Palladian หรือ สไตล์ปัลลาดิโอ เป็นหนึ่งในสามรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของยุค Neoclassic โดยสไตล์ Neoclassic นี้กลับมามีบทบาทอีกครั้งช่วงศตวรรษที่ 17 จากนั้นก็เริ่มแพร่หลายเป็นที่นิยมช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ในประเทศแถบยุโรปโดยเฉพาะประเทศอิตาลี ฝรั่งเศสและอังกฤษ ไปจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ที่สไตล์นี้เดินทางไปถึงทวีปอเมริกาเหนือ
สไตล์ Neoclassic ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานออกแบบและสถาปัตยกรรมกรีกโรมัน จะแบ่งออกเป็น 3 สไตล์ย่อย ได้แก่ Classical block style, Temple Style และ Palladian Style โดยมีรายละเอียดของงานแต่ละสไตล์ดังต่อไปนี้
Credit : Caleb Maxwell on Unsplash
Classic Block Style หรือรู้จักกันในนาม Beaux-Arts style (สไตล์โบซาร์) ถูกพัฒนาโดย École des Beaux-Arts (เอกอล เด โบซาร์) หรือโรงเรียนสอนศิลปะวิจิตรศิลป์ในประเทศฝรั่งเศส โดยเอกลักษณ์ของสไตล์นี้ คือ การยกพื้นชั้นล่างให้สูงขึ้นมาเพื่อสร้างบันไดโอ่อ่าขึ้นไปยังตัวอาคาร วัสดุที่ใช้เน้นการใช้หินเป็นหลัก ให้ความสำคัญกับการออกแบบที่เป็นสมมาตร เน้นการเสาและหน้าจั่ว รวมไปถึงการใช้รูปปั้นต่างๆ มาตกแต่งสถานที่ เช่น The Palais Garnier (Opéra National de Paris) หนึ่งในโรงละครแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่ ณ กรุงปารีส
Credit : Bastien Nvs on Unsplash
Temple Style เป็นสไตล์ของงานที่สร้างขึ้นมาเลียนแบบงานสถาปัตยกรรมโบราณของกรีกโรมัน โดยมีการออกแบบแต่งเติมเสริมจินตนาการของนักออกแบบแต่ละท่านเข้าไปในแต่ละงาน เนื่องจากซากโบราณสถานที่หลงเหลือมาจากยุคกรีกโรมัน พอมาถึงยุคนี้ก็ไม่สมบูรณ์ทั้งหมด แต่เอกลักษณ์สำคัญของสไตล์นี้คือการวางเสาต่อเนื่องเป็นจังหวะเท่าๆ กัน ล้อมตัวอาคารหรือลานในอาคาร เรียกว่า Peristyle, การสร้างให้อาคารใหญ่ Over-scale มากๆ และงานออกแบบที่เน้นการใช้รูปทรงเรขาคณิต เช่น มหาวิหาร Panthéon ที่ตั้งอยู่ในปรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
Credit : commons.wikimedia
งานออกแบบสไตล์ปัลลาดิโอทั้งหมดนั้น จะเป็นงานออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจหรือนำลักษณะงานออกแบบมาจาก แอนเดรีย ปัลลาดิโอ (Andrea Palladio) ซึ่งเป็นสถาปนิกชาวอิตาลีที่อาศัยอยู่ในกรุงเวนิส (Venice) โดยเอกลักษณ์ของงานออกแบบสไตล์นี้ก็คือ ความสมมาตร, สัดส่วนของอาคารที่ดูลงตัว, มีกลิ่นอายของงานสถาปัตยกรรมโบราณของกรีกโรมัน ผสานเข้ากับแนวคิดของสไตล์ของยุค Mannerism รวมทั้งการใช้หน้าต่าง Palladian Window, โครงสร้างที่ดูเพรียวบาง และการใช้รูปปั้นต่างๆ มาตกแต่งในปริมาณที่เหมาะสม อาทิเช่น Villa Rotonda ที่ตั้งอยู่ในกรุงเวนิส ประเทศอิตาลี
หน้าต่างสไตล์ปัลลาดิโอ เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่ก่อนกำเนิดสไตล์ปัลลาดิโอ แต่แอนเดรีย ปัลลาดิโอเป็นผู้หยิบมาใช้งานงานออกแบบและทำให้กลายเป็นที่นิยม โดยเอกลักษณ์ของหน้าต่างแบบนี้ คือ การมีหน้าต่างสามบานติดกัน โดยหน้าต่างบานกลางจะมีขนาดใหญ่ที่สุดและมีจั่วหรือโค้งอยู่ด้านบน มีกรอบหน้าต่างเป็นเสาสไตล์คลาสสิก (pilasters) และในกรุงเวนิส หน้าต่างแบบนี้จะถูกเรียกว่า Venetian Window
ที่บอกว่าได้รับแรงบัลดาลใจนั้นเป็นเพราะว่าในช่วงปีที่ แอนเดรีย ปัลลาดิโอ มีชีวิตอยู่นั้น (ค.ศ.1508 – 1580) สไตล์ของเขายังไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก เนื่องเป็นยุคที่สถาปัตยกรรมแบบเรเนซองค์ (Renaissance) ถือกำเนิดและเป็นที่นิยมถึงขีดสุด (ต้นศตวรรษที่ 14 – ปลายศตวรรษที่ 16) และกว่าสไตล์ปัลลาดิโอจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นต้นแบบงานออกแบบและเผยแพร่ไปทั่วทั้งยุโรป (โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ) นั้นก็เป็นช่วงต้นๆ ของศตวรรษที่ 17 แล้วนั่นเอง โดยอ้างอิงสไตล์การออกแบบมาจากหนังสือ “The Four Books of Architecture” หรือ I Quattro Libri dell’Architettura’ ที่เขียนโดยปัลลาดิโอและตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1570
Credit : historichouses .org
อินดิโก โจนส์ (Indigo Jones; ค.ศ.1573 -1652) เป็นสถาปนิกชาวอังกฤษที่ได้เดินทางมายังประเทศอิตาลีในช่วง ค.ศ.1606 และประทับใจงานออกแบบสไตล์ปัลลาดิโอมาก จึงได้ทำการศึกษาจากหนังสือ “The Four Books of Architecture” และนำสถาปัตยกรรมสไตล์นี้กลับไปที่ประเทศอังกฤษ ใช้เป็นสไตล์ในการออกแบบคฤหาสน์พักอาศัยของ พระราชินีแอนแห่งเดนมาร์ก (Queen Anne of Denmark) ในรัชสมัยของพระราชาเจมส์ที่ 1 (King James I) ทำให้สไตล์ปัลลาดิโอเป็นที่รู้จักให้คนรุ่นหลังในประเทศอังกฤษได้เรียนรู้และศึกษาต่อไปในฐานะอาคารสไตล์ Classic หลังแรกในประเทศอังกฤษ
สถาปนิกชาวสก็อตแลนด์ โรเบิร์ต อดัม (Robert Adam; ค.ศ.1727 -1792) ถูกขนานนามว่าเป็นผู้ที่นำเอาสไตล์ปัลลาดิโอมาตีความและออกแบบได้ดีและมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด และทำให้เกิดสถาปัตยกรรมแนวปัลลาดิโอมากมายในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เช่น Kedleston Hall จนภายหลังถูกพัฒนาผสมผสานกับสไตล์งานออกแบบเฉพาะตัวของเขา และถูกเรียกว่า Adam Style
Credit : chiswickhouseandgardens .org.uk
นอกจากนี้ยังมีงานสถาปัยกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจและได้รับแรงบันดาลใจจากสไตล์ Palladio อีก เช่น Chiswick House ที่เป็นสไตล์ neo-palladian หรือสไตล์ปัลลาดิโอประยุกต์ ออกแบบโดย ริชาร์ด บอยล์ (Richard Boyle) สถาปนิกเจ้าของคฤหาสน์ ผู้เป็นท่านเอิร์ลรุ่นที่ 3 แห่ง Burlington ร่วมกับ วิลเลียม เคนท์ (William Kent) ผู้เป็นทั้งนักออกแบบ, ศิลปิน และผู้ออกแบบสวนให้กับคฤหาสน์แห่งนี้