HISTORY OF MONEY
เงินตราในยุคสมัยต่างๆ

ย้อนไทม์ไลน์กลับไปหลังจากการเกิดของมนุษย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว จุดเริ่มต้นของการใช้ “ เงิน ” เริ่มจากผู้คนต้องการวัตถุดิบที่ตนเองไม่มี จึงนำสิ่งของที่มีไปแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านที่มีวัตถุดิบ กลายเป็นวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนสินค้าจากสิ่งของนับตั้งแต่นั้นมา และวิวัฒนาการการแลกสิ่งของตามยุคสมัยจนถึงปัจจุบันที่ใช้ “ เงิน ” เป็นหลัก
“ เงิน ” เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่มีมูลค่าเป็นที่ยอมรับซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อให้ผู้คนซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างกันได้ง่ายขึ้น มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากมาย ก่อนที่จะมาเป็น “ เงิน ” ให้เราได้ใช้กันในทุกวันนี้ ซึ่งในแต่ละยุคมีการใช้เงินในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่
1. ยุคของการแลกเปลี่ยนสิ่งของ
2. ยุคของการใช้สื่อกลางแทนเงิน
3. ยุคของสังคมไร้เงินสด

ยุคแรก คือ ยุคของการแลกเปลี่ยนสิ่งของ

Bareo Article - History of Money
Credit : idronline .org
ประวัติการแลกเปลี่ยนสินค้าย้อนหลังไปถึง 6,000 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อชนเผ่าเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) แนะนำแนวคิดนี้แก่ชาวฟินีเซียน (Phoenecian) มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันเมื่อไม่มีเงิน รวมถึงของต่างๆ เช่น ชา เกลือ อาวุธ และอาหาร เป็นต้น ก่อนภายหลังจะเริ่มมีการแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะแล้วแต่ฐานะทางสังคมนั้นๆ ด้วย เช่น ชาวอเมริกันในยุคอาณานิคมมีกรแลกเปลี่ยนซื้อขายหนังสัตว์ พืชผล และปืนคาบศิลา ฯลฯ
ผู้คนในอดีตส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพทางการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ แต่หนึ่งครอบครัวอาจไม่ได้ทำอาชีพที่ครอบคลุมหลายอย่าง จึงไม่มีวัตุดิบมากเพียงพอในการเลี้ยงชีพ และเดิมทีมนุษย์ไม่มีเงินเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน การแลกเปลี่ยนสิ่งของจึงเป็นสิ่งที่นิยมกันเพื่อให้ได้มาในวัตถุดิบที่ต้องการแทน เช่น นาย ก. ปลูกข้าว และนำข้าวไปแลกหมูของนาย ข. ซึ่งทำอาชีพเลี้ยงหมู ส่วนนาย ข. ก็เอาเนื้อหมูไปแลกกับผักของนาย ค. เจ้าของสวนผักด้วยเหมือนกัน
การแลกเปลี่ยนสิ่งของในสมัยก่อน ทำให้เกิดความพึงพอใจและได้มาในสิ่งที่ต้องการ แต่ก็ติดปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น…

ความต้องการแลกเปลี่ยนสิ่งของไม่ตรงกัน

หลายๆ ครั้งความต้องการแลกสิ่งของไม่ตรงกัน ซึ่งปัจจัยหลักในการแลกของนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมีความต้องการจะต้องตรงกัน การแลกเปลี่ยนจึงสำเร็จลุล่วงได้ หากความต้องการไม่ตรงกันเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมแลกของ ก็จะไม่เกิดการแลกเปลี่ยนขึ้น

การแลกเปลี่ยนต้องใช้เวลาและไม่สะดวกในการขนส่ง

หากของที่ต้องการแลกนั้นมีขนาดใหญ่ หรือมีน้ำหนักเยอะอาจทำให้การขนส่งลำบากและไม่สะดวกในการเดินทาง โดยเฉพาะของที่ต้องนำไปแลกมีระยะทางที่ไกล หมายความว่าอาจจะเสียเวลานานกว่าปกติกว่าการแลกเปลี่ยนจะแล้วเสร็จ
ยกตัวอย่างในบันทึกประวัติศาสตร์ เคยมีการนำม้า ไปแลกกับข้าวสารและธัญพืชในช่วงฤดูหนาว ระหว่างชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าและแผ่นดินที่สามารถทำการเกษตรได้ แต่กว่าจะทำการตกลงกันได้ กว่าธัญพืชจะเดินทางไปถึง ก็มีความอดอยากเกิดขึ้นมากมายเพราะไม่มีอาหาร รวมทั้งม้าที่จะต้องนำไปแลกเปลี่ยนก็ต้องกินเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอไว้แลกเปลี่ยนเช่นกัน

ของแลกเปลี่ยนมีวันหมดอายุ

ในอดีตสิ่งของที่นำไปแลกกันมักเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง ผัก เนื้อต่างๆ ซึ่งมันมีวันเน่าเสียได้ การแลกเปลี่ยนจึงต้องจึงมีระยะที่สั้น ไม่สามารถนำเก็บไว้แลกเปลี่ยนในอนาคตได้
ด้วยข้อจำกัดต่างๆ มากมายของการแลกเปลี่ยนของต่างๆ ทำให้มนุษย์เริ่มมองหา “สื่อกลางหรือเงิน” ที่นำมาใช้แทนการแลกเปลี่ยนสิ่งของ โดยในแต่ละสังคมจะมีการกำหนดใช้สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่เหมือนกัน เช่น หนังสัตว์ เกลือ และอาวุธ และเปลือกหอย เป็นต้น

สื่อกลางแทน ” เงิน “

เปลือกหอยและสิ่งของอื่นๆ จากธรรมชาติ

Bareo Article - History of Money
Credit : greenviewsresidential .com
สกุลเงินในยุคแรกสุดบางสกุลเป็นวัตถุจากธรรมชาติ ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ เปลือกหอย Cowrie ซึ่งใช้เป็นเงินครั้งแรกเมื่อประมาณ 1,200 ปีก่อนคริสตศักราช เปลือกหอยขนาดเล็กที่ได้มาจากหมู่เกาะมัลดีฟส์ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นสิ่งล้ำค่าในอารยธรรมของจีนและอินเดียตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม จากอินเดียวัตถุที่น่าสนใจเหล่านี้ถูกขนส่งไปตามเส้นทางการค้าไปยังแอฟริกา เมื่อการค้าเริ่มขยายตัวมากขึ้น ทางฝั่งประเทศยุโรปเองก็ได้ยอมรับเปลือกหอยเป็นสกุลเงินด้วยเช่นกัน โดยบางประเทศ เช่น ชนพื้นเมืองอเมริกัน จะรับแลกเปลี่ยนด้วยเปลือกหอยในรูปแบบของ wampum (ลูกปัดเปลือกหอย) เป็นต้น โดยข้อดีของการใช้เปลือกหอยเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน คือ พวกมันมีขนาดใกล้เคียงกัน เล็ก และทนทาน

ที่มาของการใช้ “ เงิน ” เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน

การใช้เปลือกหอยเป็นการแลกเปลี่ยน แม้จะมีข้อดีมากมาย แต่ข้อเสียก็มีมากเช่นกัน เช่น เมื่อใช้นานๆ ไปเปลือกหอยอาจเกิดการชำรุด เสียหายได้ และเนื่องจากเปลือกหอยเป็นสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติ เมื่อถูกรุกรานมากๆ ก็ทำให้มีปริมาณที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ มนุษย์จึงเริ่มมองหาช่องทางอื่นในการหาสิ่งใหม่มาทดแทนเปลือกหอยที่อาจจะสูญหายไปในที่สุด

โลหะสำริด

Bareo Article - History of Money
Credit : coinarchives .com
เมื่อเปลือกหอยเริ่มหายากขึ้น จึงเริ่มนำโลหะสำริดมาผลิตใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนแทน ซึ่งเนื้อสำริดจะมีความแข็งแรงและคงทนมากกว่าเปลือกหอย และเป็นสิ่งของที่ใช้ได้นานไม่เน่าเปื่อย ทั้งยังสามารถนำมาตัดแบ่งเป็นขนาดเล็กๆ หรือหลอมรวมกันเป็นก้อนใหญ่ๆ ได้ โดยการแปรรูปเหรียญเป็นแบบต่างๆ จะต้องไม่เสียรูปแบบเดิม ในยุคนั้นบางสังคมจึงมีการนำโลหะสำริดไปสลักเป็นรูปต่างๆ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของสกุลเงินนั้นๆ ด้วย
ข้อจำกัดที่ทำให้โลหะสำริดเริ่มเริ่มเสื่อมความนิยมในการเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนคือ มีน้ำหนัก และเป็นโลหะที่ใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างนาน หากประเทศไหนต้องทำการค้าและต้องใช้เงินเป็นจำนวนอาจทำการผลิตไม่ทันนั่นเอง

ทองคำ

Bareo Article - History of Money
Credit : mecmining .com.au
สกุลเงินแรกสุดที่ใช้ในการทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์ปรากฏในอียิปต์ และเมโสโปเตเมียในช่วง 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ประกอบด้วยทองคำแท่งซึ่งจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักเพื่อสร้างมูลค่าในแต่ละครั้งที่มีการแลกเปลี่ยน หลังจากนั้นประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ก็เริ่มมีการเสริมด้วยแหวนทองคำ หรือทองคำชิ้นเล็กๆ สำหรับจำนวนเงินที่น้อยลง
ข้อดีของการแลกเปลี่ยนด้วยทองคำ คือ ความมั่นคง แต่ข้อเสียคือ ต้องอาศัยความระมัดระวัง และป้องกันเป็นอย่างมาก เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขโมย ปัจจุบันถึงแม้ว่าจะยังมีการแลกเปลี่ยนด้วยทองคำ แต่ก็มีจำนวนน้อยแล้ว

ธนบัตร

Bareo Article - History of Money
Credit : Design by Bareo
ธนบัตรผลิตขึ้นมาเพื่อใช้แทนเหรียญ หรือโลหะสำริดต่างๆ ทั้งนี้เพราะต้องการเงินที่สามารถพกพาได้สะดวกและมีน้ำหนักที่เบา
เชื่อกันว่าเงินกระดาษหรือธนบัตรมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ในสมัยรัชกาล (ค.ศ. 997–1022) ของจักรพรรดิเจิ้นจง โดยทำมาจากเปลือกของต้นหม่อน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 เงินกระดาษได้แพร่หลายไปยังส่วนอื่นๆ ของโลก
ในปัจจุบัน ธนบัตร คือ ถูกผลิตขึ้นด้วยกระดาษ และต้องออกโดยธนาคารของแต่ละประเทศเท่านั้น จึงสามารถนำไปใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของ และชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งทั่วโลกยังมีการใช้ธนบัตรในการแลกเปลี่ยนสิ่งของเป็นหลัก
แต่ด้วยการมาของเทคโนโลยี ทำให้การใช้เงินธนบัตรลดน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยการใช้บัตรเครดิต บัญชีออนไลน์ และเงินดิจิตอลเข้ามาแทนที่

เริ่มเข้าสู่ยุค “สังคมไร้เงินสด”

Bareo Article - History of Money
Credit : rupixen on Unsplash

บัตร (Card)

บัตรจ่ายเงินจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ บัตรเดบิต (Debit Card) และ บัตรเครดิต (Credit Card)
บัตรเดบิต (Debit Card) เป็นบัตรที่จะต้องเติมเงินเข้าไปในบัตรก่อน จากนั้นจึงจะใช้งานบัตรได้ตามจำนวนเงินที่มีในบัตร ข้อดีคือการจำกัดวงเงินของเราไม่ให้ใช้เงินเกินตัว แต่ข้อเสียก็คือเงินจะออกจากบัญชีเราทันที เพียงแค่ใช้บัตรในการจ่ายแทนเงินสดเท่านั้น ปัจจุบันมีบัตรเดบิตที่เชื่อมกับบัญชีธนาคารและตัดผ่านบัญชีธนาคารโดยตรงแล้ว ดังนั้นเวลาใช้งานต้องระมัดระวังในการใช้มากขึ้น หรือ กำหนดจำนวนเงินที่สามารถใช้ได้ในหนึ่งวัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุกาณ์วิกฤตทางการเงินส่วนบุคคล หรือ เงินหมดตัว นั่นเอง
ส่วน บัตรเครดิต (Credit Card) นั้นจะเป็นบัตรที่นิยมในการแลกเปลี่ยนสิ่งของในปัจจุบัน ซึ่งการใช้บัตรเครดิตก็เหมือนการยืมเงินในอนาคตมาใช้ โดยมีเจ้าหนี้คือธนาคารเจ้าของบัตร โดยจะมีรอบให้ใช้จ่ายในแต่ละเดือนและมีวงเงินจำกัดในแต่ละบัตร เมื่อถึงเวลาตัดรอบบิล เจ้าของบัตรต้องชำระค่าใช้จ่ายคืนให้กับทางธนาคารเจ้าของบัตร
ข้อดีของการใช้บัตรเครดิต คือ บัตรจะมีการร่วมทำโปรโมชันต่างๆ กับทางร้านค้ามากมาย เมื่อเราทำการใช้จ่ายอาจได้รับส่วนลด และคะแนนต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการใช้จ่ายครั้งต่อไป สามารถนำคะแนนไปแลกเป็นเงินเพื่อใช้จ่ายครั้งหน้าได้ แต่ข้อเสียของบัตรเครดิตก็มีเหมือนกัน หากใช้วงเงินสูงเกินกว่ารายได้ที่จะสามารถชำระหนี้ได้ อาจทำเสี่ยงต่อการเป็นหนี้บัตรเครดิตได้ ดังนั้นหากใครที่ใช้บัตรเครดิตควรระมัดระวังในการใช้ให้มาก

การชำระเงินผ่านมือถือ/ออนไลน์

Bareo Article - History of Money
Credit : mobiletransaction .org
หลายๆ ประเทศเริ่มมีการประกาศใช้เป็นสังคม “ไร้เงินสด” มากขึ้น หมายความว่าประเทศนั้นหันมาใช้การชำระเงินผ่านมือถือหรือช่องทางออนไลน์หมดแล้ว เช่น โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์แท็บเล็ต เป็นต้น โดยการชำระผ่านทางออนไลน์ก็มีทั้ง การชำระผ่านเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นธนาคาร, ผ่าน 3rd Party ที่มีบริการเครือข่ายการชำระเงินโดยการผูกบัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคารของเราเข้าไปเพื่อให้เงินตัดได้เลยยามที่เราแสกนเพื่อจ่ายเงิน
ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เริ่มมีการใช้จ่ายผ่านมือถือหรือช่องทางออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า ชำระค่าสินค้า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น โดยเฉพาะการใช้จ่ายผ่านบัญชีออนไลน์ ผ่านการสแกน ข้อดี คือสะดวกสบาย ใช้ง่าย และสามารถลดการสัมผัสเงินในยุคที่มีโรคระบาดได้เป็นอย่างดี แต่ข้อเสียคือเมื่อใช้ง่าย เงินก็ออกได้ง่ายเช่นเดียวกัน

เงินดิจิตอล

Bareo Article - History of Money
Credit : Design by Bareo
เงินดิจิตอลหรือที่เรารู้จักกันในชื่อของคอยน์ต่างๆ (Cions) เป็นระบบสกุลเงินดิจิทัลที่เริ่มสร้างขึ้นในปี 2009 โดยสกุลเงินแรกที่ถูกสร้างขึ้นเกิดแพร่หลายไปทั่วโลกในฐานะการลงทุนแนวใหม่ ที่ถูกปล่อยออกมาโดยกลุ่มโปรแกรมเมอร์ที่รู้จักกันในชื่อ Satoshi Nakamoto ได้สร้างขึ้น และกลายเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับสกุลเงินเสมือนจริงอย่างรวดเร็ว ก่อนจะมีสกุลเงินดิจิตอลอื่นๆ เกิดตามมาอีกมากมาย
ความดึงดูดใจของสกุลเงินเสมือนจริงคือข้อเสนอค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ต่ำกว่ากลไกการชำระเงินออนไลน์แบบดั้งเดิม และดำเนินการโดยหน่วยงานที่กระจายอำนาจ ซึ่งแตกต่างจากสกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาล และในปัจจุบันเริ่มหันมาใช้การชำระผ่านสกุลเงินดิจิตอลกันมากขึ้น
แต่มูลค่าของสกุลเงินดิจิตอลนั้นยังไม่แน่นอนหรือได้รับการยอมรับเท่าไหร่นัก ดังนั้นจึงยังไม่สามารถใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนหลายๆ อย่างได้ รวมทั้งยังมีความเสี่ยงในการถือสกุลเงินดิจิตอล ดังนั้นผู้ลงทุนควรศึกษาให้ดีเสียก่อนว่าจะซื้อเงินสกุลไหน หรือสิ่งที่เราจะซื้อสามารถแลกเปลี่ยนผ่านทางดิจิตอลได้หรือไม่ ก่อนที่จะซื้อสกุลเงินดิจิตอลเก็บไว้
เวลาเปลี่ยนไปวิถีการใช้การแลกเปลี่ยนก็เปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลานั้นๆ ด้วยเช่นกัน ไม่รู้ว่าในอนาคตการใช้เงินจะเปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน แต่คนเราก็ต้องปรับตามให้ทันกันด้วยเช่นกันค่ะ
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
historyworld .net
britannica .com
investopedia .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO