Musical Movie
หนังเพลงอมตะ

ภาพยนตร์หรือที่เราเรียกง่ายๆ กันว่า “หนัง” เป็นหนึ่งในความบันเทิงที่สร้างความสุขให้กับคนมากมาย ยิ่งเป็นหนังแนวมิวสิคคัล (Musical Movie) หรือ หนังเพลง ยิ่งสร้างความสนุก เพลิดเพลิน จนความสุขล้นทะลัก เดินออกมาจากโรงหนังพร้อมกับรอยยิ้ม และเสียงเพลงที่ยังคงก้องอยู่ในหู สมกับที่นักแสดงต่างทุ่มทั้งแรงกาย แรงใจ ฝึกทั้งร้อง เล่น เต้น และแสดงให้ได้ชมกัน
แน่นอนอยู่แล้วว่าการคัดเลือกนักแสดงที่มารับบทในหนังแนวมิวสิคคัล นอกจากฝีมือด้านการแสดง ยังต้องมีทักษะในด้านการร้องเพลงด้วย ซึ่งหลายๆ คนก็ทำได้ดี และสามารถพาหนังและเพลงคว้ารางวัลมากมาย ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมหนังแนวมิวสิคคัลที่น่าประทับใจและไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งมาให้คุณได้อ่านกัน

Moulin Rouge

Credit : en.wikipedia
**สตรีมมิ่งได้ที่แอปพลิเคชัน Disney+
หนังเพลง แนวมิวสิคคัลเรื่องแรกที่อยากแนะนำ คือ เรื่อง Moulin Rouge ในปี ค.ศ. 2001 ผลงานการกำกับของบาซ เลอห์มานน์ (Baz Luhrmann) กับเรื่องราวในปี ค.ศ.1899 ความรัก ที่ย้อมกลิ่นอายความเป็นโบฮีเมียน
คริสเตียน รับบทโดยยวน แมคเกรเกอร์ (Ewan McGregor) นักเขียนที่ถูกว่าจ้างให้มาเขียนบทละครเรื่องใหม่ของคณะคาบาเร่ต์ ซึ่งมีซาทีน รับบทโดยนิโคล คิดแมน (Nicole Kidman) นางเอกคาบาเร่ต์ แห่งมูแลงรูส ในเมืองม็องมาร์ ปารีส และทั้ง 2 คนก็ได้ตกหลุมรักกัน
ละครที่คริสเตียนเขียนขึ้นมีชื่อว่า “Spectacular Spectacular” เป็นเรื่องราวความรักหญิงสาวกับนักดนตรี และมีมหาราชาผู้ร่ำรวย ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้หญิงสาวมาครอบครอง ซึ่งเนื้อเรื่องดันไปตรงกับความรักในชีวิตจริงของเขากับซาทีน ที่ต้องลักลอบคบกัน เพราะดยุกแห่งมอนร็อธ ผู้เป็นนายทุนทำละครใหม่ของคณะคาบาเร่ต์ ที่กล่าวว่าจะสนับสนุนละครเรื่องนี้ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าซาทีนจะต้องเป็นผู้หญิงของเขาในวันที่การแสดงละครรอบแรกจบลง
นอกจากเนื้อหาที่น่าติดตามแล้ว โชว์ต่างๆ ก็ชวนให้ตื่นตาตื่นใจ และเพลงประกอบต่างๆ หลายๆ เพลง ในเรื่องเป็นจังหวะแบบ Jukebox ซึ่งเป็นการนำเอาเพลงในกระแสแนวต่างๆ มามิกซ์รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นป็อป อาร์แอนด์บี ร็อก ละติน และแดนซ์ มามิกซ์รวมกันกลายเป็นเพลงเวอร์ชั่นใหม่ๆ ที่ต่อให้เวลาผ่านไปขนาดไหนกลับไปฟังเมื่อไหร่ก็ร่วมสมัยอยู่เสมอ และเพลงที่โด่งดังที่สุดของเรื่องนี้ คงต้องยกให้ “Come What May” เพลงช้าแนวบัลลาด ที่ พระ-นาง ร้องสื่อสารกันแทนการบอกรัก ซึ่งการร้องเพลงบนเวทีคาบาเร่ต์ที่เป็นพื้นที่ปิดจะช่วยส่งผลทำให้อารมณ์จมดิ่ง ตัวละครสามารถบีบเคล้นอารมณ์ความเศร้าได้ดี ทำให้สามารถสื่อสารอารมณ์และโหยหากันได้ชัดเจนขึ้น ก่อนที่นางเอกจะตายในอ้อมกอดพระเอกเพราะโรควัณโรคเรื้อรัง และพระเอกตัดสินใจเขียนเรื่องราวความรักของพวกเขาโดยใช้ชื่อว่า “ Moulin Rouge”
Credit : Moulin Rouge! (2001) – Come What May (Finale) – Scene (1080p)
Uploaded by Héctor Serrano

The Sound of Music

Credit : moviesandmenus
**สตรีมมิ่งได้ที่แอปพลิเคชัน Disney+
The Sound of Music ผลงานหนังมิวสิคคัลจากการกำกับของโรเบิร์ต วิส (Robert Wise) ในปีค.ศ. 1965 ซึ่งเขาการันตีว่านอกจากเพลงเพราะๆ แล้ว คุณผู้ชมยังสามารถเพลิดเพลินไปกับฉากหลังของทิวทัศน์สวยๆ ในเมืองออสเตรีย และความน่ารักของเด็กๆ พร้อมเนื้อหาสุดเข้มข้น ผลงานการแสดงของนักแสดงนำอย่างจูลี แอนดรูว์ส (Julie Andrew) และคริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (Christopher Plummer) การันตีด้วยถ้วยรางวัลจากออสการ์ถึง 5 รางวัล ได้แก่ ภาพยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, เพลงประกอบยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม รวมถึงรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
หนังมิวสิคคัลเรื่องนี้เล่าคลอไปกับสถานการณ์บ้านเมืองในยุคนาซี ในปี ค.ศ. 1938 โดยมีนางเอกของเรื่อง คือ “มาเรีย” หญิงสาวที่เรียนในโรงเรียนแม่ชี และยังไม่ตัดใจไม่ได้ว่าเธอจะบวชชีหรือไม่ แต่ด้วยความที่มาเรียเป็นคนรักเด็ก รักสัตว์ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น และชื่นชอบการร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ แถมยังชอบอิสระท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ แม่อธิการจึงมองว่าเธอไม่เหมาะกับการเป็นแม่ชีเลยตัดสินใจส่งมาเรียไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กๆ บ้านกัปตันฟรอนท์แทรป
กัปตันฟรอนท์แทรป ข้าราชการทหารเรือ พ่อหม้ายลูกติด 7 คน ผู้เข้มงวดและเคร่งครัดกับกฎระเบียบภายในบ้าน หลังจากภรรยาสุดที่รักของเขาได้ตายไป เสียงหัวเราะและเสียงเพลงก็ได้หายจากบ้านหลังนี้ และเมื่อมาเรียได้เดินเข้ามา เธอได้เติมเต็มความสุขและนำสิ่งที่เคยขาดหายไปกลับคืนมา ทั้งคู่ตกหลุมรัก และแต่งงานกัน แต่ในระหว่างฮันนีมูนทางการได้ส่งจดหมายเรียกตัวกัปตันฟรอนท์แทรปไปรับราชการกับนาซี เขาผู้ซึ่งรักชาติต้องหลีกเลี่ยงและวางแผนที่จะหนีจากออสเตรียไปอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์ พร้อมกับมาเรีย และลูกๆ ทั้ง 7 ของเขา
การร้องเพลงในที่โล่งท่ามกลางธรรมชาติและอากาศที่ปอดบริสุทธิ์จะทำให้ปอดขยายได้อย่างเต็มที่ ทำให้เสียงที่ออกมามีพลัง เช่นเดียวกับฉากเปิดของมาเรียที่ยืนอยู่ท่ามกลางเนินเขาร้องแนว Vocal Pop เพลงธีมของเรื่อง “The Sound of Music” เปล่งเสียงไพเราะ สะกดคนดูได้ตั้งแต่วินาทีแรก ซึ่งการร้องเพลงท่ามกลางธรรมชาติจะยิ่งทำให้เสียงใสมีคุณภาพ และเพลงท่อนฮิตติดหู ร้องได้กันทั่วบ้านทั่วเมือง อย่าง “Do-Re-Mi” นอกจากพลังเสียงความไพเราะ และความน่ารักของเด็กๆ ทั้ง 7 ผู้ชมยังได้เพลิดเพลินไปกับภาพพื้นหลังที่สามารถมองเห็นป้อมปราการ Hohenwerfen และสถานที่สำคัญอื่นๆ ในเมืองออสเตรียได้อีกด้วย
Credit : “Do-Re-Mi” – THE SOUND OF MUSIC (1965)
Uploaded by Rodgers & Hammerstein

Mary Poppins

Credit : andrewsandburnett.tumblr
**สตรีมมิ่งได้ที่แอปพลิเคชัน Disney+
Mary Poppins สร้างสรรค์ผลงานโดย Wall Disney และกำกับโดยโรเบิร์ต สตีเวนสัน (Robert Stevenson) ในปี ค.ศ.1964 หนังมิวสิคคัลแนวแฟนตาซีที่ใช้ทั้งคนและอนิเมชั่นในการแสดง นำแสดงโดยจูลี แอนดรูส์ (Julie Andrews) หนังทุ่มทุนสร้าง ที่ทีมงานเนรมิตฉากต่างๆ มาเซตไว้ที่ภายใน Walt Disney Studios ที่เดียว
หนังเรื่องนี้ผู้ประพันธ์ตั้งใจผสมผสานความจริงกับเรื่องในจินตนาการได้อย่างกลมกล่อม เนื้อหาสามารถสอนได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และด้วยตัวหนังมีความเป็นแฟนตาซีผสมผสานมิวสิคคัลทำให้เราสามารถดำดิ่งไปกับเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ใจในเรื่องได้
โดยเรื่องนี้เขียนและดัดแปลงมาจากนวนิยายของ พี.แอล.เทรเวอร์ (PL Travers) เล่าเรื่องของครอบครัวแบงค์ส ซึ่งกำลังประกาศรับสมัครพี่เลี้ยงของลูกทั้ง 2 โดยเขาเน้นคุณสมบัติว่าต้องมีความเข้มงวด จริงจัง ในทางตรงกันข้ามลูกๆ เขาได้เขียนจดหมายมาให้ว่าต้องการพี่เลี้ยงที่จิตใจดี สนุก ชอบผจญภัย มีเกมใหม่ๆ มาให้พวกเขาได้เล่นเสมอ แต่แบงค์สกับฉีกจดหมายของลูกและทิ้งไปในปล่องไฟ
แต่แล้ววันหนึ่งลมได้พัดนำแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ ที่ถือร่ม 1 คน กับกระเป๋า 1 ใบ มาที่บ้านแบงค์ส พร้อมกับใบสมัครที่ถูกเขียนโดยเด็กๆ ตระกูลแบงค์สที่สมควรจะถูกทำลายไปแล้ว หลังจากนั้นเธอเริ่มนำสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ มาสู่บ้านหลังนี้ พร้อมกับสอนให้แบงค์สรู้ว่าต่อให้การทำงานจะสำคัญขนาดไหน ก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับคนในครอบครัวด้วย
ในเรื่องนี้มีเพลงดังๆ มากมาย เช่น A spoonful of sugar หรือ feed the birds ก็กลายเป็นเพลงโปรดของใครหลายๆ คน และอย่าง Chim chim Cheree เพลงเพราะติดหูที่มีเนื้อร้องท่อนฮิตว่า…
Chim chiminey, chim chiminey, chim chim cher-ee
A sweep is as lucky as lucky can be
Chim chiminey, chim chiminey, chim chim cher-oo
แนวเพลงประสานเสียงที่นำท่อนฮิตไปมิกซ์กับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่อง ซึ่งข้อดีของการถ่ายทำในสตูดีโออีกอย่างหนึ่งก็คือนักแสดงสามารถใช้พลังเสียงได้อย่างเต็มที่ ฉากถูกตั้งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมของสตูดีโอ ทำให้เสียงชัดเจน และดังฟังชัด ประสานเสียงกันออกมาได้อย่างกลมกล่อม และเพลง Chim chim Cheree สามารถคว้ารางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีประกาศรางวัลออสการ์มาครองได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (แอนดรูว์) ตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ดนตรีประกอบ ยอดเยี่ยม วิชวลเอฟเฟกต์ ยอดเยี่ยม รวม 5 รางวัล
Credit : Mary Poppins – Chim Chim Cher-ee
Uploaded by Tony parra

La La Land

Credit : dondeir
**สตรีมมิ่งได้ที่แอปพลิเคชัน Netflix
ในปี ค.ศ.2016 ที่ผ่านมา หลายคนยังติดตราตรึงใจกับผลงาน หนังเพลง มิวสิคคัลเรื่องเยี่ยม La La Land หรือชื่อไทยเพราะๆ ว่า “นครดารา” ผลงานการกำกับและเขียนบทของเดเมียน ชาเซลล์ (Damien Chazelle) ที่นำแสดงโดยไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) และเอ็มม่า สโตน (Emma Stone) โดย La La Land เป็นหนังมิวสิคคัลที่ทำรายได้ถล่มทลายและถูกเสนอชิงรางวัลมากมาย ที่สำคัญสามารถคว้า 6 รางวัลจากเวทีออสการ์ จาก 14 รางวัลที่เข้าชิง
La La Land เป็นหนังรักโรแมนติกที่เล่าเรื่องราวของมีอา หญิงสาวที่มีความฝันในการเป็นนักแสดง ซึ่งเธอฝ่าฟันกับอุปสรรคที่ต้องแคสงานมานับครั้งไม่ถ้วน แต่แล้ววันหนึ่งเธอก็ได้พบกับเซบาเตียน ชายหนุ่มนักดนตรีที่มีความฝันว่าสักวันหนึ่งจะเปิดไนต์คลับเล่นเพลงแจ๊สที่เขาชื่นชอบ ซึ่งมันกำลังจะตายไปอย่างช้าๆ เมื่อถูกดนตรีใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ เมื่อคนที่กำลังตามหาความฝันทั้ง 2 คนมาเจอกัน ทำให้พวกเขาตกหลุมรักกันและร่วมกันเดินตามหาความฝันไปด้วยกัน แล้วความฝันของพวกเขาจะเป็นจริงไหม ต้องติดตาม….
ภาพจำที่กลายเป็นตำนานของเรื่องนี้ คือฉากเพลง A Lovely Night ที่ร้องโดยพระนางของเรื่อง สาวเดรสเหลืองกับหนุ่มเชิ้ตขาวกับสเต็ปเต้นตบเท้าในจังหวะแท็ป กับภาพฉากหลังเป็นต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น ที่ตั้งอยู่บนเนินเขา มองลงไปเห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองลอสแองเจอลิส เป็นการผสมผสานที่ลงตัวและสนุกสนานมาก จนคนดูบางคนอาจอดใจไม่ไหวต้องขยับเท้าตามก็มี ที่สำคัญเสียงใสๆ ของนางเอก กับเสียงนุ่มทุ้มลึกของพระเอก ร้องเข้ากันได้ดีจนยากจะหาที่ติ ส่วนอีกหนึ่งเพลงที่ฮิตติดลมบนมากๆ ก็คือเพลง City of Stars ซึ่งแปลตรงตามชื่อไทยว่า นครดารา เพลงช้าๆ ซึ้งๆ แนวป็อปแจ๊ส ที่ร้องโดยพระเอกของเรื่อง โดยในเรื่องจะมีซีนที่พระเอกร้องบนสะพาน ซึ่งเขาสามารถถ่ายทอดเสียงออกมาได้อย่างเต็มที่และนุ่มนวล ส่วนอีกซีนเป็นฉากที่ร้องคู่กับนางเอกในบ้าน และการร้องภายในบ้านทำให้ทั้ง 2 คนร้องเพลงออกมาด้วยเสียงก้องกังวาน ซึ่งพื้นที่เล็กๆ จะส่งผลทำให้การร้องมีความคมชัด ออกเสียงอักขระได้ชัดเจน
Credit : La La Land (2016 Movie) Official Clip – “City Of Stars”
Uploaded by Lionsgate Movies

The Greatest Showman

Credit : thesun
**สตรีมมิ่งได้ที่แอปพลิเคชัน Disney+
นับหลังจาก La La Land ฉายไปเพียง 1 ปี ในปี ค.ศ.2017 ก็เกิดตำนานหนังมิวสิคคัลบทใหม่ขึ้น ชื่อเรื่องว่า The Greatest Showman ผลงานการกำกับโดยไมเคิล กราซีย์ (Michael Gracey) ที่ได้นักแสดงนำอย่าง ฮิวจ์ แจ็คแมน (Hugh Jackman), มิเชล วิลเลียมส์ (Michelle Williams), Zac Efron (แซค แอฟรอน) มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวจุดเริ่มต้นของธุรกิจการแสดงโชว์
The Greatest Showman เป็นหนังที่สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจของพี.ที. บาร์นัม (P. T. Barnum) ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ในอเมริกา โดยนำมา สร้างเป็นตัวละครเอกที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ โดยเขาเริ่มต้นธุรกิจโชว์จากศูนย์ รวมเหล่าบุคคลที่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น หน้าตา รูปร่าง และผิวพรรณ มาจัดแสดงโชว์ทั้งร้อง เล่น เต้น รำ สร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ชม แต่ในอีกสังคมหนึ่งกับรังเกียจคณะโชว์ของเขา โดยมองว่าเป็นการหากินกับคนบ้า ทำให้บาร์นัม เริ่มค้นหาคนที่มีทั้งรูปร่างและเสียงที่ดีมาปั้นเป็นดาว จนได้รับความนิยม และในขณะที่เขากำลังมัวเมากับชื่อเสียงที่เริ่มเข้ามา จนหลงลืมไปว่าเป้าหมายที่แท้จริงแล้ว เขาทำเพื่ออะไร
The Greatest Showman เป็นหนังสูตรสำเร็จที่เดาทางได้ง่าย แต่ก็แฝงไปด้วยข้อคิด ซึ่งเรื่องนี้จะพูดถึงการมองคนไม่เท่ากัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าคุณเป็นแบบไหน แปลก แตกต่างอย่างไร ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน นอกจากเนื้อเรื่องที่ดูได้ข้อคิด และสนุกเพลิดเพลินแล้ว เพลงประกอบจากเรื่องนี้ยังได้นักแต่งเพลงดีกรีออสการ์ เบนจ์ พาเซค (Benj Pasek) และจัสติน พอล (Justin Paul) มาแต่งให้ด้วย
โดยเพลงใน The Greatest Showman ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงป๊อปร่วมสมัยเร้าอารมณ์และเปี่ยมชีวิตชีวา แม้เรื่องราวในเรื่องจะย้อนยุคไปบ้างก็ตาม จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีเพลงฮิตติดหู ฟังง่ายมากมาย โดยเฉพาะเพลง Never enough ร้องโดยลอเร็น อัลเล็ด (Loren Allred) ที่สามารถคนดูทั้งในจอและนอกจอให้จ้องมองที่เธอคนเดียว ซึ่งการร้องเพลงในโรงละครที่ออกแบบมาเพื่อการจัดแสดง ยิ่งทำให้เสียงของลอเร็น อัลเล็ด ทรงพลัง และเปล่งออกมาได้เต็มที่ นอกจากนี้ยังมีเพลงเพราะอื่นๆ เช่น The Greatest Showman, A Million Dreams และ This Is Me ซึ่งสามารถคว้ารางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จาก Visual Media รางวัลแกรมมี่ ครั้งที่ 61 ได้
Credit : The Greatest Showman – The greatest show [Full HD Scene]
Uploaded by Film HD Cut

แฟนฉัน (My Girl)

Credit : petmaya
**สตรีมมิ่งได้ที่แอปพลิเคชัน Netflix และ Disney+
และก่อนจากกันไป ขอปิดท้ายด้วยภาพยนตร์ไทยในวัยเด็กอย่าง “แฟนฉัน” ที่เข้าฉายในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นเรื่องในมุมมองของพระเอกอย่าง “เจี๊ยบ” (ชาลี ไตรรัตน์) ที่ได้รับการ์ดแต่งงานจากเพื่อนสนิทและรักแรกในวัยเด็กอย่าง “น้อยหน่า” (โฟกัส จีระกุล) ทำให้ความทรงจำต่างๆ ในวัยเด็กย้อนกลับมาอีกครั้ง
เจี๊ยบที่มีความรู้สึกดีๆ ให้น้อยหน่า กลับเริ่มทำตัวห่างเหินและก้าวร้าวมากขึ้นเพราะต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเด็กผู้ชายที่มีผู้นำกลุ่มอย่าง “แจ๊ค” (เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์) ทำให้ระยะห่างระหว่างเด็กทั้งสองคนเริ่มกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่สามารถกลับมาต่อติดได้อีกเมื่อครอบครัวของน้อยหน่า ย้ายบ้านจากไปไกล
ในภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน นอกจากจะนำเสนอเรื่องราวรักใสๆ ของเด็กน้อยทั้งสองคนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการอาศัยอยู่บ้านตึกแถว, อาการติดเหา อาการยอดฮิตที่เกิดขึ้นในเด็กๆ สมัยก่อน, อาหารการกินต่างๆ รวมไปถึงการพูดถึงคนดังในยุคนั้นในเพลง “คอนเสิร์ตคนจน” ที่เจี๊ยบที่เริ่มได้รับการยอมรับ และเพื่อนๆ พากันขี่จักรยานห้อยถุงน้ำอัดลมคนละถุง และร้องเพลงกัน เป็นฉากที่น่ารักน่าหยิกมากๆ ฉากหนึ่งเลยทีเดียว
“ข้างบ้านเขามีคอนเสิร์ต เขาว่ามีเบิร์ดกับพรศักดิ์ปะทะกัน
บ้านเราไม่มีเงินไปดูได้แต่เงี่ยหู นึกซะว่าอยู่ในนั้น
ฟังไปเกิดน้อยใจขึ้นมาจึงเปิดคอนเสิร์ตกลางนา ใช้ชื่อว่า คอนเสิร์ตคนจน”
เป็นตอนต้นของเนื้อเพลงที่พูดถึง “เบิร์ด ธงไชย” และ “พรศักดิ์ ส่องแสง” สองนักร้องรุ่นใหญ่ในสมัยนั้นนั่นเอง
Credit : คอนเสิร์ตคนจน – นกแล – Yz.
Uploaded by Ya Gmk
เป็นไงกันบ้างคะ เคยดูเรื่องไหนกันบ้างแล้ว ยังมี ” หนังเพลง ” แนวมิวสิคคัลดีๆ อีกหลายๆ เรื่อง สามารถหามาชมกันได้ง่ายๆ ในแอปฯ สตรีมมิ่งที่เปิดบริการในประเทศไทย หวังว่าคุณจะเพลิดเพลินไปกับการอ่านบทความนี้และขอให้ดูหนังให้สนุกนะคะ
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
thesun .co.uk
andrewsandburnett.tumblr .com
goodhousekeeping .com
imdb .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO