้พระธาตุจอมสี ก็เท่ากับว่าบ่ได้เห็นนครหลวงพระบางอย่างแท้จริง แหม.. เราก็เกือบๆ จะมาไม่ถึงหลวงพระบางแล้วนะนี่ ได้ขึ้นพระธาตุเอาวันสุดท้ายที่อยู่เหมือนกัน
ลงมาได้ก็ขอเติมพลังกันหน่อย เพราะเหนื่อยมาก ขอสั่งลาด้วยร้านสุดาภรณ์อีกครั้งค่ะ เมนูเดิมแป๊ะ ก็แหม..มันอร่อยจนต้องกลับมากินอีกครั้งก่อนกลับนี่นา จากนั้นเหมือนเดิมค่ะ ทัวร์ตลาดมืดจนตลาดวายค่ะ เรียกได้ว่ามาตั้งแต่ช่วยเค้าตั้งร้านจนช่วยเค้าเก็บร้าน ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามีอะไร แต่ต้องเดินทุกคืนค่ะ
|
|
|
สบายดี..
|
|
|
-- Hana -- |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|