home 1
head1

 

 

 

 

86 พรรษาองค์ราชันย์
ทั่วเขตขันธ์ล้วนยินดีเป็นหนักหนา
น้อมถวายความจงรักภักดิ์ราชา
ทั้งพาราขอพระองค์ทรงพระเจริญ

 

 

          ธันวาคมของทุกๆ ปี อาจเรียกได้ว่าเป็นเดือนที่คนไทยมีความสุขมากที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นเดือนส่งท้ายปีแล้ว ยังเป็นเดือนที่มีวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ซึ่งเป็นกษัตริย์อันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยอยู่อีกด้วย

 

          พระองค์ทรงงานหนักเพื่อพัฒนาประเทศไทย ทุกโครงการพระราชดำรินานัปการที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มล้วนแต่สร้างประโยชน์สุขให้แก่พสกนิกรทั้งประเทศ อีกทั้งพระองค์ยังมีพระปรีชาสามารถหลากหลายในด้านศิลปะวิทยาการ ต่างๆ ตั้งแต่การถ่ายภาพ ไปจนถึงการเล่นดนตรีซึ่งพระองค์รักและชื่นชอบเป็นพิเศษ กระทั่งได้สร้างสรรค์ผลงานมากมายที่ ตรึงตราตรึงใจคนไทยทั้งประเทศและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลตราบจนถึงทุกวันนี้

 

          เนื่องในวโรกาสครบรอบวันคล้ายวันพระราชสมภพ 86 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ขออันเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์อันไพเราะจากพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีของพระองค์ ที่อยู่ในความทรงจำตั้งแต่สมัยเด็กมาให้ได้ชื่นชมกัน

 

          เพลงแรก เป็นเพลงที่เข้ากับบรรยากาศช่วงนี้เป็นอย่างมาก นั่นก็คือ เพลงลมหนาว (Love in Spring) ได้ฟังทีไรก็ไพเราะเพราะพริ้งทุกที เพลงนี้ถือเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 19 ที่ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2497 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และได้พระราชทานเพลงนี้ออกบรรเลงครั้งแรกในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศ สวนลุมพินี เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย ในจังหวะ Waltz

         

          เพลงนี้เป็นเพลงที่มีลีลาไพเราะและมีเสน่ห์ไพเราะในจังหวะเนิบช้านั้น ฟังแล้วเกิดความอบอุ่น มีความสุขก็ดี หรือบางทีอาจจะฟังแล้วเศร้าๆ เหงาๆ ก็ได้อารมณ์ไปอีกแบบเช่นกัน โดยเนื้อหาของเพลงจะพรรณนาถึงบรรยากาศ ที่แสนจะ ประทับใจยามเมื่อลมหนาวพัดผ่านมาในแต่ละปี ซึ่งทุกอย่างอาจจะดูรื่นรมย์เพราะความรักที่สมหวัง แต่ในเที่ยวกลับ ก็กลับกล่าวถึงธรรมชาติยามลมฝนตกกระหน่ำทำให้ทุกอย่างดูเศร้าหมองเพราะความรักที่แปรเปลี่ยน ได้เช่นกัน

 

 

ลมหนาว
คำร้อง: ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา

 

ยามลมหนาว พัดโบกโบยโชยชื่น
เหล่าสกุณร้องรื่นรมย์
หมู่ดอกไม้ชวนภมรร่อนชม
ช่างสุขสมเพลินตาน่าดูชูใจ

โอ้รักเจ้าเอ๋ย
ยามรักสมดังฤทัย

พิศดูสิ่งใด
ก็แลวิไลแจ่มใสครัน
อันความรักมักจะพาใจฝัน
เมื่อรักนั้นสุขสมจิตปอง

ยามลมฝน พัดโบกโบยกระหน่ำ
หยดหยาดนำน้ำหลั่งนอง
ผึ้งภู่ทั้งวิหคเหงาเศร้าหมอง
เกลื่อนกลาดผองมาลีร่วงโรยลงดิน

เหมือนรักผิดหวัง
เปรียบดังหัวใจพังภินท์

น้ำตาหลั่งริน
และลามไหลเพียงหยาดฝนปราย
อันความรักแม้นไม่เป็นดังหมาย
ตราบวันตาย
ชีพขมขื่นเอย

 

 

 

 

 

 

 

 

          อีกหนึ่งบทเพลงที่มีเนื้อหาชวนฟังอย่าง “ใกล้รุ่ง” ซึ่งก็เป็นบทเพลงที่สามารถส่งต่อกำลังใจให้กับคนที่กำลังท้อแท้ และ เหนื่อยล้าได้เป็นอย่างดี โดยเนื้อหาของเพลงได้สื่อถึงความงามของธรรมชาติยามรุ่งเช้า ซึ่งเปรียบเสมือนความหวัง และ กำลังใจในวันใหม่ ที่ว่า “ท้องฟ้าเมื่อมีมืด ก็จะมีสว่างตามมาเสมอ”

         

          นอกจากนี้ ในบทเพลง “ใกล้รุ่ง” นี้ยังบรรยายและพรรณาให้ผู้ฟังได้เห็นภาพบรรยากาศ ยามเช้าของบ้านเราได้อย่าง ชัดเจนเลยทีเดียว

         

          “ใกล้รุ่ง” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 4 ซึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย มีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงช่วย ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์ขึ้น และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงช่วยแก้ไข แล้วพระราชทานให้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุกระจาย เสียงกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ปัจจุบัน) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2489

 

 

ใกล้รุ่ง

 

ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ไกลไกล
ชุ่มชื่นฤทัยหวานใดจะปาน
ฟังเสียงบรรเลงกับเพลงประสาน
จากทิพย์วิมานประทานกล่อมใจ
ใกล้ยามเมื่อแสงทองส่อง
ฉันคอยมองจ้องฟ้าเรืองรำไร
ลมโบกโบยมาหนาวใจ
รอช้าเพียงไรตะวันจะมา
เพลิดเพลินฤทัยฟังไก่ประสานเสียงกัน
ดอกมะลิวัลย์อวลกลิ่นระคนมณฑา
โอ้ในยามนี้เพลินหนักหนาแสงทองนวลผ่องนภา
แสนเพลินอุราสำราญ
หมู่มวลวิหคบินผกมาแต่รังนอน
เฝ้าเชยชิดช้อนลิ้มชมบัวบาน
ยินเสียงบรรเลงดังเพลงขับขาน
สอดคล้องกังวานซาบซ่านจับใจ

 

 

 

 

   

 

 

          เพลงสุดท้ายที่จะขอแนะนำในวันนี้คงเป็นเพลง “แผ่นดินของเรา” ซึ่งเป็นบทเพลงลำดับที่ 35 ในเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า “Alexandra” อันเป็นชื่อแรกของเพลงนี้ โดยเพลงนี้ได้เกิดขึ้นในขณะที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปต้อนรับเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ จากสหราชอาณาจักร ในวาระที่มาเยือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2502

          โดยในช่วงเวลาที่รอเครื่องบินลงจอดอยู่ราว 10 นาทีนั้น ในหลวงได้ทรงตัดสินพระทัยที่จะแต่งเพลง เพื่อต้อนรับ เจ้าหญิงในการมาเยือนครั้งนั้น โดยพระองค์ท่านได้ทรงใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการประพันธ์ทำนองเพลง จากนั้นได้ทรง ส่งให้ มรว.เสนีย์ ปราโมช ทำหน้าที่ประพันธ์เนื้อร้องให้ในทันที

          เนื้อเรื่องของเพลง Alexandra มีเพียง 16 ห้องเพลง ได้มีการนำมาเรียบเรียงและออกบรรเลงครั้งแรก ณ ศาลาผกาภิรมย์ สวนจิตรลดา ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2502

Alexandra
คำร้อง: หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

 

Alexandra
Welcome to thee
Here in this land of sunshine and of flowers
May ye bless by the blessing
That has made our country happy

 


           ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำริว่าทำนองบทเพลง พระราชนิพนธ์ Alexandra มีความไพเราะ และน่าจะใส่คำร้องภาษาไทยได้ จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอ พระบรมราชานุญาตให้ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุญนาค ประพันธ์คำร้องภาษาไทย

 

          อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าทำนองเพลง Alexandra มีเพียง 16 ห้องเพลง จึงได้ทรงนิพนธ์เพิ่มเติม โดยมีท่อนกลางและท่อนท้าย จนครบ 32 ห้องเพลง

 

          เนื้อร้องของเพลงแผ่นดินของเรา ได้แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศชาติของเรา ทั้งในแง่ของ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ล้นเหลือสมดังคำว่า
           

             “ทรัพย์จากผืนดิน สินจากนที” และในแง่ของประวัติศาสตร์ และความเป็นมาที่น่าภาคภูมิใจของชาติเราในท่อนที่ว่า
             “โบราณสถานส่งนามประเทือง เกียรติเมืองไทยขจรไปทั่วแดนไกล” ซึ่งทำให้ประเทศไทยของเราน่าอยู่ และอบอุ่นเป็นที่สุด
               ส่วนท่อนจบ ได้เชิญชวนให้ชาวไทยทุกคนร่วมกันรักชาติไทยของเรา ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ หรือนับถือศาสนาใด ล้วนเป็นพี่น้องกัน ขอให้ทุกคนนั้น ร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงและสร้างเมืองไทยให้ยืนยง ซึ่งแสดงให้เห็นถึง พระปณิธานอันแน่วแน่ ที่จะทรงดำรง ทนุบำรุงและพัฒนาชาติไทยของเราให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นสืบไป

 

 

แผ่นดินของเรา
คำร้อง: ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค

 

ถึงอยู่แคว้นใด ไม่สุขสำราญ
เหมือนอยู่บ้านเรา ชื่นฉ่ำค่ำเช้าสุขทวี
ทรัพย์จากผืนดิน สินจากนที
มีสิทธิ์เสรี สันติครองเมือง
เรามีป่าไม้อยู่สมบูรณ์ ไร่นาสดใสใต้ฟ้าเรือง
โบราณสถานส่งนามประเทือง เกียรติเมืองไทยขจรไปทั่วแดนไกล
รักชาติของเรา ไว้เถิดผองไทย
ผืนแผ่นแหลมทอง รวมพี่รวมน้องด้วยกัน
รักเกียรติรักวงศ์ เสริมส่งสัมพันธ์
ทูนเทิดเมืองไทยนั้น ให้ยืนยง

 

 

 

 

 

          เพียงแค่ 3 บทเพลงที่ยกตัวอย่างมา ก็ไม่สามารถจะบรรยายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดอื่นได้ นอกจากคำว่า ไพเราะ ลึกซึ้งกินใจและประทับใจเหลือเกินในทุกๆ บทเพลงพระราชนิพนธ์ พร้อมกันยังเกิดความรู้สึกชื่นชมท่วมท้นกับ พระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประมุขของชาติไทยเรา

          ซึ่งไม่เพียงแต่ประชาชนชาวไทยทุกคนเท่านั้นที่จะรู้สึกเช่นเดียวกัน แต่ยังรวมไปถึงชาวต่างประเทศที่ได้ สนใจและมีความรักในเมืองไทยเมื่อได้มาเยือน ต่างก็รู้สึกว่าโชคดีอย่างล้นเหลือที่คนไทยเรามีพระเจ้าอยู่หัว เป็นประมุขของประเทศ

          สุดท้ายคงไม่มีคำไหนที่พวกเราทั้งประเทศ อยากส่งต่อพระองค์ท่านได้ดีไปกว่าคำว่า

 

“ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ”

 

 


ขอขอบคุณ www.wikipedia .com ในการเอื้อเฟื้อข้อมูล

 

 

 

 

 

 Contact us / Join us

ออกแบบตกแต่งภายใน รับเหมาตกแต่งภายใน ตกแต่งภายใน ออกแบบภายใน Interior design Thailand

www.bareo-isyss.com เป็น web magazine ที่ update รายเดือนเพื่อผู้อ่าน ทัศนะและความคิดเห็นใดๆ ของผู้ประพันธ์ หรือผู้สนับสนุน
ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะอันอาจก่อให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดแจ้ง หรือไม่แน่ชัดใน www.bareo-isyss.com มิได้มาจาก บริษัท บาริโอ จำกัด และบริษัทในเครือแต่อย่างใด
ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบ ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น

Bareo-Isyss รับออกแบบตกแต่งภายใน รับเหมาตกแต่งภายใน ออกแบบภายใน ออกแบบตกแต่งภายใน Interior design Thailand