ระบบไฟฟ้าภายในบ้าน

ช่วงนี้กระแสข่าวไฟไหม้กำลังมาแรงไปรึเปล่าคะเนี๊ย ไหนจะไหม้ตึก Ficco ย่านอโศก ไหนจะโรงแรมแกรนด์ พาร์ค อเวนิว โรงแรมหรูภายในซอยสุขุมวิท 22 และไหนจะรถบรรทุกก๊าซไฟไหม้ย่านพัฒนาการ โอ๊ยร้อนระอุทำให้คนกรุงขวัญผวาไปตาม ๆ กัน ดังนั้น ทุกคนทุกบ้านต้องช่วยกันตรวจตราไฟฟ้าในบ้านตัวเองให้ดีด้วยนะคะ ถ้าประมาทเลินเล่อจนเกิดไฟไหม้ขึ้นมาอีกละก็ จะเกิดความเสียหายอีกไม่น้อยเลย
แล้วทราบมั้ยคะว่าระบบไฟฟ้าภายในบ้านของคุณเป็นแบบไหน โดยทั่วไปไฟฟ้าที่เรารู้จักกัน จะมี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับ
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับคำศัพท์ ที่มักได้ยินกันบ่อย ๆ สำหรับงานไฟฟ้ากันก่อนดีกว่าค่ะ

  • Alternating current หมายถึง ไฟฟ้ากระแสสลับ หรือ ไฟ AC
  • Direct current หมายถึง ไฟฟ้ากระแสตรง หรือ ไฟ DC
  • Voltage เป็นหน่วยของแรงดันไฟฟ้า / ความต่างศักย์ไฟฟ้า อาจใช้ V. หรือ โวลท์
  • Ampere เป็นหน่วยของกระแสไฟฟ้า อาจใช้ แอมป์, Amp., A.
  • Watt เป็นของกำลังไฟฟ้า อาจใช้ วัตต์, W
  • เบรคเกอร์ = คัตเอาท์ = สะพานไฟ คือความหมายเดียวกันค่ะ คือทำหน้าที่เป็นสะพานให้ไฟฟ้าสามารถผ่านไปได้ค่ะ

ไฟฟ้ากระแสตรง (Direct current) มาจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าอย่างเช่น ถ่านไฟฉาย หรือแบตเตอรี่ ไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating current) ผลิตมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั่นเอง แยกประเภทย่อยได้อีก 2 ประเภทคือ ไฟฟ้า 1 เฟส และ 3 เฟส ซึ่งไฟฟ้า 3 เฟส จะมีความต่างศักย์ 380 โวลต์ มักจะใช้ในงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรมใหญ่ ๆ ซึ่งจะใช้จ่ายไฟและควบคุมระบบกลไกการทำงานต่าง ๆ ส่วนไฟฟ้า 1 เฟส ก็คือ ไฟฟ้าที่มีความต่างศักย์ 220 โวลต์ ที่เราใช้กันทั่วไปตามบ้านนี่ละค่ะ

การส่งพลังงานไฟฟ้าเข้าบ้านจะใช้สายไฟ 2 เส้นคือ 1. สายกลาง หรือสาย N มีศักย์ไฟฟ้าเป็นศูนย์ 2. สายไฟ หรือสาย L มีศักย์ไฟฟ้าเป็น 220 โวลต์ โดยปกติสาย L และสาย N ที่ต่อเข้าบ้านจะต่อเข้ากับแผงควบคุมไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่ควบคุมการจ่ายพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในบ้านอย่างมีระบบ บนแผงควบคุมไฟฟ้ามักจะประกอบด้วย ฟิวส์รวม สะพานไฟรวม และสะพานไฟย่อย โดยสะพานไฟย่อยมีไว้เพื่อแยกและควบคุมการส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังวงจรไฟฟ้าย่อยตามส่วนต่างๆ ของบ้านเรือน เช่น วงจรชั้งล่าง วงจรชั้นบน วงจรในครัว เป็นต้น

วงจรไฟฟ้าภายในบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นการต่อแบบขนาน ซึ่งเป็นการต่อวงจรทำให้อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดอยู่คนละวงจร ซึ่งถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดหนึ่งเกิดขัดข้องเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นก็ยังคงใช้งานได้ตามปกติเพราะไม่ได้อยู่ในวงจรเดียวกัน

ไฟฟ้าที่เราใช้กันตามบ้านมีที่มาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และส่งมาตามหน่วยควบคุมต่าง ๆ จนกระทั่งมาเข้ามิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านของเรา มิเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้กันทั่วไปจะมีขนาด 5, 10, 15 แอมป์ แล้วแต่การใช้งานของแต่ละบ้านว่ามีการใช้กระแสมากน้อยเพียงใด แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นขนาด 5 แอมป์ค่ะ จากนั้นเราก็ต่อเข้ามาเมนไฟฟ้าหลัก หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit breaker) ซึ่งทำหน้าที่เปิดปิดและควบคุมวงจรไฟฟ้านั่นเอง และจากนั้นก็จะต่อไฟไปเข้าเบรกเกอร์ย่อย และจุดจั้มไฟ หรืออาจเรียกกันว่า Junction Box หรือ Terminal ก็ได้ จากนั้นก็เดินสายเข้ากับสวิทซ์เพื่อควบคุมการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเดินสายเข้าไปที่เต้ารับเพื่อใช้จ่ายไฟให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ต่อไป

ส่วนการเลือกใช้เบรกเกอร์ไฟฟ้าย่อย ต้องดูด้วยว่าเราจะใช้ควบคุมอะไร ถ้าใช้ควบคุมเฉพาะแสงสว่างเป็นโซน ๆ ก็ควรเลือก 5, 10 แอมป์ก็พอ แต่ถ้ามีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยก็เลือก 30 แอมป์ขึ้นไป หรือถ้าใช้ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเดียว เช่น แอร์บ้านก็เลือกใช้ที่ 10 แอมป์ก็พอค่ะ หรือใช้คุมห้องครัวทั้งหมด อาจใช้ 100 ไปเลยค่ะ ทั้งนี้ต้องคำนวณดี ๆ นะคะ ว่าโหลดเรื่องใช้ไฟฟ้าของเราเท่าไหร่ จะได้เลือกใช้ได้ถูกต้องและปลอดภัยค่ะ

นอกจากนี้ การเลือกสายไฟฟ้า ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเราเลือกไม่ดีหรือเลือกไม่เป็นอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้เช่นกัน ลองสังเกตที่สายไฟ จะมีข้อมูลบอก เช่น สายไฟเส้นนี้ขนาดเท่าไร เบอร์อะไร สามารถทนกระแสได้เท่าไหร่ แรงดันเท่าไหร่ หรืออุณหภูมิความร้อนกี่องศา และที่สำคัญสายไฟก็มีอายุการใช้งานเหมือนกัน ถ้าระหว่างใช้งานหากพบว่าฉนวนที่หุ้มสายไฟเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองเริ่มกรอบและแตกก็ควรที่จะเปลี่ยนสายไฟใหม่ได้เลยค่ะ เพื่อความปลอดภัยของคุณเองค่ะ

การออกแบบระบบไฟฟ้าในบ้านที่ดี

การวางระบบไฟฟ้าภายในบ้านที่ดี ควรแยกออกตามชั้นของบ้านหรือแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ตามพื้นที่ หรือจะแยกตามประเภทของการใช้งาน ซึ่งจะง่ายก่อการซ่อมบำรุงหากเกิดไฟฟ้าขัดข้อง ไฟฟ้าภายในห้องครัวควรแยกไว้ด้วย หากต้องดับไฟภายในบ้านเพื่อซ่อมแซม จะได้ไม่ต้องดับไฟห้องครัวที่มีตู้เย็นไว้ อาหารภายในตู้จะได้ไม่เสีย ระบบไฟฟ้าในห้องน้ำ ควรจะมีไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณหน้ากระจกเพื่อใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และบริเวณกลางห้องน้ำส่วนที่เป็นอ่างอาบน้ำ หรือฝักบัว ไม่ควรติดไฟฟ้าต่ำจนเดินไปซึ่งอาจจะ ถูกน้ำกระเด็นมาโดนได้ ถ้าหากในห้องน้ำมีพื้นที่ใช้สอยไม่มากให้เลือก ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างที่กลางห้องเพียงจุดเดียวก็ได้ หากจำเป็นต้องมีปลั๊กภายในห้องน้ำ ควรอยู่ในระดับที่สูงพอ เพื่อไม่ให้โดนน้ำหรือทำฝาครอบไว้ป้องกันอันตราย สวิทซ์เปิด ปิดควรอยู่ด้านนอกห้อง เพื่อเป็นการป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ห้องน้ำควรติดตั้งเบรคเกอร์ไว้ตัดไฟด้วย

นี่ก็เป็นการเลือกใช้อุปกรณ์ และการเดินไฟฟ้า แบบคร่าว ๆ เพื่อจะได้เข้าใจง่ายนะคะ ยังมีเทคนิคและอุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย สำหรับงานไฟฟ้า ไว้คราวหน้าจะนำเรื่องราวดี ๆ มาฝากกันอีกนะคะ

By หญิงอ้อน

ภาพประกอบจาก http://www.flickr.com/photos/tomsaint/2868226565/

Home  |  About Bareo  |  News & Events  |  Art of Design  |  Decor Guide  |  The Gallery  |  Living Young  |  Talk to Editor  |  Links

บริษัท บาริโอ จำกัด
50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538