|
|
|
|
|
|
|
เที่ยววิมาย เที่ยวพิมาย..
ปราสาทหินพิมาย หรือ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่กลางเมืองพิมายซึ่งเป็นเมืองโบราณ และยังเป็นปราสาทหินทรายที่ใหญ่ที่สุดของไทยอีกด้วย บนพื้นที่ 115 ไร่ วางแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร
พิมาย มาจากคำว่า วิมาย หรือ วิมายปุระ ดังที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาทหินพิมาย และยังปรากฏชื่อในจารึกอื่นอีกหลายแห่ง คาดว่าน่าจะเป็นคำที่ใช้เรียกรูปเคารพหรือศาสนาสถาน
ปราสาทหินพิมาย มีความสวยงามเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายานด้วยรูปแบบของศิลปะเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด มีการสันนิษฐานว่า ปราสาทหินพิมายนี้สร้างขึ้น เพื่อเป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 หรือ ราวพุทศตวรรษที่ 16 (พ.ศ. 1545-1593) แต่ยังสร้างไม่เสร็จ ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางพุทธศาสนา และมีการก่อสร้างต่อในช่วงของรัชกาลสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1761) ซึ่งเป็นมหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรขอม ในปี พ.ศ. 2494 และ พ.ศ. 2497 ได้รับบูรณะอีกครั้งโดยได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศส
|
|
|
|
|
|
ในปี พ.ศ. 2479 ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้ปราสาทหินพิมายเป็นโบราณสถานของชาติ และได้ประกาศขึ้นทะเบียน ปราสาทหินพิมายเป็นโบราณสถาน และได้จัดตั้งเป็น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2532
สิ่งที่โดดเด่นของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินอื่นๆ (ปราสาทหินพนมวัน และปราสาทหินพนมรุ้ง) จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในขณะที่ปราสาทหินพิมายจะหันหน้าไปยังทิศใต้ มีการตาดเดาเอาว่า เพื่อเป็นการรับ เส้นทางที่ตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรเขมร ซึ่งเข้าสู่เมืองพิมายทางด้านทิศใต้ค่ะ
ในการเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์จะเริ่มต้นที่ สะพานนาคราช ซึ่งทำเป็นรูปพญานาคเจ็ดเศียรแผ่พังพานอยู่ เพื่อนำไปสู่ ซุ้มประตู หรือ โคปุระ และ กำแพงแก้ว เมื่อเดินผ่านกำแพงแก้วแล้วก็จะถึง ชานชาลา ซึ่งเป็นทางเดินที่ก่อสร้างด้วยหินทรายเป็นเส้นทางนำไปสู่ ระเบียงคด ซึ่งมีซุ้มประตูอยู่ตรงกลางเช่นเดียวกับกำแพงแก้ว จากนั้นก็จะถึง ปราสาทประธาน หอพราหมณ์ ปรางค์หินแดง และ ปรางค์พรหมทัต โดยที่ทับหลังหรือหน้าบันของปราสาทประธานทางด้านทิศใต้ (ด้านหน้าปราสาท) จะเป็นรูป ศิวนาฏราช ส่วนทางด้านทิศอื่นๆ จะเป็นภาพเรื่องเล่าจาก รามเกียรติ์ และเรื่องราวทาง พุทธศาสนา และภายในห้อง ครรภคฤหะ จะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่
|
|
|
|
|
|
ภายในปราสาทหินพิมายมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจ คือ
พลับพลา
พลับพลาจะตั้องอยู่ด้านหน้าของกำแพงชั้นนอก ทางซ้ายมือ เมื่อกันหน้าเข้าหาตัววปราสาท เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมเรียกกันว่า "คลังเงิน" สันนิษฐานว่าตรงจุดนี้เป็นที่สำหรับพักเพื่อที่จะเปลี่ยนเครื่องทรงของกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูง ก่อนเข้าประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่พักจัดขบวนสิ่งของถวายต่างๆ
ในปี พ.ศ. 2511 ได้มีการขุดพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ทั้งรูปเคารพ เครื่องประดับและเหรียญสำริด โบราณซึ่งด้านหนึ่งเป็นรูปครุฑหรือหงส์ อีกด้านหนึ่งเป็นอักษรโบราณ นอกจากนี้ยังพบทับหลังจำหลักเป็นรูปคนกำลังหลั่งน้ำมอบม้าแก่พราหมณ์ เป็นเหตุให้เรียกกันว่า "คลังเงิน"
|
|
|
|
|
|
สะพานนาคราช
เมื่อเราเดินเข้าไปเยี่ยมชมปราสาทหินพิมาย ทางด้านทิศใต้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหน้าของปราสาท เราจะเห็นทางที่ทอดยาวนำเข้าสู่ตัวปรางค์ มีนาคทอดตัวยาวเป็นราวบันได โดยมีนาคนาคราชชูคอแผ่พังพานเป็นรูปนาค 7 เศียร ชูคออยู่ที่ปลายราวสะพาน นาคเป็นสัตว์มงคลที่มักพบตามโบราณสถาน ที่ได้รับอิทธิพลจากคติของศาสนาฮินดู หรือ พราหมณ์ซึ่งเชื่อว่านาคทอดร่างเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ ที่เชิงบันไดนาคทั้งสองข้างมีสิงห์จำหลักจากหินประดับอยู่ข้างละตัว สิงห์มีท่าทางองอาจเสมือนเป็นผู้พิทักษ์โบราณสถาน ลักษณะทางศิลปกรรมของสิงห์และนาคนี้ คล้ายศิลปะที่นครวัดที่สร้างในช่วงรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1656-1688)
|
|
|
|
|
|
ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว
ถัดจากสะพานนาคราชเข้ามาเป็นซุ้มประตู หรือที่เรียกว่า โคปุระ มีทั้งหมดสี่ด้านอยู่กึ่งกลางแนวกำแพง ลักษณะการสร้างเหมือนกันทุกด้าน คือ มีขนาดกว้างสามคูหามีเสาศิลา ช่องลมประดับข้างละสองช่อง เคยพบทับหลังชิ้นหนึ่งที่โคปุระด้านทิศตะวันตก สลักเป็นรูปขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรกประดิษฐานบนคานหาม ทับหลังชิ้นนี้ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ผังโดยรอบของซุ้มประตูมีลักษณะเป็นรูปกากบาท จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านในเชื่อกันว่าเป็นดินแดนของโลกสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า
|
|
|
|
|
|
ปรางค์ประธาน
เป็นส่วนสำคัญที่สุดของปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทองค์ใหญ่ สร้างขึ้นราวพุทธศรรตวรรษที่ 16-17 ก่อสร้างด้วยศิลาทรายสีขาวหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งแตกต่างจากศาสนสถานแบบขอมในที่อื่นๆ ซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าหันไปยังที่ตั้งเมืองพระนคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงศูนย์กลางอำนาจของขอมในอดีต บ้างก็ว่าเป็นคติทางพุทธศาสนาที่ถือทิศใต้เป็นทิศแห่งการมีชีวิต ปราสาทประธานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ มณฑป และ เรือนธาตุ มีการจำหลักลวดลายประดับตามส่วนต่างๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง มักจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ยกเว้นทางด้านทิศใต้ จำหลักเป็นภาพศิวนาฏราช หรือพระศิวะฟ้อนรำ 108 ท่า ในศาสนาฮินดูเชื่อว่า เมื่อใดที่พระศิวะฟ้อนรำผิดจังหวะ เมื่อนั้นโลกก็จะเกิดกลียุค ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรียกว่า ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญ พื้นห้องตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีร่องน้ำมนต์ต่อลอดผ่านพื้นห้องออกไปทางด้านนอก เรียกว่า ท่อโสมสูตร น้ำที่ออกจากท่อนี้ถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ค่ะ
องค์ปรางค์ตั้งอยู่บนฐานสูงสองชั้นสลักลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายประจำยาม ลายกลีบบัวอย่างสวยงาม ก่อด้วยหินทรายสีขาวทำเป็นชั้นซ้อนกันขึ้นไปห้าชั้น ที่ส่วนยอดจำหลักเป็นรูปครุฑแบกทั้งสี่ทิศ เหนือขึ้นไปสลักเป็นรูปเทพประจำทิศต่าง ๆ และรูปดอกบัว นับเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่ต่างจากปราสาทหินที่พบทั่วไป
|
|
|
|
|
|
วันนี้มะลิชวนเที่ยว ปราสาทหินพิมาย เข้ากันกับเทศกาลเที่ยวพิมายนครราชสีมา ประจำปี 2552 ภายในงานจะมีการแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถวยพระราชทานค่ะ และยังมีการแสดงประกอบแสง เสียง วิมายนาฏการ ในชุด นิรมิตกรรมเหนือลำน้ำมูล เป็นการร่ายรำเล่าเรื่องราวจากภาพจำหลักผสานกับความรุ่งเรืองในยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ชมความงามแล้วยังได้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ง่ายขึ้นค่ะ รีบไปเที่ยวไปชมกันนะคะ ไทยเทียวไทยค่ะ ถ้าไทยไม่เที่ยวไทยแล้วใครจะเที่ยวเราค่ะ
|
|
|
|
|
|
เที่ยวพิมายนครราชสีมา ประจำปี 2552 มีในวันที่ 11-15 พ.ย. 2552 ค่ะ
ณ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย บริเวณลานพรหมทัต และลำน้ำจักราช อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.30-18.00 น.
ค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 40 บาท
มีบริการยุวมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นนักเรียนจากโรงเรียนพิมายวิทยานำชมสถานที่ฟรี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 4447 1568
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ที่ว่าการอำเภอพิมาย โทร. 0 4447 1617
เทศบาลตำบลพิมาย โทร. 0 4447 1121
ททท. สำนักงานนครราชสีมา โทร. 0 4421 3030, 0 4421 3666
|
|
|
-- มะลิ -- |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|