Abandoned ความงดงาม
ที่ (ไม่) ถูกลืมเลือน
‘เวลา’ เป็นสิ่งที่เดินไปข้างหน้าและไม่เคยย้อนกลับ จึงทำให้ก่อเกิดสิ่งใหม่ขึ้นได้ในทุกๆ วัน กลับกันกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ‘เวลา’ ก็ทำให้สิ่งเหล่านั้นถูกลืมเลือนได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีสถานที่หลายๆ แห่งที่ถึงแม้จะถูกทิ้งร้างไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงคุณค่า และ กลายเป็นความงดงามที่ไม่ได้ถูกลืมเลือน
Houtouwan, China
Credit : theatlantic
Houtouwan หมู่บ้านร้างที่ตั้งอยู่บนเกาะเฉิงซี ในประเทศจีน เดิมสถานที่แห่งนี้เคยเป็นหมู่บ้านของชาวประมง แต่ถูกปล่อยร้างจนถูกธรรมชาติยึดครองไปโดยปริยาย พืชพรรณสีเขียวขจีได้ขึ้นปกคลุมไปทั่วทั้งหมู่บ้านอย่างไม่ได้ตั้งใจ จนกลายเป็นความงดงามที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติที่คาดไม่ถึง
Credit : theatlantic
หมู่บ้านชาวประมงแห่งนี้ ต้องกลายเป็นหมู่บ้านร้างเพราะที่ตั้งของเกาะไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต ทั้งท่าเรือที่มีขนาดเล็กไม่สะดวกต่อการทำประมง และ ยังมีอุปสรรคทางธรรมชาติที่มีคลื่นใหญ่ซัดอยู่ตลอด ทำให้ยากต่อการคมนาคม ชาวบ้านต้องใช้เส้นทางเล็กๆ บนเขาที่ลาดชันและมีลมแรง จนทำให้ผู้คนในหมู่บ้านเริ่มย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากอยู่ที่เมืองอื่นๆ สถานที่แห่งนี้จึงถูกปล่อยร้างมาตั้งแต่ปี 1990 ในปัจจุบันหมู่บ้านก็ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไปอย่างเต็มตัว โดยสามารถเดินทางไปเยี่ยมชมหมู่บ้านได้ด้วยเรือ เริ่มต้นที่สถานีขนส่ง Nanpu Bridge ที่เซี่ยงไฮ้ และ นั่งรถบัสและเรือข้ามฟากไปยังเกาะเฉินซี เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวมากเลยทีเดียว
Plain of Jars, Laos
Credit : golaos.tours
Plain of Jars หรือ ทุ่งไหหิน ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตั้งอยู่ในเมืองเชียงขวาง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ราบที่เต็มไปด้วยหินลักษณะคล้ายไหหรือโอ่ง และ ยังมีแผ่นหินที่คาดว่าใช้เป็นฝาปิดอยู่บริเวณใกล้ๆ กัน ตามประวัติศาสตร์อ้างว่าไหหินเหล่านี้เคยเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมฝังศพ เพราะมีการพบกระดูกมนุษย์รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ และ ยังมีนักโบราณคดีได้บันทึกไว้ว่าเจ้าของอารยธรรมเหล่านี้ อาจเป็นผลงานของชาวจามในเวียตนามที่ได้ล่มสลายไปแล้ว
Credit : atlasobscura
จากการคาดเดา เชื่อว่าชนเผ่าที่สร้างไหหินเหล่านี้ขึ้นมาอาจจะเป็นเผ่าที่มีความเจริญและมีอารยธรรมสูง ที่ต้องถูกปล่อยให้รกร้างเป็นเพราะการเกิดสงคราม ทำให้ผู้คนต้องหนีเอาชีวิตรอดและกระจัดกระจายกันไป เพราะได้มีการขุดพบระเบิดและอาวุธสงครามมากมาย แต่ปัจจุบันไม่มีระเบิดหลงเหลืออยู่แล้ว และได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะจากชาวต่างชาติ Plain of Jars เปิดให้ผู้คนทั่วไปสามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวชมได้ การเดินทางนั้นจะมีบริษัททัวร์หลวงพระบางคอยให้บริการ หรืออาจจะเช่ารถขับไปจากหลวงพระบางก็ได้เช่นกัน
Kolmanskop, Namibia
Credit : travelawaits
Kolmanskop หรือที่เรียกกันว่า เมืองผีแห่งนาบิเมีย… นาบิเมียเป็นประเทศในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ในอดีตเมืองนี้เคยโด่งดังในเรื่องของการขุดเพชร มีทั้งเหมืองและยังเป็นเมืองที่ร่ำรวยแห่งหนึ่งของโลก ชาวเยอรมันได้เดินทางมาล่าเพชร ไปจนถึงนำเอาสถาปัตยกรรมเยอรมันเข้ามาทำให้พื้นที่แห่งนี้เกิดความศิวิไล อาคารก่อสร้างที่บ่งบอกถึงความเจริญที่เคยมีมา ทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม รวมไปถึงไปรษณีย์ แต่ปัจจุบันอาคารทั้งหมดได้ถูกทิ้งร้าง และถูกปกคลุมไปด้วยทรายเป็นเวลานานกว่าหนึ่งร้อยปี นับตั้งแต่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนอพยพจนกลายเป็นเมืองผีถึงปัจจุบัน
Credit : travelawaits
Credit : bradtguides
ทรายที่อัดแน่นไปทั่วทุกอาคารบ้านเรือนนับวันก็จะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะสถานที่ตั้งเมืองอยู่กลางทะเลทราย เมื่อไม่มีผู้อยู่อาศัย จึงทำให้ลมทะเลทรายพัดจนทรายเหล่านี้ปกคลุมไปทั่วพื้นที่ และ ได้กลายเป็นอีกหนึ่งผลงานที่สร้างสรรค์โดยธรรมชาติ ผู้คนได้ยกย่องให้ Kolmanskop เป็นสถานที่ที่เหมาะกับการถ่ายภาพ ด้วยองค์ประกอบที่ถูกผสมกลมกลืนได้อย่างลงตัวของผลงานที่สร้างจากมนุษย์ และเนินทรายที่เกิดจากธรรมชาติ ทำให้นักท่องเที่ยวแห่แหนกันเดินทางมาที่นี่เพื่อเยี่ยมชมและถ่ายภาพ โดยการเดินทางสามารถมาได้ที่ตอนใต้ของประเทศนามิเบีย ซึ่งห่างจากเมือง Lüderitz ประมาณ 10 กิโลเมตร
City Hall Subway, New York
Credit : escape.com.au
City Hall Subway เป็นสถานีรถไฟใต้ดินแห่งแรกของเมืองนิวยอร์ก โดยสร้างขึ้นเพื่อสร้างความประทับใจให้กับชาวเมืองนิวยอร์ก ถูกเปิดในปี 1904 สร้าง และ ดำเนินการโดย Interborough Rapid Transit Company การตกแต่งนั้นมีรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมที่วิจิตรงดงาม มีเอกลักษณ์ที่น่าจดจำคือ ‘ซุ้มทรงโค้ง’ รวมทั้งกระเบื้องแก้วและโคมไฟระย้าขนาดใหญ่ ที่ทำให้สถานีรถไฟแห่งนี้ดูโอ่อ่า แต่ต้องปิดตัวลงในปี 1945 เนื่องจากไม่สามารถรองรับการเชื่อมต่อของแพลตฟอร์มใหม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไปรถไฟก็มีขนาดใหญ่ขึ้น ชานชาลาเองก็ไม่สามารถรองรับรถไฟขนาดใหญ่ได้ รวมถึงระยะห่างของช่องว่างก็ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารที่เข้าและออก เมื่อมีการขยายสถานีสะพานบรูคลินเพิ่มขึ้นมา และ เป็นสถานีที่พลุกพล่านกว่าซึ่งอยู่ใกล้เคียง ทำให้เหลือผู้ใช้บริการน้อยมาก และปิดตัวลงในที่สุด
Credit : jamesmaherphotography