editor talk
home
about bareo
art of design
decor guide
the gallery
living young
talk to editor
links
 
 
 
 

 

          สวัสดีครับ หลังจากผมที่ได้นำเสนอเรื่องราวของหลังคาไปแล้วทั้ง 3 ตอน คือ ประเภทของหลังคา โครงสร้างหลังคา และวิธีการดูแลรักษาหลังคาเบื้องต้น แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เกี่ยวกับหลังคา นั่นก็คือ ฉนวนกันความร้อน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นมากในปัจจุบัน ทำให้ฉนวนกันความร้อนเป็นปัจจัยหลักๆ ในการช่วยความร้อนให้กับบ้าน นอกจากช่วยให้บ้านเราเย็นสบาย แล้วยังจะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าจากค่าไฟที่ลดลง และที่สำคัญยิ่งคือช่วยชาติและโลกของเราประหยัดพลังงาน ดังนั้นเรามาดูกันว่าฉนวนกันความร้อนนั้นคืออะไร และมีหลักในการพิจารณาเลือกใช้อย่างไรบ้าง
          ฉนวนกันความร้อนโดยทั่วไปหมายถึง วัตถุหรือวัสดุที่มีความสามารถในการสกัดกั้นความร้อนไม่ให้ส่งผ่านจากด้านใด ด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งได้ง่าย (โดยธรรมชาติแล้ว ความร้อนจะเคลื่อนที่จากที่อุณหภูมิสูง ไปยังที่ที่มีอุณหภูมิต่ำเสมอ) การส่งผ่านความร้อนจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งของวัสดุใดๆ หรือการถ่ายเทความร้อน ( Heat Transfer ) ระหว่างวัตถุสามารถเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออุณหภูมิของวัตถุทั้งสองมีความแตกต่างกัน ซึ่งลักษณะการถ่ายเทความร้อนนั้นมี 3 วิธี โดยอาจเกิดขึ้นจากวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายๆ วิธีพร้อมกันได้แก่
          - การนำความร้อน ( Conduction ) คือ ปรากฏการณ์ที่พลังงานความร้อนถ่ายเทภายในวัตถุหนึ่งๆ หรือระหว่างวัตถุสองชิ้นที่สัมผัสกัน โดยมีทิศทางของการเคลื่อนที่จากบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงไปยังบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า โดยที่ตัวกลางไม่มีการเคลื่อนที่
          - การพาความร้อน ( convection ) คือ การถ่ายโอนความร้อนที่เกิดจากที่สารใดสารหนึ่งได้รับความร้อนแล้ว ความหนาแน่นของอนุภาคน้อยลงขยายตัวลอยตัวสูงขึ้น พร้อมทั้งพาความร้อนไปด้วย ขณะเดียวกันส่วนอื่นที่ยังไม่ได้รับความร้อนยังมีความหนาแน่นของอนุภาค มากกว่า จะเคลื่อนมาแทนที่เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนสสารนั้นได้รับความร้อนทั่วกันจึงเรียกว่า "การพาความร้อน"
          - การแผ่รังสีความร้อน ( Radiation) คือ การถ่ายโอนความร้อนที่เกิดจากแหล่งความร้อนหนึ่งไปยังสารที่มีอุณภูมิตํ่า กว่า โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง เรียกว่า การแผ่รังสีความร้อน
           การเลือกใช้ฉนวนมีหลักควรพิจารณาดังนี้

1. ช่วงอุณหภูมิใช้งาน ที่ฉนวนใช้ได้โดยไม่เสียหายหรือเสื่อมคุณภาพ
2. ค่าการนำความร้อน ค่าที่ต่ำกว่าจะลดการสูญเสียพลังงานได้ดีกว่า
3. กำลังการอัดบีบ ควรเลือกฉนวนที่ไม่เสียรูปทรงมาก โดยเปรียบเทียบจากปริมาณการเสียรูปทรงของฉนวนต่างๆที่ค่าเดียวกันว่ารับ กำลังการอัดบีบได้เท่าไร
4. ความทนทานต่อการติดไฟ
5. โครงสร้างเซลล์ ซึ่งจะเป็นสิ่งกำหนดว่าฉนวนจะดูดซับความชื้นยากง่ายเพียงไร
6. รูปแบบของฉนวน ความหนาและรูปทรงของฉนวนจะเป็นตัวกำหนดได้ว่า ฉนวนนั้นมีความเหมาะสมในการนำมาใช้งานหรือไม่แล้วทำให้เป็นเส้นใยด้วยวิธี บลาสต์ (ฺblast method) วิธีหมุนเหวี่ยง (centrifugal method) วิธีร็อด (rod method) หรือวิธีพอต (pot method) วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีรวมกัน โดยใช้สารยึด (binding agent) ช่วยยึดเส้นใยแก้วให้เกาะเป็นแผ่น (glass wool board) ม้วน ท่อ (glass wool pipe) หรือรูปแบบอื่นๆ โดยมีวัสดุที่เหมาะสมปิดทับผิวหน้าด้วยหรือไม่ก็ได้
           คุณสมบัติที่ดีของวัสดุความเป็นฉนวนกันความร้อน

1. น้ำหนักเบา และมีค่าความหนาแน่นน้อย
2. มีค่าการนำความร้อนต่ำ คือการให้ความร้อนไหลผ่านฉนวนได้ยาก
3. มีความคงทนต่อแรงอัดและแรงดึงได้เป็นอย่างดี
4. มีอัตราการดูดซับความชื้นที่ต่ำหรือไม่มีเลยยิ่งเป็นการดีมาก
5. มีความสามารถต้านทานการกัดกร่อนได้ดี
6. เปลี่ยนรูปได้ยาก และมีความคงตัวสูง
7. มีความทนต่อการติดไฟได้ดี ( ไม่ติดไฟ )
8. สามารถใช้ได้กับอุณหภูมิที่กว้างหรือทุกระดับได้
9. ติดตั้งง่ายและสะดวก
           คุณสมบัติของฉนวนกันความร้อนแต่ละชนิด

1. วัสดุฉนวนอลูมิเนียมฟอยล์ มีความมันวาวของผิวแผ่นฟอยล์ มีสมบัติในการสะท้อนความร้อน ข้อดีคือทนความชื้น ไม่ติดไฟและไม่ลามไฟ ไม่ฉีกขาดง่าย
2. วัสดุฉนวนแบบโฟม เช่น โพลี่ยูรีเทนโฟม โฟมพอลิเอทิลีน มีข้อดีคือ สามารถคงสภาพเพิมได้แม้จะโดนน้ำหรือความชื้น ทนทานต่อกรดและด่าง
3. วัสดุฉนวนใยแก้ว หรือที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า ไมโครไฟเบอร์ มีโพรงอากาศเล็กๆ จำนวนมหาศาล ซึ่งแทรกอยู่ระหว่างเส้นใยแก้ว จะทำหน้าเก็บกักความร้อนไว้ และลดการส่งถ่ายความร้อนจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้โพรงอากาศเล็กๆ เหล่านั้นสามารถลดทอน พลังงานเสียงที่ผ่านเข้ามา ให้เหลือพลังงาน ที่สะท้อนออกไปน้อยลง วัสดุฉนวนใยแก้วจัดเป็น ฉนวนกันความร้อนและดูดซับเสียงที่มีประสิทธิภาพ มีความอ่อนตัว และคืนตัวดี สามารถทนไฟได้ประมาณ 300 องศาเซลเซียส ปัจจุบันยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า ใยแก้วเป็นอันตราย ต่อสุขภาพหรือไม่ จึงยังคงเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป
4. วัสดุฉนวนใยหิน จัดเป็นเส้นใยจากธรรมชาติที่ไม่มีสารประกอบของ แอสเบสตอส (Asbestos) จึงปลอดภัยต่อสุขภาพ สมบัติในการกันความร้อน และดูดซับเสียง เทียบเท่ากับฉนวนใยแก้ว แต่สามารถทนไฟได้ดีกว่า ทั้งวัสดุฉนวนชนิดใยแก้ว และใยหิน มีข้อด้อยคือไม่ทนทานต่อความเปียกชื้น
           ประโยชน์ที่ได้รับจากการติดตั้งฉนวนกันความร้อนหรือโฟมกันความร้อน

1. สามารถลดความร้อนหรือลดอุณหภูมิภายในอาคารลงได้มากกว่า 90% จากการพ่นฉนวนกันความร้อนโพลียูรีเทนโฟมหรือฉนวนป้องกันความร้อน
2. สามารถลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่ากระแสไฟฟ้าลงได้อย่างมากต่อปี ถ้ามีการติดตั้งฉนวนป้องกันความร้อนหรือฉนวนป้องกันร้อน
3 . ความคุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะยาว เมื่อติดตั้งพ่นฉนวนกันความร้อนโพลียูรีเทนโฟมหรือฉนวนป้องกันความร้อน/ฉนวนป้องกันร้อน
          เป็นอย่างไรบ้างกับหลักเกณฑ์ง่ายๆในการเลือกใช้วัสดุฉนวนกันความร้อน ซึ่งเพียงเท่านี้ ก็ทำให้คุณสามารถเลือกซื้อวัสดุฉนวนกันความร้อนที่เหมาะสม และสามารถช่วยประหยัดพลังงานภายในที่อยู่อาศัยของคุณได้แล้ว ซึ่งนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยประเทศชาติประหยัดพลังงานโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในตอนหน้าจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับบ้านอะไรบ้าง ต้องคอยติดตามกันนะครับสวัสดีครับ
 
     
 

 

   สวัสดีครับ

-- projecton --

 

 

 


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538