Misty Building
อาคาร และสายหมอก

หมอกขาวยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความลึกลับ สงบ เยือกเย็น และน่าค้นหา เมื่อถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ก็ล้วนส่งเสริมให้งานสถาปัตยกรรมนั้นแลดูพิศวงแปลกตาจนอธิบายไม่ถูก แต่ทว่าก่อเกิดเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวส่งเสริมให้ผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมนั้นๆแลดูตราตรึกและงดงามอย่างมากเลยทีเดียว
สำหรับใครที่สนใจผลงานการออกแบบอาคารสิ่งก่อสร้างที่รายล้อมไปด้วยหมอกลึกลับ เรามีผลงานสถาปัตยกรรมแนว Misty Building ที่มีชื่อเสียงโด่งดังบางส่วนนำมาฝากค่ะ

Mist Hot-Spring Hotel by Department of Architecture

The MIST Hot Spring Hotel ตั้งอยู่ใกล้เมืองสวี่ชาง ในมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน โดยภูมิภาคนี้ของจีนได้รับการยกย่องว่าเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ที่หลงไหลในน้ำพุร้อนที่จัดว่ามีชื่อเสียงที่สุดของประเทศมาเป็นเวลากว่าหลายพันปีแล้ว คุณลักษณะทางธรรมชาติที่ดีที่สุดของบ่อน้ำร้อนที่นี่คือ เป็นน้ำร้อนจากบาดาลใต้ดินที่มีคุณภาพดีที่สุดของจีน เมื่อน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น มันจะปล่อยไอหมอกบางเบา ให้ลอยล่องอยู่เหนือผิวน้ำดังภาพที่เห็น
ผลงานออกแบบนี้เป็นของสตูดิโอ Department of Architecture โดยโปรเจ็กต์งานสภาปัตยกรรมนี้พยายามเพิ่มประสบการณ์แปลกใหม่ที่น่าพิศวงในรูปแบบของภูมิทัศน์ผ่านการมองเห็นแบบไม่ชัดเจน เลือนลาง โดยได้ทำการออกแบบโครงสร้างของบรรดามวลหมู่อาคาร รวมถึงทางเดินโดยรอบ และมีการออกแบบดีไซน์ระบบการทำงานของน้ำเพื่อให้เกิดไอน้ำธรรมชาติที่เกิดจากบ่อน้ำพุร้อนและหมอก ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการสร้างบรรยากาศลึกลับโดยรวมบริเวณรอบอาคารนั่นเอง
เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศจีน การผสมผสานของสภาพอากาศที่มีหิมะสีขาวโปรยปราย ท้องฟ้าที่มืดครึ้มเป็นสีเทาและต้นไม้ที่ไร้ใบ ล้วนส่งผลให้ภาพโดยรวมทั้งหมดที่มองเห็นมีสีเดียวกันแบบโมโนโทน ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มองเห็นทั้งหมดจะเป็นโทนสีเดียวกัน แต่แบ่งเป็นหลายโทนสีหรือมีน้ำหนักอ่อนเข้มแตกต่างกันไป ทำให้บรรยากาศทั้งหมดดูกลมกลืนกันได้เป็นอย่างดี และให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างมืดมนในช่วงระยะเวลาส่วนใหญ่ของฤดูหนาว
โปรเจ็กต์การออกแบบนี้เป็นความพยายามในการสร้างวิธีการ “เติมสีสัน” ให้กับประสบการณ์ของผู้มาเยือนในแบบที่ไม่เหมือนใคร โดยมีการแต่งแต้มสีของกระจกโดยใช้สีม่วงและสีฟ้าน้ำมาตัดกับโทนสีโมโนโทนสีเทาของบรรยากาศโดยรอบ แรงบันดาลใจที่มาของการออกแบบสีกระจกนั้นมาจากฟิล์มขาวดำแต่งสีในช่วงต้นทศวรรษ 1900 คือการนำแผ่นฟิลม์ขาวดำมาแต้มสีลงทีละน้อย และเมื่อนำฟิลม์ไปอัดภาพลงกระดาษ ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาคือสีต่างๆที่เกิดขึ้นจะโดดเด่นลอยออกมาจากบรรยากาศภาพขาวดำแบบชัดเจน เช่นเดียวกับกระจกสีรอบอาคารที่มีสีสันตัดกับสีบรรยากาศโมโนโทนที่เป็นสีเทารอบๆอาคารนั่นเอง
สำหรับผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมชุดนี้ สีจะถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมสามมิติ เพื่อเพิ่มมิติและสร้างภาพการมองเห็นในแบบที่ไม่ซ้ำกับงานสถาปัตยกรรมไหนๆ ส่วนไอน้ำหรือหมอกที่เกิดขึ้นโดยรอบ ก็ถือเป็นองค์ประกอบหลักสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างโครงสร้างสถาปัตยกรรมและบรรยากาศโดยรอบเข้าไว้ด้วยกัน
หมอกหรือไอน้ำที่เกิดขึ้นโดยรอบ การออกแบบโครงสร้างตัวอาคาร ถือเป็นผลงานการออกแบบที่เล่นกับสายตาและความรู้สึกของผู้เข้ามาเยือนยังสถานที่แห่งนี้ แต่ทั้งนี้การออกแบบที่เกิดขึ้นก็ดูเป็นเอกลักษณ์และกลมกลืนเข้ากันอย่างลงตัว

Blur Building by Elizabeth Diller and Ricardo Scofidio

Credit : dsrny .com
อาคาร Blur (เบลอ) เป็นผลงานสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับบรรยากาศ ซึ่งเป็นกลุ่มหมอกที่เกิดขึ้นทั้งจากธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น โดย สถาปนิก Elizabeth Diller และ Ricardo Scofidio ผู้อำนวยการโครงการ Dirk Hebel และ Eric Bunge ทีมออกแบบ Charles Renfro, Reto Geiser, David Huang, Karin Ocker, Andreas Quadenau, Deane Simpson และ Lyn Rice ผลงานนี้ถูกสร้างขึ้นเฉพาะสำหรับงาน Swiss Expo 2002 ซึ่งจัดขึ้นที่อีเวอร์ดอน-เลส์-แบ็ง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ศาลาชั่วคราวกลายเป็นงานศิลปะที่ดึงดูดผู้เข้าชมจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบระบบการพ่นกระจายของไอน้ำหรือหมอก ที่มากด้วยความสร้างสรรค์และโดดเด่น ซึ่งถือเป็นภาพที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครของสถานที่แห่งนี้อีกด้วย
ตัวโครงสร้างอาคาร Blur คือศาลาที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2002 เมื่อเปิดตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยศาลาแห่งนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวรอบทะเลสาบเนอชาแตล กลุ่มไอหมอกที่เกิดขึ้นนั้นเต็มไปด้วยส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างน้ำในทะเลสาบที่กรองแล้วและหัวพ่นหมอก น้ำถูกสูบขึ้นมากจากทะเลสาบ Neuchâtel ถูกนำมากรอง และยิงเป็นหมอกละเอียดผ่านหัวฉีดแรงดันสูง 35,000 หัว
Credit : dsrny .com
นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบตรวจสภาพอากาศอัจฉริยะ โดยจะมีระบบอ่านสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลมและทิศทาง มีการควบคุมแรงดันน้ำในโซนต่างๆ เมื่อเข้าสู่โหมดเบลอหรือไอหมอก จะทำให้การมองเห็นของภาพและเสียงถูกลดทอนออกทันที ทั้งนี้เพราะมีการวางระบบการฉีดพ่นน้ำโดยอุปกรณ์คุณภาพสูง ทำให้การกระจายละอองของน้ำที่กระเซ็นออกมากลายเป็นภาพที่สวยงามและถือเป็นองค์ประกอบที่ช่วยส่งเสริมให้ผลงานโดยรวมของงานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้เป็นที่สนใจของผู้คนไปทั่วโลก
Credit : dsrny .com
ในอาคารนิทรรศการเป็นอาคารโล่งๆที่ไม่ได้จัดแสดงอะไรเป็นพิเศษนอกจากจากหมอกและไอน้ำที่พ่นละอองออกมา ผู้เข้าชมสามารถขึ้นไปบนดาดฟ้าผ่านบันไดที่โผล่พ้นหมอกสู่ท้องฟ้าสีครามได้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาคาร Blur Building ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชมอาคาร Blur Building ที่เต็มไปด้วยความเพลิดเพลินกับสถานที่ท่องเที่ยวอันแสนมหัศจรรยแห่งนี้ ด้วยเหตุนี้เองนักออกแบบจึงติดตั้งสะพานลาดเอียงเชื่อมเข้ากับตัวอาคารเพื่อผู้คนสามารถเดินเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น โดยสะพานลาดมีขนาดยาว 400 ฟุต (120 เมตร )
Credit : dsrny .com
การพาผู้เยี่ยมชมเดินทัวร์เข้าสู่ใจกลางหมอกนั้น เมื่อเดินไปถึงอาคาร ผู้เข้าชมจะต้องก้าวขึ้นไปบนแท่นกลางแจ้งขนาดใหญ่ โดยบริเวณนี้ผู้เข้าชมจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระนัก เนื่องจากรูปแบบทัวร์ที่สถานที่นี้จะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัย ในขณะกำลังเพลิดเพลินกับการเดินทางครั้งนี้ หัวฉีดน้ำที่ผลิตสายละอองน้ำให้ออกมาจะเต้นและเคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าชมรู้สึกผ่อนคลายจิตใจได้อย่างดีอีกด้วย
Credit : dsrny .com
ผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ ใช้น้ำเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญเพื่อส่งเสริมโครงสร้างตัวอาคารให้เป็นรูปแบบเฉพาะตัว ไม่เหมือนกับงานสถาปัตยกรรมอื่นๆ โดยทีมออกแบบได้หวังว่าหากใครได้เข้ามาเยือนศาลาแห่งนี้ก็จะได้ความรู้สึกที่ผ่อนคลายและมีความสุขกลับไปหลังจากได้มาสัมผัสกับภาพของไอน้ำและละอองหมอกอันสดชื่น

Doubleground Pavilion by Muir + Openwork

Credit : Dezeen
กำแพงแลดูเหมือนหุบเขาที่ถูกปกคลุมไปด้วยหมอก คือ ศาลาที่มีชื่อว่า Doubleground ซึ่งตั้งอยู่ภายในสวนประติมากรรมของหอศิลป์แห่งชาติวิคตอเรียในเมลเบิร์น ที่ออกแบบโดยสตูดิโอท้องถิ่นนามว่า Muir และ Openwork การรังสรรค์ขึ้นมามีวัตถุประสงค์เพื่อให้คล้ายกับ “ช่องว่าง” ที่เป็นทางเดินผ่านสวนดอกไม้ของแกลเลอรี
Credit : Dezeen
บริเวณนี้เป็นศาลาหลังที่สี่ที่ถูกสร้างขึ้น หลังจากมีการสร้างศาลาอื่นๆไปก่อนหน้านี้ โดยศาลาแต่ละหลังจะถูกสร้างขึ้นเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับตัวศาลาแห่งนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์คณะกรรมการทางด้านสถาปัตยกรรมประจำปีของหอศิลป์แห่งชาติวิกตอเรีย ซึ่งได้มีการเชิญสถาปนิกให้มาออกแบบการติดตั้งชั่วคราวสำหรับสวน Grollo Equiset Garden
Credit : Dezeen
Doubleground สร้างจากวัสดุแผ่นไม้อัดทาสีดำตัดขึ้นพิเศษจำนวน 515 ชิ้น แผงมีพื้นที่ทับซ้อนกันเพื่อให้ดูเหมือนว่ามีช่องว่างถูกฝังอยู่ในพื้นดินบางส่วน
Muir ได้อธิบายไว้ว่า วัสดุที่เลือกนำมาใช้นั้นคือไม้อัด ซึ่งสามารถนำมาวางเป็นแนวสำหรับจัดเก็บดินบริเวณพื้นให้ดูเรียบร้อย และยังสามารถนำมาทำเป็นกำแพงและราวบันไดได้อีกด้วยส่วนการเลือกใช้สีนั้น สีดำ ถูกมามาใช้เพราะผู้ออกแบบถือว่าเป็นสีที่มีความเป็นกลาง อีกทั้งสีดำยังเหมาะกับสาปัตยกรรมรูปทรงเลขาคณิต เพราะเมื่อเกิดเงาตกกระทบ ก็จะเกิดรูปทรงเลขาคณิตขึ้นที่พื้น เพิ่มมิติให้กับงานผลงานสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างดี
Credit : Dezeen
Doubleground มีวัตถุประสงค์เพื่ออ้างอิงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของแกลเลอรี ที่ออกแบบโดย Roy Ground เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของอาคาร ขณะที่ผนังซิกแซกทำหน้าที่รับกับเพดานกระจกสีอันโดดเด่นในห้องโถงและส่วนหน้าอาคารที่สร้างด้วยหินสีฟ้าขนาดใหญ่ น้ำพุถูกออกแบบให้ทำหน้าที่กระจายละอองน้ำบางๆ ขึ้นสู่ท้องฟ้าด้านบนและน้ำจะตกโค้งลงมากระทบกับพื้นผิวกรวดบริเวณด้านล่าง ก่อให้เกิดเป็นภาพหมอกจางบางๆงดงามยิ่งนัก
Credit : Dezeen
ศาลาแห่งนี้มีไว้สำหรับใช้จัดแสดงชั่วคราว Doubleground ได้รับการออกแบบให้สามารถรีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้งานใหม่ได้โดยง่าย โดยพืชและดอกไม้รอบๆ ศาลาได้ถูกรื้อถอนและนำไปปลูกขยายพันธุ์ใหม่ต่อไปยังโรงเรียนในท้องถิ่นอีกด้วย

Mist Encounter by 曾令理

Credit : linglitseng .com
Mist Encounter คือศาลาฤดูร้อนที่ตั้งอยู่ในลานกลางแจ้งขนาดใหญ่หน้าพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ไทเป ออกแบบโดยทีมนักออกแบบ Serendipity Studio และ Kwan-Wei Chen Architects ศาลาแห่งนี้ถูกออกแบบให้แสงแดดและลมฤดูร้อนพัดเข้ามาด้านใน ภายในศาลามีการออกแบบเก้าอี้ที่ห้อยโยงลงมาจากด้านบนด้วยวัสดุผ้าสีขาวคล้ายรังดักแด โดยเก้าอี้จะมีการเคลื่อนไหวไปมาเบาๆเมื่อโดนลมหรือมีผู้เข้ามานั่งด้านใน ส่วนหมอกเบาบางจะเกิดขึ้นจากจัตุรัสทางด้านนอกและทำหน้าที่ดึงดูดผู้มาเยือนให้เข้ามาใกล้มากขึ้น ขณะที่ผู้เยี่ยมชมเดินจากด้านนอกไปยังจัตุรัสชั้นใน พวกเขาจะค่อยๆถูกปกคลุมไปด้วยหมอก และสิ่งต่างๆที่สามารถมองเห็นได้จะปรากฏขึ้นและเลือนจางหายไปเมื่อหมอกค่อยๆ หนาขึ้นและจางลงสลับกัน เอฟเฟกต์หมอกแบบนี้ถูกทำให้คล้ายกับประสบการณ์การเดินผ่านหมอกหนาทึบในป่าเวทย์มนตร์นั่นเอง
Credit : linglitseng .com
Mist Encounter เริ่มต้นกิจกรรมเชิงพื้นที่และศิลปะเกี่ยวกับน้ำ เพื่อสร้างการรับรู้ของร่างกายด้วยหมอก และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการออกแบบปรับปรุงเครื่องปรับอากาศในพิพิธภัณฑ์ หมอกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศที่มองไม่เห็นและยังทำหน้าที่ปรับอากาศอีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายมนุษย์รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมของหมอกที่ปรากฏขึ้นระหว่างชั้นของตาข่ายและโครงสร้าง ที่ซึ่งเราสามารถสังเกตการไหลของหมอกได้ โดยจะมีการปล่อยหมอกออกมาแบบบางเบา สลับกับการปล่อยหมอกออกมาแบบหนาแน่นจนมองไม่เห็น ทำให้ผลงานสถาปัตยกรรมชุดนี้เล่นกับความรู้สึกของการมองเห็นผ่านสายตามนุษย์อีกด้วย
Credit : linglitseng .com
การมองเห็น (VISIBLE) / การล่องหน (INVISIBLE) | ความเป็นส่วนตัว (PRIVATE) / ความเป็นสาธารณะ (PUBLIC) คือ Concept ที่ Mist Encounter ต้องการสื่อออกมา เพราะ “หมอก”มีความสามารถในการเปลี่ยนวัตถุจากที่เคยมองเห็น ทำให้มองไม่เห็นขึ้นมาได้อย่างฉับพลัน
โดยการตั้งค่าความหนาแน่นของหมอกนั้นจะมีความแตกต่างกัน ทำให้บรรยากาศโดยรอบทั้งหมดจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นหมอกสีขาวอย่างช้าๆ และจะหมอกจะค่อยๆ มอบความเย็นตกลงสู่ผิวหนังของผู้เข้ามาเยือนทุกคนอีกด้วย
Credit : linglitseng .com
เก้าอี้ที่ห้อยโยงลงมาจากด้านบนจะห่อหุ้มผู้ที่นั่งอยู่ด้านในให้ความรู้สึกเป็นถึงความส่วนตัว เมื่อผู้นั่งมองทะลุออกมาด้านนอกก็จะมองเห็นผ้าสีขาวโปร่งบางและเห็นผู้คนด้านนอกอย่างเลือนลาง นอกจากนี้เก้าอี้ผ้ายังสมารุแกว่งไปมาได้ ช่วยให้ผู้นั่งรู้สึกผ่อนคลายและยังสามารถใช้เวลาทอดสาตาเพลิดเพลินกับไปท้องฟ้าสีครามด้านบน ซึ่งจะให้รู้สึกเย็น โล่ง สบาย และยังได้ฟังเสียงไอน้ำที่ถูกพ่นออกมาอย่างแผ่วเบาในอากาศ เมื่อใดก็ตามที่ได้สูดลมหายใจเอาละอองน้ำจากหมอกเข้าไปก็จะทำให้รู้สึกสดชื่น
Credit : linglitseng .com
หมอกที่เกิดขึ้นภายในลานบริเวณตรงกลางสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของเวลาและสภาพอากาศ เมื่อหมอกที่สะสมมาถึงจุดที่หนาแน่นเต็มที่ ผู้มาเยือนจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกสูญเสียการมองเห็นและเวลาที่ช้าลง ความรู้สึกเหล่านี้ช่วยเพิ่ม สัมผัส เสียง กลิ่น และช่วยขยายความเชื่อมโยงของผู้คนกับหมอก ความเงียบ เสียงกระซิบของผลึกน้ำที่กระเซ็นซ่าน และหวังว่าสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ การเดินทางผ่านความรู้สึกที่มองไม่เห็นนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเชื่อมโยงที่ไม่เหมือนใครให้กับสิ่งแวดล้อมภายในจิตใจของสาธารณชน

Silence by Tadao Ando and Blair Associates

Credit : nickcarterphotography .com
ณ ทางโค้งของถนนที่ Mount Street มาบรรจบกับ Carlos Place ด้านนอกโรงแรม Connaught Hotel ในลอนดอน เมฆหมอกปะทุขึ้นจากโคนต้นไม้สองต้นในบริเวณผืนน้ำแห่งนี้ ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นชื่อดัง Tadao Ando ซึ่งถือว่าเป็นผลงานชิ้นเอกที่เกี่ยวกับคุณลักษณะน้ำแบบใหม่ที่เรียกว่า “Silence”
หากมองดูจากระยะไกลอาจดูเหมือนรูปทรงวงรีที่ถูกยกให้สูงขึ้นมาจากพื้นดิน แต่เมื่อเดินเข้ามามองอย่างใกล้ชิดขึ้น ก็จะเห็นน้ำจากบริเวณพื้นภายในวงรีที่ค่อยๆไหลขึ้นมาเหนือหินแกรนิตด้านบน โดยมีต้นไม้สองต้นตั้งอยู่ในแอ่งน้ำพร้อมตะแกรงโลหะรอบฐาน
Credit : taller-9 .com.ar
อะตอมไมเซอร์ที่ซ่อนอยู่ที่โคนต้นไม้จะสร้างเมฆหมอกไอน้ำเป็นเวลาสิบห้าวินาทีในทุกๆ สิบห้านาทีก็จะมีหมอกลอยขึ้นมาจากตะแกรงเหล่านั้นทำให้เกิดคุณสมบัติพิเศษภายในชิ้นงานประติมากรรมชิ้นนี้ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบระบบไฟ LED แบบกระจกทรงกลมใต้น้ำที่เอาไว้สำหรับแสดงแสงสียามค่ำคืนอีกด้วย
Credit : Wikimedia
“Silence” ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2011 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการปรับปรุงทัศนียภาพบบริเวณถนน Mount Street และถนน Elizabeth Street ซึ่งเกิดขึ้นจากการจัดเตรียมเงินทุนเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ของสภาเทศบาลเมืองเวสต์มินสเตอร์
Credit : Koolfog
คอลิน บาร์โรว์ หัวหน้าสภาเมืองเวสต์มินสเตอร์ได้กล่าวเอาไว้ว่า รู้สึกยินดีกับผลงานที่จะนำมาซึ่งการปรับปรุงครั้งใหญ่ในส่วนประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงแห่งนี้ ข้อตกลงทางการเงินที่ถูกนำมาใช้กับนวัตกรรมใหม่ของเมือง หมายถึงการนำเอาเงินปรับปรุงส่วนที่สำคัญของถนนในท้องถิ่น และพื้นที่สาธารณะที่เปิดโล่ง โดยการลงทุนเริ่มต้นของสภาครั้งนี้จะได้รับเงินคืนจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มมูลค่าของพื้นที่ในระยะยาวเช่นกัน การฟื้นฟูพื้นที่ของเมืองลักษณะนี้ ถือเป็นเรื่องน่าประทับใจในการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในเมืองเป็นอย่างมาก
สำหรับงานสถาปัตยกรรมที่ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ของระบบการออกแบบภูมิทัศน์ของน้ำเข้ามาช่วยสร้างหมอกหรือไอน้ำ ล้วนส่งเสริมให้ตัวอาคารหรืองานสถาปัตยกรรมนั้นๆมีรูปแบบที่เด่นชัด โดดเด่นแปลกตาแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดทั้งมวลผลลัพธ์จากการสร้าง “หมอก” เข้ามาเป็นลูกเล่นในงานออกแบบก็ล้วนส่งผลให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมได้รับความรู้สึกและสัมผัส ทั้งร่างกาย จิตใจ รวมทั้งส่งผลไปยังความรู้สึก ที่แต่ละคนจะได้รับซึ่งก็ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเล้นลับ สดชื่น เย็นสบาย มึนงง ไปจนกระทั่งเพิ่มอะดรีนาลีนความตื่นเต้นให้กับร่างกาย ที่สำคัญอย่างน้อยเราก็ได้ภาคภูมิใจและได้เสพผลงานสถาปัตยกรรมแบบใหม่ๆที่เหล่าสุดยอดสถาปนิกสร้างไว้ให้กับพวกเราอีกด้วย
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
archdaily .com
dezeen .com
publicdelivery .org
linglitseng .com
architectsjournal .co.uk

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO