ปัจจุบันนี้ถ้าผมถามถึงคอมพิวเตอร์คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ซึ่งผิดกับเมื่อสมัยก่อนที่บ้านใครมีคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเรื่องแปลกเพราะใช้ประโยชน์กันแค่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ตอนนี้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกที่มีประโยชน์มาก และได้เข้าไปอยู่เกือบทุกบ้านทุกสถานที่ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะเจอคอมพิวเตอร์ แต่การใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไป ก็เป็นสาเหตุของอาการผิดปกติต่างๆ ที่จะตามมาได้ และอาการที่ว่านี้มักจะพบในหมู่นักเล่นคอมเกือบทุกคนก็ว่าได้ จนเริ่มมีคนบัญญัติศัพท์ใหม่ให้กับกลุ่มอาการนี้ว่า Computer syndrome |
Computer syndrome หรือ Office syndrome เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในคนทำงานในอ็อฟฟิตหรือทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานไม่เหมาะสมตลอดเวลา ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย มีความเครียดจากการทำงาน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ เช่น หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ รวมทั้งทำให้สายตาพร่ามัว ตาแห้ง และระคายเคืองได้
|
อาการของ Computer syndrome จะมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มอาการแรกนั้นเกี่ยวกับกล้ามเนื้อเรียกว่า Repetitive strain injury หรือ RSI เป็นอาการบาดเจ็บ หรือกล้ามเนื้อตึงเครียดซ้ำๆ เกิดการสะสมจากการนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน
|
สาเหตุมาจากที่ เวลาเรานั่งกดคีย์บอร์ด เราจะต้องโก่งข้อมือขึ้น เพื่อใช้นิ้วกดแป้นพิมพ์ ในขณะเดียวกัน กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและบ่าจะต้องเกร็งตัวขึ้น เพื่อยกไหล่ให้สูงขึ้นตามลักษณะการโก่งข้อมือ ถ้าใช้คอมพิวเตอร์แลปทอปวางบนโต๊ะธรรมดาแล้ว กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะยิ่งต้องทำงานหนัก ถ้าใช้ไปได้สักครึ่งวัน กล้ามเนื้อก็จะปวดเมื่อย พอใช้ไปนานๆ เข้า ก็กลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง
|
อาการ RIS นั้นมีหลายข้อ อาทิ รู้สึกอ่อนเพลีย เมื่อยล้า มือเย็น ความสามารถในการเคลื่อนไหวข้อมือ นิ้วมือลดลงคือกำมือหรือแบมือได้ลำบากกว่าปกติ ใช้ข้อมือยากขึ้น เช่น เปิดหน้าหนังสือหรือนิตยสาร ยกถ้วยกาแฟ หรือแม้กระทั่งหักเลี้ยงพวงมาลัยรถยนต์ก็ทำได้ลำบาก เหล่านี้ล้วนเป็นอาการเริ่มต้นที่หลายคนอาจมองข้ามไป ใครที่พบอาการเหล่านี้อย่างนิ่งนอนใจควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ด้วยนะครับ
|
คนที่เสี่ยงต่ออาการ RSI มากที่สุดคือคนที่ใช้ คอมพิวเตอร์และวางท่าทางไม่ถูกต้อง ไม่หยุดพัก ไม่ออกกำลังระหว่างเบรก มีไลฟ์สไตล์ที่ได้เคลื่อนไหวน้อย ไม่เพียงเท่านี้การพักผ่อนไม่เพียงพอ คนที่มีโรคประจำตัว และความเครียดสะสม ก็เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้อาการอักเสบของกล้ามเนื้อนั้นตึงเครียดได้ตลอดเวลา
|
กลุ่มอาการที่ 2 นั้นก็คือ โรคตาจากจอคอมพิวเตอร์ (CVS หรือ Computer Vision Syndrome) คือกลุ่มอาการทางตาที่ประกอบไปด้วยอาการปวดตา แสบเคืองตา เมื่อยตา น้ำตาไหล ตาแดง ตามัวมองเห็นภาพซ้อนหรือมองเห็นภาพไม่ชัด ภายหลังจากการใช้จอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ปัจจุบันมีผู้มีปัญหาโรคตาจากจอคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยแบ่งเป็นกลุ่มอาการใหญ่ๆ ดังนี้
|
1.ปัญหาปวดตาหรือเมื่อยตา เกิดจากการเพ่งใช้สายตาติดต่อกันอย่างยาวนาน ทำให้มีอาการเมื่อยล้าจากการใช้สายตา โดยปรกติการอ่านจาก Monitor เราต้องเพ่งมากกว่าปกติ ข้อแนะนำคือ ควรมีการหยุดพักสายตาเป็นระยะ โดยทุกๆ 20 ถึง 30 นาที ให้พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ โดยมองไปบริเวณพื้นที่กว้างหรือนอกหน้าต่างหรือหลับตา
|
2.ปัญหาเคืองตา แสบตา ปกติตาคนเราจะมีน้ำตาเคลือบผิวอยู่ตลอดเวลาเป็นการหล่อเลี้ยงตา แต่การใช้คอมพิวเตอร์นานๆ เรามักจะจ้องอย่างต่อเนื่องเป็นผลให้การกระพริบตาลดน้อยลงอย่างมากถึง 66 % เมื่อเทียบกับปกติ จากการที่มีสมาธิอย่างมาก รวมทั้งมีระยะการกลอกตาค่อนข้างจำกัด ผลก็คือทำให้เกิดน้ำตาระเหยออกไปมาก ก่อให้เกิดปัญหาอาการตาแห้ง มีอาการแสบตา เคืองตา ตาแดง มีตาพร่ามัวเป็นพักๆ ตาสู้แสงไม่ได้ ข้อแนะนำคือ ควรกระพริบตาประมาณ 10 - 15 ครั้งต่อนาทีเพื่อป้องกันภาวะตาแห้ง หรือเมื่อรู้สึกเคืองตา แสบตา ให้หลับตาพัก 3-5 วินาที เพื่อให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาจากเปลือกตาบนด้านในมาฉาบให้ความชุ่มชื้นต่อลูกตา หรือใช้ยาหยอดตาชนิดน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาเทียมเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้
|
3.ปัญหาตามัว เป็นปัญหาที่มักพบในผู้ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไป โดยทั่วไปมักไม่ได้มีผลต่อเสียต่อสายตาอย่างถาวร ซึ่งเกิดจากการใช้สายตาเพ่งในการเล่นเกมหรือจ้องคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการปวดเมื่อยตา ศีรษะ และทำให้มีการเพ่งตาค้าง เกิดภาวะคล้ายสายตาสั้น คือมองไกลไม่ชัด แต่มักเป็นอยู่เพียงชั่วคราวก็จะกลับสู่ภาวะปกติ
|
4.ปัญหามองเห็นภาพซ้อน เมื่อใช้งานเป็นเวลานานมากๆ เฉลี่ยมากกว่า 3.5 ชั่วโมง อาจเกิดการเพ่งมากจนกล้ามเนื้อตาอ่อนล้า จึงพบอาการมองเห็นเป็นภาพซ้อนได้ ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นเมื่อได้พักสายตา
|
วิธีสร้างภูมิคุ้มกันจากโรค Computer syndrome
|
1. ขณะพิมพ์คอมพิวเตอร์ต้องให้ข้อศอกอยู่ระดับเดียวกับคีย์บอร์ด เพื่อให้สามารถกดคีย์บอร์ดได้อย่างถนัด และจัดให้มีที่รองรับข้อมือ เพื่อไม่ให้เกิดการกระดกข้อมือซ้ำๆ และควรเลือกโต๊ะคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เอาชนิดที่มีที่วางแคร่พิมพ์เลื่อนออกมาได้
|
2. จอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ห่างจากสายตาประมาณ 2 ฟุต และหน้าจอควรต่ำกว่าระดับสายตา 15 องศา
|
3. อย่าจ้องคอมพิวเตอร์นานๆ ให้พักสายตาทุกๆ 15 นาที ด้วยการมองออกไปไกลๆ หรือมองอะไรที่สีเขียว จะทำให้ดวงตาไม่เกิดอาการล้า
|
4. เมื่อรู้สึกเมื่อยตาให้ นวดคลึงเบาๆบริเวณรอบดวงตา และควรบริหารดวงตาเพื่อคลายความตึง ด้วยการกรอกตาไปมารอบๆเป็นวงกลม สัก 5-6 รอบ ใช้นิ้วทั้ง 2 นิ้ว แตะที่หัวตาแต่ละข้าง และคลึงเบาๆ
|
5. ปรับความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยการควรปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มีความสว่างเท่ากับภาวะแวดล้อม
|
6. แนะนำให้ใช้ตัวอักษรสีดำบนพื้นขาว ขนาดตัวอักษรควรเป็น 3 เท่าของตัวอักษรตัวเล็กที่สุดที่เราเห็นได้ เราสามารถ ทดสอบโดยเดินห่างออกไป 3 เท่าของระยะทางที่เราใช้งานอยู่ ถ้ายังคงเห็นตัวอักษรบนจอได้อยู่แสดงว่าเป็นขนาดที่เหมาะสมแล้ว.
|
7. ควรปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อลดระยะเวลาในการรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคความดันโลหิตสูงและความเครียด
|
8. เลือกเก้าอี้ที่มีพนักพิงสามารถปรับเอน และเปลี่ยนระดับความสูงของเก้าอี้ได้ เพื่อปรับให้เข้ากับรูปร่างของผู้ที่นั่งได้
|
9. ควรมีต้นไม้เล็กๆ อย่างเช่น ต้นกระบองเพชร ไว้ใกล้ๆจอคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยดูสารพิษและช่วยเป็นที่พักสายตา
|
10. ควรออกกำลังกายหรือยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดบ่อยๆ เพื่อลดความปวดและให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นแข็งแรงเพื่อที่จะทนความเจ็บปวดบริเวณนั้นได้
|
เป็นอย่างไรบ้างครับกับความรู้เกี่ยวกับโรค Computer Syndrome ซึ่งเป็นโรคยุคใหม่ที่หนุ่มสาวสมัยนี้เป็นกันมาก รวมทั้งตัวผมด้วย ซึ่งนอกจากจะมีอาการตามกลุ่ม 2 แบบข้างต้น แล้วยังมีภัยเงียบที่หลายๆท่านอาจจะคิดไม่ถึงนั้นคือ อาการท้องร่วงเพราะคีย์บอร์ด เพราะเนื่องจาก คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์นั้น เป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียอันตรายมากกว่าโถสุขภัณฑ์ถ ึง 5 เท่า จากการศึกษาของต่างประเทศครับ แต่จำไม่ได้ว่าที่ใดต้องขออภัยด้วยนะครับ ใครที่มีอาการของ Computer Syndrome อยู่แล้ว ก็อย่าประมาทปล่อยให้เป็นเรื้อรังนะครับเพราะมีอันตรายมากทีเดียว เมื่อเห็นเช่นนี้แล้วคงต้องถึงเวลาปฏิวัติตัวเองและสภาพแวดล้อมการทำงานซะทีนะครับ
|
|