เจ้าที่ตี่จู่เอี๊ยะ
กับงานออกแบบตกแต่งภายใน
เจ้าที่ของชาวจีน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ตี่จู่เอี๊ยะ [แป๊ะกง / Tudigong / 土地公] เป็นตัวแทนของเทพเจ้าที่สถิตอยู่ ณ ที่ดินผืนนั้น ๆ ซึ่งชาวจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพบูชา เพื่อปกป้องให้ผู้อยู่อาศัยปลอดภัยจากสิ่งไม่ดี และขอให้สิ่งดี ๆ รวมถึงเงินทองไหลมาเทมาอีกด้วย
Cr. Readthecloud
การกราบไหว้และสักการะตี่จู่เอี๊ยะนั้นสามารถทำได้โดยการเปลี่ยนน้ำชา น้ำเปล่า และผลไม้ในทุกเช้า พร้อมจุดธูป 7ดอก ปักที่กระถางธูปหน้าตี่จู่เอี๊ยะ 5ดอก และหน้าประตูทางออกบ้านซ้าย – ขาว ด้านละ 1ดอก และทุก ๆ วันชิวอิก (วันที่ 1 ของเดือนตามปฏิทินจีน) และวันจับโหงว (วันที่ 15 ของเดือนตามปฏิทินจีน) จะทำการเพิ่มขนม และผลไม้ในการไหว้ในวันนั้น ๆ อีกด้วย
ในช่วงวันตรุษจีนการไหวตี่จู่เอี๊ยะจะทำการไหว้ในวันชิวหยี่สี่ (วันที่ 24 ของเดือน 12 ตามปฏิทินจีน) เพื่อส่งเทพเจ้าประจำที่ดินของเราขึ้นสู่สวรรค์ เพื่อนำเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปีนั้น ๆ ไปรายงานแด่เง็กเซียนฮ่องเต้ ตามความเชื่อของชาวจีน และจะทำการไว้ตี่จู่เอี๊ยะอีกครั้งในวันชิวสี่ (วันที่ 4 ของเดือน 1 ตามปฏิทินจีน) เพื่อเป็นการอัญเชิญเทพเจ้าประจำที่ดินของเรากลับลงมาดูแลบ้านของเราดังเดิม
ตำนาน ตี่จู่เอี๊ยะ
Cr. k.sina.cn
โดยตี่จู่เอี๊ยะมีประวัติ และความเชื่อมาอย่างช้านาน ว่ากันว่าเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3000 ปีก่อนในรัชสมัยแห่งราชวงศ์จิว มีคนรับใช้นามว่า เตีย เม่ง เต็ก ซึ่งเกิดในชนชั้นที่ค่อนข้างยากจน จึงต้องมาเป็นข้ารับใช้ให้กับขุนนางสกุลหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งขุนนางผู้เป็นเจ้านายของ เตีย เม่ง เต็ก ต้องเข้าไปรับราชในเมืองหลวง จึงได้เก็บข้าวของและออกเดินทางล่วงหน้าไปพร้อมกับภรรยาของตน ด้วยเตีย เม่ง เต็ก เป็นข้ารับใช้ผู้ซื่อสัตย์จึงฝากฝังให้เตีย เม่ง เต็ก ดูแลบุตรสาวของตน และให้นำตัวบุตรสาวเดินทางตามตนมายังเมืองหลวง
เตีย เม่ง เต็ก จึงพาตัวบุตรสาวของขุนนางผู้เป็นนายของตนไปส่งยังเมืองหลวง ด้วยความเป็นข้ารับใช้ที่ดีจึงไม่อยากให้บุตรสาวของขุนนางผู้เป็นนายของตนต้องลำบาก จึงทำการแบกบุตรสาวของเจ้านายขึ้นหลัง และใช้มือทั้งสองข้างแบกสัมภาระต่าง ๆ ระหว่างการเดินทางเกิดมีพายุหิมะ เตีย เม่ง เต็ก จึงยกเสื้อผ้าของตนให้แก่ลูกสาวของขุนนางเพื่อให้บรรเทาความหนาวเย็นของพายุหิมะ แต่ระหว่างเดินทาง เตีย เม่ง เต็ก ก็เสียชีวิตลงเพราะความหนาวเหน็บ ในขณะที่เสียชีวิตนั้นเองท้องฟ้าก็ปรากฏตัวหนังสือขึ้น 8ตัว เป็นคำว่า “น่ำ เทียน มึ้ง ไต้ เซียน ฮก เต็ก ซิ้ง” แปลความได้ว่า “ประตูสวรรค์ทางใต้ของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ฮกเต็ก”
หลังจากที่บุตรสาวของขุนนางเดินทางถึงเมืองหลวงก็สำนึกในบุญคุณของ เตีย เม่ง เต็ก จึงได้เดินทางย้อนกลับมาเพื่อสร้างศาลเจ้าให้แก่เตีย เม่ง เต็ก โดยใช้ชื่อว่า “ศาลเจ้าฮกเต็ก” หนังจากนั้นมีฮ่องแต้พระองค์หนึ่งเสร็จประพาสผ่านไปยังศาลเจ้าฮกเต็ก ทรงเข้าสักการะแล้วเกิดความประทับใจเป็นอย่างมาก ทรงมีราชองค์การโปรดเกล้าแต่งตั้งชื่อใหม่ให้แก่ศาลเจ้าฮกเต็ก โดยมีนามใหม่ว่า “ถู่ที้กง” ซึ่งมีความหมายว่าเทพเจ้าแห่งพื้นดินทั้งหลาย ทำให้ชาวบ้านต่างพากันมากราบไว้สักการะเพื่อขอให้คุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย จึงทำให้เกิดเป็นประเพณีขึ้นมาว่าในบ้านเรือนที่เราพักอยู่อาศัยนั้น หรือห้างร้านที่เราทำการค้าขาย จำต้องมีรูปเจ้าที่ไว้ในที่อยู่อาศัย หรือที่ทำการค้าขาย เพื่อความเป็นอยู่เย็นเป็นสุข การค้าขายที่เจริญรุ่งเรือง และครอบครัวที่อยู่อย่างสงบสุขสันตินั่นเอง
รูปแบบของเจ้าที่ตี่จู่เอี๊ยะ
ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ารูปแบบของตี่จู่เอี๊ยะ มีทั้งที่ทำจากไม้ หินอ่อน หรือแม้กระทั่งพลาสติก ซึ่งจะทำจากวัสดุใดก็ได้แต่มีเงื่อนไขว่า ตี่จู่เอี๊ยะจะต้องสัมผัสกับพื้นดิน ด้วยความที่ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งพื้นดินนั่นเอง
สัดส่วนของเจ้าที่ตี่จู่เอี๊ยะ
Cr. Readthecloud