editor talk
 
   
   
   
   
   
   
   
   
  links  
     
 

 

 

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาข่าวแบคทีเรีย “อีโคไล” สารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในผักที่นำเข้าจากยุโรป ระบาดหนักที่เยอรมัน จนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตกันเลยทีเดียว ต้องยอมรับว่าการกินอยู่เดี๋ยวนี้แสนลำบาก จะกินไอศกรีมสักแท่งก็ต้องพะวงว่าจะมีแบคทีเรียจากอุจจาระปนอยู่ไหม  หรือจะกินมันฝรั่งทอดสักชิ้นก็ต้องดูว่ามีปริมาณสารก่อมะเร็งมากน้อยแค่ไหนพอที่จะก่อให้เกิดก้อนเนื้อที่ไม่ได้รับเชิญมาหรือเปล่า  เฮ้อ... เกิดเป็นมนุษย์นี้น่าเหนื่อยจริงนะคะ  แถมพอจะตายก็ไม่ได้ “จากไปดี มีสุข” ชักระตุกทีเดียวตาย แต่ต้องมาตายอย่างเป็นทุกขเวทนาน่าสงสาร ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ก็ต้องสู้กับอนุมูลอิสระเหล่านี้ต่อไป เพียงแค่เรารู้จักเลือกสักหน่อยจะได้ไม่เป็นการทำลายสุขภาพตัวเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นะคะ ว่าแล้วก็คิดถึงคำแนะนำเกี่ยวกับหลักในการ “กินเพื่อสุขภาพ”  ที่ได้ยินคุณแม่ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พูดให้ฟังอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่เด็กๆ ด้วยเหตุที่ว่าเป็นคนที่สุขภาพอ่อนแอที่สุดในบ้าน แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังนำมาใช้ได้ดี ที่สำคัญใครๆ ก็สามารถทำได้ เอาไว้ดังนี้

 

1. เลือกผักผลไม้ตามฤดูกาล เพราะนอกจากจะไม่มีการเก็บไว้นานมากแล้ว โอกาสที่จะต้องใช้ยาฆ่าแมลงก็ยังน้อยไม่เหมือนกับของนอกฤดู และยังเป็นการสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรไทยให้ขายผลผลิตได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

2. อย่าซื้ออาหารหรือผักผลไม้ที่ลดราคาหลังห้างปิด ถ้าเป็นตลาดก็เกือบจะวายแล้ว เพราะอาหารเหล่านี้ได้ผ่านการปรุงหรือล้างมาตั้งแต่เช้า  โดยกว่าจะถึงมือคุณก็ผ่านมือและตากแดดตากลมมาจนโชกโซน ถ้ารับประทานดูจะรู้ได้ทันทีว่าไม่สดแต่ราคาที่ลดยั่วใจทำให้บางท่านหลงซื้อไปแต่ผลลัพธ์ที่ตามอาจได้ไม่คุ้มเสียนัก

 

3. ล้างผักผลไม้ทุกครั้งแม้จุถูกบรรจุมาในถุงที่บอกว่าได้ล้างมาเรียบร้อยแล้ว เช่น สลัดผักใส่ถุงซิปล็อคตามห้าง เพราะอย่าลืมว่ากว่าจะถึงมือเราบางทีก็เย็นย่ำ ผักที่ล้างแล้วก็อาจมีแบคทีเรียเจริญงอกขึ้นมาได้อีก

 

4. เลือกผักผลไม้ที่เป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์หรือแน่ใจว่าสดสะอาด โดยเทคนิคก็คือซื้อจากแม่ค้าเจ้าประจำเพราะถ้าเป็นลูกค้าเก่าเขาจะบอกตรงๆ ว่าอันไหนสด อันไหนค้าง หรืออีกทีหนึ่งก็ไปซื้อที่ร้านดอยคำตรงตลาด อตก. ผักผลไม้จากโครงการหลวงนี้สด กรอบ น่ารับประทานมากคะ

 

5. ฝึกดูฉลากข้างผลิตภัณฑ์ให้เป็นนิสัย ถ้าเป็นฝรั่งนี่เขาจะให้ความสำคัญกับส่วนประกอบของอาหารมาก แต่ของเรานั้นบางทีก็เอาสะดวกเข้าว่า มองๆ ดูแล้วยังไม่หมดอายุก็ใช้ได้ ซึ่งบางทีของสิ่งเดียวกันแต่ถ้าเขาใส่สารกันบูดเข้าไปกว่าจะหมดอายุมันก็นานโขอยู่นะคะ

 

6. ถ้าเป็นของสด ขอให้เลือกซื้อในช่วงเวลาเช้า แม้ว่าปัจจุบันการขนส่งจะทันสมัยส่งของได้ทันใจทางเครื่องบินก็ตาม แต่การที่ของสดอยู่ในอากาศที่ร้อนช่วงบ่ายมักจะเป็นเคหะสถานที่ดีสำหรับแบครีเรีย ขนาดว่าการผ่าตัดผู้ป่วยนั้นยังไม่นิยมทำกันในเวลาบ่ายเลยคะ เรื่องอาหารก็ด้วยเหตุพลเดียวกันนี้เอง

 

7. ไม่ควรซื้อในวันปลายสัปดาห์ เช่น วันศุกร์หรือเสาร์เพราะจะเป็นวันที่อาหาร(ที่เคย)สดจะถูกนำมาโละขายให้หมดเพื่อที่จะได้นำของใหม่มาขายต่อไป

 

8. เลือกรับประทานอาหารหรือซื้ออาหารในร้านที่มีผู้ซื้อเยอะ เพราะจะมีการเปลี่ยนแปลงสินค้าเร็ว โอกาสที่ผู้ซื้อจะได้ของค้างก็น้อยลง

 

9. ชิมอาหารก่อนปรุงให้เป็นนิสัย กรมอนามัยได้เคยออกประกาศเตือนว่าคนไทยเรานั้นเป็นนักบริโภคนิยมในเรื่องของน้ำตาลและเกลือมากเกินพิกัดที่กำหนด สาเหตุส่วนหนึ่งมากจากการ “ปรุงก่อนซิม” จนเป็นนิสัย ทำให้เป็นโรคไต โรคความดันโลหิตสูงกันมากตั้งแต่ยังอายุน้อย

 

10. อย่ากังวลกับสิ่งที่ผ่านไปหรือกับสิ่งที่ยังไม่เกิดมากเกินไป บางคนห่วงสุขภาพมากจนไม่เป็นอันกินอันทำอะไรเลย อย่างนี้ก็เรียกว่าสุดโต่งเกินไป ไม่เหมาะสม ทำให้ชีวิตมีความเครียดแฝงอยู่ลึกๆ สุขภาพทรุด มีโรคแทรกซ้อนกันไปอีก แต่ให้คิดว่าถ้าเลือกดีแล้ว ทำดีที่สุดในการป้องกันสุขภาพของเราแล้ว ก็ให้ภูมิใจว่ายังดีกว่าคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลยอีกหลายพันหลายหมื่นคนคะ

 

เอาเป็นว่าอย่ามัวทอดอาลัยกับชีวิตเลยคะ ยังมีสิ่งที่สวยสดงดงามและอาหารสุขภาพดีๆ ให้ชื่นชมอีกเยอะ อาหารไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นอาหารที่ทำจากผักพื้นบ้าน ถ้าเป็นไปได้อยากให้ลองใช้ผักที่ปลูกเอง หรือผักที่ขึ้นตามธรรมชาติมาปรุงอาหารดูชึ้งนอกจากจะปลอดภัย รับประทานอย่างสบายใจแล้วยังได้วิตามินไม้แพ้ผักของฝรั่งเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นตำลึงข้างรั้ว หรือผักโขมกินยอดก็ได้ ถ้าอยากรับประทานผักให้ได้หลากหลายมากกว่านี้ก็อาจซื้อได้จากที่โครงการหลวง โดยเฉพาะผักคะน้าที่สดกรอบ ราคาไม่แพง ...เห็นไหมคะประเทศไทยเรายังเป็นแหล่งอาหารที่ดีอยู่มาก อย่าเพิ่งถอดใจด้วยเรื่องเล็กน้อยเท่านี้เสียก่อนเลยคะ บ้านเรายังมีสิ่งที่น่ากลัวกว่าพิษภัยจากอาหารอีกเยอะ...ใช่ไหมละคะ

 

 

--- กินดี มีสุข---

 

 


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538