Modular Architecture
สถาปัตยกรรม โมดูลาร์
Modular ระบบที่เข้ามาเป็นตัวช่วยในงานออกแบบสิ่งปลูกสร้าง ให้มีความสะดวกในการก่อสร้าง อีกทั้งยังช่วยลดทอนระยะเวลาในการก่อสร้างได้ดีขึ้น หลายท่านอาจจะเคยเห็นการนำระบบแบบ Modular มาออกแบบในส่วนของเฟอร์นิเจอร์กันมาบ้าง นักออกแบบและวิศวกรจึงนำเอาระบบ Modular มาใช้ควบคู่ไปกับการออกแบบสถาปัตยกรรม จนเกิดเป็น Modular Architecture ที่ไม่ใช่แค่เพียงของชิ้นเล็ก แต่แม้แต่โครงสร้างต่างๆ ก็สามารถแยกชิ้นส่วนเพื่อประกอบเป็นรูปแบบต่างๆได้อีกด้วย
|| Penda’s : Thousand Yards Pavilion ||
Cr. goooon.cn
Thousand Yards Pavilion ถูกออกแบบขึ้นเพื่องานจัดแสดงพืชสวนโลก ที่เกิดขึ้นในปี 2019 จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยการออกแบบมีลักษณะเป็นซุ้มศาลาพฤกษศาสตร์ที่ใช้พื้นที่จัดแสดงกว่า 30,000 ตารางเมตร และใช้ชื่อว่า “A thousand yards” ออกแบบโดยบริษัทสถาปัตยกรรม Penda China ซึ่งมีหลักการออกแบบที่เลือกเอาระบบ Modular มาใช้เป็นส่วนสำคัญ นั่นคือการนำเอาบล็อกศาลาที่แยกส่วนได้มาทำการประกอบต่อๆกัน โดยแต่ละบล็อกเชื่อมต่อกันได้ทุกมุม รวมไปถึงมีพื้นที่ภายในที่ต่อเนื่อง และยังเชื่อมโยงกันบนหลังคาอีกด้วย
Cr. goooon.cn
กระบวนการคิดในการออกแบบ Thousand Yards Pavilion นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากกฎ “การวางผังเมืองในเมืองจีนโบราณ” โดยดีไซเนอร์ใช้หลักการของรูปแบบเมืองในอดีตที่มีการวางแนวเส้นแบ่งเขตของแต่ละเมือง เพื่อนำมาใช้ในรูปแบบของศาลา และพัฒนาระบบโมดูลาร์ที่มีขนาด 8×8 เมตรที่สามารถต่อและประกอบกันได้อย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นการวางแบบแผนที่น่าทึ่งมาก มากไปกว่านั้นคือฟังก์ชันของระบบโมดูลาร์นี้ยังมีความยืดหยุ่น หากต้องการพัฒนาการออกแบบในอนาคตก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกด้วยเช่นกัน
|| Penda’s : Tel Aviv Arcades ||
Cr. aasarchitecture
Tel Aviv Arcades อพาทเม้นต์ความสูง18 ชั้น ที่ถูกออกแบบโดยบริษัท Penda China ในเมืองเทลอาวีฟ (Tel Aviv) ในประเทศอิสราเอล โดยมีอาคารที่ทำจากซุ้มประตูและระเบียงแบบแยกส่วนออกจากโครงสร้างหลัก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมสถาปัตยกรรมแบบ Bauhaus ที่เป็นมรดกตกทอดของเมืองเทลอาวีฟ เมืองแห่งนี้จะมีอาคารสไตล์ Bauhaus (Bauhaus Style) จำนวนมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังเลือกใช้หลักการออกแบบด้วยระบบโมดูลาร์นี้ยังช่วยให้ต้นทุนในการก่อสร้างและการผลิตชิ้นส่วนต่างๆลดลง และมีข้อดีในอนาคต คือสามารถนำชิ้นส่วนสำเร็จรูปและโครงสร้างต่างๆแยกตัวออกมาได้ จึงทำให้ง่ายต่อการบำรุงรักษาในระยะยาว
Cr. aasarchitecture
ความโดดเด่นของตัวอาคารอยู่ที่ระเบียงที่ออกแบบให้มีรูปแบบที่ลดหลั่นสลับกันไป เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีระเบียงและสวนขนาดเล็กที่มีแสงแดดส่องถึง มีความเป็นส่วนตัวและเงียบสงบ นอกจากนี้ระเบียงเหล่านี้ ยังใช้เป็นอุปกรณ์บังแดดที่บังแสงแดดโดยตรงและทำให้การตกแต่งภายในเย็นลงด้วยวิธีที่เป็นธรรมชาติอีกด้วย
|| BIG’s Oceanix City ||
Cr. dezeen
Oceanix City ได้รับการออกแบบโดยบริษัทสถาปัตยกรรม BIG โดยออกแบบตามแนวคิดที่ว่า “เมืองที่สามารถรองรับประชากร 10,000 คน และลอยอยู่บนน้ำ” ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือประชากรที่ถูกคุกคามจากเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้ ด้วยแนวความคิดนี้ทางดีไซน์เนอร์และสถาปนิกจึงออกแบบรูปแบบของ Oceanix City ที่ประกอบด้วยเกาะที่รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มๆ 6 กลุ่ม เพื่อสร้างพื้นที่ของที่พักอาศัย จากนั้นกลุ่มเหล่านี้จะถูกทำซ้ำทวีคูณขึ้นไปอีกหกครั้ง เพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยขนาด 12 เฮกตาร์สำหรับผู้อยู่อาศัย 1,650 คน และทำต่อแบบนี้อีกครั้งเพื่อสามารถรองรับประชากรขนาด 10,000 คน !!
Cr. dezeen
Oceanix City มีจุดมุ่งหมายเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมนอกชายฝั่งนั้นสามารถอยู่อาศัยได้ ในกรณีที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ 90 เปอร์เซ็นต์ของเมืองชายฝั่งทั่วโลกภายในปี 2593 โดยพื้นที่ทั้งหมดของ Oceanix City จะถูกสร้างขึ้นแผ่นดินใหญ่ ก่อนทำการลากลงทะเล ซึ่งจะถูกยึดเข้ากับหมู่เกาะขนาดเล็กตามที่ต่างๆ การจัดเตรียมจะมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายไปยังเมืองต่างๆได้ หากระดับน้ำมีการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
|| IAMZ’s World of Chlorophyll ||
Cr. archdaily
World of Chlorophyll เป็นโครงการของบริษัทออกแบบอย่าง IAMZ Design Studio ตามแนวคิดสำหรับตึกระฟ้าที่มีรูปแบบของที่พักอาศัยในอนาคตที่จะมาถึงอันใกล้นี้ ที่ตั้งอยู่ในกรุง New York แนวคิดหลักของการออกแบบเกี่ยวข้องกับระบบ Modular ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบโครงสร้างเกือบทั้งอาคาร รูปแบบ Modular ได้แรงบัลดาลใจมาจากรูปแบบของใบไม้ และมีโครงสร้างที่เลียนแบบมาจากธรรมชาติ ทั้งในส่วนของระบบถ่ายเทอากาศ รวมไปถึงการทะลุผ่านของแสงแดด
Cr. archdaily