editor talk
home
about bareo
art of design
decor guide
the gallery
living young
talk to editor
links
 
 
 
 

 

          บ้านของเราทุกวันนี้ มักจะมีปัญหาให้คอยปวดหัวอยู่เสมอๆ เรื่องของเรื่องมักจะเกิดจากมาตรฐานการทำงานของช่างในบ้านเรา ที่ไม่มีการเรียนรู้อย่างถูกต้อง อาศัยเอาแค่ครูพักลักจำกันเป็นส่วนใหญ่ เรียนรู้กันด้วยการลองผิดลองถูก ถ้าลองได้ถูกก็ดีไป แต่ถ้าลองได้ผิด แล้วเกิดขึ้นกับบ้านของเราล่ะ จะทำยังไง.. และนั่นแหละครับ คือที่มาของห้องช่างห้องนี้ ที่ทางผมได้รับคำสั่งจากท่านผู้จัดการใหญ่ให้มาบอกเล่าถึงประสบการณ์และ กลเม็ดเคล็ด(ไม่)ลับให้ท่านๆ ฟัง หากเล่าได้ถูกใจก็ขอรางวัลเป็นเบียร์เย็นๆ สักลัง จะตราช้าง ตราเสือ หรือตราหมี ผมก็ไม่เกี่ยงนะครับ..แฮ่ม..


 
          วันนี้ ผมจะมาพูดเรื่องของประปากันให้ฟังสักหน่อย ว่ากันว่า เรื่องที่ทำความปวดหัวให้กับเจ้าของบ้านเป็นอันดับต้นๆ ก็คงไม่พ้นเรื่องน้ำไม่ไหล ท่อตัน ส้วมเต็ม อะไรเทือกนี้ อันนี้ หากไม่เกิดขึ้นกับใคร ก็คงไม่รู้สึกหรอก แต่หากเกิดขึ้นกับคุณเข้า จะต้องร้องจ๊ากกันเป็นแถวๆ ก็ลองคิดดูนะครับ ว่า วันดีคืนดี
           ก๊อกน้ำบ้านคุณ สมมติซะว่าเป็นอ่างล้างจาน เกิดไหลขัดๆ กะปริบกะปรอย ทั้งๆ ที่เมื่อสองสามวันก่อน ยังไหลโกร๊กดีๆ อยู่เลย คุณจะหงุดหงิดแค่ไหนกัน ต้องโทรไปตามช่างประปามาช่วยแก้ไข แต่ร้อยทั้งร้อย เชื่อเถอะครับว่าปัญหามักจะเกิดขึ้นตอนที่ค่ำๆ ที่คนอื่นเลิกงานแล้ว จะใครมาช่วยก็ไม่มี ต้องรอจนเช้า แล้วถ้าเกิดเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ล่ะคุณ..โอ๊ย..ตายกันพอดี..

          นี่แค่เรื่องเล็กๆ นะครับ แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ ประเภทท่อตัน ส้วมเต็มล่ะก้อ ถึงกับย้ายไปนอนโรงแรมเชียวคุณ ทำเป็นล้อเล่นไปน่ะ..
มิเตอร์และการขอติดตั้งประปาใหม่
          ก่อนอื่น ก่อนที่เราจะไปในเรื่องประปากันแบบเจาะลึก หรือที่ฝรั่งเค้าเรียก อิน-ดิ-เท็ล น่ะคุณ เราคงต้องรู้จักการวางระบบประปาที่ถูกต้องเสียก่อน อันว่าระบบประปาภายในบ้านนั้น (พูดกันเฉพาะภายในบ้านก่อนนะครับ มากกว่านี้จะยาว) จะมีทางเข้าน้ำ 1 ทาง และทางออกของน้ำอีกหนึ่งทางเช่นเดียวกัน (สมัยก่อน เราจะมีแต่ทางน้ำเข้า แต่ทางน้ำออกจะเป็นระบบซึมลงใต้ดิน ด้วยบ่อเกรอะ-บ่อซึมนั่นแหละครับ แต่ระบบนี้จะมีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก) โดยปกติทางเข้าของน้ำจะใช้ท่อขนาด 6 หุน (หรือ ? นิ้ว) เป็นมาตรฐานทั่วไปของบ้านพักอาศัยตามที่การประปากำหนด (อันที่จริง เราสามารถขอมิเตอร์น้ำได้ตั้งแต่ขนาด ? นิ้ว จนถึง 8 นิ้ว สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำในปริมาณมากๆ หรืออาคารขนาดใหญ่) ส่วนท่อน้ำออกหรือท่อน้ำทิ้งมักจะมีขนาด 10 นิ้ว หรือ 12 นิ้วเป็นมาตรฐาน

          สำหรับการขอต่อมิเตอร์ประปานั้น คุณๆ สามารถติดต่อขอได้จากสำนักงานประปาในเขตพื้นที่ที่บ้านตั้งอยู่ เอาคร่าวๆ ว่าในเขตนครหลวงภายใต้การดูแลของการประปานครหลวง เราแบ่งพื้นที่การประปาออกเป็น 13 เขตด้วยกัน คือ บางกอกน้อย, ภาษีเจริญ, ตากสิน, นนทบุรี, ประชาชื่น, บางเขน, พญาไท, แม้นศรี, ทุ่งมหาเมฆ, พระโขนง, สุขุมวิท, สมุทรปราการ และลาดพร้าวครับ โดยรายละเอียดของพื้นที่ การติดต่อ และเอกสารที่ต้องเตรียมไป สามารถดูได้ที่ภาคผนวกที่ท้ายบทความนะครับท่าน..
ท่อระบายน้ำทิ้งและการบำบัดน้ำเสีย
           ระบบของประปานั้น เป็นสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ทางรัฐจะเป็นผู้จัดหาให้ โดยเราต้องเป็นผู้ต่อท่อจากมิเตอร์น้ำที่หลวงท่านเตรียมไว้ให้เพื่อนำน้ำ ประปาเข้ามาใช้ภายในบ้าน และแน่นอน น้ำที่ผ่านการใช้แล้ว เช่น น้ำจากอ่างล้างหน้า อ่างล้างจาน โถสุขภัณฑ์ชนิดต่างๆ รวมทั้ง อ่างอาบน้ำ ก็จะถูกนำออกจากบ้านผ่านทางท่อน้ำทิ้ง หรือท่อระบายน้ำนั่นเอง ทั้งนี้ ในสมัยก่อน หากเราไม่ใช้ระบบบ่อเกรอะบ่อซึมแล้ว เราจะใช้ระบบท่อระบายน้ำเพื่อปล่อยน้ำที่เราใช้แล้วออกทางท่อระบายน้ำ สาธารณะได้เลย โดยน้ำเหล่านี้ก็จะถูกระบายออกไปสู่แม่น้ำโดยตรง โดยแม่น้ำก็จะมีกลไกตามธรรมชาติในการจัดการกับน้ำทิ้งเหล่านี้ให้กลายเป็น น้ำใช้ได้
          แต่ต่อมาเมื่อประชากรของบ้านเรามีมากขึ้น น้ำทิ้งก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกินกำลังความสามารถของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ (ไม่น่าเชื่อนะครับ ว่าคนตัวเล็กๆ รวมกันแล้วทำลายโลกได้มากมายมหาศาล) ยิ่งบวกกับน้ำทิ้งที่ออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมด้วยแล้ว ยิ่งทำให้น้ำใสๆ ในธรรมชาติมีสีคล้ำลงๆ จนกลายเป็นสีดำหรือน้ำเสียในที่สุด และนี่เอง..จึงกลายเป็นที่มาของการออกกฎหมายเพื่อจัดการกับน้ำทิ้งก่อนส่ง ออกท่อระบายน้ำสาธารณะ โดยครอบคลุมถึงน้ำทิ้งในครัวเรือนด้วย

          เดี๋ยวนี้ บ้านพักอาศัยส่วนใหญ่จึงจำเป็นที่จะต้องมีถังบำบัดน้ำเสียเพื่อเปลี่ยนสภาพ น้ำเสียให้กลายเป็นน้ำทิ้งที่ได้มาตรฐาน ก่อนส่งออกสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะต่อไป แล้วทีนี้ ก็ถึงตอนปวดหัวล่ะครับ ก็เจ้าถังบำบัดในท้องตลาดเดี๋ยวนี้ มีตั้งมากมายก่ายกอง แถมแต่ละถังก็มีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน แล้วพวกเราจะเลือกซื้อถังบำบัดชนิดไหนล่ะครับ ถึงจะเหมาะสมกับการใช้งานที่ถูกต้อง
          เพื่อให้ง่ายเข้า หรือเอาง่ายเข้าว่า..แฮ่ม.. ผมก็เลยจะขอแนะนำวิธีการวางระบบแบบง่ายๆ เพื่อให้คุณๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้โดยไม่ต้องปวดหัวมากนัก เริ่มต้นจากการแบ่งน้ำทิ้งในบ้านเราออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ ก่อนนะครับ คือน้ำทิ้งทั่วไป (ยกเว้นครัว) อันได้แก่น้ำทิ้งจากห้องน้ำทุกชนิด น้ำทิ้งจากการซักล้าง ซักผ้า เป็นต้น กับอีกประเภทหนึ่งคือ น้ำทิ้งจากครัว
          เจ้าน้ำทิ้งทั่วไปนี้ สามารถต่อท่อลงถังบำบัดน้ำเสียได้โดยตรง โดยถังที่ผมแนะนำให้เลือกใช้ คือถังบำบัดน้ำทิ้งแบบรวมและไม่เติมอากาศ ซึ่งจะมีอยู่มากมายหลายยี่ห้อ ซึ่งผมคงขอแนะนำแค่ถังไบโอโทล (หากคุณต้องการเลือกซื้อยี่ห้ออื่น ก็ให้อ้างอิงจากหลักการทำงานของถังไบโอโทลเลยก็ได้) เหตุที่ผมเลือกระบบรวมและไม่เติมอากาศนี้ เพราะสามารถจัดการน้ำทิ้งได้ดีกว่า และไม่ยุ่งยากในการดูแลรักษา (ง่ายต่อการพูดถึงด้วย) ซึ่งถังไบโอโทลนี้ จะใช้ระบบเกรอะกรองไร้อากาศ (Septic Anarobic Filter) ซึ่งเมื่อน้ำทิ้งไหลเข้ามาจะเข้าสู่ส่วนแยกตะกอนและเก็บกัก ตะกอนหนักและสิ่งที่ปะปนมากับน้ำทิ้งจะตกตะกอนลงสู่ด้านล่างของถังและเกิด การย่อยสลายในสภาพไร้ออกซิเจนไปบางส่วน จากนั้น น้ำทิ้งส่วนที่เหลือจะผ่านเข้าสู่ส่วนกรองไร้อากาศ ก่อนผ่านเข้าสู่ส่วนดักกลิ่น กลายเป็นน้ำทิ้งที่ได้มาตรฐานในที่สุด
          สำหรับการคำนวณขนาดของถังบำบัดน้ำเสียนี้ ให้เราใช้ตัวเลข 200 คูณด้วยจำนวนคนพักอาศัยในบ้าน ได้ออกมาเป็นขนาดของถังที่มีหน่วยเป็นลิตร เช่น บ้านที่มีคนพักอาศัย 4 คน ก็จะใช้ถังบำบัดน้ำเสียที่มีขนาดไม่น้อยกว่า 800 ลิตรครับ และโดยปกติแล้ว ผมมักจะแนะนำให้ใช้ถังขนาดใหญ่กว่าที่คำนวณได้สักหน่อย เพราะซื้อไว้เหลือ ดีกว่าซื้อไว้ขาดนะครับ

          ต่อมา คือเจ้าน้ำทิ้งจากครัว ซึ่งเราจำเป็นต้องดูแลมากกว่าปกติสักหน่อย เพราะน้ำทิ้งจากครัวมักจะมีไขมันที่ไม่ละลายน้ำปนอยู่ค่อนข้างมาก และเมื่อจับตัวกันเป็นก้อนก็จะสามารถอุดตันท่อระบายน้ำของเราได้อย่างชะงัก พร้อมทั้งลดประสิทธิภาพของการทำงานของถังบำบัดน้ำเสียของเราอีกด้วย
           เรียกง่ายๆ ว่าถ้าต่อตรงเข้าถังบำบัดแล้ว มีโอกาสโดนสองเด้งทีเดียว คือทั้งท่อตัน และส้วมเต็มครับผม ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย เราจึงจำเป็นจะต้องติดตั้งบ่อดักไขมันเพื่อทำการดักไขมันจากน้ำทิ้งในครัว ก่อนที่จะเข้าสู่ถังบำบัดน้ำเสียให้เรียบร้อยเสียก่อนครับ
          โดยหลักการทำงานของบ่อดักไขมัน จะประกอบไปด้วย ตะแกรงดักเศษอาหาร ซึ่งจะกรองเศษอาหารออกจากน้ำทิ้ง และก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะนำเศษอาหารไปทิ้งในถังขยะ และทำความสะอาดเป็นครั้งคราว

          จากตะแกรงดักเศษอาหาร น้ำทิ้งจะถูกส่งผ่านส่วนแยกไขมันที่ได้รับการออกแบบตามหลักชลศาสตร์ เพื่อให้ไขมันส่วนใหญ่ถูกจับอยู่ในส่วนนี้ และเมื่อผ่านไปสัก 7-10 วัน เราก็ต้องตักออกไปทิ้งซะบ้าง หรือบางยี่ห้ออาจมีท่ออ่อนเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำไขมันเหล่านี้ทิ้งใส่ ภาชนะหรือถุงดำเพื่อนำไปทิ้งต่อไป ส่วนน้ำทิ้งที่ผ่านบ่อดักไขมันนี้ จะยังส่งเข้าท่อระบายน้ำไม่ได้นะครับ แต่จะต้องถูกส่งต่อไปยังถังบำบัดน้ำเสียซะก่อน แล้วจึงค่อยปล่อยออกสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะได้

          นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่สำคัญไม่แพ้ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่พวกเราควรตะหนักไว้เสมอในตอนสร้างบ้าน คือ ท่อระบายน้ำทิ้งครับผม ท่อระบายน้ำทิ้งที่ดีนั้น ควรมีบ่อพักไว้เป็นระยะๆ เพื่อให้สิ่งสกปรกที่มากับน้ำ ได้ตกตะกอนลงในบ่อนี้ แทนที่จะกองกันเป็นก้อนอยู่ในท่อระบายน้ำของเรา ซึ่งจะเป็นต้นตอของท่อตัน หรือส้วมเต็ม กดน้ำไม่ลง เป็นต้น ทางที่ดี เราควรมีบ่อพักทุกๆ ระยะ 3-4 เมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่มีท่อหักมุม เพราะจะดักตะกอนเหล่านี้ได้มากทีเดียว

          เอาล่ะครับ วันนี้ก็ร่ายกันมายาวเหยียด เดี๋ยวพวกเราจะง่วงเหงาหาวนอนกันซะหมด ผมขอจบตอนนี้แต่เพียงแค่นี้ดีกว่า จะได้ไปรับรางวัลจากท่านผู้จัดการด้วยขอรับกระผม..
 
     
 

 



-- ช่างแม่น --

 

 

 


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538