home
about bareo
news & event
art of design
decor guide
the gallery
living young
talk to editor
links
back issue
 
 

 

 

            เช้าสุดท้ายในหลวงพระบาง เราพร้อมเพียงกันตื่นเร็ว ออกไปเดินเล่นนิดหน่อย กับนัดกันที่ร้านกาแฟ แถวๆ บ้านเจ็ก กินกาแฟลาวพร้อมๆ กับอาหารเช้าแบบเมนคอร์สกันค่ะ ร้านกาแฟน่ารักๆ ที่นี่มีให้เลือกนั่งตามแต่สะดวกเลยค่ะ แต่ละร้านจะขายกาแฟ พร้อมๆ อาหารชุด และอาหารจานเดียวที่เป็นอาหารฝรั่ง มีเรียงรายให้เลือกมากมาย เราเลือกนั่งร้านที่คนน้อยหน่อย แต่เป็นที่นั่งสบายๆ กินข้าวจี่เมืองลาว หรือ บาเก็ตเมืองน้ำหอมค่ะ กะ กาแฟร้อนๆ แหม.. อร่อยอย่าบอกใครเชียวค่ะจากนั้นแพ็คของและอำลาหลวงพระบาง เมืองที่ให้ความทรงจำดีดี.. ให้ผู้มาเยือนอยากจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง


            ขากลับผ่านสามแยกตรงกิ่งลม เพื่อพักรถ แยกนี้แยกที่สามารถเลี้ยวไปออกเมืองเชียงของของไทยได้ค่ะ ใครอยากไปทางเชียงของต้องเลี้ยวขวาค่ะ เราเร่งกันเต็มสตรีมเพื่อได้ถึงวังเวียงเร็วขึ้นอีกนิด บ่าย 3 กว่าๆ เราก็เข้าเขตวังเวียง จึงตกลงกันว่าแวะ “ถ้ำจัง” ก่อนที่จะเข้าที่พัก เพราะถ้าเข้าที่พักก่อนมีหวังไม่ได้ไปถ้ำจังอีกแน่เลยค่ะ ความจริงแล้วถ้ำที่วังเวียงมีมากมาย แต่โดยมากจะต้องเดินเท้า หรือขี่จักรยานเท่านั้นถึงจะสามารถไปถึง ดังนั้นเราจึงขอแวะชมโฉมแค่ “ถ้ำจัง”  ที่สามารถเดินได้ไม่ไกลมากค่ะ

 

 


 
   
 


 

            “ถ้ำจัง” เป็นถ้ำที่แฝงตัวอยู่ในภูเขาหินปูน ที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถมีถนนและรถเข้าถึงได้ค่ะ แต่รถก็ยังสามารถเข้าถึงได้แค่เพียงบริเวณลานสำหรับจอดรถด้านนอกก่อนข้ามแม่น้ำ ใครไปวังเวียงก็ต้องแวะเที่ยวที่นี่สังเกตุได้จากภาพถ่ายของแต่ละคนที่จะต้องมีสะพานไม้สีส้มจี๊ดจ๊าดละก็ที่นี่แหล่ะ ใช่เลย

            เราต้องเดินขึ้นบันได ที่เค้าบอกว่าแค่ร้อยกว่าขั้น แต่ทำเอาหอบทีเดียวค่ะ กว่าจะเข้าถ้ำได้ ภายในถ้ำมีการทำทางเดินอย่างดีให้ความสะดวกแก่ผู้เข้าชม ให้ชมหินงอกหินย้อย รูปร่างต่างๆ กัน มีตั้งแต่รูปเห็ด รูปฤาษี รูปช้าง... แล้วแต่จินตนาการ เท่าที่สังเกตุผนังถ้ำเป็นหินทราย ที่ส่งประกายระยิบคล้ายๆ กับถ้ำที่อ่าวน้ำเมาในกระบี่บ้านเราเลยค่ะ เดินเข้าไปสุดทางเห็นมีพื้นกะบะทราย แต่ยังมีทางที่สามารถเดินเข้าไปได้อีก ตรงนี้ไกด์บอกว่าจากตรงนี้ยังสามารถเข้าไปได้อีก แต่เค้ากำลังสำรวจอยู่ ก่อนที่จะเปิดให้ประชาชนเข้าชม (แหม.. ต้องรีบเชื่อค่ะ เพราะนานๆ ไกด์จะทำหน้าที่แนะนำ)

 

 

 
   
 

 

 

           ตอนออกจากถ้ำจัง เราก็ต้องตกใจกับกองคาราวานทัวร์ชาวไทยที่มีถึง 30 คัน (เฉพาะบริษัทเดียวนะคะ) ที่สวนกับเราเข้าไปค่ะ วันนี้เราพักที่ริเวอร์ไซด์ เป็นเกสเฮาส์ชื่อเก่าแต่ถูกนักลงทุนชาวเยอรมันเทคโอเวอร์ไปค่ะ ฟังแล้วดูดีใช่ไหมค่ะ แต่ระบบอะไรยังไม่ดี ทำให้เรารู้ว่า ที่นี่สามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา  เพราะตอนจอง hana จองบ้านไว้ 2 หลัง หลังละ 1,000 บาท ใน 1 หลังมี 2 ห้อง วันที่เราเดินทางมาถึงได้แอบมาดูที่พักที่นี่แล้วก่อนคอนเฟิร์ม วันนั้นก็ถามว่าที่พักราคาเท่าไร เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า 700 บาทต่อห้อง ทำเอาเรางง ไปทีหนึ่งแล้ว แต่ด้วยความที่คิดในแง่ดี ก็คิดว่าอาจเป็นราคา walk in พอเราพักจริงวันนี้เค้ากลับบอกเราว่าห้องละ 1,000 บาทแทนค่ะ สรุปจ่ายไป 4,000 บาท เรียกว่าโดนเข้าไปเต็มๆ เพราะถ้าให้ไปหาที่พักใหม่คงไม่ทัน แล้วล่ะค่ะ อีกอย่างวันนี้ที่พักคงเต็มกันหมดแล้ว ถ้าเหลือคงไม่ค่อยดี เราเลยคุยกันว่าหยวนๆๆ โดยมีเหตุผลหลัก คือ ที่นี่มี TV เพราะวันนี้เราต้องเอาใจช่วยพี่วิก และน้องเอย ในใจร้าว ตอนอวสานค่ะ ส่วนเหตุผลรอง คือ ยังไม่อยากนอนในรถค้า...

 

 
   
 

 

 

            จากที่พักเราสามารถลงไปเดินเล่นที่แม่น้ำได้ มีหาด(หรูไหมค่ะ) ยาวให้สามารถเดินลงไปได้จนถึงเลียบแม่น้ำซองเลยทีเดียว แต่ขอบอก..เจ็บเท้ามาก เพราะพื้นเป็นหินและหิน แบบเป็นก้อนๆ ขนาดเท่าฝาเบียร์เลยค่ะ วันนี้อากาศไม่หนาวมากมีคนเล่นน้ำประปราย ที่มีมากๆ คงเป็นคนไทยนั่งเรือเรียบแม่น้ำ ล่องไปล่องมา ฉวัดเฉวียนที่แทบจะชนกับสมาชิกของเราที่เดินเล่นในแม่น้ำทีเดียวค่ะ ค่ำนี้เราพักสบายๆ ในบริเวณที่พัก ไม่มีแรงดึงดูดใดเท่าใจร้าวอีกแล้วค่ะ 555


            เช้านี้เรานัดกันว่าจะเริ่มออกเดินทางตั้งแต่ 6 โมงเช้าค่ะ ตามโปรแกรมวันนี้เป็นวันสุดท้ายของทริปค่ะ เราจึงขอทำตัวเป็นทัวร์ชะโงกค้า..  ฝากท้องมื้อเช้าไว้ที่เวียงจันทน์ จำชื่อถนนไม่ได้ แต่เป็นตลาดเก่า เป็นย่านขายของเดินเลือกร้านกันอยู่นาน สรุปลงตัวที่บะหมี่เกี๊ยวน่าจะอร่อย (ดูจากคนนั่งเต็มร้าน) รสชาติก็โอค่ะ แต่แผ่นแป้งหนามาก สงสัยว่าที่นี่จะนิยมกินแป้งหนา สังเกตุจากเส้นใหญ่ที่กินผัดซี้อิ้ววันก่อน เฝอ(กินกันเกือบทุกวัน) และวันนี้เป็นบะหมี่ เกี้ยว เส้นจะเป็นแป้งหนามากเหมือนกันหมดค่ะ จากนั้นจะเริ่มทัวร์ชะโงกตั้งแต่ หอพระแก้ว พระทาดหลวง และ ประตูชัยค่ะ

 

 
   
 

 

 

            หอพระแก้ว เป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ของลาว โดยพระไชยเชษฐาธิราชมีพระประสงค์ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2108 เป็นสถานที่ที่ พระแก้วมรกต หรือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ของบ้านเราเคยประดิษฐานตอนที่ถูกพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชอัญเชิญมาจากเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ 2101 ก่อนกลับมาประดิษฐานที่วัดพระแก้วในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ดังนั้นตอนนี้ภายในหอพระแก้วจึงมีแต่พระแท่นที่เคยใช้ และพระพุทธรูปปางต่างๆ ส่วนภายนอกก็ตั้งแสดงวัตถุโบราณในยุคขอม เช่นศิลาจารึก พระพุทธรูป และเทวรูปต่างๆ ที่งดงาม ล้ำค่ามาก

            หอพระแก้วในปัจจุบันเป็นหอที่ถูกบูรณะขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยเจ้าสุวรรณภูมา ที่จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หอพระแก้ววิหารขนาดใหญ่ที่มีความงดงามมาก ทั้งภายในและภายนอกไม่ได้ทาสีหรือใช้กระจกสีแต่งประดับเหมือนกับวิหารในเมืองไทย จึงมองเห็นเนื้อปูนที่ผสมออกเป็นสีน้ำตาลปนแดง ดูคล้ายกับเป็นของเก่าที่ดูเคร่งขรึม ออกไปแนวคลาสสิค

 

 

 
   
 

 

 

            พระธาตุหลวง หรือ พระทาดหลวง  มีตำนานว่า พระธาตุหลวงสร้างขึ้นพร้อมๆ กับตอนที่มีการสร้างเมืองนครเวียงจันทน์ แต่หลังจากก่อสร้างพระธาตุพนมแล้ว ผู้สร้าง คือ บุรีจันอ้วยล้วย หรือ พระเจ้าจันทบุรีประสิทธิศักดิ์ เจ้าเหนือหัวผู้ครองนครเวียงจันทน์พระองค์แรก พร้อมกับพระอรหันต์ 5 องค์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนหัวหน้า 27 พระองค์ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากเมืองราชคฤห์ ประเทศอินเดีย โดยก่อเป็นอุโมงค์หินคร่อมไว้ อุโมงค์นั้นกว้างด้านละ 5 วา ผนังหนา 2 วา และสูงได้ 4 วา 3 ศอก เมื่อได้ทำการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้ว พระเจ้าจันทบุรี จึงได้มีพระราชดำรัสให้เสนาอำมาตย์สร้างวิหารขึ้นในเมืองจันทบุรีหรือนครเวียงจันทน์ 5 หลัง เพื่อให้เป็นที่อยู่จำพรรษาของ พระอรหันต์ทั้ง 5 องค์นั้นด้วย ตามตำนานดังกล่าวระบุศักราชการสร้างว่าอยู่ในช่วง พ.ศ. 238

 

 

 
   
 

 

 

            แม้ว่าต่อมาชื่อของเวียงจันทน์จะไม่ได้ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์ใดเลย แต่นครเวียงจันทน์ก็ยังคงเป็นเมืองสำคัญ เนื่องจากมีปรากฎการอ้างถึงชื่อเมืองเวียงจันทน์ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง และในพงศาวดารลาวฉบับต่างๆ ก็ระบุด้วยว่านับตั้งแต่พระเจ้าฟ้างุ้มเสวยราชสมบัติที่เมืองหลวงพระบางแล้ว ก็ได้มีการส่งเชื้อพระวงศ์และขุนนางสำคัญมาปกครองเมืองนี้โดยตลอด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2103 สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ทรงย้ายราชธานีจากเมืองเชียงทองหลวงพระบางมายังนครหลวงเวียงจันทน์ และในปีพ.ศ. 2109 มีการบูรณะพระธาตุองค์เดิมโดยสร้างพระธาตุขึ้นใหม่เพื่อครอบพระธาตุองค์เดิมที่มีมาแต่โบราณ ตามความประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชในปี พ.ศ. 2109 ณ พระราชอุทยานด้านตะวันออกของเมือง โดยในบูรณะได้มีการประกาศข่าวให้ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่โขงมาร่วมแรงกันสร้าง จึงถือได้ว่าเป็นพระธาตุที่แสดงถึงน้ำใจของประชาชนสองฝั่ง และได้รับการขนานนามว่า “ พระเจดีย์โลกะจุฬามณี” หรือ “พระธาตุใหญ่” แต่คนส่วนมาก มักเรียกว่า “พระธาตุหลวง”


            ปัจจุบันตราแผ่นดินของลาวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีรูปพระธาตุหลวงเป็นภาพประธานในดวงตราแผ่นดินค่ะ

 

 

 
   
 

 

 

            จบทัวร์ชะโงกแล้ว Hana และชาวคณะก็ออกเดินทางเพื่อข้ามสะพานมิตรภาพกลับไทยราวๆ บ่ายโมง แวะซื้อของตรง duty free ระหว่างรอเอกสารข้ามฝั่งค่ะ จากที่เดินชมพบว่าที่นี่มีร้านค้าหลายร้าน เลือกเดินได้ตามใจชอบ แต่ก่อนซื้อก็ระวังของปลอมกันนิดหนึ่งค่ะ Hana ซื้อ Ferrero rocher แบบฉบับของเวียดนามได้มากล่องหนึ่งรสชาติหวานๆ ไม่ค่อยเหมือนช็อคโกแลตเท่าไรนักค่ะ อ้อ! ที่ถูกใจสุดเห็นจะเป็น ซื้อข้าวจี่ทรงเครื่อง หรือ แซนวิชขนมปังฝรั่งเศสค่ะ อันใหญ่มาก อันละ 50 บาท ซื้อมาอีก 4 อัน แจกกินกันบนรถประหยัดเวลา เฮ่อ! กล่าวอำลาประเทศลาวเลยละกัน พร้อมๆ กับเสียงงึมงำๆ ว่า
“พี่ hana คราวนี้ทำเอา นู๋โตในรถเลยนะค่ะ แหม..ก็นั่งมาราธอนมากพี่”

             “แต่พี่อยากไปหลวงพระบางอีกจัง”
            ช่าย ช่าย เสียงตอบรับออกมาพร้อมๆ กัน
            "นู๋ขอไปด้วยนะ 555 แต่คราวหน้านู๋ขอนั่งเครื่องนะค้า...."
            ขอบใจหลาย หลาย สมาชิกร่วมทริปครั้งนี้ทุกท่าน ที่คอเดียวกัน ว่าไหนว่านั่น สนุกมากๆ คราวหน้ารวมตัวเฉพาะกิจกันอีกรอบนะจ๊ะ...

--Hana--

 

            ปล. เดือนนี้เป็นเดือนแห่งเทศกาลมหาสงกรานต์ ที่เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณทั้งของไทยและเพื่อนค่ะ ไม่เว้นแม้กระทั้งในประเทศลาว hana เลยขอแถมเกล็ดเล็กๆ ของเทศกาลสงกรานต์ในหลวงพระบางมาฝากค่ะ

 

 
   
     
 

 

 

            สงกรานต์ ที่ หลวงพระบางนี้เค้าเรียกว่า งานบุญสงกรานต์ เดือนห้า เป็นการทำบุญวันปีใหม่ลาวลักษณะคล้ายๆ กับของไทยค่ะ เป็นงานบุญ เพื่อส่งสิ่งไม่ดีในปีที่ผ่านมา และต้อนรับสิ่งดีดีที่จะมาถึงในปีใหม่ที่จะถึง จะมีงานถึง 4 วัน


            วันแรกของงานจะเรียกว่า “วันสังขารล่อง”  เป็นวันจับจ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่ประกอบไปด้วย ธงรูปพระพุทธเจ้า ธงตังเพิ่ง และกระทงเสี่ยงขอ สำหรับ ธงรูปพระพุทธเจ้า ธงตังเพิ่งจะนำไปปักบนเจดีย์ทรายที่ก่อริมหาดแม่น้ำโขงในตอนเย็นของวันสังขารล่อง ส่วนกระทงเสี่ยงขอบรรจุไปด้วย อ้อย กล้วย ขิง ข้าวขาว ข้าวแดง ดอกไม้ ใบพลู ธูปเทียน ดอกบังรอ(ดาวเรือง) ตัดเล็บ ผม และถ่มน้ำลายใส่ในกระทง จากนั้นอธิษฐานให้เคราะห์ร้าย ทุกข์โศก และสิ่งไม่ดีทั้งหลายให้ลอยไปกับกระทง


            วันที่สองเรียกว่า “วันเนา” ช่วงเช้าจะมีการอัญเชิญรูปหุ่นเชิดของปู่เยอย่าเยอ และสิงห์แก้วสิงห์คำ ตัวแทนบรรพบุรุษลาวจากหอเก็บที่วัดอารามออกมา ช่วงบ่ายจะมีขบวนแห่ นำขบวนโดยปู่เยอย่าเยอจะฟ้อนรำอวยพรให้ลูกหลาน ตามด้วยผู้เฒ่าผู้แก่ และบุคคลสำคัญตัวแทนของคุ้มบ้าน(หัวหน้าหมู่บ้าน) พระสงฆ์ นางวอ และนางสังขาร(นางสงกรานต์) ขี่สัตว์พาหนะอยู่บนรถแห่


            วันที่สามคือ “วันสังขารขึ้น” ชาวหลวงพระบางต่างก็จะทำข้าวเหนียวนึ่ง ขนมจำพวกลูกกวาด และพากันเดินขึ้นภูสี ภูเขาสูงกลางเมืองหลวงพระบาง โดยระหว่างทางจะวางข้าวเหนียวและขนมไว้ตามหัวเสาบันไดไล่ไปจนถึงองค์พระธาตุ วิธีการนี้เรียกว่าเป็นการตักบาตรภูสี และจะมีการโยนข้าวเหนียวลงป่าข้างองค์พระธาตุเป็นการให้ทาน จากนั้นช่วงบ่ายมีขบวนแห่นางสังขารและอัญเชิญศีรษะท้าวกบิลพรหมจากวัดเชียงทองเพื่อนิมนต์ไปสรงน้ำพระที่วัดวิชุน

 

 
   
 

 

 

            สำหรับวันที่สี่ เป็นวันเรียกได้ว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง เพราะจะมีการแห่พระบาง  พระพุทธรูปคู่เมืองหลวงพระบาง ออกมาให้ชาวเมืองสรงน้ำ โดยจะประดิษฐานอยู่ที่วัดใหม่เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน จึงจะอัญเชิญกลับที่หอพิพิธภัณฑ์เหมือนเดิม


            งานสงกรานต์ของลาวก็จะมีการเสี่ยงทายคล้ายๆ ของบ้านเราขอเว้นไม่กล่าวถึงนะคะ แต่ขอเล่าตำนานของ ปู่เยอย่าเยอ แทนค่ะตามตำนานเล่าว่า  นานมาแล้วมี"ขุนบูรมราชาธิราชเจ้า" เป็นเจ้า "เมืองหนองแส" แต่ถูกจีนรุกราน จึงอพยพมาตั้งบ้านเมืองใหม่อยู่ที่ "เมืองนาน้อยอ้อยหนู" แล้วเรียกชื่อเมืองนี้ใหม่ว่า "เมืองแถน" ขุนบรมราชาธิราชเจ้า มีโอรสทั้งหมด 7 คน คือ ขุนลอ ท้าวผาลาน ท้าวจุลง ท้าวคำผง ท้าวอิน ท้าวกม ท้าวเจือง

            ขุนลอได้มาสร้างและปกครองเมืองล้านช้าง ซึ่งก็คือ เมืองหลวงพระบางนั่นเอง ต่อมาเมืองแห่งนี้บังเกิดมี มีเครือเขากาดยักษ์เครือหนึ่ง (เทือกเขาใหญ่) สูงขึ้นไปถึงเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า ทำให้แสงสว่างของดวงตะวันไม่สามารถส่องลงมาได้ ทำให้ผู้คนต้องอยู่ท่ามกลางความมืดมัวและความหนาวเย็น สร้างความเดือดร้อนให้ไพร่ฟ้า


            วันหนึ่งพระยาขุนบรมได้เรียกเสนาอำมาตย์มาประชุมเพื่อปรึกษาหารือว่าทำอย่างไรจึงจะตัดเครือเขากาดออกได้ จึงมีประกาศหาคนดีมีฝีมือขึ้นไปตัดแต่ก็หาไม่ได้ จนกระทั้งวันหนึ่งมีผู้เฒ่าสองผัวเมียชื่อปู่เยอย่าเยอขออาสา โดยมีข้อแม้ว่าหากพวกตนตายไปขอให้ประชาชนอย่าลืมชื่อของพวกตน พระยาขุนบรมรับปากสองผู้เฒ่า  จากนั้นสองผู้เฒ่าก็ออกเดินทางไปยังเครือเขากาดพร้อมกับขวานใหญ่ทันที ทั้งคู่ใช้เวลาในการตัดอยู่ 3 เดือนกับ 3 วัน จึงสามารถตัดเครือเขากาดลงได้ แต่เมื่อตัดแล้วเครือเขากาดก็ล้มทับสองผู้เฒ่าตายทันที


 

 

 
   
 

 

 

            และแล้วแสงสว่าง ความอบอุ่นก็กลับสู่แผ่นดินอีกครั้ง ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นปกติสุข พระยาขุนบรมจึงได้ทำพิธีส่งวิญญาณปู่เยอย่าเยออย่างสมเกียรติ และเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีครั้งนี้ของปู่เยอย่าเยอ จึงได้ทำรูปสัญลักษณ์ของทั้งสองไว้ให้สักการะมาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้คนลาวจึงมักเติมคำห้อยท้าย “เยอๆ ”  ในภาษาพูด เช่นคำว่า ไปเยอ, มาเยอ

 

            เรามักพบหุ่นหน้ากลมแป้นๆ มีขนพะรุงพะรัง จะต้องวางคู่กันเสมอ หุ่นนี้คือ ปู่เยอย่าเยอ ค่ะ แยกปู่กะย่าด้วยปู่มีหนวดค่ะ นอกจากปู่เยอย่าเยอแล้วบางครั้งเราจะเห็นรูปสิงห์วางอยู่ข้างๆ ด้วย นั่นเป็นเพราะว่าเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ว่านอกจากปู่เยอย่าเยอแล้วก็ยังมีสิงห์แก้วสิงห์คำ เป็นสิงห์ที่ปู่เยอย่าเยอเอามาเลี้ยงเหมือนลูก หมายถึง มนุษย์สามารถคุ้มครองบรรดาสัตว์และธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์แก่ตนได้


            จะเห็นได้ว่าประเทศลาวยังเป็นประเทศที่เพิ่งเร่งรักษาศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม เห็นได้จากสถาปัตยกรรมบางแห่งถูกบูรณะแบบยังไม่ถูกวิธีนักทำให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง และสถาปัตยกรรมบางแห่งก็รื้อของเก่าสร้างของใหม่ทำให้ของที่มีมาแต่โบราณได้ขาดหายไปบางช่วง นอกจากนี้การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรก็ยังมีน้อยอยู่ แต่ที่มีสืบต่อกันมาเห็นจะเป็นตำนานความเชื่อ ของท้องถิ่นที่เป็นที่มาของการสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ค่ะ

 

 
 

 

-- Hana --

       
           
           
           
           
           

 


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538