editor talk
home
about bareo
art of design
decor guide
the gallery
living young
talk to editor
links
 
 
 
 

 

          สวัสดีครับ เดือนนี้เรามาเล่นเกมส์ ตอบคำถามกันดีกว่าครับ โดยคำถามมีอยู่ว่า ส่วนสำคัญที่สุดของบ้านคืออะไร? ให้เวลาคิด 1 นาทีนะครับ ..ติ๊กต๊อกๆ... ปิ๊ง ... หมดเวลาครับ

          คำตอบนั้นคงไม่มีที่ถูกต้องจริงๆ เพราะทุกส่วนของบ้านนั้นล้วนแต่สำคัญทั้งสิ้น แต่ถ้าจะให้ผมเลือกตอบก็คงจะเป็น หลังคา เพราะมีไว้ปกป้องผู้ที่อยู่อาศัยอย่างเราๆ จาก แสงแดดร้อนๆ น้ำฝน หรือแม้แต่วัตถุที่ไม่คาดคิดตกใส่บ้าน ดังนั้นเราควรมีความรู้เกี่ยวกับหลังคาไว้บ้าง เพื่อที่เราสามารถวางแผนเลือกหลังคาให้ มีโครงสร้างแข็งแรง ประหยัดพลังงาน ดูสวยงาม รวมทั้งวิธีการดูแลรักษา เพื่อให้หลังคานั้นสามารถคุ้มแดดคุ้มฝนให้เราตลอดไป สำหรับเรื่องเกี่ยวกับหลังคานั้นผมขออนุญาตแยกออกเป็นตอนๆนะครับ โดยขอเริ่มจาก ประเภทของหลังคา กันก่อนนะครับ
          ประเภทของหลังคา รูปทรงของหลังคามีอยู่ 5 แบบ คือ

          1. หลังคาแบน (Slab หรือ Flat roof) ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นหลังคาที่แพร่เข้ามาในยุคของ Modern โดยสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยบนหลังคา เช่น นั่งเล่นพักผ่อน ตากเสื้อผ้า ปลูกต้นไม้ และทำให้บ้านของเราดูทันสมัย เพราะการออกบ้านสมัยใหม่ทั่วไปในปัจจุบันไม่ต้องการให้มองเห็นตัวหลังคาของบ้าน ซึ่งทำให้การออกแบบหลังคาและตัวบ้าน สามารถทำได้หลากหลาย มากขึ้น

          ข้อเสีย ของหลังคาแบบ SLAB เนื่องจาก ส่วนมากจะทำด้วยคอนกรีตซึ่งจะทำให้สะสม ความร้อนในเวลากลางวันแล้ว พอตกกลางคืนอากาศเริ่มเย็นลง จะทำให้เกิดการคายความร้อนของคอนกรีตออกมา ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกร้อนอบอ้าว และการที่หลังคาแบนมีความลาดเอียงน้อย น้ำฝนจึงมักขังอยู่บนหลังคาได้ง่าย จึงควรมีระบบการระบายน้ำที่ดีด้วย เพราะถ้าน้ำขังเป็นเวลานานๆ จะทำให้โครงสร้างเริ่มผุกร่อนและรั่วซึม ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ควรที่จะปูฉนวนกันร้อนและติดแผ่นกันชื้นด้วยนะครับ
           2. หลังคาเพิงแหงน (Lean To) หรือที่เรามักเรียกว่า หลังคา เพิงหมาแหงน นั่นแหละครับ เป็นหลังคาที่มีองศาลาดเอียงไปด้านเดียว เหมาะสมสำหรับบ้านขนาดเล็ก เนื่องจากก่อสร้างง่าย รวดเร็ว ราคาประหยัด การรั่วซึมน้อยกว่าแบบอื่นๆ หลังคาเพิงแหงน มักใช้ในงานก่อสร้างชั่วคราว หรืองานต่อเติมอาคารง่ายๆ แต่สมัยนี้ บ้านเดี่ยวสไตร์โมเดิร์น ก็นิยมทำเหมือนกันครับ

          ข้อเสีย ต้องระวังควรให้หลังคามีองศาความลาดเอียงมากพอ ที่จะระบายน้ำฝนออกได้ทันไม่ไหลย้อนซึมกลับเข้ามาได้โดยพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความชันจากขนาดของหลังคา วัสดุมุงหลังคา และระยะซ้อนของหลังคา เป็นต้น


 
          3. หลังคาจั่ว หรือ หลังคามนิลา (Gable Roof) หลังคาจะมีความลาดเอียงอยู่ 2 ด้านชนกัน โดยให้สันสูงอยู่กลาง เป็นรูปทรงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ เนื่องจากหลังคาจั่วมีรูปทรงที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศเขตศูนย์สูตรอย่างบ้านเรา เนื่องจากมีฝนตกชุกหลังคาจั่วสามารถระบายน้ำฝนออกไปได้เร็ว และป้องกันแดดได้ดี เนื่องจากชายคายื่นยาวทั้งสองด้าน และสามารถระบายความร้อนใต้หลังคาได้ดีอีกด้วย
          4. หลังคาปั้นหยา (Hip Roof) ปัจจุบันจะนิยมทำหลังคาทรงปั้นหยากันมาก เพราะ ลักษณะของหลังคาปั้นหยานั้น จะมีด้านลาดเอียงของหลังคา 4 ด้าน ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง ป้องกันแดดและฝนได้ทุกด้านของบ้านอีกด้วย ทำให้ตัวบ้านไม่ปะทะกับลมฝนและแสงแดดที่มากเกินไป อีกทั้งยังเป็นหลังคาที่มีรูปทรงภูมิฐานมั่นคงสง่างาม นับได้ว่าเป็นรูปทรงหลังคาอีกรูปทรงหนึ่งที่ถูกลักษณะทางเคหะศาสตร์ และเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของบ้านเรา

          ข้อเสีย ราคาแพง เนื่องจากมีรายละเอียดเยอะกว่าหลังคาชนิดอื่นๆ จุดเชื่อมต่อมากมายบนหลังคา อาจทำให้เกิดปัญหาการรั่วซึมได้ง่าย จึงจำเป็นต้องใช้ช่างที่มีฝีมือพอสมควรในการก่อสร้าง
           5. หลังคาทรงอิสระ (Free Form Roof) เป็นหลังคาที่อาจไม่จัดอยู่ในรูปทรงเรขาคณิตก็ว่าได้ สามารถออกแบบ ได้อย่างไร้ข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับการออกแบบของสถาปนิกแต่ละท่านว่า ต้องการก่อให้เกิดรูปทรงแปลกตามากเพียงใด แสดงถึงรสนิยมของเจ้าของบ้านอย่างแท้จริง

           ข้อเสีย วัสดุมุงหลังคานั้นหายาก ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า เนื่องจากบ้านเรายังไม่สามารถผลิตเองได้ ทำให้วัสดุมีราคาสูง ด้วยรูปทรงหลังคาที่แปลกตา หากช่างไม่มีความชำนาญพอ จะทำความเสียหายแก่หลังคาได้ และอาจก่อให้เกิดการรั่วซึมได้ง่าย
           มาถึงตอนนี้หลายๆท่านคงจะทราบแล้วว่าหลังคาบ้านของท่านจัดเป็นประเภทไหน มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง และหลายๆท่านคงอยากทราบว่า หลังคานั้นมีโครงสร้างแบบไหน และมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไร ในส่วนนี้ต้องติดตามอ่านกันในคราวต่อไปนะครับ
 
     
 

 

   สวัสดีครับ

-- projecton --

 

 

 


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538