Clock in Art
ศิลปะกับกาลเวลา
‘งานศิลปะ’ คือสิ่งที่สร้างสรรค์ออกมาจากจินตนาการของศิลปิน ที่ต้องการจะสื่อสารข้อความบางอย่างออกมา ไม่ว่าจะเป็นการอุปมาซ่อนความหมายโดยนัยย์ หรือจะเป็นการสื่ออารมณ์ ณ ขณะนั้นของศิลปินออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ ผ่านภาพทั้งภาพหรืออาจเป็นองค์ประกอบสำคัญเพียงอย่างเดียวในภาพ
หนึ่งในองค์ประกอบที่มักจะถูกหยิบมาใช้ในสื่อสารก็คือ ‘นาฬิกา’ หรือเครื่องมือบอกเวลาที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี และ ก็มีหลายผลงานที่สามารถสื่อความหมายออกมาได้ดีจนกลายเป็นผลงานชื่อดังที่ถูกกล่าวขาน ซึ่งในวันนี้เราจะพาทุกท่านไปชมส่วนหนึ่งของผลงานเหล่านั้นกันค่ะ
The Persistence of Memories
Credit : MoMA
Artist : Salvador Dalí
Location : MoMA, New York, USA
ในปี 1931 ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) ศิลปินชาวสเปนได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา โดยเรียกได้เป็นเป็นผลงานลำดับต้นๆ และผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขา โดยงานศิลปะชิ้นนี้ถูกวาดขึ้นในยุคศิลปะแบบ Surrealism ที่เน้นเอาความเป็นจริงมาผสมกับจินตนาการและแฝงไปด้วยความหมายที่เสียดสี
ว่ากันว่าแรกเริ่มเดิมทีแรงบันดาลใจของภาพนี้มาจากที่คุณดาลีไปเห็นเนยที่กำลังต้องแสงแดดจนค่อยๆ ละลาย จากนั้นจึงนำมาตีความต่อโดยนำมาผสมผสานเข้ากับ ‘เวลา’ โดยมีนาฬิกาเป็นสื่อตัวแทน ซึ่งเดิมทีเวลาเป็นสิ่งที่จะเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุดหรือถอยหลังกลับ ตัวเรือนนาฬิกาในยุคนั้นมักทำจากเหล็กซึ่งจะแข็งแรงมาก แต่ดาลีกลับเอานาฬิกาเหล่านั้นมาทำให้อ่อนยวบ เพื่อแสดงแนวคิดที่แหวกจากความเป็นจริงของตน
ดาลีบอกว่าภาพวาดของเขาไม่มีความหมายลึกซึ้งอื่นนอกจากนี้ เป็นเพียงแค่เนยแข็ง Camembert ที่โดนแสงและค่อยๆ ละลายเมื่อเวลาผ่านไปก็ตาม แต่ภายหลังกลับมีนักวิเคราะห์มากมายนำผลงานของมาตีความซะอย่างนั้น แต่เนื่องจากความหมายที่ถูกตีความออกมาค่อนข้างน่าสนใจ และสามารถโยงเข้าเป็นความหมายของภาพได้
Credit : smi-i
การละลายของนาฬิกาเป็นการฉีกกฏแห่งความเป็นจริงตามแนวคิดฉบับ Surrealism ที่สะท้อนออกมาในผลงาน ราวกับเราที่อยู่ในห้วงฝันและรับรู้การไหลไปของเวลาได้ไม่ชัดเจน ต่อมาคือนาฬิกาบอกเวลามีทั้งหมด 3 เรือนล้วนชี้ไปยังเวลาที่ต่างกัน เป็นตัวแทนของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ส่วนนาฬิกาที่คว่ำหน้าลงและถูกมดไต่ตอมนั้นราวกับเป็นตัวแทนของเวลาที่หมดลง (เวลาที่ตาย) จึงถูกแมลงเข้ามากัดกินซากนาฬิกา
ในภาพนี้นอกจากนาฬิกาแล้วยังมีอย่างอื่นที่เป็นตัวแทนของเวลาอีก คือ ทราย หรือตัวแทนขอนาฬิกาทราย และเงาของแมลงวันที่อยู่บนนาฬิกา เป็นการบอกเวลาตามตำแหน่งของพระอาทิตย์… ลึกซึ้งสุดๆ กันไปเลยใช่ไหมคะ? เชื่อแล้วว่าจินตนาการของคนช่างล้ำลึกจริงๆ ด้วย
…ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว จะพูดถึงก้อนทรงประหลาดที่อยู่กลางภาพด้วยแล้วกันค่ะ เห็นว่าเจ้าสิ่งที่อยู่กลางภาพนี้คือภาพเหมือนของดาลี ที่ถูกตัวศิลปินเองตีความออกมาใหม่แบบ Surrealism จนเกิดเป็นหน้าตาดั่งในงานศิลปะเช่นนี้ ดวงตาที่ปิดอยู่ราวกับจะสื่อว่าตอนนี้เขานั้นกำลังอยู่ในห้วงฝัน ส่วนขนตาที่ยาวออกมา ตีความออกมาว่าสื่อถึงความเปิดกว้างทางเพศ เพราะตัวดาลีเองเป็นผู้ชายแต่ในภาพดวงตามีขนตายาวราวกับผู้หญิง ซึ่งหมายความว่าในความฝัน ไม่ว่าจะเพศ เวลา หรือหน้าตาล้วนไม่มีผลใดๆ เลยนั่นเอง
ย้ำอีกครั้ง :
การตีความนี้เป็นการตีความจากนักวิเคราะห์ในภายหลังทั้งสิ้น เพราะตัวศิลปินเองกล่าวว่าอยากจะเอานาฬิกามารวมกับชีสที่ละลายเท่าเองค่ะ
The Alarm Clock
Credit : artandculture.google
Artist : Diego Rivera
Location : Museo Frida Kahlo, Mexico
ผลงานถัดมาที่เรายกมาพูดถึงกันในวันนี้ก็คือ The Alarm Clock ผลงานประเภท Still Life (ภาพนิ่ง) ที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาในสไตล์ Cubism ในปีค.ศ. 1914 โดยศิลปินได้วาดวัตถุต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเขาลงไปในงานศิลปะ ประกอบด้วย เครื่องดนตรี พัดจีบ ชุดไพ่ และนาฬิกาปลุกอยู่ตรงกลาง โดยจะวาดออกมากึ่ง abstract ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคสมัยนั้น
แม้ผลงานชิ้นนี้จะไม่ใช่ผลงานชิ้นที่โด่งดังของศิลปิน ดิเอโก ริเวร่า (Diego Rivera) ศิลปินชาวเม็กซิกัน แต่ว่าก็เป็นผลงานที่สะท้อนชีวิตของศิลปินในช่วงที่ยังแต่งงานและใช้อยู่กับ แองเจลิน่า บีลอฟ (Angelina Beloff) ศิลปินชาวรัสเซียและภรรยาคนแรกของเขาในปารีส โดยสังเกตุได้จากกล่องชุดไพ่ ที่รอบๆ จะเขียนด้วยภาษารัสเซียซึ่งเป็นภาษาบ้านเกิดของบีลอฟ รวมถึงพัดจีบสีแดงที่อยู่ด้านบนของภาพก็เชื่อว่าเป็นหนึ่งในข้าวของเครื่องใช้ของบีลอฟเช่นกัน และฉากของภาพนี้ก็อยู่ในห้องพักของพวกเขาในปารีส (สังเกตุได้จากประตูและบานพับ) เนื่องจากยุคนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถออกไปหาที่วาดรูปข้างนอกได้อย่างมีอิสระเท่าไหร่นัก
Credit : biography .com
แม้ว่าภายหลังริเวร่าและบีลอฟหย่าขาดจากกันในภายหลังเพราะริเวร่ากลับไปที่เม็กซิโกและไม่กลับไปที่ยุโรปอีกในปี 1921 แต่คาดว่าหนึ่งในผลงานที่ริเวร่าได้นำกลับเม็กซิโก บ้านเกิดของเขามาด้วยกัน ก็คือผลงานชิ้นนี้ เพราะปัจจุบัน The Alarm Clock เป็นหนึ่งในผลงานที่ได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Museo Frida Kahlo ซึ่งเป็นบ้านของภรรยาคนที่สามของริเวร่า ฟรีด้า คาร์โล (Frida Kahlo) ซึ่งภายหลังเป็นบ้านของพวกเขาทั้งสองคน และในปัจจุบันได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงผลงานของคาร์โล ทั้งงานศิลปะ ปฏิมากรรม เสื้อผ้า และข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งเธอถือเป็นไอค่อนชื่อดังคนหนึ่งของยุคในเม็กซิโก รวมทั้งเป็นภรรยาที่อยู่ร่วมกับริเวร่านานที่สุดในบรรดาภรรยาทุกคนของศิลปินผู้นี้
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากงานศิลปะชิ้นนี้ คือ เราจะสังเกตุได้ว่านาฬิกาปลุกที่ถูกวาดออกมานั้นมีรูปร่างแปลกประหลาดไม่ค่อยคุ้นตาพวกเราเท่าไหร่นัก นั่นเป็นเพราะในช่วงยุคนั้นยังไม่สามารถผลิตนาฬิกาที่สามารถตีกริ่งในตัวเองได้ (…นาฬิกาที่มีกริ่งติดสองข้างและมีค้อนตีอันจิ๋วอยู่ตรงกลาง คอยตีเสียงดังเมื่อถึงเวลาปลุกที่เราคุ้นเคยกันนั่นล่ะค่ะ) แต่สิ่งที่ในยุคนั้นสามารถทำได้ คือ นำนาฬิกามาต่อกลไกเพื่อให้กริ่ง (ที่หน้าตาคล้ายกริ่งโรงเรียน) ทำงานได้เมื่อถึงเวลาที่กำหนด
Grandfather Clock
Credit : thinkspaceprojects
Artist : Anthony Clarkson
Location : N/A
ผ่านผลงานศิลปะจากศิลปินยุคเก่าไปแล้วถึง 2 คน คราวนี้เรามาดูผลงานศิลปะจากศิลปินรุ่นใหม่อย่าง แอนโทนี่ คลาร์กสัน (Anthony Clarkson) กันบ้างดีกว่าค่ะ
ในปี 2010 คลาร์กสันได้ผลิตผลงานออกมาชิ้นหนึ่งชื่อว่า Grandfather Clock เป็นงานสีอะคริลิคบนแผ่นไม้ขนาด 12 x 16 นิ้ว และเข้ากรอบสวยงาม สไตล์งานศิลปะของภาพนี้จะวาดเลียนแบบยุค Surrealism เช่นเดียวกับผลงานของดาลีที่เราได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้
Grandfather Clock เป็นชื่อที่ใช้เรียกนาฬิกาตั้งพื้นทรงสูง (Long Case Clock) ที่เป็นนาฬิกาสมัยเก่า ซึ่งตัวศิลปินก็ได้นำมาวาดล้อเลียนโดยเอานาฬิกามาใส่แทนใบหน้าของมนุษย์ ซึ่งอาจหมายถึงคนคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่มาอย่างเนิ่นนาน (นาฬิกาตั้งพื้นทรงสูงมีมาตั้งแต่ราวๆ ค.ศ. 1800) และแต่งกายเลียนแบบสุภาพบุรุษในสมัยเก่า ที่จะแต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตและเนคไท สวมทับด้วยชุดสูท พกผ้าเช็ดหน้า และสวมหมวกปีกแคบ แต่ในจุดที่ควรจะเป็นนาฬิกาพก เขากลับวาดเป็นแอปเปิ้ลสีเขียวผลหนึ่งซึ่งเชื่อมต่อด้วยสายโซ่แทน
Credit : instagram
ความหมายของแอปเปิ้ลในภาพนี้แปลได้สองอย่าง คือ อย่างแรกความหมายของแอปเปิ้ลสีเขียวที่หมายถึงความคิดและจิตใจ อาจหมายถึงภาพนี้ที่เป็นงานแบบ Surrealism ไม่ใช่ความจริงและเป็นเพียงจินตนาการของศิลปินเท่านั้น หรืออย่างที่สองเป็นตัวแทนของวลีที่ว่า An apple a day keeps the doctor away หรือการกินแอปเปิ้ลทุกวันช่วยให้มีชีวิตยืนยาว ซึ่งในที่นี้อาจหมายถึงการที่มนุษย์นาฬิกาในภาพมีชีวิตยืนยาวก็เพราะกินแอปเปิ้ลก็เป็นได้
ส่วนฉากหลังสุดดาร์กที่ดูคล้ายอยู่ในยุคโลกาวินาศ หรือ Distopia อาจสื่อความหมายถึงอนาคตอันไกลที่ธรรมชาติหมดไปแล้ว เรียกได้ว่ามนุษย์นาฬิกาผู้นี้อาจจะมีชีวิตอยู่อีกยืนยาวไปถึงในอนาคต แต่ก็เป็นเพียงแค่การคาดเดาเท่านั้นเพราะยังมีความหมายของเข็มนาฬิกาทั้งหกอีกที่ยังไม่ทราบความหมายของตำแหน่งเข็มนาฬิกาแต่ละเข็ม หรือศิลปินอาจวาดขึ้นเพื่อให้องค์ประกอบดูลงตัวเฉยๆ ก็เป็นได้
ผลงานศิลปะชิ้นนี้ถูกจัดแสดงในงานนิทรรศการ A Time To Forget เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคมในปี 2011 และปัจจุบันผลงานชิ้นนี้ได้ถูกขายออกไปแล้วโดยไม่มีข้อมูลว่าใครเป็นเจ้าของภาพคนปัจจุบัน
The Grand Central Terminal, 42nd Street, Tiffany Clock
Photo by : Trevor Bobyk on Unsplash
Designer : Jules-Felix Coutan
Sculptor : John Donnelly Company of Minerva
Clock Maker : Louis Comfort Tiffany at Tiffany Studio
Location : New York, USA
นอกจาก Painting แล้ว งานประติมากรรม (Sculpture) เองก็เป็นงานศิลป์ที่ทรงคุณค่าและมีหลายสิ่งให้สามารถเรียนรู้ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นสถานีรถไฟ The Grand Central ที่เป็นสถานีรถไฟหลักแห่งหนึ่งในมหานครนิวยอร์คที่มีผู้เดินทางผ่านเข้าออกสถานีแห่งนี้เฉลี่ยวันละ 700,000 คนเลยทีเดียว
ฝั่งทางเข้าจากถนนหมายเลข 42 เป็นที่อยู่ของนาฬิกาทิฟฟานี่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่เหนืออาคารสถานี โดยมีรูปปั้นเฮอร์คิวลิส (Hercules) อยู่เหนือนาฬิกาและมีรูปปั้นเมอร์คิวรี่ (Mercury) และมิเนอวา (Minerva) ล้อมรอบ โดยภาพรวมแล้วเป็นงานศิลปะแบบโบซาร์ (Beaux Arts) หรืองานสไตล์ฟื้นฟูสไตล์นีโอคลาสสิกและกรีก
สาเหตุที่งานประติมากรรมนี้ใช้สไตล์โบซาร์ เป็นเพราะผู้ออกแบบงานชิ้นนี้คือ Jules-Felix Coutan นักประติมากรชาวฝรั่งเศส แต่เพราะเขาปฏิเสธที่จะย้ายมาอเมริกาเพื่อดูงานในโปรเจคนี้ ดังนั้นเขาจึงทำสัญญาเพื่อเป็นผู้ออกแบบและมีหน้าที่ทำโมเดลปูนปลาสเตอร์จำลองที่มีขนาด 1/4 ของประติมากรรมจริงเพื่อส่งให้กับทีมประติมากรจาก John Donnelly Company of Minerva ทำงานต่อซึ่งใช้เวลาแกะสลักงานอีกเกือบ 7 ปี
มาถึงไฮไลท์สำคัญอย่างนาฬิกาทิฟฟานี่กันบ้าง ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า ‘ทิฟฟานี่’ ในที่นี้คือ ‘ทิฟฟานี่สตูดิโอ (Tiffany Studio)’ ไม่ใช่ ‘ทิฟฟานี่ (Tiffany & Co.)’ ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนะคะ ซึ่งทิฟฟานี่สตูดิโอจะเป็นบริษัทที่ผลิตกระจกสีและงานศิลปะจากกระจกสีมากมาย โดยมี Louis Comfort Tiffany ศิลปินชาวอเมริกันที่หลงใหลในงานศิลปะสไตล์ Art Nouveau และมีความสามารถในการสร้างสรรผลงานจากกระจกสี (Stained Glass Art) อีกทั้งยังเป็นผู้มอบนาฬิกาเรือนนี้ให้กับนิวยอร์คโดยไม่คิดเงิน เพื่อให้ “เวลาของทิฟฟานี่คงอยู่กับนิวยอร์คตลอดไป”
Credit : newyork.cbslocal
ดังนั้นตัวเรือนนาฬิกาจึงต้องถูกแยกชิ้นส่วน (ตัวเรือนตรงกลาง 4 ชิ้น, รอบนอกที่บอกเวลา 12 ชิ้น โดยประมาณ) ค่อยๆ ถือปีนขึ้นบันไดลิงเหล็กขึ้นไป 43 เมตร ผ่านช่องแคบๆ กว่าจะขึ้นไปถึงห้องขนาดเล็ก แต่กระนั้นการขนชิ้นส่วนแต่ละชิ้นขึ้นไปประกอบก็ยังยากลำบากมากทีเดียว เนื่องจากชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่และหนักมาก โดยชิ้นเล็กที่สุดมีขนาดใหญ่ประมาณลำตัวของชายฉกรรจ์ ส่วนชิ้นตัวเรือนตรงกลางถึงกับต้องใช้หลายคนช่วยกันค่อยๆ ปีนบันไดลิงถือขึ้นไปจนกระทั่งถึงที่หมาย
สำหรับนาฬิกาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตรนับว่าเป็นงานที่ท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นงานขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ทิฟฟานี่เคยทำมา นอกจากนี้ตัวงานยังไม่สามารถทำเสร็จจากสตูดิโอของเขาได้เนื่องจากงานประติมากรรมได้ถูกติดตั้งแล้ว การขนย้ายตัวเรือนนาฬิกาจากภายนอก นอกจากอาจเกิดความเสียหายต่อตัวเรือนนาฬิกากระจกแก้วแล้ว ยังอาจทำให้งานประติมากรรมเสียหายได้
งานกระจกสไตล์ทิฟฟานี่ ถูกผลิตขึ้นโดยใช้หนึ่งใน Tiffany Technique หรือเทคนิคพิเศษของทิฟฟานี่ ซึ่งทำให้ศิลปะกระจกสีมีรายละเอียดและความคมชัดมากกว่าศิลปะกระจกสีในยุคก่อนๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่) รวมทั้งยังมี Texture ที่ช่วยส่งเสริมให้งานออกแบบดูมีมิติมากขึ้นอีกด้วย
The Clyde Clock
Credit : wikimedia
Sculptor : George Wyllie
Clock Maker : William Potts & Sons
Location : Glasgow, Scotland
The Clyde Clock เป็นงานประติมากรรมที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1999 เพื่อฉลองครบรอบ 25 ปีของ Radio Clyde โดยว่าจ้าง George Wyllie ศิลปินชาว Glasgow วัย 78 ปี ผู้สร้างผลงาน “ประติ?มากรรม” มามากมายให้เป็นผู้สร้างสรรค์งานชิ้นนี้ขึ้นมาและมีกำหนดการตั้งงานชิ้นนี้ในเดือนธันวาคมปี 1999 เพื่อให้ทันได้ฉลองสหัสวรรษใหม่ (The New Millennium) ทว่าเนื่องจากสถานที่ตั้งประติมากรรมอย่างสถานีรถบัส Buchanan (หรือ Buchanan Bus Station) นั้นอยู่ใกล้โรงแรมแห่งหนึ่งที่มีผู้เข้าพักมากมายในช่วงปีใหม่ ดังนั้นกำหนดการจึงถูกเลื่อนออกไปและได้ตั้งผลงานขึ้นจริงช่วงหลังปีใหม่ปี 2000 เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนนักท่องเที่ยวของเมือง
George Wyllie เรียกตัวเขาเองว่า“ประติ?มากร” เพราะเขาเชื่อว่าตนเองเป็นนักตั้งคำถามและใช้งานศิลปะของเขาเพื่อสื่อสารความฉงนสงสัย คำตอบ หรือคำนิยามที่เขาตีความออกมาให้ผู้อื่นได้รู้ ยกตัวอย่างเช่นผลงานชิ้นนี้ที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘The Running Time’ เพราะสถานที่ตั้งของผลงานนั้นเป็นสถานีรถบัสที่มีรถหลายสายวิ่งเข้าออกตลอดเวลา ผู้คนที่มาใช้บริการต่างต้องวิ่งมาเพื่อให้ทันเวลารถออก (Run To Catch The Time) และยังมีความหมายว่าเวลาที่เดินไปข้างหน้าตลอดเวลา แต่เมื่อถึงช่วงเร่งรีบ (Rush Hour) ที่ปกติจะเดินช้าๆ ดันไปเร็วเหมือนวิ่งขึ้นมาซะอย่างนั้น ดังนั้นผลงานที่ออกมาจึงเป็นตัวเรือนนาฬิกาที่มีขาสองข้างงอกออกมาและตั้งท่าราวกับกำลังวิ่งอยู่ นอกจากนี้ตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกายังใช้เป็นฟ้อนต์เอียง (Italic) เพื่อแสดงถึงความเร่งรีบอีกด้วย
Credit : heraldscotland