เรือนไทยภาคเหนือ

เรือนไทย ถือเป็นหนึ่งในศิลปะวัฒนธรรมที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้เป็นอย่างดีเลย ซึ่งประเทศไทยมีภูมิภาคหลักๆ อยู่ทั้งหมด 4 ภาค และรูปแบบของเรือนไทยแต่ละภาคนั้นต่างแสดงถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นนั้นๆ แตกต่างกันออกไป โดยในบทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเรือนไทยทางภาคเหนือกันก่อน…
บ้านเรือนไทยภาคเหนือ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บ้านสไตล์ล้านนา (เนื่องจากส่วนหนึ่งของทางภาคเหนือเคยเป็นของล้านนามาก่อน) ด้วยลักษณะทางภูมิภาคและภูมิอากาศในภาคเหนือที่เต็มไปด้วยภูเขาและมีอากาศที่ค่อนข้างเย็น ทำให้บ้านเรือนไทยในภาคเหนือมีรูปแบบที่เรียบง่าย ออกแบบมิดชิด พร้อมผสมผสานความเชื่อและวัฒนธรรมของท้องถิ่นเข้าไป โดยมักทำขึ้นมาจากวัสดุที่หามาได้จากในท้องถิ่นเป็นหลัก
บ้านเรือนไทยทางภาคเหนือนิยมสร้างเป็นเรือนแบบแฝด ซึ่งมีหลังคาที่เตี้ยและเป็นบ้านเรือนที่ปิดมิดชิด หน้าต่างน้อย โดยบ้านแฝดจะใช้พื้นที่เดียวกันแต่ออกแบบหลังคาหน้าจั่วแยกกัน และมักจะสร้างหลังหนึ่งใหญ่กว่า หลังหนึ่งเล็กกว่าเสมอ
บ้านเรือนไทยภาคเหนือ จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ เรือนไทยดั้งเดิมและเรือนพื้นบ้าน
Credit : art-culture .cmu.ac.th
เรือนไทยดั้งเดิม หรือ เรือนกาแล เป็นเรือนที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น ก่อสร้างด้วยความประณีต มีรูปแบบแบบแผนที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นเรือนที่ใช้สำหรับผู้มีฐานะทางสังคม หรือระดับผู้นำชุมชน หัวหน้า เป็นต้น จุดเด่น คือ มีการประดับ “กาแล” หรือไม้ที่ถูกแกะสลักไว้อย่างประณีตสวยงามไว้บนยอดจั่วหลังคา ลักษณะคล้ายกากบาทและตัว V ในภาษาอังกฤษ ซึ่งนอกจากประดับไว้ให้สวยงามแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อของชาวล้านนาโบราณเกี่ยวกับเรื่องของโชคลางและใช้สำหรับไล่กาอีกด้วย
Credit : art-culture .cmu.ac.th
เรือนกาแลส่วนใหญ่จะเป็นเรือนไม้เนื้อแข็ง เพื่อความทนทาน เป็นเรือนแฝด ยกใต้ถุนสูง แต่ไม่มากนักและมักสร้างให้ชายคาคลุมเรือน และมีหน้าต่างน้อย เพื่อช่วยป้องกันลมในช่วงหน้าหนาว รวมไปถึงมี “ฝาไหล” ซึ่งเป็นฝาไม้กระดานที่จะช่วยเปิด ปิด ในการรับลมเข้ามาภายในตัวบ้านได้ นอกจากนี้ยังแยกส่วนของครัวออกเป็นพื้นที่ชัดเจน และมีพื้นที่สำหรับนั่งเล่นและใช้งานอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่ง โดยมักจะออกแบบไว้บริเวณระหว่างห้องและนอกชาน บริเวณประตูห้องมักติด “หัมยนต์” ซึ่งเป็นไม้แผ่นเดียวและได้ทำการแกะสลัก ไว้สำหรับป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าไปภายในห้องนอน เป็นต้น
Credit : art-culture .cmu.ac.th
เรือนไทยพื้นบ้าน เป็นบ้านเรือนของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งจะมี 2 รูปแบบด้วยกัน คือ เรือนชั่วคราว และ เรือนถาวร
Credit : art-culture .cmu.ac.th
เรือนชั่วคราว หรือ เรือนเครื่องผูก ปัจจุบันหาได้ยากแล้ว เนื่องจากเป็นเรือนที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่และใช้การยึดโดยการฝังเดือยหรือการผูกด้วยตอกหรือหวายเอา ซึ่งต้องใช้ความชำนาญและระยะเวลาในการทำที่ยาวนานมาก
เรือนเครื่องผูกนี้ สำหรับใช้เป็นเรือนชั่วคราว ระหว่างรอบ้านถาวรโดยทั่วไปมักทำขึ้นมาจากไม้ไผ่ ทั้งตัวเสา พื้น และฝา และทำการยึดโครงสร้างจากการเจาะรูฝังเดือย หรือผู้ด้วยตอกและหวายให้แน่น ส่วนของหลังคาก็จะมุงด้วยใบตองหรือหญ้าคา
Credit : li-zenn .com
เรือนถาวร หรือ เรือนไม้จริง สำหรับใช้เป็นเรือนอาศัยแบบถาวรของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งพัฒนามาจากเรือนชั่วคราว ลักษณะของเรือนจริงมีความคงทน แข็งแรง และสามารถใช้งานได้นาน
ลักษณะโดยทั่วไปของเรือนไม้จริง จะเป็นบ้านยกใต้ถุนสูง ประมาณ 1.5-2 เมตร ซึ่งด้านล่างใต้ถุนสามารถใช้เป็นที่เก็บอุปกรณ์ทางการเกษตรได้ นิยมสร้างด้วยไม้เบญจพรรณ หลังคาเป็นแบบทรงจั่ว โดยตัวหลังคาจะมุงด้วยไม้ผสมกับการใช้กระเบื้องดินเผา หรือบางหลังอาจมุงด้วยใบตองหรือไม้ไผ่ เป็นต้น บันไดจะมีกันสาดคลุม และฝาผนังบ้านจะทำจากไม้จริงที่นำมาตีแบบแนวนอนบ้าง หรือไม้สานลายต่างๆ ที่ทำจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นต้น
สำหรับ เรือนไทย ไม้จริง จะประกอบไปด้วย
ห้องนอน ซึ่งมักจะออกแบบให้อยู่ภายในสุดของบ้าน และมีระเบียงซึ่งจะอยู่ส่วนหน้าของห้องนอน โดยส่วนนี้มักจะเป็นพื้นที่กึ่งเปิดโล่ง ใช้สำหรับเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ทั้งนั่งเล่น รับแขก พักผ่อน เป็นต้น
ชานบ้าน เป็นที่เปิดโล่ง มักอยู่บริเวณด้านหน้าของบ้าน หรือบางบ้านอาจไม่มีส่วนนี้ก็ได้ ในขณะที่บริเวณครัวจะวางไว้อยู่ด้านหลังสุดของบ้าน กั้นด้วยฝา มีช่องระบายควันไฟ และบริเวณตั้งเตาทำขึ้นมาโดยการยกขอบใส่ดินให้เป็นที่วางเตา เพื่อให้ใช้งานเตาได้อย่างสะดวกมากขึ้น ตรงบันไดจะอยู่ด้านหน้าติดกับชานบ้าน ด้านล่างมีที่วางตุ่มน้ำไว้ตักล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน และมีร้านน้ำสำหรับวางตุ่มไว้สำหรับดื่ม เป็นต้น
เรือนไทยภาคเหนือโบราณอาจหาชมได้ไม่ง่ายแล้ว แต่ก็ยังมีหลายๆ ที่ ที่ตั้งใจเก็บรูปแบบความเป็นไทยไว้ อย่างเช่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมขึ้น และรักษาเรือนไทยภาคเหนือแบบดั้งเดิมไว้ให้คนรุ่นหลังๆ ได้ชมกัน เช่น….

เฮือนอุ้ยแก้ว

Credit : art-culture .cmu.ac.th
เฮือนอุ้ยแก้ว เป็นบ้านทรงล้านนา ซึ่งโครงสร้างและรูปแบบการใช้งานของบ้านสืบทอดมาจากบ้านล้านนาดั้งเดิม ถูกสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยลักษณะส่วนใหญ่จะทำจากไม้เนื้อแข็ง มีจั่วแฝดมีรางน้ำหรือฮ่อมรินเชื่อมปลายหลังคาระหว่างจั่วทั้งสอง หน้าบ้านและหลังบ้านเชื่อมต่อกันด้วยเฉลียง
เฮือนอุ้ยแก้วมีขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 10 เมตร ยกสูงจากพื้นเพียง 1 เมตร โครงสร้างหลักๆประกอบด้วยเสาและคานรับน้ำหนัก และผนังเลื่อนถูกนำมาใช้ในหลายแห่งเพื่อช่วยระบายอากาศ
เฮือนอุ้ยแก้วสร้างขึ้นนอกคูเมืองเชียงใหม่ เคยเป็นของอุ้ยแก้ว (ยายแก้ว) และอุ้ยอิน (ยายอิน) ก่อนที่อาจารย์วิถี พานิชพันธุ์ จะซื้อบ้านหลังนี้ (โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Kyoto Seika University ประเทศญี่ปุ่นได้) และในปี พ.ศ. 2540 เฮือนอุ้ยแก้วก็ถูกรื้อและถูกนำไปสร้างใหม่ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดแสดงวิถีชีวิตแบบไทยเดิมให้คนรุ่นหลังได้ชม
ก่อนที่จะถูกทุบทิ้งในปี พ.ศ. 2530 และอุ้ยอิน (ยายอิน) จะย้ายไปอยู่บ้านใหม่ แต่อุ้ยแก้วเลือกที่จะอยู่ในบ้านต่อไปตราบจนสิ้นอายุขัย และบ้านหลังนี้จึงถูกรื้อและสร้างขึ้นใหม่ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2540

เรือนพญาวงศ์

Credit : chiangmaipress .com
เรือนพญาวงศ์เป็นเรือนที่มีลักษณะเป็นเรือนแฝด โดยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ “กาแล” ตามวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวเหนือ ตรงส่วนยอดของปั้นลมที่ไขว้กัน มีการแกะสลักอย่างงดงามเป็นลายกนก รูปทรงหลังคาเรือนมีความเป็นปริมาตรสูง การยกพื้นเรือนสูงช่วยทำให้เรือนดูโปร่งเบาลอยตัวมีสัดส่วนที่สวยงาม พร้อมเทคนิคการประกอบเรือนที่เรียบร้อยลงตัว ทำให้เกิดความงามที่สัมพันธ์กันระหว่างพื้นที่ว่างทั้งภายในและภายนอก
“พญาวงศ์” เป็นเจ้าของเรือน เป็นนายกำนันหรือสมัยก่อนเรียกันว่านายแคว่น อยู่ในหมู่บ้านสบทา ต.ปากบ่อง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เฮือนพญาวงศ์เป็นเรือนไม้สักขนาดใหญ่ที่ใช้การเข้าลิ่มตอกสลักอย่างดี แทบไม่ปรากฏรอยตะปู สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2440 โดยลูกเขยของพญาวงศ์ ที่ชื่อว่า “พญาอุด” ซึ่งในตอนนั้นเป็นนายแคว่นอยู่ที่บ้านริมปิง
เมื่อไม่มีใครอาศัยอยู่ในเรือนพญาวงศ์แล้ว ทางท่านพระครูเวฬุวันพิทักษ์ (เขื่อนคำ อตตสนโต) เจ้าอาวาสพระพุทธบาทตากผ้า เจ้าคณะ อ.ป่าซาง และเจ้าอาวาสวัดสุวรรณวิหาร บ้านแม่อาว จ.ลำพูน ได้ทำการขอซื้อต่อ เพื่อนำไปสร้างไว้ที่วัด ต่อมานายแฮรี่ วอง ชาวสิงคโปร์ ได้ซื้อไว้และภายหลังเสียชีวิตลง ทางมูลนิธิ ดร.วินิจ – คุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค จึงได้มอบเรือนหลังนี้และให้การสนับสนุนการรื้อถอนและย้ายมาปลูกไว้ ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2541
ยังมีเรือนไทยภาคเหนือหลายแบบที่ถูกรักษาสภาพดั้งเดิมไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชม ใครที่สนใจลองหาชมกันได้ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และพิพิธภัณฑ์โบราณล้านนา เป็นต้น รับรองว่าความงามแบบไทยๆ มีเอกลักษณ์และไม่แพ้ชาติใดในโลกแน่นอนค่ะ
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
art-culture .cmu.ac.th
chiangmaipress .com
khummuseum-vr .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO