Spray Art
ศิลปะ งานพ่นสี

ความงามของศิลปะนั้นไม่มีกรอบที่คอยมาจำกัดในการสร้างสรรค์ผลงาน Spray Art จึงเป็นการสร้างผลงานอีกรูปแบบหนึ่งที่ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันเป็นวงกว้าง และเป็นตัวเชื่อมโยงไปยังการเกิดผลงานกราฟฟิตี้มากมาย ทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยของเราเอง ทำเอาในหลายๆประเทศมักจะมีแหล่งที่เป็นถนนสายอาร์ตให้กับเหล่าศิลปินได้โชว์ของกันอย่างเต็มที่

Airbrush

Credit : matisse .com.au
แอร์บรัชเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพ่นสีลงบนพื้นผิว มีหน้าที่เหมือนกับพู่กัน แต่มาในรูปแบบของการพ่นแทนการวาดลงไป โดยจะใช้ร่วมกับงานศิลปะเช่น การพ่นสีบนผนังอาคารหรือกำแพง, การใช้แอร์บรัชพ่นสีโมเดลของเล่น หุ่นปั้นจำลอง รวมไปถึงในศิลปะการแต่งหน้าก็สามารถใช้แอร์บรัชพ่นลงบนผิวหนังได้ และยังมีอีกหลายรูปแบบทางศิลปะที่เลือกใช้แอร์บรัชในการสร้างสรรค์ผลงาน
Credit : iwata-airbrush
หลักการทำงานของ แอร์บรัช นั้นจะต้องเชื่อมต่อกับเครื่องอัดอากาศ ด้านบนของตัว แอร์บรัช จะมีถ้วยเพื่อให้ใส่ของเหลวซึ่งก็คือสีที่จะใช้พ่น และเมื่อ แอร์บรัช ทำงานมันจะแบ่งของเหลวออกเป็นหยดเล็กๆ สิ่งนี้เรียกว่าการทำให้เป็นละออง ซึ่งจะทำให้สีเกิดการไล่ระดับอย่างราบรื่นซึ่งแปรงทาสีธรรมดาไม่สามารถทำได้ ที่พิเศษไปกว่านั้นคือตัว แอร์บรัช สามารถปรับรูหัวฉีดได้ เพื่อควบคุมให้สีที่พ่นออกมาสามารถเป็นเส้นเล็กคม หรือเป็นละอองแบบขอบเบลอๆ ได้ ซึ่งเป็นข้อดีในการประยุกต์ใช้กับงานศิลปะได้หลากหลายรูปบบเพราะสามารถควบคุมลายเส้นได้ง่าย

งานศิลปะที่สร้างสรรค์จาก Airbrush

Credit : leisureguided .com
งานศิลปะที่สร้างสรรค์จาก Airbrush นั้นเกิดขึ้นมาให้เห็นอยู่หลากหลายรูปแบบ เพราะด้วยความที่ แอร์บรัช นั้นสามารถควบคุมได้ง่ายกว่าการใช้พู่กันหรือแปรงทาสี จึงทำให้นักสร้างสรรค์เลือกใช้ในการสร้างผลงานแตกต่างกันไปตามความถนัด ส่วนใหญ่จะนิยมใช้กับชิ้นงานขนาดเล็กและต้องการความละเอียด เพราะจะสามารถควบคุมการไหลของสีได้ และยังสามารถควบคุมปริมาณสีที่ออกมา นอกจากนี้สีที่พ่นออกมาจะมีความบางหากต้องการให้หนาขึ้นก็สามารถพ่นทับได้อย่างเรียบเนียน จึงทำให้เป็นที่นิยมใช้กับงานโมเดล ฟิกเกอร์ รูปปั้นขนาดเล็กต่างๆ นอกจากนี้ยังใช้กับการพ่นสีหนัง และพ่นสีในการตกแต่งอาหารอีกด้วย
Credit : vshops .tk
นอกจากนี้ที่นิยมใช้ แอร์บรัช และเป็นที่รู้จักผลงานกันอย่างแพร่หลายก็จะอยู่ในกลุ่มของงาน Street art การสร้างผลงานศิลปะบนกำแพง เราอาจจะเคยได้ยินกันมาว่าผลงาน Street art ส่วนใหญ่ศิลปินมักนิยมใช้สีสเปรย์กระป๋องในการพ่นเสียมากกว่า เพราะด้วยพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่การใช้สีกระป๋องจะรวดเร็วทันใจกว่า แต่ก็ยังมีศิลปินหลายๆคนที่เลือกใช้แอร์บรัชในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสื่อสารความเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งทั้งสองวิธีสามารถทำได้เหมือนกันไม่มีผิดมีถูก เรียกได้ว่าอยู่ที่ความถนัดของศิลปินแต่ละคน อาทิเช่น Ryan Cribbin Airbrush artist เป็นศิลปินที่เลือกใช้ แอร์บรัช ในการวาดภาพฝาผนังแทนการใช้สีสเปรย์
Credit : abc .net
นอกจากเขาจะใช้ แอร์บรัช เพ้นท์ผนังแล้วเค้ายังนำไปเพ้นท์บนชิ้นงาน Spray Art – Street Art อื่นๆ เพื่อทำให้มีมูลล่าเพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วย เช่น สเก็ตบอร์ด รองเท้าผ้าใบ เป็นต้น

Graffiti

คำว่า Graffiti เดิมเป็นการอ้างอิงถึงจารึกโบราณ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นภาพเขียนคำต่างๆ หรือภาพตามผนังของอุโมงค์ฝังศพโบราณ อาคารสาธารณะ หรือซากปรักหักพัง กราฟฟิตี้โบราณสามารถพบเห็นได้ใน สุสานใต้ดินแห่งกรุงโรมหรือที่ซากปรักหักพังของเมืองปอมเปอี ในยุคถัดมากราฟฟิตี้ ได้เริ่มกลายเป็นภาพวาดรวมไปถึงการขูดขีดกำแพง เป็นชื่อและสัญลักษณ์ต่างๆ มักจะมีความหมายและใช้เพื่อแสดงออก ศิลปินกราฟฟิตี้มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมชื่อโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้รับความเคารพจากศิลปินกราฟฟิตี้คนอื่นๆ ซึ่งกราฟฟิตี้ได้เริ่มต้นมาจากเมือง ฟิลาเดลเฟีย ในรัฐ เพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นได้แพร่หลายไปในนิวยอร์ก และครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นการละเล่นของวัยรุ่นที่ทำให้อาคารในเมืองไม่สะอาด แต่ภายหลังก็กลับกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้นในฐานะงานศิลปะประเภทหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปก็ยังไม่ได้รับการตอบรับเชิงบวกหรือเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นศิลปะเสมอไป
Credit : artsupplyguide .co.uk
Graffiti ที่เป็นรูปแบบศิลปะใหม่เริ่มต้นขึ้นในปี 1970 เมื่อผู้คนเริ่มเขียนชื่อของพวกเขาหรือสัญลักษณ์ บนอาคารทั่วเมือง และเป็นที่นิยมอย่างมากในการแท็กชื่อตัวเอง (การเขียนหรือพ่นชื่อตัวเองลงไปบนกำแพง) เพื่อบ่งบอกถึงการมีตัวตน จนถึงในยุคนึงที่ จอห์น ลินด์เซย์ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กในขณะนั้น ประกาศสงครามกราฟฟิตี้ครั้งแรก ทำให้การสร้างกราฟฟิตี้ในที่สาธารณะทำได้ยากขึ้น ศิลปินหลายๆ คนจึงเริ่มเปลี่ยนไปสร้างสรรค์ผลงานบนหลังคา และผืนผ้าใบแทน และทุกวันนี้การสร้างรอยขีดเขียนเหล่านี้ก็ได้พัฒนากลายเป็นแฟชั่นที่กลายเป็นเรื่องปกติทั่วไป มีทั้งลวดลายแท็กที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน มีการนำไปสร้างสรรค์บนเสื้อผ้าแนวสตรีตอาร์ต และยังเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองเป็นอย่างมากในหมู่วัยรุ่น Hip-Hop จะเห็นกันจนชินตาเกี่ยวกับการทำเพลงในแนวHip-hop ที่จะมีการใช้กราฟฟิตี้เป็นฉากในเพลง รวมไปถึงศิลปะการแต่งตัวของพวกเขา
Credit : molotow .com
วิธีการสร้างผลงานกราฟฟิตี้ (Spray Art Graffiti) จะมีสื่อที่ใช้กันมากที่สุด ได้แก่ สีสเปรย์กระป๋อง ปากกามาร์กเกอร์ ถังดับเพลิง เครื่องมือแกะสลัก หรือสีทาผนัง ซึ่งผลงานโดยส่วนมากมักจะใช้สีสเปรย์กระป๋องเพราะพกพาได้ง่าย และรวดเร็ววต่อการพ่นในพื้นที่บริเวณกว้างๆ มีสีสันที่ชัดเจนและยังสามารถพ่นทับได้หากมีการวาดผิด ซึ่งสีสเปรย์กระป๋องยังสามารถนับเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน Graffiti เลยก็ว่าได้ ศิลปินคนดังมากมายก็มักจะเลือกใช้สีสเปรย์กระป๋องในการสร้างผลงานของตัวเองด้วยเช่นกัน

Marilyn Monroe, I by James Rosenquist

Credit : gsfineart .com
ผลงานภาพ Marilyn Monroe, I โดย James Rosenquist เป็นผลงานสีสเปรย์บนผ้าใบขนาด 41 x 29 นิ้ว ซึ่งก็เป็นผลงานในสไตล์กราฟฟิตี้ที่ไม่ได้อยู่เพียงบนผนังเท่านั้น ผลงานชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นไม่นานหลังจากที่ Marilyn Monroe เสียชีวิตอย่างกะทันหันในปี 1962 ดังนั้น James จึงได้ใช้แนวคิดของตัวเองในการใส่ข้อความซ่อนเอาไว้อย่างซับซ้อนให้กับผลงานของเขา ซึ่งเขาต้องการสื่อสารมุมอื่นๆ ของ Marilyn Monroe ที่มากกว่าภาพลักษณ์ที่มีเสน่ห์ของเธอ ที่ศิลปินจำนวนมากได้ใช้ประโยชน์และสร้างสรรค์ผลงานจากรูปร่างหน้าตาหรือท่าทางที่เราคุ้นเคย
เขานำเสนอเธอในลักษณะที่ผู้ชมจะไม่สามารถจดจำได้ในทันทีเพราะ James ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสามารถพิเศษในการถ่ายทอดจิตวิญญาณของ Marilyn Monroe ด้วยคุณลักษณะความเป็น Marilyn Monroe โดยการตัดแบ่งช่องภาพของเธอ แต่ยังคงไว้ซึ่งดวงตา ริมฝีปาก และมือ ถึงแม้จะถูกแยกส่วนและวางเข้าด้วยกันในลักษณะที่ไม่ต่อเนื่องกัน แต่หากพิจารณาดูดีๆ แล้วก็สามารถบอกได้ว่าภาพนี้คือใคร ซึ่งการรับชมผลงานชิ้นนี้ ต้องใช้เวลาในการมอง สังเกตชิ้นงานอย่างใกล้ชิด หรืออ่านคำบรรยาย จึงจะเข้าใจว่าคนในภาพคือ Marilyn Monroe… และการใช้เวลากับบางสิ่งบางอย่างนี้เอง ก็จะทำให้ผู้คนจดจำชื่อ และช่วงเวลาที่พวกเขานั้นได้ใช้เพื่อมองดูภาพวาดเอาไว้ในใจ ว่าครั้งหนึ่งเคยมีนักแสดงสาวที่สวยงาม นามว่า Marilyn Monroe

Field worker taking rest by Banksy

Credit : bristolpost .co.uk
ผลงานชิ้นนี้ถูกสร้างสรรค์โดย Banksy ศิลปินกราฟฟิตี้ ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมากมาจนถึงปัจจุบัน เขายังเป็นหนึ่งในศิลปินที่ยังคงทำงานใต้ดินและไม่เปิดเผยตัวตน เอกลักษณ์ที่ทำให้เขาโดดเด่นเป็นเพราะผลงานที่มักจะสอดแทรก เสียดสีประเด็นต่างๆ ในสังคม และความเห็นทางการเมืองด้วยอารมณ์ขันที่มืดมน เทคนิคหลักที่เขาใช้ คือ Stencil หรือ การพ่นหรือทำสีบนเทมเพลตลายฉลุ เพื่อให้เกิดภาพเป็นเลเยอร์สีตามที่เราต้องการ
ซึ่งเทคนิคดังกล่าวก็กลายเป็นเทคนิคหลักของเขาเพราะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อนได้ และยังเก็บหลักฐานกลับไปได้อย่างแนบเนียนเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตำรวจจับได้ว่าทำลายทรัพย์สิน (งานกราฟฟิตี้ในสมัยก่อนมักจะนิยมสร้างผลงานตามตึกอาคาร และสถานที่สาธารณะ ซึ่งหากไม่ได้รับอนุญาตก็ถือเป็นการทำลายทรัพย์สินและผิดกฏหมาย) ในยุคหลังๆ ผลงานของ Banksy ไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่แค่กราฟฟิตี้ เขายังสร้างผลงานในรูปแบบอื่นๆ เช่น ประติมากรรม หรือ ภาพวาดบนผืนผ้าใบ จากนั้นก็จะสร้างวีรกรรม นำไปติดไว้ตามที่ต่างๆ จนกลายเป็นที่ฮือฮา เช่น ลอบเข้าไปในพิพิธภัณฑ์เพื่อนำผลงานไปติดไว้ราวกับเป็นหนึ่งในคอลเลคชั่นนิทรรศการ
Credit : sothebys .com
เคยมีเหตุการณ์ที่ Banksy ได้ทำการ Bomb หรือการสร้างผลงานใหม่ทับผลงานศิลปะของศินปินคนอื่นๆ เพื่อเป็นการประชดประชันต่อสังคมทุนนิยม ซึ่งผลงานของเขาสร้างความประทับใจให้ใครหลายๆ คน แต่ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่ไม่ถูกใจการสร้างสรรค์ผลงานของเขาเช่นกัน นอกจากนี้ Banksy มักจะออกผลงานที่มีความขี้เล่นล้อเลียนเชิงประชดประชันผลงานศิลปะของศิลปินคนอื่นอยู่บ่อยครั้ง เช่นแนวคิดในการผสานงานของ Banksy กับผลงานของศิลปินคนอื่นๆ
อย่างเช่นผลงานที่มีชื่อว่า Field worker taking rest เป็นงานศิลปะที่สร้างใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นภาพจำลองของภาพวาดชื่อดัง The Gleaners by Jean-Francois Millet ซึ่งในยุคที่ภาพวาด The Gleaners โด่งดังก็ได้เกิดข้อขัดแย้งขึ้น การขัดแย้งในครั้งนั้นมีสาเหตุเกี่ยวกับเนื้อหาภายในภาพที่แสดงให้เห็นถึงการเหลื่อมล้ำของชนชั้น และยังได้รับการตอบรับที่ไม่ดีจากชนชั้นสูงของฝรั่งเศส โดย Banksy ได้เลือกใช้ภาพวาด The Gleaners มาตีความใหม่ในแนวความคิดของตนเอง และตามสไตล์งานของ Banksy ที่มักจะสะท้อนปัญหาสังคมผ่านอารมณ์ที่ขบขัน เขาดีไซน์ให้ตัวละครในภาพ ที่กำลังเหน็ดเหนื่อยจากการเก็บเกี่ยว ได้มีเวลาแอบไปพักผ่อนด้วยการหนีออกจากขอบเขตของผืนผ้าใบ เขาตัดแต่งผลงานในรูปแบบเดิมให้เปลี่ยนไป และจัดสรรให้เป็นในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่ง key message คือต้องการจะเตือนใจว่าตัวละครเหล่านี้สามารถดำรงอยู่นอกกรอบได้ และตัวเราเอง (ซึ่งหมายถึงผู้ชม) ก็สามารถพิจารณาตัวละครในภาพและตีความออกมาในรูปแบบใหม่ๆ ได้เช่นกัน

Graffiti by Lady Pink

Credit : streetartcities .com
Lady Pink เป็นศิลปินกราฟฟิตี้ และนักจิตรกรรมฝาผนังที่รู้จักกันในชื่อสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งกราฟฟิตี้ ซึ่ง Lady Pink ก็เป็นศิลปินที่เป็นผู้หญิงในยุคแรกๆ เธอเริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานจากการสูญเสียแฟนของเธอ และมีการแท็กชื่อแฟนของเธอในผลงานเต็มไปทั่วเมืองนิวยอร์ก ในเวลาต่อมาเธอได้เปลี่ยนเป็นชื่อ Lady pink โดยผลงานของเธอเป็นศิลปะแบบ Pop Surrealism ซึ่งเป็นแนวศิลปะที่ผสมผสานระหว่าง Pop Art ที่พูดถึงวัฒนธรรมที่กำลังเป็นเทรนด์ในช่วงเวลานั้นๆ และ Surrealism ที่เป็นศิลปะแบบเหนือจริง โดยเมื่อนำมาผสมผสานกันแล้วเกิดเป็น Mood & Tone ที่มีความร่าเริงแจ่มใส อารมณ์ขัน ซุกซน และประชดประชัน ในบางครั้ง
Credit : wcc .art
และ Lady Pink ก็ได้ถ่ายทอดผลงานในลักษณะนี้ออกมาอย่างลงตัวด้วยการใส่ความเป็นสตรีนิยมผ่านงานกราฟฟิตี้ และยังแตกต่างกับผลงานของเหล่าศิลปินกราฟฟิตี้ผู้ชายไปอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ที่ได้เปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับศิลปะกราฟฟิตี้ จากสตรีทอาร์ตไปเป็นวิจิตรศิลป์ แสดงให้เห็นว่าศิลปะสามารถก้าวข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรมได้
Credit : ladypinknyc .com
เลดี้พิงค์ใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเธอ จนออกมาเป็นสไตล์ที่โดดเด่นและสื่อได้ถึงความแข็งแกร่งในความเป็นเฟมินิสต์ ในส่วนของเทคนิคการสร้างสรรค์งาน Lady pink ถนัดการใช้สีสเปรย์กระป๋องในการสร้างสรรค์ผลงานกราฟฟิตี้ และภาพที่ออกมาส่วนใหญ่ก็จะเน้นสีสันและ Object ที่สื่อถึงความเป็นผู้หญิงอย่างชัดเจน
ครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เธอไม่มีความทรงจำในการวาดภาพผลงานต่างๆ ของตน (I don’t retain memory of anything I’ve done) ซึ่งผู้คนก็เชื่อว่าเป็นเพราะผลงานในอดีตที่เธอเคยสร้างมาอาจเกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึกและความรู้สึก ณ ช่วงเวลาที่เธอกำลังสร้างสรรค์ผลงานอยู่ เป็นการปลดปล่อยอารมณ์ออกมาผ่านทางงานศิลป์ เมื่อได้ระบายออกมาแล้วก็ไม่รู้สึกอาลัยอาวรณ์หรือต้องหันหลังกลับไปมองอีก

Jungle Funk by Mike Makatron

Credit : deansunshine .com
Jungle Funk สร้างขึ้นโดย Mike Makatron ศิลปินจากเมลเบิร์นผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไปจนถึงบราซิล ส่วนมากแล้วผลงานของเขามักจะปรากฎอยู่ตามพื้นที่สาธารณะในเมลเบิร์น เช่น สวนสัตว์เมลเบิร์น สนามบินเมลเบิร์น และตรอกซอกซอยในเมืองต่างๆ ผลงานกราฟฟิตี้ส่วนใหญ่ของเขาจะเป็นเรื่องราวที่พยายามสื่อถึงความต้องการให้มนุษยชาติก้าวออกมาจากป่าคอนกรีต และเชื่อมต่อกับธรรมชาติให้มากขึ้น เช่นเดียวกับผลงาน Jungle Funk ภาพกราฟฟิตี้ขนาดใหญ่ ที่มีเรื่องราวเสมือนอยู่ในป่ารายล้อมไปด้วยพืชพรรณ และสัตว์ป่านานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืชเมืองร้อนที่เขียวชอุ่มหรือแมลงต่างๆ นอกจากนี้ยังมีซากเทคโนโลยีเก่าที่ซ่อนอยู่ทั่วทั้งงานศิลปะ ซึ่งเป็นการตีความคำว่าป่าในเมืองใหม่ในแนวความคิดของศิลปิน
Credit : deansunshine .com
ผลงานภาพกราฟฟิตี้ Jungle Funk เป็นส่วนหนึ่งของ Green Your Laneway ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มโดยเมืองเมลเบิร์น โดย Mike Makatron ได้เนรมิตตรอกซอยของเมลเบิร์นแห่งนี้ให้กลายเป็นโอเอซิสกลางเมือง สำหรับผู้คนที่เดินผ่านไปมาจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่น่าผ่อนคลายให้ความรู้สึกได้แนบชิดธรรมชาติ และเหมือนได้พักผ่อนในช่วงเวลาสั้นๆ ทุกครั้งที่เดินผ่าน

Spray Art Graffiti by Alex Face

Credit : bodegahostels .com
Alex Face ศิลปินกราฟฟิตี้ ชาวไทยผู้สร้างสรรค์งานศิลปะในภูมิทัศน์เมือง และโด่งดังจากผลงานเด็ก 3 ตาในชุดกระต่ายที่มีชื่อเรียกว่า มาร์ดี ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากลูกสาวของเขาเอง ผลงานส่วนใหญ่ของ Alex Face มักเป็นการบอกเล่าถึงสังคม มีการนำเสนอมุมมองของตัวศิลปินเองผ่านภาพกราฟฟิตี้ ส่วนในมุมมองของผู้คนที่ได้เห็นผลงานของเขา มักจะมีการตอบรับที่ดีกับภาพวาดในคาแร็คเตอร์น้องมาร์ดี ถึงแม้จะมีการเสียดสีสังคมแต่ก็จะแฝงความตลกเอาไว้ด้วยเพื่อไม่ให้รุนแรงเกินไปสำหรับสังคมในประเทศไทย และอาจด้วยเพราะความน่ารักของน้องมาร์ดีที่ทำให้ช่วยลดภาพลักษณ์ของการเสียดสีสังคมไปได้ไม่น้อย
Credit : globetrottermag .com
ผลงานของ Alex Face นอกจากจะสามารถบอกเล่าเรื่องราวทางสังคมแล้ว ผลงานหลายชิ้นของเขา เช่นเดียวกับที่เห็นบนผนังอาคารใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ เรื่องราวของภาพได้แสดงถึงความหวังของศิลปินในเรื่องสันติภาพและความรัก ในส่วนของการทำงาน Alex Face มีการเริ่มจากการ Sketch แบบไว้ในสมุดไปเรื่อยๆ จนมีบางภาพที่ตัวเขาคิดว่ามันเหมาะสมที่จะนำมาเป็นผลงาน Graffiti ตามพื้นที่สาธารณะ แต่ใช่ว่าทุกภาพที่ผ่านการเลือกมาจะสามารถทำได้ตามที่ Sketch ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับหน้างานจริงว่าจะสามารถทำได้แต่ไหน จึงเป็นอะไรที่ท้าทายให้ตัวศิลปินต้องคอยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น
โลกของ Spray Art หรือการสร้างชิ้นงานศิลปะขึ้นมาจากละอองสีนั้น ช่างยิ่งใหญ่และสร้างสีสันให้กับสังคมได้มากกว่าที่คาดคิด ศิลปะแอร์บรัช และงานกราฟฟิตี้ ไม่ใช่แค่ผลงานศิลปะเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือช่วยขับเคลื่อนสังคมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย และคาดว่าศิลปะในแขนงนี้จะยังคงรุ่งเรืองต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
iwata-airbrush .com
artsupplyguide .co.uk
bristolpost.co.uk
sothebys .com
globetrottermag .com
trending-in .com/kingston-murals

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO