Tampak Siring
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
สถาปัตยกรรมงดงามสุดตระการ ภูเขาไฟตั้งตระหง่าน ท้องทะเลโอบกอด รายล้อมด้วยธรรมชาติ ยากที่ดินแดนใด จะงดงามเสมอเสมือน บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
ก้าวแรกที่เยื้องย่างเข้ามายังเกาะแห่งนี้ ความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้ คือมนต์เสน่ห์ทางวัฒนธรรมบางอย่าง ที่ไม่เหมือนกับประเทศใดในโลกนี้ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อของชาวท้องถิ่น กับการดำรงอัตลักษณ์ทางเผ่าพันธุ์ และการสืบทอดศาสนาดั้งเดิมของตนเองไว้ แม้จะล่วงเลยผ่านกาลเวลามานานนับสหัสวรรษก็ยังคงมิรู้เปลี่ยน
Cr. realgap
บาหลีถูกจัดให้เป็นชุมชนทางวัฒนธรรมฮินดูที่แข็งแกร่งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ( ประเทศอินโดนีเซียมีประชากรเป็น ชาวมุสลิมกว่า 95% ที่นับถือศาสนาอิสลาม ) ซึ่งศาสนาฮินดูถูกจัดให้เป็นศาสนาที่เก่าแก่มากที่สุดศาสนาหนึ่งในโลก ชาวบาหลีเกือบทุกคนผูกพันธ์กับวัดฮินดู โดยชาวท้องถิ่นจะเรียกวัดฮินดูว่า ปุรา ( Pura ) ความงดงามแปลกตาของวัดฮินดูที่บาหลีนั้นแตกต่างจากวัดฮินดูในประเทศอื่นๆ ในเรื่องของสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งถือเป็นศิลปะทางการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะของศาสนาฮินดูในแบบฉบับของชาวบาหลี ( Balinese Hinduism ) โดยลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจน ก็คือซุ้มประตูแยก หรือที่เรียกกันในภาษาบาหลี จันทิเบนตาร์ ( Candi Bentar )
Cr. vegantravel
ศาสนาฮินดูในบาหลี มีชื่อเรียกแบบทางการว่า “อากามา ฮินดู ธรรมะ” หรือชื่อที่นิยมเรียกกัน คือ อากามา ตีร์ตา หมายถึง ศาสนาแห่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดย ณ เมืองทัมปักสิริง ( Tampaksiring ) เมืองเล็กๆทางตอนกลางของเกาะบาหลี มีวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งที่มีอายุยาวนานกว่าพันปี นามว่า ปุราเตียร์ตาอัมปึล ( Pura Tirta Empul ) ซึ่งชื่อของวัดแห่งนี้ก็มีความหมายว่า “น้ำพุศักดิ์สิทธิ์” นั่นเอง
Cr. rayka-app
คนบาหลีมีความเชื่อว่าหากได้เข้าไปอาบน้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์จะทำให้ปัดเป่าจากโรคภัยทั้งปวง ช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้าย ทั้งยังได้ใกล้ชิดกับเทพเจ้าที่พวกเขาเคารพนับถือ และได้รับพรแห่งความสุข ความสมหวัง เพื่อเสริมสร้างความสุขทางกายและทางใจในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยทุกคนที่มาเยือน จะต้องเดินเข้าไปวิหารด้านในสุดของวัด เพื่อที่จะเจอบ่อน้ำ และทุกคนจะนำกระทงดอกไม้แสนอ่อนหวานนำมาสวดมนต์ ขอพร พร้อมทั้งสักการะเทพเจ้า ณ บ่อน้ำแห่งนี้
Cr.olgagiannopoulou
ชาวบาหลีเล่าให้ฟังว่า พระอินทร์ทรงเป็นผู้สร้างวิหารหรือวัดแห่งนี้ ซึ่งเป็นความเชื่อของคนบาหลีที่นับถือในศาสนาฮินดู โดยเมื่อเราเริ่มเดินลงสู่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ก็จะพบท่อส่งน้ำที่ต่อมาจากบ่อน้ำภายในวิหารอีกที โดยในบ่อน้ำชั้นใน จะเป็นบ่อน้ำหวงห้ามที่เกิดตาน้ำพุดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ และดูเหมือนจะไม่มีวันเหือดแห้ง ซึ่งบ่อน้ำชั้นในนั้นจะเป็นบ่อน้ำหวงห้ามที่ห้ามมิให้คนทั่วไปลงอาบเพื่อยังคงรักษาความศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ของน้ำที่เทพเจ้าเสกสรรค์เอาไว้ ดังนั้นคนที่มาก็จะได้อาบน้ำที่บ่อน้ำข้างนอกเท่านั้น
cr. tripsavvy
cr. actoftraveling
เมื่อนานมาแล้วการอาบน้ำจากท่อน้ำแต่ละท่อ จะถูกจำแนกตามชนชั้นวรรณะของผู้คน คล้ายๆกับการจัดวรรณะในประเทศอินเดีย โดยระบบวรรณะในเกาะบาหลีจะไม่เท่ากับระบบวรรณะของอินเดีย แต่ก็จำแนกได้เป็น 4 วรรณะหลักๆ คือ
1. วรรณะพราหมณ์ คือ ชนชั้นนักบวช และผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู
2. วรรณะกษัตริย์ คือ ชนชั้นปกครอง นักรบ และทหาร
3. วรรณะแพศย์ คือ ชนชั้นพ่อค้า และผู้ปฏิบัติงานภายใต้คำสั่งของผู้ปกครอง
4. วรรณะศูทร คือ ชนชั้นแรงงาน ชาวนาและเกษตรกร ( ซึ่งถือเป็นจำนวนร้อยละ 93 ของประชากรทั้งหมดในเกาะบาหลี )
นั่นหมายความว่า เมื่อครั้งที่ชาวบาหลียังคงแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ ท่อน้ำแต่ละท่อ ก็ถูกแบ่งเอาไว้ให้ผู้คนแต่ละวรรณะได้มาอาบน้ำชำระร่างกาย โดยทุกคนจะมาอาบน้ำจากท่อน้ำเดียวกันไม่ได้ ต้องอาบน้ำจากท่อน้ำที่ถูกกำหนดไว้ตามชนชั้นวรรณะทางสังคมเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นแล้วบ่อน้ำแห่งนี้ก็เคยมีกษัตริย์หลายพระองค์ลงมาอาบน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้เช่นกัน แต่ ณ ปัจจุบัน ระบบวรรณะได้ถูกยกเลิกไป ดังนั้นผู้คนจึงสามารถอาบน้ำและขอพรจากเหล่าทวยเทพได้จากท่อน้ำทุกท่อในสถานะที่เท่าเทียมกัน
cr.actoftraveling
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มิได้มีให้เฉพาะแค่ลงอาบน้ำเท่านั้น แต่ชาวบาหลีบางคนจะเก็บน้ำจากบ่อน้ำ และนำกลับไปที่บ้านเพื่อไปดื่มกินและรักษาอาการเจ็บป่วย ตามความเชื่อแบบโบราณที่สืบทอดกันมา นอกจากนี้หากมองไปรอบๆวิหาร เราจะเห็นรูปสลักงดงามมากมาย โดยเกือบทั้งหมดถูกสลักมาจากหิน ซึ่งหินที่นำมาใช้ก็จะเป็นหินภูเขาไฟ ซึ่งมีอยู่ทั่วเกาะ โดยรูปสลักจะเป็นศิลปะแบบบาหลีชัดเจน จะให้ความรู้สึกดุดัน เข้มแข็ง โดยเฉพาะการสลักหินที่แสดงอารมณ์ผ่านดวงตา จะให้ความรู้สึกที่แข็งแกร่ง มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นรูปสลักเทพเจ้าหรือสัตว์ในตำนานต่างๆตามศาสนาฮินดู แต่เนื่องจากหินภูเขาไฟเหล่านี้มักไม่คงทน จึงกร่อน และเปราะ หัก ได้ง่าย อีกทั้งการเกิดภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง รูปสลักจึงพังทลายและชำรุดตลอดเวลา จึงต้องมีการทำขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ ดังนั้นชาวบาหลีจะมีการสอนศิลปะการแกะสลักหินให้กันคนรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้รักษาการสืบสารงานศิลปะดั้งเดิมไว้เสมอ
cr.flickr
cr.heebunediaries
น้ำ นอกจากจะก่อเกิดชีวิต และหล่อเลี้ยงมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้แล้ว ก็ยังแฝงไปด้วยความนัย ความเชื่อต่างๆอีกมากมาย และยังถูกจัดให้เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างมนุษย์และเหล่าทวยเทพในหลายๆศาสนา แม้กระทั่งในศาสนาพุทธเองก็ตาม
cr.photos.edu.pl
cr.actoftraveling