DAO YUN LOU

อาคารลายลักษณ์ทั้งแปด

การสร้างบ้านและอาคารในหลายๆ ประเทศนั้น ได้นำหลักความเชื่อที่ยึดถือกันมาอย่างช้านานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบอาคารที่อยู่อาศัย และหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่เราเห็นได้จากรูปแบบอาคารที่มีความเป็นเอกลักษณ์อย่างชัดเจน นั่นก็คือ อาคารในประเทศจีนที่ชื่อว่า “ เต้าอวิ้นโหลว ” (道韵楼) ซึ่งมีประวัติยาวนานมากว่า 400 ปี อาคารชุดนี้ได้มีการออกแบบผสมผสานการใช้หลักของจักรวาลวิทยาให้สอดคล้องไปกับระบบนิเวศที่อยู่อาศัยได้อย่างกลมกลืน
Bareo Interior Design Article Dao Yun Lou
Credit : teochew1981 .com
“อาคาร เต้าอวิ้นโหลว ” เป็นอาคารแบบถู่โหลวของชาวจีนแต้จิ๋ว สร้างตามหลักจักรวาลวิทยาในคัมภีร์อี้จิงที่ว่า “อี้มีไท่จี๋ (ไท้เก๊ก) ทำให้เกิดสภาวะคือ หยิน-หยาง (Yin-Yang) และ หยิน-หยาง ทำให้เกิดฤดูกาลทั้ง 4 โดยฤดูกาลทั้ง 4 ทำให้เกิด ปา-กว้า ซึ่งก็คือ “ลายลักษณ์ทั้งแปด” นั่นก็คือ เครื่องหมายพลังงานด้านหยินและพลังด้านหยาง ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำลัทธิเต๋า อันหมายถึง อำนาจที่มีบทบาทเชื่อมโยงต่อกันของจักรวาล โดยชาวจีนมีความเชื่อว่า พลังด้านหยิน-พลังด้านหยาง เป็นตัวแทนของพลังแห่งจักรวาล 2 ด้าน กล่าวกันว่า เครื่องหมายพลังด้านหยิน และพลังด้านหยางนี้ พัฒนามาจากปรากฎการณ์ทางธรรมชาติของจักรวาล โดยตามหลักฮวงจุ้ยเชื่อว่าโลกของเราประกอบด้วยพลังของ หยิน-หยาง ผสมปะปนกันอยู่ในทุกสรรพสิ่งของธรรมชาติ แม้กระทั่งในตัวของมนุษย์เราเอง ก็มีทั้งพลังงาน หยิน-หยาง อยู่ในคนๆ เดียวกัน เพียงแต่จะมีพลังงานด้านไหนมากน้อยกว่ากันอย่างไรเท่านั้นเอง
Bareo Interior Design Article Dao Yun Lou
Credit : wallpapers .com
สำหรับสัญลักษณ์ที่มีรูป หยิน-หยาง อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยเส้นประ และเส้นเต็ม คือสัญลักษณ์ “แผนผังแปดทิศ” หรือ “ปากั้วถู” เป็นสัญลักษณ์แห่งเต๋า ที่มักใช้ควบคู่กับสัญลักษณ์ หยิน-หยาง คนไทยรู้จักกันในชื่อ “ยันต์แปดทิศ” หรือ “ยันต์โป๊ยข่วย” โดยหยินและหยาง แสดงถึงความเป็นคู่ หรือแนวคิดที่ว่า 2 ลักษณะที่ตรงกันข้าม สามารถดำรงอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืนและเติมเต็มซึ่งกันและกัน เป็นแนวคิดเดียวกันกับคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีแสงสว่างใดปราศจากความมืด” (หยิน ส่วนสีดำ และหยาง ส่วนสีขาว) ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างกันของโลก โดยเฉพาะในโลกแห่งธรรมชาตินั้น ไม่มีบวก ไม่มีลบ ไม่มีเปิด ไม่มีปิด ไม่มีแสง และไม่มีเงา
Bareo Interior Design Article Dao Yun Lou
Credit : opensea .io
“ยันต์แปดทิศ” หรือ “ยันต์โป๊ยข่วย” มีพื้นฐานจากศาสตร์แห่งความสมดุลของหยินหยาง ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใช้ขับไล่พลังชั่วร้าย ถูกยกย่องเป็นสิ่งมงคลทางฮวงจุ้ย เกิดขึ้นในสมัยจักรพรรดิฟูซี 3,000 ปีก่อนคริสตกาล เล่ากันว่าทรงสังเกตลวดลายบนหลังกระดองเต่าวิเศษ และได้บันทึกไว้ในแผนผังเหอถู และจัตุรัสลั่วซู อันเป็นต้นกำเนิดของศาสตร์โจวอี้ (ภายหลังเรียกอี้จิง) สาเหตุที่ถูกเรียกว่ายันต์แปดทิศ ก็เพราะว่าภายในยันต์รูปแปดเหลี่ยมนี้ ได้รวบรวมเอาสิ่งที่เชื่อว่าเป็นคุณลักษณะของทิศทั้งแปดมารวมกันไว้บนยันต์แผ่นเดียว โดยเราสามารถสังเกตได้ว่า “ยันต์แปดทิศ” หรือ “ยันต์โป๊ยข่วย” มีความคิดเรื่องทิศแตกต่างจากความเชื่อของชาวตะวันตกโดยสิ้นเชิง เพราะชาวตะวันตกมักวางทิศเหนือไว้ตอนบน แต่ “ยันต์แปดทิศ” หรือ “ยันต์โป๊ยข่วย” จะวางไว้ทางทิศใต้เสมอ
Bareo Interior Design Article Dao Yun Lou
Credit : ixigua .com
กลับมาในส่วนของตัวอาคาร เต้าอวิ้นโหลว อาคารนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนันเหลียน เมืองซานหญาว อำเภอหญาวผิง จังหวัดเฉาโจว (แต้จิ๋ว) มณฑลกวางตุ้ง สร้างขึ้นในปีที่ 15 ของจักรพรรดิว่านลี่ เมื่อปี ค.ศ. 1587 (จักรพรรดิว่านลี่ คือ จักรพรรดิองค์ที่ 14 ที่ทรงครองราชย์ยาวนานถึง 48 ปี ซึ่งนับว่านานที่สุดในบรรดาจักรพรรดิราชวงศ์หมิง) ด้านโครงสร้างอาคารเต้าอวิ้นโหลว ถูกจัดอันดับให้เป็นอาคารดินที่ใหญ่ที่สุดที่ค้นพบในประเทศจีน มีชื่อเสียงในด้าน “ความโบราณ ใหญ่ แปลก และสวยงาม”
Bareo Interior Design Article Dao Yun Lou
Credit : teochew1981 .com
ตัวอาคารถูกคั่นด้วยตรอกซอกซอยมากมาย อาคารเต็มไปด้วยห้องพัก 8-72 ห้อง หลุม 32 หลุม และบันได 112 ขั้น ภายในอาคารมีบ่อน้ำ 2 บ่อ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ หยินและหยาง อาคารถูกวางเป็นรูปแปดเหลี่ยม หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 101.2 เมตร เส้นรอบวง 328 เมตร สูง 11.5 เมตร ความหนาของผนัง 1.6 เมตร และมีพื้นที่โดยรวมทั้งหมดประมาณ 10,000 ตารางเมตร ในอดีตยามรุ่งเรือง อาคารเต้าอวิ้นโหลวมีคนอยู่อาศัย 100 กว่าครอบครัว มีผู้คนกว่า 600 คน และทุกคนต่างใช้แซ่หวง (แซ่อึ๊ง) นับว่าเป็นญาติพี่น้องกันทั้งหมดนั่นเอง
Bareo Interior Design Article Dao Yun Lou
Bareo Interior Design Article Dao Yun Lou
Bareo Interior Design Article Dao Yun Lou
Credit : sohu .com
ด้านผังตัวอาคาร ถูกสร้างเป็นทรงแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 3 วง วงด้านในสุด และวงตรงกลางเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว วงด้านนอกเป็นอาคารไม้ 3 ชั้น ส่วนด้านนอกสุดเป็นกำแพงอิฐเปลือย โดยอาคารแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 3 วงนี้ คือสัญลักษณ์ของเส้นทั้ง 3 ที่ซ้อนกันเป็นลายลักษณ์ทั้ง 8 และในส่วนของความโดดเด่น อาคารเต้าอวิ้นโหลว ถูกวางผังตามหลักจักรวาลวิทยาในคัมภีร์อี้จิงได้อย่างลงตัวและสวยงาม ตัวอาคารทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานยกสูง เปรียบดั่งสัญลักษณ์ของจักรวาล เมื่อมองดูจากด้านบนลงมาก็จะเห็นเป็นรูป “ยันต์แปดทิศ” หรือ “ยันต์โป๊ยข่วย” ขนาดมหึมา
Bareo Interior Design Article Dao Yun Lou
Credit : iobtg .com
ในส่วนงานออกแบบตกแต่ง มีการใช้กระเบื้องและก้อนอิฐที่ทำจากดินเผา และลวดลายบนกระเบื้อง และภาพวาดบนผนังบางส่วน ยังสามารถมองเห็นภาพได้แม้เวลาจะผ่านไปเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ตัวอาคารที่สร้างจากดินทั้งหมดใช้ตะปูไม้ไผ่แทนตะปูเหล็ก ในระยะหลายปีที่ผ่านมาตะปูไม้ไผ่เหล่านี้ก็ไม่มีร่องรอยของการผุพัง แม้ตัวอาคารจะใช้ดินเป็นวัสดุก่อสร้างแต่ก็ยังคงสภาพแข็งแกร่งมาจนถึงทุกวันนี้
Bareo Interior Design Article Dao Yun Lou
Credit : flickr .com
ในส่วนด้านบนอาคาร อาคารวงในกับอาคารวงกลางเว้นระยะห่างกันให้แสงเข้าถึงโดยไม่มีหลังคา แต่มีฝากั้นระหว่างอาคาร ทำให้เกิดลานโล่งในบ้านทุกคูหา ถือว่าเป็นทักษะการออกแบบอันชาญฉลาดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
Bareo Interior Design Article Dao Yun Lou
Bareo Interior Design Article Dao Yun Lou
Credit : sohu .com / iobtg .com
ตัวอาคารที่ทำจากดินมีหน้าที่ป้องกัน 8 ประการสำคัญ อันส่งผลดีต่อการใช้ชีวิตของประชากรในหมู่บ้าน ได้แก่ การป้องกันจากอัคคีภัย (มีท่อน้ำซ่อนอยู่สำหรับฉีดน้ำที่ด้านบนของประตูอาคาร) การป้องกันจากโจรผู้ร้าย, การป้องกันการก่อการร้ายต่อหมู่บ้าน, การป้องกันจากศึกสงคราม (ผนังอาคารหนามีช่องสำหรับยิงปืนออกมาหลายแห่ง), การป้องกันจากสัตว์ร้าย, การป้องกันแผ่นดินไหว, การป้องกันความเย็นและความร้อนจากสภาพอากาศ และการปกป้องผู้อยู่อาศัยจากภัยแล้ง
Bareo Interior Design Article Dao Yun Lou
Credit : iobtg .com
กล่าวกันว่าใน สมัยชุนจือของราชวงศ์ชิง อาคารเต้าอวิ้นโหลวถูกล้อมรอบโดยกลุ่มโจรที่รัฐบาลส่งมาเป็นเวลานานถึง 3 เดือน แต่ในที่สุดกลุ่มโจรก็ไม่สามารถบุกเข้าไปทำลายหมู่บ้านนี้ได้ ด้วยหลักการออกแบบผังของหมู่บ้าน และวัสดุการก่อสร้างต่างๆ ผู้คนในหมู่บ้านจึงรอดพ้นจากหายนะครั้งนั้น และในปี ค.ศ.1918 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้น บ้านส่วนใหญ่ในบริเวณใกล้เคียงพังทลายลงแทบทั้งสิ้น แต่ทว่ามีบ้านเพียงไม่กี่หลังในหมู่บ้านเต้าอวิ้นโหลว ที่แค่เอนเอียงไปทางซ้ายและขวาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สำหรับอาคารที่สร้างตามหลักปรัชญาเต๋า ได้อย่างงดงามลงตัวเช่นนี้ คงจะมีเพียงแห่งเดียวในประเทศจีน ทำให้ “ เต้าอวิ้นโหลว ” มีความแปลกในแง่ของงานสถาปัตยกรรมซึ่งหาดูจากที่อื่นไม่ได้ จริงๆแล้วงานสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นตามหลักจักรวาลวิทยาในคัมภีร์อี้จิง ไม่ได้เกิดขึ้นจากความเชื่องมงายใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่แท้จริงแล้วได้ถูกพินิจพิจารณาตามสภาพแวดล้อม และได้ใช้หลักวิชาภูมิสถาปัตย์ออกแบบให้ประสานกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ตามอุดมคติของปรัชญาเต๋า ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศบริเวณนั้นอย่างลงตัวนั่นเอง
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
news .cn
zh.wikipedia .org
baike.baidu .com
raoping .gov.cn
iobtg .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO