เกร็ด (ไม่) ลับ...เครื่องปรับอากาศ

ร้อนมาก!! ร้อนจริงๆ!! ทำไมถึงร้อนอย่างนี้!!

พนันได้เลยว่าช่วงนี้ทุกคนคงได้ยินคำพูดแนวๆ นี้ไม่ต่ำกว่าห้ารอบต่อวันแน่ๆ และคำพูดที่ว่า “นี่ขนาดอยู่ในห้องเปิดแอร์แล้วนะ? ทำไมถึงได้ร้อนแบบนี้?” ก็เป็นอีกหนึ่งประโยคสุดฮิตไม่แพ้กันเลยทีเดียว...ว้า แล้วแบบนี้จะทำยังไงดีล่ะเนี่ย จะเร่งแอร์ค่าไฟก็ขึ้นแถมแอร์ยังเสียเร็วอีก เฮ้อ...ปวดตับ

จุ๊ๆๆ อย่าได้เอ็ดไป สำหรับใครที่กำลังประสบเหตุการณ์แบบนี้อยู่หรือกำลังคิดที่จะเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศตัวใหม่ ลองมาอ่านบทความนี้สักนิดไหมคะ ไม่แน่...บางทีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้อาจจะช่วยคุณได้ก็ได้นะ

ก่อนอื่นเลย...เราลองมาดูกันดีกว่า ว่าขนาดห้องของเราเนี่ยควรจะใช้แอร์ขนาดไหนจึงจะเหมาะสม
ถ้าจะให้แนะนำนะคะ ใครอยากได้ตัวเลขแบบชัวร์ๆ เลยเรื่องนี้ต้องถามกับวิศวกรน่าจะได้ข้อมูลตรงที่สุดค่ะ โดยเฉพาะตามพวกอาคารสำนักงานใหญ่ๆ ด้วยแล้ว...ถ้าคำนวณมาไม่ดีมีหวังได้ร้อนๆ หนาวๆ ไม่เท่ากันทั้งอาคารให้ได้บ่นกันแน่ๆ เลยล่ะค่ะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอย่างเราๆ เองจะคำนวณเองไม่ได้นะคะ สำหรับใครที่อยากจะลองคำนวณเล่นๆ ก็เลื่อนลงไปดูด้านล่างนี่ได้เลย!!

เวลาเราจะคำนวณเรื่องอะไรแบบนี้เนี่ย ไม่ใช่วิชาคณิตศาสตร์ที่มีสูตรมาแทนค่าลงไปแล้วหาคำตอบได้ทั้งหมดหรอกนะคะ เราต้องคำนึงถึงทั้งลักษณะการใช้งานของห้อง จำนวนผู้ใช้งาน ทิศที่ตั้ง ปริมาณแสงแดดที่ส่องเข้ามา แล้วก็ตัวห้องของเราเนี่ยสามารถถ่ายเทความร้อนได้ขนาดไหนด้วย

อย่างเช่น โดยทั่วไปแล้วหากเป็นห้องนอนที่ไม่โดนแดดก็จะใช้พลังงานเครื่องปรับอากาศ 700 BTU/ตารางเมตร แต่ถ้ามีแดดส่องก็เพิ่มขึ้นมาหน่อยเป็น 800 BTU/ตารางเมตร เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นค่าที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นแค่ค่าที่กะโดยประมาณขึ้นมาเท่านั้นล่ะ เพราะมันไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว...อ้อ แล้วนอกจากห้องนอนแล้วยังสามารถเอาตัวเลขนี้ไปใช้กับห้องทำงานส่วนตัวหรือห้องทั่วๆ ไปก็ได้ค่ะ

สำหรับห้องรับแขก หรือ ห้องกินข้าวที่ไม่ได้เปิดใช้ตลอดเวลาแต่เวลาใช้งานต้องการให้ห้องเย็นเร็วก็จะใช้ตั้งแต่ 900-1000 BTU/ตารางเมตร ส่วนสำนักงานหรือออฟฟิศนั้นจะใช้ 1000 BTU/ตารางเมตร หรือ 1200 BTU/ตารางเมตร หากโดนแดดส่องมากหรือมีการเปิดประตูเข้า-ออกบ่อยๆ ค่ะ

อ๊ะ! แต่ว่าใช่ว่าเครื่องปรับอากาศแต่ละตัวจะมีกำลัง BTU ตามที่เราต้องการเลยหรอกนะคะ เมื่อเราคำนวณออกมาแล้วถ้าไม่พอดีเราก็ควรเลือกเครื่องปรับอากาศตัวที่มี BTU สูงกว่าที่เราต้องการ เช่น ห้องขนาด 20 ตารางเมตร ต้องการใช้ 1000 BTU/ตารางเมตร หมายความว่าต้องใช้ทั้งหมด 20,000 BTU แต่พอจะไปซื้อกำลัง BTU กลับไม่มีตัวเลขที่พอดีซะได้...! และเครื่องปรับอากาศที่ใกล้เคียงก็คือ 18,000 BTU กับ 24,000 BTU ถ้าไม่อยากให้ห้องร้อนทั้งที่อุตส่าห์ติดแอร์ไว้แล้วก็ต้องเลือกตัวที่เป็น 24,000 BTU ค่ะ…ไม่อย่างนั้นอย่ามาหาว่าไม่เตือนนา (  ‘ ‘)

Note : BTU คืออะไร?

บีทียู ( Btu : British Thermal Unit ) คือ หน่วยที่ใช้วัดปริมาณความร้อนหน่วยหนึ่ง ( ซึ่งเป็นที่นิยมใช้มากในระบบปรับอากาศ )สามารถเปรียบเทียบได้กับหน่วยแคลอรีหรือหน่วยจูลในระบบสากล โดยที่ความร้อน 1 BTU คือปริมาณความร้อนที่ทำให้น้ำ 1 ปอนด์มีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง 1 องศาฟาเรนไฮด์

เอาล่ะ! คราวนี้มาดูกันเถอะว่าเครื่องปรับอากาศมีแบบไหนบ้าง

การจะแบ่งชนิดของอะไรสักอย่างว่ามีอะไรบ้างเนี่ยมันก็ต้องขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้แบ่ง และสำหรับตัวเราแบ่งเครื่องปรับอากาศออกเป็น 4 ชนิดหลักๆ ตามเกณฑ์ที่พบบ่อยค่ะ

1. Wall Type (แบบติดผนัง)
เครื่องปรับอากาศแบบ Wall Type ก็คือเครื่องปรับอากาศธรรมดาสามัญแบบที่เห็นกันอยู่ทั่วไปนั่นล่ะ เครื่องเล็กๆ ติดอยู่ข้างห้องไม่ก็เหนือประตูในห้องนอน ห้องทำงานหรืออะไรเทือกนั้น
ข้อดีของมันก็คือ “ดูดี” เข้ากับงานดีไซน์ได้หลายแบบ นอกจากนี้ยังติดตั้งง่าย ประหยัดพื้นที่แล้วก็มีประสิทธิภาพสูง
แต่ข้อเสียของชนิดนี้ก็คือใช้กับพื้นที่บริเวณกว้างไม่ได้ เพราะว่ามีขนาดสูงสุดไม่เกิน 38,000 BTU หรือถ้าใครสู้ราคาไหว...ยี่ห้อ Fujitsu ก็มีให้ถึง 40,000 BTU ค่ะ…แต่ต้องสู้ราคาไหวนะ

2. Ceiling / Floor Type (แบบติดเพดานหรือตั้งบนพื้น)
เครื่องปรับอากาศแบบนี้พบได้ตามห้องเรียนในโรงเรียนส่วนใหญ่หรือตามสำนักงานค่ะ เจ้าแอร์เครื่องสีขาวครีมตัวใหญ่ๆ ที่ยึดกับฝ้าเพดานนั่นล่ะเครื่องปรับอากาศแบบ Ceiling สำหรับแบบ Floor ก็คือ Ceiling ที่ตั้งอยู่บนพื้น ไม่ค่อยนิยมใช้เท่าไรนัก หรือถ้าจำไม่ผิดที่สนามบินสุวรรณภูมิของเราจะใช้อยู่ค่ะ แต่เป็นแบบนี้ดีไซน์ขึ้นเป็นพิเศษให้เข้ากับสนามบิน...เจ้ากล่องสีเงินๆ ท่าทางไฮโซมีลมเป่าออกมา(เบาๆ) นั่นล่ะที่พูดถึง
ข้อดีของแอร์แบบนี้คือมีประสิทธิภาพสูงแล้วก็ปกติพ่นลมเย็นได้ไกล แถมยังทั้งอึดทั้งถึก ดูแลรักษาก็ง่าย ราคาถูกกว่าแบบอื่นๆ ถ้าอยากซื้อแอร์ราคาประหยัดงบขอแนะนำแบบนี้เลย! และที่สำคัญ...มีขนาดสูงสุดถึง 60,000 BTU
แต่ข้อเสียก็รู้ๆ กันดีอยู่...คือ ใหญ่และไม่สวยงามมากนัก

3. Cassette Type (แบบฝังอยู่ในฝ้าเพดาน)
ส่วนใหญ่สถานที่ที่เลือกใช้งานเครื่องปรับอากาศชนิดนี้คือที่ไหนก็ตามที่ต้องการความสวยงามค่ะ ยกตัวอย่างเช่นตามห้างสรรพสินค้า โรงหนัง โรงแรมหรูๆ หรือสถานที่ที่เน้นให้สวยมากกว่าราคาถูก
อย่างที่กล่าวไป ข้อดีของแอร์ชนิดนี้คือสวยที่สุดในบรรดาทั้งหมด (เพราะตัวเครื่องปรับอากาศจะซ่อนอยู่ใต้ฝ้าทำให้เวลาเรามองจะเห็นแต่หน้ากากแบนๆ ติดอยู่บนเพดาน) และแน่นอน...เพราะอย่างนี้เลยส่งผลให้กลมกลืนกับงานตกแต่งภายในได้มากที่สุดค่ะ
มาถึงข้อเสียกันบ้าง ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ “ราคาแพง” (อาจแพงกว่าแบบ Ceiling ถึง 2 เท่า) และมีการจำกัดเรื่องขนาด BTU คือ 24,000 / 30,000 / 36,000 BTU เท่านั้น

4. Package Type (แบบเป็นตู้ตั้งบนพื้น)
ขอบอกเอาไว้ก่อนเลยว่าเครื่องปรับอากาศชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก และนั่นแหละ...ก็เลยคิดไม่ออกว่าจะยกตัวอย่างที่ไหนที่ใช้ขึ้นมาดี แต่เอาเป็นว่าถ้าแค่เห็นภาพก็คือไอ้ที่เหมือนจะเรียกว่า “แอร์ตู้เย็น” นั่นล่ะค่ะ
ใช่ว่าไม่นิยมแล้วจะไม่มีข้อดีนะคะ แอร์แบบนี้น่ะจ่ายลมได้ดีจริงๆ ค่ะ ขนาด BTU สูงสุดก็สูงอยู่พอตัว เหมาะสำหรับใช้ในสำนักงานหรือโถงกว้างๆ นักเชียว
ส่วนข้อเสียเพียงอย่างเดียว...สามคำ เปลือง-พื้น-ที่ ค่ะ...เพราะเป็นแอร์ที่ตั้งเป็นตู้ หาที่วางลำบาก หรือวางไปก็ดูขัดหูขัดตาพิลึก เพราะงั้นเลยไม่ค่อยเป็นที่นิยมค่ะ

แล้วนอกจากนี้ก็ยังมีแบบอื่นอยู่อีกนะคะ! ไม่ได้มีแค่ 4 แบบที่พูดถึงหรอก เพียงแต่ว่าแอร์พวกนั้นจะค่อนข้างเป็นอะไรที่เฉพาะทางมากกว่า อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน แต่เชื่อเถอะ...รู้จักแค่ 4 แบบก็ดีพอถมแล้ว ;P

แล้วก็มาถึงเกร็ด (ไม่) ลับเรื่องสุดท้ายที่อยากจะแนะนำจนได้ค่ะ เอ...เวลาติดตั้งเครื่องปรับอากาศเนี่ยทุกคนเคยนึกดูรึเปล่าคะ ว่าติดตรงไหนทำให้ห้องเย็นที่สุด...สำหรับใครที่คำนึงตรงจุดนี้ด้วยก็ต้องขอชมเชยว่า “เยี่ยม” ไปเลยค่ะ แต่ถ้าใครไม่เคยสนใจเรื่องนี้ ครั้งต่อไปก็ลองคิดดูกันดีกว่า เผื่อหน้าร้อนครั้งหน้าจะได้อยู่สบายๆ!

และเพื่อให้ดูดีขึ้นก็จะขออธิบายแยกออกเป็นหัวข้อย่อยๆ 3 เรื่องค่ะ

ข้อแรก...การกระจายลมของเครื่องปรับอากาศ...ห๊ะ? หลายคนสงสัยว่ามันเกี่ยวอะไรกัน ไม่ใช่ว่าแค่ติดแอร์ไป เปิดทิ้งไว้ รอให้เย็นแล้วก็จบหรอ? จริงๆ มันมีอะไรมากกว่านั้นล่ะ

เจ้าลมที่มันออกมาจากแอร์เนี่ยมันก็มีระยะทางถึงขีดสุดเหมือนกันนะ อย่างเช่นว่าถ้าห้องยาว 10 เมตร ติดแอร์ที่ปลายห้องข้างนึง ข้างนั้นมันก็เย็นเร็ว แต่ถ้าเมื่อไหร่ไปนั่งเล่นนอนกลิ้งอยู่ปลายอีกข้างนึงมันจะร้อนกว่ากันจนน่าอิจฉาเลย เพราะงั้นก็เลยอยากแนะนำสักนิดค่ะ ว่าถ้าห้องยาวตั้งแต่ 6-8 เมตรเนี่ย ติดบนด้านกว้าง(หรือที่เราเรียกว่าปลาย) แล้วปล่อยให้มันเป่าความเย็นไปก็ยังโอเค แต่ถ้าห้องยาวกว่า 8 เมตรเมื่อไหร่ติด 2 ตัวโลด! แบบว่าติดบนผนังด้านยาวนั่นล่ะ แล้วให้มันช่วยกันตัวละครึ่งห้อง หรือถ้าห้องยาวแต่อยากติดตัวเดียวล่ะก็...Ceiling ช่วยคุณได้

แล้วก็เกร็ดน่ารู้อีกเรื่องก็คืออากาศเย็นจะมีน้ำหนักมากกว่าอากาศร้อนค่ะ ถ้ายังจำได้...วิชาวิทยาศาสตร์ก็มีพูดถึงความร้อนระเหยขึ้นฟ้ากลายเป็นเมฆฝนอยู่ แต่เคยได้ยินไหมล่ะ...ความเย็นลอยขึ้นฟ้ากลายเป็นเมฆ...ไม่สักหน่อย ความเย็นมีแต่จะตกลงมาทั้งนั้น...ฝนเอย หิมะเอย...เพราะฉะนั้นก็เลยขอแนะนำว่าเวลาติดแอร์ให้ติดสูงๆ ค่ะ เพราะอากาศที่ออกมามันจะได้ค่อยๆ ผ่านทั่วทั้งห้องก่อนตกลงมาถึงพื้น แบบนี้หลังปิดแอร์ห้องก็จะยังเย็นอยู่อีกด้วย (ถ้าติดแอร์ต่ำจะเย็นช้ากว่าเพราะเหนือแอร์จะยังมีความร้อนอยู่)
อ้อ...แล้วก็ถ้าห้องใครมีซอกเล็กมุมน้อยล่ะก็...อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องนึง เพราะเจ้ามุมพวกนี้อากาศเย็นๆ มันไม่ค่อยจะเข้าไปถึงสักหน่อย พิสูจน์ได้จากที่เวลาห้องเย็นมากจนทนไม่ไหวแล้วไปนั่งอยู่ข้างซอกตู้เสื้อผ้าจะอุ่นมาก (เอ่อ...พูดถึงกรณีที่แอร์บ้านไหนไม่ได้เป่าลงตู้เสื้อผ้าน่ะนะคะ)

ข้อสอง!! ความสวยงาม!! งง...มันสำคัญด้วยหรอ?
คำตอบคือสำคัญค่ะ ถึงจะพูดบอกตัวเองจะจะติดตรงไหนก็ได้ที่ทำให้ห้องเย็นแต่ว่าถ้าติดแล้วมันดูไม่ดี รกหูรกตามันก็ทำให้หงุดหงิดใจเปล่าๆ ถ้าตอนสร้างบ้านมีคนออกแบบไว้เฉพาะก็จะเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมไว้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มี...ก็ต้องใช้เซนส์กับเซนส์ล้วนๆ เลยค่ะ

ข้อสุดท้าย ข้อสาม ไม่เกี่ยวกับความเย็นแต่สำคัญที่สุดค่ะ...เรื่องสุขภาพของผู้ใช้งาน

คงไม่มีใครยอมแลกสุขภาพกับอากาศเย็นสบายหรอกนะคะ ถ้าจะต้องไม่สบาย เจ็บไข้ได้ป่วย...สู้อยู่ร้อนๆ ต่อไปดีกว่า! (แต่สุดท้ายก็เปิดแอร์อยู่ดี) ถ้าเป็นห้องที่ใช้แปปเดียว เดี๋ยวก็ไม่มันก็ไม่มีผลอะไรมาก แต่ถ้าเป็นห้องที่เราต้องใช้งานมันนานเป็นชั่วโมงแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้แอร์ตกลงหัวค่ะ

ห้องที่พูดถึงเนี่ยก็พวกห้องนอน ห้องนั่งเล่นหรือที่ไหนก็ตามแล้วแต่คน แต่ขอย้ำเน้นๆ สำหรับห้องนอนว่าห้ามแอร์ตกลงบริเวณหัวเตียงเด็ดขาดถ้าไม่อยากเป็นหวัดเรื้อรัง เพื่อการนั้นโดยมากถ้าปลายเท้าหันไปทางไหนแอร์ติดไปในทิศทางเดียวกันจะดีที่สุดค่ะ แต่มีข้อแม้นะ...อย่าติดตรงหัวเตียง ถามจากใจจริง ใครบ้างหลับลงถ้ามีแอร์อยู่บนหัว? ปากบอกไม่กลัวแต่จริงๆ ใจก็ต้องหวั่นบ้างล่ะว่าเกิดมีจิ้งจกอยู่ในเครื่องปรับอากาศ ตอนนอนเผลออ้าปากแจ็กพอร์ตจังหวะเดียวกับเจ้าจิ้งจกกำลังปลดทุกข์ได้ตำแหน่งเหมาะเจาะพอดี...โอ้ว...เอ่อ เอาใหม่ เพราะในเครื่องปรับอากาศมันมีฝุ่นต่างหาก เกิดไม่ทำความสะอาดบ่อยๆ ตอนกลางคืนนอนไปก็สูดฝุ่นเข้าไป สักวันได้เป็นโรคปอดแน่...

แต่ว่าถ้าไม่ได้จริงๆ ไม่มีที่ไหนว่างเลยและต้องติดให้มันทำมุมกับเตียง (ติดแนวเดียวกับข้างเตียงนั้นล่ะ) ก็ควรติดบริเวณใกล้ปลายเท้าหรือต่ำลงไปกว่านั้น ปรับให้หน้ากากแอร์ทอดยาวออกไปไกลๆ ให้ข้ามปลายเท้าไปเลยอันนี้ก็ยังพอช่วยอะไรได้บ้างค่ะ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วพอจะได้รู้อะไรมากขึ้นไหมคะ? เชื่อว่ามีหลายคนต้องแอบชำเลืองมองเจ้าเครื่องปรับอากาศตัวเก่งที่อยู่ในห้องแล้วก็คิดว่า “เอ...มันตรงกับที่อ่านมารึเปล่าเนี่ย” แน่ๆ แต่นี่ก็เป็นแค่คำแนะนำเท่านั้นเอง ไม่ได้มีจุดประสงค์สร้างความร้าวฉานให้คุณกับเครื่องปรับอากาศของคุณนา...

เอาเถอะ ไม่ว่าจะยังไง อากาศปัจจุบันก็ร้อนขึ้นๆ ทุกวัน นอกจากจะดูแลรักษาสุขภาพของตัวคุณเองแล้วอย่าลืมเช็กสุขภาพของเครื่องปรับอากาศในบ้านคุณด้วยก็แล้วกันนะคะ


ขอขอบคุณรูปภาพ จาก
http://shiftingpixel.com/2005/11/08/air-conditioner-unit/
http://capl.washjeff.edu/browseresults.php

Home  |  About Bareo  |  News & Events  |  Art of Design  |  Decor Guide  |  The Gallery  |  Living Young  |  Talk to Editor  |  Links

บริษัท บาริโอ จำกัด
50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538