Art Nouveau Architecture
สถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโว
ลวดลายอ่อนช้อย เส้นสายที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ ความงดงามที่ประณีตราวกับไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ ทั้งหมดนี่เป็นคำจำกัดความของคำว่า ‘Art Nouveau’ หนึ่งในยุคสมัยของศิลปะที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้มนุษย์สามารถผลิตโลหะและกระจกขึ้นมาได้จนกลายเป็นวัสดุสำคัญของงานสถาปัตยกรรมยุคนี้นั่นเอง
เมื่อบวกกับสไตล์ Art Nouveau ทำให้งานสถาปัตยกรรมในยุคนั้นกลายเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจและอดไม่ได้ที่จะต้องยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกสักสองสามภาพแน่ๆ หากได้พบเห็นในสมัยนี้
และวันนี้เราจะแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จัก 5 สถาปัตยกรรมอาร์ตนูโว อยากจะลองทายกันดูสักหน่อยไหมคะว่าจะมีที่ไหนกันบ้าง?
ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก….
หากใครทายเสร็จแล้วก็เลื่อนลงไปข้างล่างดูกันเลยดีกว่าค่ะ ว่างานสถาปัตยกรรมทั้งห้ามีที่ไหนตรงกับที่ทุกท่านได้ทายเอาไว้ในใจรึเปล่า : )
(ตัวอย่างภาพงาน Art Nouveau ที่ทำมาจากเหล็กดัดและงานกระจก)
– Casa Batlló –
(Credit : en.wikipedia.org)
Location : Baecelona, Spain
Architect : Antoni Gaudí
หากจะพูดถึงงานสถาปัตยกรรมยุค Art Nouveau ก็คงต้องนึกถึง Casa Batlló ที่ออกแบบโดย Antoni Gaudí เป็นอันดับแรกๆ บ้านหลังนี้แต่เดิมเป็นบ้านของตระกูล Baltlló พ่อค้าผ้าผู้มั่งคั่งที่ได้เชิญมา Renovate จนกลายเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของโลกด้วยรูปร่างของอาคารที่เต็มไปด้วยส่วนโค้ง โครงสร้างที่ดูแล้วคล้ายกระดูก ส่วนหลังคาที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากมังกร และงานตกแต่งภายในล้วนเป็นส่วนที่ทำให้ผู้คนยอมต่อคิวยาวเหยียดเพื่อไปเข้าไปสัมผัสบรรยากาศความแฟนตาซีในโลกแห่งความเป็นจริงแห่งนี้
บริเวณ Facade ของอาคารตกแต่งด้วยกระเบื้องหลากสีที่ถูกทุบจนเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาฝั่งลงไปในผนังปูนจนเกิดเป็นลาย mosaic ที่วิจิตรงดงามราวกับงานศิลปะ ไปจนถึงหลังมังกรที่ไล่สีกระเบื้องขึ้นไปถึงส่วนบนสุดยามที่แสงตกกระทบดูแล้วเหมือนเกล็ดบนหลังมังกรที่มีชีวิตจริงเลยทีเดียว และเมื่อเข้ามาภายในตัวอาคารก็จะพบกับการตกแต่งที่น่าพิศวงยิ่งกว่า…
Cr. awesomestories
ภายในอาคารจะเน้นการตกแต่งที่เต็มไปด้วยส่วนโค้งเว้าหรือเลื้อยไหลชวนให้แปลกตา ทั้งประตูและบานหน้าต่างรูปทรงตกแต่งด้วยกระจกสีอย่างมีเอกลักษณ์ รวมไปถึง Noble Floor หรือชั้นที่มีฝ้าเพดานที่ดูราวกับผืนผ้าที่ถูกม้วนและมีโคมไฟหน้าตาแปลกตาอยู่ที่ใจกลางฝ้าเพดาน เป็นอีกหนึ่งจุดที่ทุกคนที่ไปถึงบาเซโลน่าควรไปเยี่ยมเยือน
– Vienna Secession –
Cr.th.wikipedia.org
Location : Vienna, Austria
Architect : Joseph Maria Olbrich
ศิลปะการประดับกระจกสีเริ่มรุ่งเรืองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 เริ่มมีโรงงานผลิตกระจกขึ้นตามแหล่งที่มีทรายแก้ว (Silica) ที่ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำกระจก ส่วนสีที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการเติม metallic oxide ขณะที่แก้วดินเหนียวยังเหลวอยู่ เรียกแก้วที่ทำด้วยวิธีนี้ว่า “แก้วเบ้าโลหะ” (pot metal)
‘Secessionist’ เป็นคำนิยามของสไตล์ Art Nouveau ที่แฝงไว้ด้วยกลิ่นอายเยอรมันที่มีความเคร่งขรึมและหนักแน่นอยู่ด้วย ทำให้อาคาร Vienna Secesion เป็นอาคารที่ผสมผสานกันระหว่างความอ่อนช้อยของ Art Nouveau เข้ากับความเรียบง่ายทว่าน่าเกรงขามของสไตล์เยอรมันได้อย่างลงตัว
(Credit : www.wien.info/en)
จุดเด่นของอาคารแห่งนี้คือโดมสีทองที่อยู่ด้านบน หากมองเข้าไปใกล้ๆ แล้วจะพบว่าตัวโดมทำจากเหล็กดัดเป็นทรงใบไม้และพ่นสีทองราว 3,000 ใบ นำมาประกอบเข้าด้วยกันจนเป็นโดมขนาดใหญ่ที่โดดเด่นเป็นสง่าอยู่เหนืออาคาร
นอกจากนี้บริเวณประตูทางเข้ายังมีรูปปั้นหน้าเมดูซ่าที่มีผมเป็นงูอยู่สามหัวอยู่ราวกับเป็นผู้เฝ้าคนที่จะผ่านเข้าประตู พื้นหลังของเมดูซ่าทั้งสามเป็นลวดลายเซาะร่องเป็นรูปดอกไม้ทาสีทองบนพื้นผิว ในขณะที่ส่วนที่ริมอาคารทั้งสองด้านก็ถูกทำให้เป็นร่องและลงสีดำเอาไว้ตามร่องแทนทำให้เกิดเป็นลวดลายสวยงามน่าประทับใจและบาลานซ์โทนสีของทั้งอาคารให้เกิดความลงตัว
– Castel Béranger –
(Credit : craftsdigger.com)
Location : Paris, France
Architect : Hector Guimard
Castel Béranger เป็นงานสถาปัตยกรรมแห่งแรกของ Hector Guimard สถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Hotel Tassel ของ Victor Horta (ซึ่งจะพูดถึงในไม่ช้านี้) จึงโน้มน้าวลูกค้าที่จ้างเขาให้ออกแบบ Apartment จำนวน 6 ชั้นจากสไตล์ดั้งเดิมให้เป็นสไตล์ Art Nouveau ซึ่งเมื่อโปรเจคนี้ถูกทำออกมาจนเสร็จก็ทำให้ Hector Guimard โด่งดังขึ้นมาในฐานะสถาปนิกแห่งยุค Art Nouveau นั่นเอง
โปรเจคนี้นอกจากส่วนประดับตกแต่งบนอาคารแล้ว ที่โดดเด่นที่สุดก็คงจะเป็นประตูทางเข้าที่ออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์ทั้งเส้นสาย ลวดลายและการใช้สี บริเวณเสาทั้งสองข้างตกแต่งให้เป็นเถาวัลย์เลื้อยจากทั้งด้านบนและด้านล่าง รายละเอียดงานปั้นถูกทำขึ้นมาอย่างประณีตให้เป็นสีเดียวกับเสาเพื่อดึงประตูเหล็กดัดที่อยู่ตรงกลางให้โดดเด่นขึ้นมามากกว่าเดิม
แต่ไม่ใช่แค่ข้างนอกเท่านั้น เมื่อมองผ่านช่องประตูเหล็กดัดบานสวยแปลกตาที่ควรค่าแก่การหยุดชมดูเข้าไปแล้ว ก็จะพบกับโถงทางเดินที่ตกแต่งได้งดงามอลังการไม่แพ้กัน
(Credit : craftsdigger.com)
ที่ด้านในนั้นจะใช้วัสดุตัวเดียวกับบริเวณประตูทางเข้าคือเหล็กดัดทาสีที่ดัดให้เลื้อยเป็นเส้นสายที่ดูอ่อนช้อยและสนุกสนานคล้ายดอกไม้ และใช้แผ่นโลหะสีทองแดงเป็นตัวช่วยให้บรรยากาศภายในดูสว่างขึ้นเมื่อสะท้อนแสงที่ลอดผ่านประตูรั้วเข้ามาจากภายนอก ผนังถูกปั้นขึ้นมาราวกับเป็นผลงานศิลปะที่ให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเพลิดเพลินในระยะทางการเดินสั้นๆ จากประตูรั้วเข้าไปถึงประตูของอาคารนั่นเอง
ไม่เพียงแค่งานภายนอกเท่านั้น Hector Guimard ยังออกแบบงานภายในให้เป็นสไตล์เดียวกันโดยทั้งราวบันได ประตูหน้าต่าง วอลเปเปอร์ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในบ้านเขาก็ดีไซน์ขึ้นมาอย่างพิถีพิถันทุกดีเทล ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยใช่ไหมล่ะค่ะว่าทำไมสถาปนิกผู้นี้ถึงกลายเป็นหนึ่งในนักออกแบบโด่งดังแห่งยุคขึ้นมาได้
– The Paris Metro Entrance (Edicule Porte Dauphine) –
Location : Paris, France
Architect : Hector Guimard
ความโด่งดังของ Hector Guimard ทำให้เขามีโอกาสได้ออกแบบทางเข้าออกสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่กำลังจะเริ่มใช้งานครั้งแรกของปารีส หรือ อาจรู้จักกันดีในชื่อ Metropolitain ที่กลายเป็นสถานที่อนุรักษ์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และจุดท่องเที่ยวสำคัญที่มีอยู่ในทุกเขตของปารีสมาจนถึงทุกวันนี้
งานดีไซน์ทางเข้าออกของ Hector Guimard จะเน้นการใช้เหล็กและกระจกซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นวัสดุที่ใหม่ที่ราคาไม่สูงเท่าการก่ออิฐเพราะโรงงานอุตสาหกรรมสามารถผลิตชิ้นส่วนที่หน้าตาเหมือนๆ กันได้อย่างรวดเร็วและประหยัดกว่าเพราะทำแม่พิมพ์แค่ครั้งเดียว และตัววัสดุก็ยังไม่เป็นที่นิยมกันในวงกว้างมากนัก ดังนั้น เมื่อบวกเข้ากับงานออกแบบที่เต็มไปด้วยดีเทลตามแบบฉบับของ Art Nouveau รวมถึงดีเทลเล็กๆ น้อยๆ อย่างฟ้อนต์ตัวอักษรที่ออกแบบมาโดยเฉพาะก็ทำให้ทางเข้าต่างๆ ในปารีสโดดเด่นและกลายเป็นจุดสนใจของชาวปารีส
น่าเสียดายที่เป็นเพราะเวลาผ่านมานาน ทั้งตัวทางเข้าออกยังตั้งอยู่กลางแดดกลางฝนกลางหิมะ ทำให้ทางเข้าออกส่วนหนึ่งเสียหายไปตามกาลเวลา แต่ส่วนที่เหลือนั้นปัจจุบันได้ถูกอนุรักษ์และบูรณะขึ้นมาใหม่เพื่อให้เอกลักษณ์ของปารีสเหล่านี้คงอยู่ต่อไปอีกนานแสนนาน
– Hotel Tassel –
(Credit : pixdaus.com)