ภาพมุมดอกไม้ ออกแบบ ตกแต่งภายใน interior Design Thailand โลโก้ ออกแบบ ตกแต่งภายใน interior Design Thailand
หมวดบทความ ออกแบบ ตกแต่งภายใน interior Design Thailand
 
หน้าแรก ออกแบบ ตกแต่งภายใน interior Design Thailand
เกี่ยวกับ บาริโอ ออกแบบ ตกแต่งภายใน interior Design Thailand
ข่าวสาร ออกแบบ ตกแต่งภายใน interior Design Thailand
art of design ออกแบบ ตกแต่งภายใน interior Design Thailand
Decor Guide ออกแบบ ตกแต่งภายใน interior Design Thailand
Gallery ออกแบบ ตกแต่งภายใน interior Design Thailand
Living Young ออกแบบ ตกแต่งภายใน interior Design Thailand
บทบรรณาธิการ ออกแบบ ตกแต่งภายใน interior Design Thailand
แลกลิงค์ ออกแบบ ตกแต่งภายใน interior Design Thailand
Back ISSUE อกแบบ ตกแต่งภายใน interior Design Thailand

กาลครั้งหนึ่ง...ก่อนจะต่อเติมบ้าน (ภาคปฐมบทแห่งการต่อเติม)

กาลครั้งหนึ่ง ไม่นานสักเท่าไหร่...นายโนเนมกำลังวางแผนจะขยายต่อเติมบ้านหลังน้อยของเขาเพราะเขากำลังจะได้แต่งงาน แต่น่าสงสาร...ผู้รับเหมาก่อสร้างของพวกเขาแท้จริงคือหมาป่าเจ้าเล่ห์ปลอมตัวมา หวังจะหลอกเอาเงินจากนายโนเนมแล้วทำงานไปให้แบบส่งๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอย่างนายโนเนมไม่มีความรู้ด้านการสร้างบ้านเลย...ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็นนายโนเนมที่กำลังโดนหลอก หรือมีคนรู้จักที่กำลังจะถูกหลอก ก็ลองอ่านบทความนี้ดูสักนิด เผื่อว่าคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ในนี้จะเป็นประโยชน์ได้นะคะ

ก่อนอื่น...มารู้จักกันก่อนดีกว่าว่าการต่อเติมบ้านคืออะไร?

อธิบายสั้นๆ การต่อเติมบ้านก็คือ การขยายพื้นที่ของบ้านออกไปจากโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นค่ะ ซึ่งถ้าเป็นการต่อเติมห้องใหม่ ที่ไม่ได้ยื่นออกไปจากตัวบ้านเดิม (ห้องยังอยู่ในบ้าน) เราขอไม่นับนะคะ เพราะครั้งนี้เราจะพูดถึงต้องส่วนต่อเติมที่ยื่นออกยื่นจากตัวบ้านเดิมเท่านั้น ไม่งั้นจะเรียกว่าเป็นการต่อเติมบ้านออกไปได้ยังไงล่ะเนอะ...

โดยปกติแล้ว การต่อเติมบ้านสามารถแยกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ค่ะ

1. การต่อเติมแบบฝากกับตัวบ้านเดิม หมายถึง การต่อโครงสร้าง “งอก” ออกจากโครงสร้างเดิม (ฟังดูคล้ายๆ เนื้องอก orz|||) ซึ่งเป็นการต่อเติมแบบดั้งเดิมที่ผู้รับเหมาชอบใช้กัน และทั่วไปแล้วก็มักจะต่อโครงสร้างใหม่เข้ากับโครงสร้างของตัวอาคารเดิม โดยเฉพาะการเชื่อมต่อคาน ก่อผนังฉาบปูน “ติด” เข้ากับผนังเดิม ทำให้ตัวอาคารเดิมต้องรับภาระแบกน้ำหนักของส่วนต่อเติมเพิ่มขึ้น (เหมือนเนื้องอกที่จะทำให้ร่างกายเรามีภาระมากขึ้นสินะ...)

2. การต่อเติมแบบสร้างบ้านหลังเล็กๆ หลังใหม่แต่เอาไปชนกับตัวบ้านเดิม หมายถึง การสร้างตัวโครงสร้างแยกต่างหาก มีคานและฐานราก รวมถึงเสาเข็มของตัวเอง แล้วอาจจะก่ออิฐผนังไปชนชิดกับตัวอาคารเดิมแค่นั้น...ย้ำเน้นๆ นะคะว่าแค่นั้นจริงๆ...นั่นแปลว่าตัวโครงสร้างของอาคารใหม่จะถ่ายน้ำหนักลงบนโครงสร้างของตัวเอง ไม่สร้างภาระให้กับอาคารเดิมเลย แบบนี้ จัดเป็นแบบที่สองนะคะ

เอ่อ ยังงงกันอยู่มั้ยเอ่ย...พูดง่ายๆ ก็คือวิธีที่ 1 เป็นการงอกจากโครงสร้างเดิม โดยมีการ “เชื่อม” คาน และผนังเข้ากับอาคารเดิม ส่วนวิธีที่ 2 จะเป็นการแยกส่วนต่อเติมต่างหาก มีคาน ฐานราก เสาเข็มของตัวเอง และที่สำคัญต้องไม่เชื่อมต่อกับอาคารเดิมโดยเด็ดขาด!!! (แค่วางชิดกันเฉยๆ)
คงพอจะนึกภาพออกกันแล้วนะคะ เราสามารถแยกวิธีที่ 1 กับวิธีที่ 2 ได้ง่ายๆ โดยดูว่าส่วนต่อเติมนั้น “เชื่อม” หรือ “แยก” กับอาคารเดิมรึเปล่าเท่านั้นเอง (ภาษาไทยนั้น สำคัญไฉน) ...ง่ายเนอะ...

อ้าว...แล้วทีนี้ แบบไหนจะดีกว่ากันล่ะ แบบ “เชื่อม” หรือแบบ “แยก”?? สงสัยกันใช่มั๊ยล่ะคะ งั้นเราจะบอกให้ก็ได้ (ถึงไม่อยากรู้ก็จะบอกอยู่ดี -3-) ฟังกันดีๆ นะคะ เพราะตรงนี้...สำคัญมาก
คงต้องตอบตรงๆ ว่าหากเราต่อเติมในพื้นที่เล็กๆ....เล็กมากๆ ประมาณระเบียงออกไปไม่เกินเมตรครึ่ง ยาวไม่น่าจะเกินสามเมตร มีผนังเบาๆ ก็พอจะใช้การ “เชื่อม” กับตัวอาคารเดิมได้ เพราะน้ำหนักไม่มาก ตัวอาคารก็น่าจะยังพอแบกภาระส่วนนี้ไหว แต่...ถ้าเราต้องการอะไรที่มากกว่านั้น คือ ต่อออกไปสัก 2 เมตรและมีการก่อผนังก่ออิฐฉาบปูนเต็มรูปแบบ บางคนอาจจะอยากได้ครัวไทย มีเคาน์เตอร์ก่ออิฐ หรือจะมีห้องน้ำปูกระเบื้องอยู่ตรงนั้น ถ้าใครคิดใครฝันแบบนี้ล่ะก็นะ...ข้ามไปวิธีที่สองเลยดีกว่าแน่นอนร้อยล้านเปอร์เซ็น
[PS. ย้ำเน้นๆ อีกครั้งนะคะว่าต้องต่อออกไปนิดเดียว (ต้องนิดเดียวจริงๆ นะ) ถึงจะใช้วิธีนี้ได้ แต่ถ้ามากกว่านั้นหรืออยากได้ห้องเป็นห้องเลยห้ามใช้วิธีแรกเด็ดขาดค่ะ]

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่าจะย้ำทำไมกันนักกันหนาหลายรอบ แล้วทำไมการชนถึงดีกว่าการเชื่อม...เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา งั้นเราจะขออธิบายให้ฟังทีละเรื่องเลยแล้วกัน

การเชื่อมอาคารด้วยส่วนต่อเติมใหม่นั้น เป็นการสร้าง “ภาระ” ให้กับอาคารโดยไม่ได้ทำการออกแบบไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งถ้างานต่อเติมนั้นจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ภาระที่เกิดขึ้นก็จะไม่มาก (อย่างที่บอกล่ะว่าต้องนี๊ดเดียวจริงๆ และไม่ก่อผนังอิฐ หลังคามุงกระเบื้องให้หนักด้วย) แต่ถ้างานต่อเติมมีขนาดใหญ่มากๆ ภาระที่เกิดขึ้นก็อาจจะหนักจนตัวบ้านเดิมรับไม่ไหและส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์บ้านเอียง?! ...หรือทรุดไปตามข้างที่ต่อเติมจนเห็นได้ชัด (และจะเห็นได้ชัดขึ้น เมื่อบ้านของเราไปออกในข่าวช่องต่างๆ รวมทั้งรายการประเภทเจาะข่าวเด่น จี้ใจดำให้กระอักตายกันไปข้างนึง = =;;) หรือที่หนักกว่านั้น อาจจะทำให้อาคารวิบัติได้ (ภาษาสถาปนิก แปลว่า อาคารพัง แยก และเสียหาย หรือหนักๆ ก็ถล่มลงมา...อาแมน)

บ่อยครั้ง ที่ผู้รับเหมามักจะบอกว่า ใช้แบบวิธีแรกนั่นล่ะ แต่จะช่วยลดภาระเรื่องการรับน้ำหนักด้วยการตอกเข็มแทน...ใครเจอแบบนี้เราขอเป็นตัวแทนสนับสนุนเลยให้ปฏิเสธ “ไม่!!!” ออกไปเสียงดังๆ เพราะโดยปกติอาคารแต่ละอาคารจะมีการทรุดตัวไม่เท่ากันอยู่แล้ว ยิ่งเป็นส่วนต่อเติม ซึ่งแม้จะตอกเข็ม (โดยมากมักจะเป็นเข็มตอกสั้น) ก็จะมีการทรุดตัวที่มากกว่าอาคารเดิม และพอส่วนต่อเติมทรุดตัวเร็วกว่า แต่ดันไปติดคานที่เอาไปเชื่อมไว้ ผลที่ได้คือตัวบ้านกับส่วนต่อเติม จะ “ฉีก” ออกจากกัน?!

ลองนึกภาพดูสิ...ส่วนต่อเติมทรุดแยกออกจากตัวบ้านเดิมแต่ยังติดติ่งที่เชื่อมกันด้วยคานอยู่ที่ด้านล่าง (เหมือนกระดาษที่ถูกฉีกไม่ครบแผ่น) และติ่งนั้นก็จะค่อยๆ แยกเรื่อยๆ จนกว่าจะขาดออกจากกันโดยสมบูรณ์ อ้อ...ไม่นับรวมตัวบ้านที่เอียงเพิ่มเป็นของแถมด้วยนะคะ -.-
ให้ตายเถอะโรบิน...ฟังดูน่ากลัว โอเว่อร์เกินไปล่ะ...ซะเมื่อไหร่ ถ้าใครถ้าคิดว่าน่ากลัวจริงๆ ล่ะก็ ลองไปดูด้านหลังของพวกตึกแถวที่ต่อเติมออกมาสิคะ เกือบร้อยเปอร์เซ็นใช้วิธี “เชื่อม” ผลก็คือ “ฉีก” กันทุกหลังจริงๆ แล้วที่สำคัญ...ปัญหาที่ตามมาต่อจากนั้นก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสายไฟ ท่อประปาที่เดินไปที่ส่วนต่อเติมหรืออะไรประมาณนั้น...ลำพังแค่น้ำรั่ว ก็แค่เสียตังค์ แต่ถ้าไฟรั่วละก็อาจมีเสียชีวิตกันเลยน้อ...ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่

แล้วทีนี้ก็มาถึงวิธีที่สองกันสักที เอ๋...ถ้าต่อเติมแบบนี้แล้วส่วนต่อเติมจะไม่ทรุดตัวเร็วกว่าตัวบ้านหรือไง...ลำเอียง...สองมาตรฐาน!! ...ใช่ซะที่ไหนกันล่ะคะ ก็จริงอยู่ว่าตัวบ้านจะทรุดตัวไม่เท่ากับส่วนต่อเติมแน่ๆ แต่ด้วยการที่เราแยกส่วนต่อเติมออกไปบนฐานรากของตัวเองไว้แล้วและแค่วางชนกับอาคารเดิม ดังนั้นตัวอาคารเดิมก็จะทรุดตัวตามปกติของเขา และส่วนต่อเติมก็จะทรุดตัวตามปกติของตัวเองด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะไม่เท่ากันบ้าง ก็จะไม่ส่งผลให้อาคารใดๆ เสียหายเลย และส่วนที่ทรุดตัวไม่เท่ากัน ทางสถาปนิกก็มักจะออกแบบไว้เผื่อให้ดูกลมกลืนอยู่แล้วค่ะ

แล้วทีนี้ ที่บอกว่าแยกเนี่ย...มันแยกออกแค่ไหน แล้วจะมีปัญหาเวลาฝนตก น้ำรั่วหรือเปล่า? No problem ค่ะ! เพราะบรรดาวิศวกรและสถาปนิกก็มีทางแก้ไว้เยอะแยะ ตั้งแต่ออกแบบให้มีคิ้ว บัวยื่นบังรอยต่อให้น้ำฝนไหลข้ามออกไป หรืออาจจะใช้วัสดุประเภทโฟม มาอุดรอยต่อไว้ ทำให้น้ำไม่ไหลเข้ามาได้เลยก็มี

เป็นไงคะ เห็นมั้ยว่า ถ้าเราจะเริ่มต่อเติมบ้าน จะต้องคิดก่อนซะแล้วว่าเจ้าส่วนต่อเติมของเรามันใหญ่ หรือเล็กนิดเดียว ถ้าเล็กนิดเดียว และตัวบ้านรับไหว เราจะมาทำแบบที่สองก็คงไม่คุ้มค่าใช้จ่าย แต่ถ้ามันใหญ่กว่าคำว่า นิดหน่อยล่ะก็ เลือกแบบที่ 2 ดีที่สุด รับรองว่าชีวิตเราจะมีความสุขยาวนาน ไม่ต้องมาห่วงหน้า พะวงหลังว่า บ้านของเราจะฉีก จะทรุด จะเอียงอีกต่อไป และที่สำคัญ ที่อยากจะแนะนำทุกครั้ง คือหากคิดจะต่อเติมบ้านครั้งใด ให้เรียกใช้บริการของสถาปนิกและวิศวกรก่อนเป็นอันดับแรกนะคะ อย่าไปคิดว่าสิ้นเปลือง เพราะถ้าผิดพลาดไปแล้ว ไม่ใช่แค่คำว่าสิ้นเปลือง แต่เงินที่เราลงไปกับส่วนต่อเติมอาจจะสูญสลายไปกับอากาศเลยก็ได้

อู้หู...แค่ภาคแรก ก็ยาวเหยียดซะขนาดนี้แล้ว และภาคต่อไปจะมีอะไรที่ต้องรู้ก่อนต่อเติมบ้านอีกบ้างน้า...ขอ กระซิบดังๆ เลยว่า หากยังอ่านไม่ครบ ยังไม่เข้าใจครบถ้วนแล้ว อย่าเพิ่งต่อเติมบ้าน ไม่งั้นถ้าเสียใจก็อย่ามาหาว่าไม่เตือนน้า

By J

Home  |  About Bareo  |  News & Events  |  Art of Design  |  Decor Guide  |  The Gallery  |  Living Young  |  Talk to Editor  |  Links

บริษัท บาริโอ จำกัด
50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538