Origami-like Architecture สถาปัตยกรรมโอริกามิ

โอริกามิ ( Origami ) คือ ศิลปะการพับกระดาษของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นศาสตร์ศิลปะแขนงหนึ่งที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ด้วยเพราะรูปแบบการพับกระดาษแขนงนี้ได้ผูกพันธ์กับชีวิตชาวญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน โดยแทรกซึมลงไปในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน อย่างเช่นการทำพัด ประตูบานเลื่อน ร่ม ซองจดหมายหรือซองใส่เงิน และอุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆอีกมากมาย “โอริกามิ” มาจาก 2 คำ คือ “โอริ” ที่แปลว่าการพับ และ “คามิ” ที่แปลว่ากระดาษ โดยศาสตร์การพับกระดาษแขนงนี้คาดว่าน่าจะมีกำเนิดมานานหลายร้อยปีมาแล้ว ซึ่งในปัจจุบัน โอริกามิ ถือเป็นศาสตร์เชิงศิลปะที่คนทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีการคิดค้นและวิจัยถึงรูปแบบในการพับกระดาษรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสให้เป็นรูปทรงต่างๆที่ต้องการ โดยที่ไม่ใช้กรรไกร หรือกาว ในการเชื่อมต่อ ซึ่งเทคนิคพิเศษของการพับกระดาษแบบโอริกามิก็คือการพับกระดาษให้เหลือขนาดที่เล็กมากๆได้ และสามารถคลี่คลายออกมาให้คืนกลับรูปเดิมได้อย่างอิสระ
“โอริกามิ” นอกจากจะถือเป็นวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นแล้ว ยังถูกยอมรับในแง่ของศิลปะเฉพาะทางอย่าง เรขาคณิต และถูกพัฒนาไปยังศาสตร์ทางวิศกรรมอีกด้วย เพราะโอริกามิสามารถฉีกกฏการพับกระดาษแบบเดิมๆให้พับออกมาในหลากหลายมิติ อย่างเช่นทรงกลมได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยจะใช้เทคนิคการพับกระดาษที่เรียกว่า “Modular Origami” ที่ปัจจุบันสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกแบบการพับกระดาษในรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ด้วยสุนทรียศาสตร์ที่แลดูเรียบง่ายและน่าดึงดูดใจของ “โอริกามิ” ศิลปะด้านนี้มีอิทธิพลต่อเหล่าสถาปนิกร่วมสมัย เพราะการพับกระดาษสามารถเป็นตัวช่วยที่มีประโยชน์สำหรับก่อเกิดไอเดียที่เพิ่งจะเริ่มต้นในงานสถาปัตยกรรมใหม่ๆ อย่างเช่น การสร้างแบบจำลอง 3 มิติของอาคาร ซึ่งโมเดลงานสถาปัตยกรรมกระดาษเหล่านี้ทำให้เรานึกถึงผังเมืองหรืออาคารจำลองแบบต่างๆ ซึ่งนักออกแบบสามารถทดลองการออกแบบอาคารต่างๆได้โดยการใช้เทคนิคพับกระดาษแบบโอริกามินั่นเอง ปัจจุบันมีผลงานสถาปัตยกรรมที่ได้แรงบันดาลใจและเทคนิคจากการพับกระดาษแบบ “โอริกามิ” ผุดขึ้นมามากมายในโลกนี้ โดยเราจะขอแนะนำผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมบางส่วนที่โดดเด่นนำมาฝากกันค่ะ

Origami House by Carlos Ferrater and Xavier Martí

Barcelona, Spain

Credit : ferrater .com
“Origami House” ออกแบบโดยสถาปนิก Carlos Ferrater และ Xavier Marti ตั้งอยู่ที่ประเทศสเปน เป็นหนึ่งในบ้านเดี่ยวที่มีเอกลักษณ์และโดดเด่นที่สุดที่สร้างขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บ้านหลังนี้อยู่ใกล้กับป่าที่ติดกับสนามกอล์ฟ โดยตัวบ้านตั้งสูงจากถนนสามารถมองเห็นหลังคาสีขาวลาดเอียงไปมาท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ในสวน
Credit : arch2o
ตัวอาคารของบ้านมีจุดเด่นที่ก่อให้เกิดทัศนียภาพอันงดงามตระการตา ซึ่งข้างในตัวอาคารคล้ายจะออกแบบให้เป็นบ้านหลายๆหลังในที่เดียวกัน มองดูคล้ายเป็นศาลามากกว่าบ้าน เนื่องจากสิ่งเดียวที่ปรากฏให้เห็นจากด้านนอกก็คือ แผงรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่เปิดโล่ง ทาสีขาวโผลนแลดูสว่างราวกับเป็นศาลาญี่ปุ่นหรือกระโจม การออกแบบด้านนอกและออกแบบภายใน จะเป็นแนวเส้นทแยงมุมและไดนามิก เมื่อเข้าไปอยู่ในตัวบ้านแล้วมองออกมาด้านนอกก็สามารถมองเห็นวิวสวนได้อย่างเต็มตา เนื่องด้วยมีการออกแบบหน้าต่างเป็นบานกระจกใสขนาดใหญ่
Credit : arch2o
ไอเดียการออกแบบบ้านหลังนี้ใช้กฎเรขาคณิตขั้นพื้นฐานและเรียบง่าย เฉกเช่นเดียวกับศิลปะการพับกระดาษโอริกามิแบบญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นจุดแข็งและแรงบันดาลใจในการออกแบบบ้านโอริกามิหลังนี้นั่นเอง

Panteón Nube By Clavel Arquitectos

Credit : bidolubaski .com
“Panteón Nube” ในเอสปินาร์โด ตั้งอยู่ในมูร์เซีย ประเทศสเปน และถูกสร้างโดยสตูดิโอ Clavel Arquitectos เป็นสุสานสมัยใหม่ที่มีรูปลักษณ์แบบโมเดิร์นและยังมีรูปทรงคล้ายการพับกระดาษแบบโอริกามิอีกด้วย
Credit : dezeen
ในส่วนของไอเดียการออกแบบนั้น สถาปนิกต้องการเน้นให้เห็นถึงความไม่สมมาตร มีมุม เหลี่ยม ที่ดูขัดแย้งและตัดกันมากมาย ภายในเน้นใช้สีขาวครีมและบรรไดที่ทำจากหินอ่อนซึ่งให้ความรู้สึกสงบ แต่ก็มีจุดเด่นชัดที่ดูขัดแย้งออกไปบริเวณหน้าสุสาน นั่นก็คือคือประตูทางเข้าที่ทำจากหินอ่อนสีดำนิล
Credit : dezeen
อย่างไรก็ตาม การออกแบบประตูบานซิกแซกของสุสานแห่งนี้จะสามารถเปิดออกได้เฉพาะเจ้าของสุสานเท่านั้น โดยจุดประสงค์ที่สถาปนิกออกแบบสุสานออกมาลักษณะนี้ก็เพราะต้องการสื่อความหมายให้เห็นว่าความตายอาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับมนุษย์ที่ยังมีชัวิตอยู่ ซึ่งจะมีบางอย่างผสมผสานอยู่ระหว่างความลึกลับและความกลัว ความตายจึงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระหว่างโลกนี้กับโลกหน้าที่ไม่มีใครรู้ ดังนั้นหลุมฝังศพจึงเป็นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้น ความตายจึงควรจะถูกปิดอยู่ภายใต้อาคารหลังนี้เท่านั้น

Park Pavilion Cuenca, Spain

Credit : designboom
“Park Pavilion Cuenca” เป็นศาลากระจกที่ถูกล้อมรอบด้วยสวนสาธารณะ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 35 เอเคอร์ ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ Júcar และ Moscas อยู่ที่เมือง Cuenca ซึ่งเป็นเมืองอันเก่าแก่ของประเทศสเปน โดยก่อนหน้านี้สวนสาธารณะแห่งนี้ถูกทิ้งร้างเหลือไว้เพียงสิ่งก่อสร้างที่มีพื้นที่สำหรับทำการแสดง ลานสเก็ตน้ำแข็ง บาร์ และร้านอาหาร โครงสร้างอาคารนั้นเก่าแก่และพังยับเยิน แต่ยังคงมีศาลาขนาดใหญ่ที่ใช้ในงานประจำปีของเมืองและยังเปิดเป็นตลาดประจำทุกสัปดาห์
ศาลาแห่งนี้ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนของเมืองประวัติศาสตร์ และมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่เป็นสถานที่ที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองและสวนสาธารณะ นอกจากนี้ยังเป็นโรงละครสำหรับประกอบกิจกรรมต่างๆของสวนสาธารณะอีกด้วย
Credit : pinterest
ด้านโครงสร้างของตัวศาลาประกอบไปด้วย 23 โมดูล ที่มีรูปทรง 5 เหลี่ยม ที่นำมาประกอบรวมกันเป็นเครือข่ายโครงสร้าง วัสดุทำมาจากเหล็กและกระจก ใช้สีขาวล้วน เน้นแสดงให้เห็นถึงสัมพันธ์ภาพระหว่างความงามตามธรรมชาติในพื้นที่และวิวของตัวเมืองที่อยู่ติดกัน ทั้งนี้เมื่อมองโครงสร้างอาคารโดยรวมทำให้ในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมขนานนามให้ศาลาแห่งนี้เป็นหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปการพับกระดาษโอริกามิ
Credit : dormakaba
รูปแบบทรงเรขาคณิตของโมดูลเหล่านี้เกิดจากการค้นหาสมดุลระหว่างการทำซ้ำขององค์ประกอบทั้งหมด จนกระทั่งส่วนท้ายโครงสร้างของโมดูลมาบรรจบกันสำเร็จจนไม่สามารถแยกออกจากกันไปได้อีกต่อไปพื้นที่โดยรอบศาลาแลดูคล้ายคริสตอลทว่าถูกล้อมรอบด้วยป่าเมื่อมองจากภายนอก โครงสร้างอาคารที่ดูเหมือนประกอบด้วยเศษชิ้นส่วนเล็กๆมารวมกัน แต่สร้างพื้นที่ให้รู้สึกถึงความเปิดโล่งและเป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งยังต่อเนื่องรวมกัน จนในที่สุดการเชื่อมโครงสร้างโมดูลก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อีกต่อไป

Chapel for the Deaconesses of St. Loup

Credit : archdaily
ในฤดูร้อนปี ค.ศ. 2007 สตูดิโอ Localarchitecture และสถาปนิกนามว่า Danilo Mondada ได้รับสัญญาปรับปรุงบ้านจาก Deaconess Community of St-Loup ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการขององกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงอาคารเก่าแก่ทั้งหมด รวมทั้งโบสถ์หลักที่เป็นที่นับถือของชุมชน
โดยการปรับปรุงอาคารจำเป็นจะต้องปิดตัวลงในช่วงระยะเวลาของการก่อสร้าง กล่าวคือเป็นเวลาถึง 18 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่ฤดูร้อนปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นไป ทำให้สถาปนิกผู้ที่รับหน้าที่ในงานนี้จำเป็นต้องมองหาสถานที่ชั่วคราวสำหรับทำเป็นโบสถ์ในระหว่างที่เข้าไปทำงานปรับปรุงอาคาร เช่น การเช่าเต็นท์หรือตู้คอนเทนเนอร์ แต่ด้วยคำแนะนำจากหลายๆฝ่ายลงมติว่าจะเป็นการดีกว่าหากสถาปนิกจะออกแบบสร้างโบสถ์ชั่วคราวขึ้นมาเองสำหรับให้คนในชุมชนได้ใช้งาน
Credit : archdaily
ทางด้านสตูดิโอ Localarchitecture นั้นจริงๆมีความสนใจเป็นพิเศษในการก่อสร้างงานไม้และการแก้ปัญหาโครงสร้างใหม่ๆ ซึ่งก่อนหน้าทางสตูดิโอได้สร้างชื่อเสียงจากผลงานหลายชิ้นที่ใช้เทคนิคการก่อสร้างงานไม้แบบดั้งเดิมและร่วมสมัย ในกรณีนี้มีการแนะนำสถาปนิกให้ได้ทำงานร่วมกับ Hani Buri และ Yves Weinand จากห้องปฏิบัติการ IBOIS ที่ EPFL (École Polytechnique Fédérale de Lausanne) ซึ่งทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับโครงสร้างแบบพับหรือโอริกามิที่ดูน่าสนใจเป็นพิเศษและเหมาะสมกับโครงการนี้โดยเฉพาะ
ทางทีมงานจึงได้พัฒนาโครงสร้างอาคารโดยใช้แผ่นไม้ ซึ่งสามารถใช้ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ในส่วนที่มีละเอียดเล็กๆได้ รูปร่างอาคารถูกสร้างขึ้นโดยใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่คำนวณโครงสร้างการรับน้ำหนัก การกำหนดขนาด และทำการส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังเครื่องตัดแผ่นไม้ที่มีความหนา 6 เซ็นติเมตร
โบสถ์หลังใหม่ถูกสร้างขึ้นและผสมผสานกับภูมิทัศน์ได้อย่างลงตัว โครงสร้างขึ้นตามแนวแกนหุบเขา และเปิดช่องรับแสงที่ปลายแต่ละด้าน ทำให้แสงธรรมชาติสามารถส่องเข้ามาด้านในได้อย่างเต็มที่
Credit : archdaily
การตีความรูปแบบดั้งเดิมของโบสถ์โปรเตสแตนต์ด้วยความกว้างและความสูงที่แตกต่างกันระหว่างปีกและทางเดินตรงกลาง การออกแบบสร้างพื้นที่ที่มีขนาดแนวนอนและแนวตั้งแตกต่างกัน ใช้รูปแบบการพับแบบโอริกามิ ซึ่งให้เกิดจังหวะที่แตกต่างระหว่างภายในและภายนอกของตัวโบสถ์
แผงพลาสติกใสที่บริเวณด้านหน้าของหน้าจั่วถูกห่อหุ้มด้วยผ้าช่วยให้แสงธรรมชาติเข้าสู่โบสถ์ได้ดีมากๆ กรอบของเสาและแนวเส้นทแยงทำให้คล้ายกับโครงสร้างของหน้าต่างกระจกสีตามโบสถ์อื่นทั่วๆไป
สำหรับโบสถ์ไม้ใน St.Loup เป็นโครงสร้างเต็มรูปแบบแห่งแรกที่รวมการออกแบบและการวิเคราะห์โครงสร้างโดยใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างรูปแบบเรขาคณิตที่แปลกใหม่ แต่ยังคงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการตีความเชิงพื้นที่ของทางศาสนาแบบดั้งเดิมที่กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมและทักษะการออกแบบร่วมสมัย

AGi Architects’ Rock House, Kuwait

Credit : archdaily
Rock House ออกแบบโดยสตูดิโอ AGI ประเทศคูเวต บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่หัวมุมในย่านที่อยู่อาศัยของ Al-Salem โปรเจ็กต์นี้ได้รับการพัฒนาโดยมีเงื่อนไขสองประการซึ่งกำหนดโดยลูกค้า ประการแรกคือ ให้ความเป็นส่วนตัวอย่างสมบูรณ์แก่ผู้อยู่อาศัย ประการที่สองคือ ต้องการให้บ้านกลายเป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นและสง่างามในบริเวณชุมชนที่ตั้งละแวกบ้าน
Credit : archdaily
แบบตัวบ้านเป็นโครงสร้างที่ได้ไอเดียมาจากการพับกระดาษหรือโอริกามิ ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเป็นวัสดุในการก่อสร้าง มีช่องเปิดแสงจำนวนไม่มากที่ปรับองศาให้เอียงและหันออกไปทางถนน ทำให้ไม่สามารถมองเห็นวิวของเพื่อนบ้านได้ สร้างความรู้สึกที่ปลอดภัย และบังคับแสงแดดให้ส่องเข้ามาในห้องไม่มากจนเกินไป สร้างความเป็นส่วนตัวให้พ้นจากสายตาผู้คนบริเวณด้านนอกอย่างที่เจ้าของบ้านต้องการ
Credit : archdaily
ด้วยพื้นที่บ้านที่มีขนาดค่อนข้างเล็กสำหรับมาตรฐานบ้านท้องถิ่นทั่วไป สถาปนิกจึงได้พยายามออกแบบพื้นที่ใช้งานส่วนต่างๆของบ้านให้มียืดหยุ่นสูงสุดในการใช้งานบริเวณโซนต่างๆ โดยใช้หลักการออกแบบที่เชื่อมต่อห้องต่างๆถึงกันได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็คล้ายกับฟังก์ชั่นการใช้งานภายในของสถาปัตยกรรมมุสลิมแบบดั้งเดิม ซึ่งมักจะหลีกเลี่ยงการใช้ทางเดินในอาคารให้มากที่สุดนั่นเอง

Studio Morison wraps statue of Maximilian, Munich plaza

Credit : dezeen
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีของนิตยสารที่จำหน่ายตามริมถนนของเมืองมิวนิก นิตยสารชื่อว่า BISS ศิลปินชาวอังกฤษ Heather และ Ivan Morison จาก Studio Morison ออกแบบโดย Artura Design and Engineering ถูกประดิษฐ์ขึ้นใน Bavaria โดยบริษัท Xaver Lutzenberger GmbH & Co ได้ร่วมกันสร้างประติมากรรมที่มีชื่อว่า “I Will Be With You, Anything” โดยถูกจัดแสดงขึ้นล้อมรอบรูปปั้นขี่ม้าของ แม็กซิมิเลียนที่ 1 ตรงกลางมหานครมิวนิค ประเทศเยอรมันนี โดย BISS เป็นวารสารร่วมทุนที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาทางสังคมให้สามารถช่วยเหลือตนเอง นิตยสารนี้จะถูกจำหน่ายโดยคนจน คนป่วย และคนจรจัด หรือคนไร้บ้าน
จุดศูนย์กลางของวันครบรอบของงานที่จัดขึ้นก็คือ งานประติมากรรม “I Will Be With You” ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นสำหรับ BISS นั้น งานและทุกตำแหน่งงาน หมายถึงการสนับสนุนคนยากจน คนป่วย และคนไร้บ้าน และความต้องการที่จะช่วยให้คนเหล่านั้นเอาชนะวิกฤตชีวิตและความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดย Karin Lohr ผู้บริหารระดับสูงของ BISS อธิบายว่า “คำมั่นสัญญาที่จะว่าไม่ทิ้งใครไว้ตามลำพัง จะเกิดเป็นความจริงขึ้นเช่นกัน คนยากจนมักจะเตือนเราผ่านการมีตัวตนอยู่ของพวกเขา ว่าสังคมที่เท่าเทียมกันจะต้องสร้างพื้นฐานของการดำรงชีวิตอยู่สำหรับทุกคน”
Credit : dezeen
สำหรับโครงสร้างของผลงานชิ้นนี้ก็ได้นำพื้นฐานการพับกระดาษทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสหรือโอริกามิ นำมาเป็นไอเดียออกแบบผลงานประติมากรรมที่สร้างขึ้นในลักษณะรูปทรงที่คล้ายกับม้าหมุนหรือห่อลูกกวาด วัสดุที่ใช้สร้างทำจากโครงที่ออกแบบและตัดด้วยเครื่อง CNC ถูกห่อหุ้มด้วยตาข่ายถักสีเงิน ซึ่งอยู่ระหว่างโครงเหล็กสีเหลือง ซึ่งผลงานชิ้นนี้ถือเป็นของขวัญจาก BISS นำมอบให้กับชาวมิวนิกเพื่อแสดงถึงการขอบคุณประชาชนที่ให้การสนับสนุนมาตลอด 25 ปี พร้อมกันนี้ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการอนุรักษ์พื้นที่สาธารณะเพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับพบปะของชาวเมืองทุกคนที่นี่อีกด้วย
Credit : undesignmag
โครงสร้างด้านในมีรูปปั้นขี่ม้าของ แม็กซิมิเลียนที่ 1 ซึ่งมีความจงใจนำผลงานประติมากรรมชิ้นนี้มาบดบังเพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อสังเกตจากรอบนอกของจตุรัส จะเห็นแค่เพียงศีรษะและมือที่ยกขึ้นของรูปปั้นแม็กซิมิเลียนที่ 1 ที่ยื่นออกมา โดยรูปปั้นจะถูกซ่อนหรือเปิดเผยให้เห็นทั้งหมดได้หรือไม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทิศทางการส่องสว่างของแสง รวมถึงแสงที่ส่องมาที่รูปปั้นในเวลากลางคืน ซึ่งจะทำให้สามารถมองเห็นรูปปั้นด้านในศาลาได้จากจากระยะไกล
Credit : dezeen
สำหรับผลงาน I Will Be With You นั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตามกำลังถูกเปลี่ยนให้เป็นสถานที่สำหรับแลกเปลี่ยนและพบปะกัน เป็นสถานที่แห่งการเฉลิมฉลองและการไตร่ตรอง มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมร้องเพลง รับชม โต้วาที เล่น มีความเคลื่อนไหว และให้ผู้คนได้เฉลิมฉลองร่วมกัน เป้าหมายอันดับแรกก็คือต้องการจัดการกับการตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมกันในสังคม เฉกเช่นเดียวกับบทบาทของเราทุกคนในพื้นที่สาธารณะว่าเราทุกคนมีตัวตนเหมือนกันทุกคนจริงหรือไม่
สำหรับศิลปะการพับกระดาษแบบโอริกามินั้น ถือเป็นศาสตร์ที่นักออกแบบทั่วโลกให้ความยอมรับและสนใจ อีกทั้งยังนำไปต่อยอดทำการวิจัยและเป็นแรงบันดาลใจใส่ลงไปในงานออกแบบสถาปัตยกรรมรวมถึงงานประติมากรรมอื่นๆอีกมากมายจากศิลปินทั่วโลกมาแล้ว ดังนั้นลองนำกระดาษสี่เหลี่ยมจตุรัสมาสักแผ่น แล้วลองออกแบบไอเดียในการพับกระดาษชิ้นนี้ดูนะคะ ไม่แน่ว่าคุณอาจเกิดปิ๊งไอเดียจากการพับกระดาษชิ้นเล็กๆชิ้นนี้ แล้วนำไปต่อยอดจนกลายเป็นผลงาน Masterpiece ต่อไปในอนาคตก็ได้ใครจะรู้
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
becommon .co
arch2o .com
dezeen .com
alizul2.blogspot .com
architizer .com
archdaily .com
urdesignmag .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO