The Colors of Thailand
สีสันแห่ง วัฒนธรรมประเทศไทย
หากจะพูดถึงความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมที่งดงาม ละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง ที่สุดแล้วคงจะเป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจากประเทศไทยของเรานั่นเอง ด้วยขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อทางศาสนา ที่ตั้งภูมิภาค ตลอดจนชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ล้วนหล่อหลอมให้เราคนไทยสร้างสรรค์ คิดค้น สิ่งต่างๆขึ้นมามากมายนับแต่โบราณกาลจนกระทั่งสืบสานต่อมาถึงเราทุกคนในปัจจุบันกลายเป็น “วัฒนธรรมประเทศไทย” ที่ให้การยอมรับและปฏิบัติต่อกันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่อยู่ในสายเลือดของคนไทยทุกคนไปแล้ว
ประเทศไทยถูกแบ่งออกเป็น 6 ภูมิภาค หากจะว่ากันด้วยเรื่องของประเพณี วัฒนธรรมประเทศไทย ก็จะเห็นถึงความแตกต่างของแต่ละภาคได้อย่างชัดเจน และทุกประเพณีของคนไทยล้วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อและความต้องการเพื่อให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแทบทั้งสิ้น เรามาทำความรู้จักกับประเพณีที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกกันค่ะ
เทศกาลสงกรานต์ Songkran Festival ( Water Festival )
Credit : unseentourthailand
วันปีใหม่ไทยนั้น ถือเป็นวันสำคัญและเป็นวันมงคลในการเริ่มต้นชีวิตใหม่สำหรับคนไทย โดยจะตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และยังเป็นวันหยุดราชการอีกด้วย สำหรับภาคกลาง วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา และวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก คือวันเริ่มจุลศักราชใหม่ ซึ่งทุกภาคก็จะมีชื่อเรียกของวันสงกรานต์ที่แตกต่างกันออกไป คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง “การเคลื่อนย้าย” เป็นการอุปมาอุปไมยถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี ซึ่งก็คือการเคลื่อนขึ้นสู่ปีใหม่ ซึ่งอยู่ในความเชื่อของคนไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Credit : pet.nfe.go.th
หลายคนเคยได้ยินเรื่อง “นางสงกรานต์” โดยประวัติวันสงกรานต์เชื่อกันว่านางสงกรานต์ทั้งหมดมี 7 นาง คือ นางทุงษะเทวี, นางโคราคะเทวี, นางสงกรานต์รากษสเทวี, นางมณฑาเทวี, นางสงกรานต์กิริณีเทวี, นางกิมิทาเทวี และนางมโหทรเทวี ซึ่งมีบันทึกเรื่องราวของพวกนางสงกรานต์อยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยในแต่ละปีแต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันมาตามวันมหาสงกรานต์ และจะมีนาม อาหาร อาวุธ รวมถึงสัตว์ที่เป็นพาหนะต่างชนิดกันออกไป ซึ่งแต่ละปีจะมีการทำนายดวงชะตาบ้านเมืองตามนางสงกรานต์ในปีนั้นๆ
Credit : lifestyle.campus-star
นอกจากนี้ยังถือเป็นวันครอบครัวที่ทุกคนจะได้กลับบ้านอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา มีการทำความสะอาดบ้าน สรงน้ำพระ เข้าวัดทำบุญ รดน้ำดำหัวขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ และทุกคนยังได้เล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานในฤดูร้อนกันอีกด้วย วันสงกรานต์จึงเป็นวันสำคัญของประเทศไทยที่เราทุกคนต่างก็เฝ้าตั้งตารออยู่เสมอในทุกๆปีอีกด้วย
เทศกาลลอยกระทง Loy Krathong Festival
Credit : medium
ประเพณีที่จัดว่างดงามยามค่ำคืนอีกหนึ่งประเพณี ก็คือการลอยกระทง คนไทยเชื่อว่าเป็นพิธีแบบหนึ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ตรงกับคืนวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี เพราะทุกเดือน 11 หรือราวเดือนตุลาคม น้ำจะขึ้นหลาก และพอถึงเดือน 12 หรือราวเดือนพฤศจิกายน น้ำจะอยู่ระดับคงตัวคือน้ำจะไม่ขึ้นไม่ลง โดยจังหวัดสุโขทัย ถือเป็นต้นกำเนิดของประเพณีลอยกระทง เนื่องจากมีการจัดงานประเพณีสืบทอดติดต่อกันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นประเพณีระดับประเทศ และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก
Credit : kiddpan
ประวัติวันลอยกระทงเล่ากันว่าเป็นตำนานและความเชื่อมาจากหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ บนศิลาจารึกได้บันทึกถึงประวัติวันลอยกระทงไว้ว่าเป็นประเพณีที่เริ่มต้นจาก “นางนพมาศ” ผู้เป็นสนมเอกในรัชกาลพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ขณะช่วงเทศกาลออกพรรษา นางนพมาศได้คิดค้นทำกระทงขึ้นมาเป็นรูปดอกบัว ให้ทรงลอยตามกระแสน้ำไหล และคิดคำร้องถวายพระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่า “พระราชพิธีจองเปรียง”
Credit : luxurysocietyasia
ลักษณะดอกไม้ที่ใช้ทำเป็นกระทงของนางนพมาศนั้น คือดอกกระมุทหรือดอกโกมุท เป็นดอกบัวที่บานในเวลากลางคืน เมื่อนำไปลอยน้ำก็จะลอยได้ไม่จม ในบันทึกระบุว่าใช้ผลไม้แกะสลักเป็นรูปทรงต่างๆที่วิจิตรสวยงามตกแต่งไปกับกระทง และเมื่อประดับด้วยเทียนก็งดงามมากขึ้น นอกจากนี้บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กล่าวถึงประเพณี “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ก็ได้กล่าวถึงประเพณีลอยพระประทีป โดยเป็นการละเล่นของหลวง และราษฎร จัดการละเล่นดอกไม้เพลิงที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกด้วย
สำหรับจุดประสงค์ของวันลอยกระทง ก็เพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา และบูชาพระพุทธบาท ตามคติความเชื่อแต่โบราณและเพื่อให้เราได้รู้คุณค่าของน้ำและแม่น้ำลำคลอง อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับดำรงชีวิตมาอย่างช้านาน นอกจากที่บางแห่งยังเพิ่มคความสนุกสนานในวันลอยกระทงด้วยการจัดประกวดนางนพมาศเพื่อสร้างสีสันให้กับงานวันลอยกระทง รวมถึงจัดงานมหรสพต่างๆและจุดพลุเฉลิมฉลองควบคู่ไปกับการลอยกระทงอีกด้วย
ประเพณียี่เป็ง Yi Peng Lantern Festival
Credit : theasianage
อีกหนึ่งเทศกาลทางภาคเหนือที่จัดขึ้นไล่เลี่ยกันกับวันลอยกระทง นั่นคือ “ประเพณียี่เป็ง” หรือที่หลายๆคนรู้จักกันในนาม การปล่อยโคมลอย ประเพณียี่เป็งเป็นประเพณีของชาวล้านนามีมานานเกินร้อยปี จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆปีทางภาคเหนือ ที่มาของชื่อมาจากภาษาล้านนา โดยคำว่า “ยี่” หมายถึง เดือนที่สองของคนล้านนา ส่วนคำว่า “เป็ง” หมายถึง พระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ เนื่องจากประเพณีนี้จะจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองตามปฏิทินจันทรคติไทย
Credit : calendar.m-culture
ประเพณียี่เป็งของชาวล้านนานั้นอยู่บนรากฐานความเชื่อเดียวกับประเพณีลอยกระทงในภูมิภาคอื่น วัตถุประสงค์สำคัญคือ ขอขมาแม่พระคงคา บูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวล้านนา การเฉลิมฉลองจะเป็นการประดับตกแต่งโคมตามบ้านเรือน จัดซุ้มประตูเข้าสู่ปรัมพิธีประกอบพิธีกรรมของหมู่บ้าน เข้าวัดทำบุญทำทาน ฟังเทศน์มหาชาติ ซึ่งจะต่างจากการฉลองของภูมิภาคอื่นที่เน้นกิจกรรมยามค่ำคืน เช่น การเผาเทียนเล่นไฟ การลอยประทีบ ลอยกระทง
Credit : vecteezy
โคมยี่เป็ง ถือเป็นเครื่องสักการะ สำหรับใช้ใส่ผางประทีปให้เกิดแสงในช่วงหัวค่ำ โดยการแขวนค้างโคมตามพระธาตุเจดีย์ หน้าวิหาร กลางวิหาร หรือปัจจุบันนิยมแขวนประดับดาตกแต่งตามอาคารบ้านเรือน โคมมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น วิธีการทำโคมจะใช้ไม้ไผ่เฮียะนำมาหักขึ้นเป็นโครง ติดกระดาษสาหรือกระดาษแก้ว ผ้าดิบ ตัดลายกระดาษสีเงิน สีทอง ประดับตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม
Credit : lanna365
นอกจากนี้ยังมี ว่าวฮม หรือ โคมลอย เป็นโคมที่ใช้ความร้อนในการพยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศ ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่า การปล่อยว่าวฮมพร้อมดอกไม้ธูปเทียนที่นำผูกติดกับตัวว่าวขึ้นไป เพื่อสักการะพระเกศแก้วจุฬามณี หรือมีอีกความเชื่อว่าการปล่อยว่าวฮมสามารถปล่อยเคราะห์หรือสิ่งไม่ดีออกไปได้ จึงนิยมตัดเล็บและเส้นผมใส่ลงไปในสะตวงเพื่อลอยเคราะห์ให้ออกไปจากตัว หรือบางที่ก็ผูกจดหมายเขียนคร่าวร่ำ(ค่าวฮ่ำ) และใส่เงินเป็นรางวัลให้สำหรับผู้เก็บว่าวที่ตกได้
Credit : chiangmainews
ความงดงามของประเพณีนี้ คือ การปล่อยโคมลอยนับพันขึ้นไปส่องสว่างบนท้องฟ้ายามค่ำคืน โดยมีความเชื่อว่าการปล่อยโคมลอยในคืนพระจันทร์เต็มดวงจะช่วยนำพาสิ่งอัปมงคลออกไปจากชีวิตและต้อนรับสิ่งมงคลที่จะเข้ามาแทน ซึ่งความสวยงามตระการตาของเทศกาลนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจากทั่วโลกกลายเป็นเทศกาลท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดทางภาคเหนือในทุกๆปี
ประเพณีไหลเรือไฟ
Lai Reua Fai Festival in Nakhon Pranom Illuminated Boat Procession
Credit : nakhonphanom.go.th
ประเพณีไหลเรือไฟเป็นประเพณีที่ชาวนครพนมภาคภูมิใจ เพราะได้ยึดถือปฏิบัติกันมานานตั้งแต่โบราณ โดยมีความเชื่อมาจากการบูชารอยพระพุทธบาท การสักการะท้าวพกาพรหม การบวงสรวจพระธาตุจุฬามณี และการระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา การขอฝน การเอาไฟเผาความทุกข์ และการบูชาพระพุทธเจ้านั่นเอง
ในด้านความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ริมฝั่งแม่น้ำ นัมมทานที ในแคว้นทักษิณาบท ประเทศอินเดียนั้น เชื่อกันว่าพญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมในภพของนาค เมื่อเวลาเสด็จกลับพญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที พระองค์จึงได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้ตามความประสงค์ของพญานาค โดยรอยพระบาทที่ทรงประทับไว้นี้เป็นที่เคารพของเทวดา มนุษย์ ตลอดจนถึงสรรพสัตว์ทั้งหลายผู้ซึ่งต้องการบุญกุศล ดังนั้นการไหลเรือไฟจึงถือว่า ทำเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธองค์นั่นเอง
Credit : nakhonphanom.go.th
ประเพณีการไหลเรือไฟบางที่เรียกว่า ล่องเรือไฟ, ลอยเรือไฟ หรือ ปล่อยเรือไฟ ซึ่งเป็นลักษณะที่เรือไฟเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ เรือไฟ หรือ เฮือไฟ หมายถึง เรือที่ทำด้วยท่อนของต้นกล้วย ไม้ไผ่หรือวัสดุที่ลอยน้ำ มีโครงสร้างเป็นรูปต่างๆและเมื่อจุดไฟใส่โครงสร้าง เปลวไฟก็จะลุกเป็นรูปร่างตามโครงสร้างนั้น งานประเพณีไหลเรือไฟ นิยมปฏิบัติกันในเทศกาล ออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
Credit : nakhonphanom.go.th
ด้านการประดับตกแต่งเรือไฟ ภายในเรือไฟจะถูกประดับด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อย เรือไฟลงกลางลำน้ำโขง ปัจจุบันได้มีการออกแบบเรือไฟรูปทรงต่างๆ มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ประกอบในการจัดทำและประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟเหล่านี้ลงกลางลำน้ำโขงภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วงแล้ว ก็จะเป็นภาพที่งดงามและติดตาตรึงใจของผู้ที่เข้ามาร่วมงาน ประเพณีไหลเรือไฟนครพนม จะจัดขึ้น ณ บริเวณริมแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม
ประเพณีบุญบั้งไฟ l Boon Bung Fire (Rocket Festival)
Credit : nongkhaiglajaykaw2.blogspot
อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวอีสาน นั่นก็คือ ประเพณีบุญบั้งไฟ โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทางพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชาพระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และท่านมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่พิธีบุญบั้งไฟเพื่อบูชา ฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล และอาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้อีกด้วย
Credit : thaipost
บั้ง ภาษาอีสานแปลว่า ไม้กระบอก บั้งไฟจึงทำจากดอกไม้เพลิงใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ที่อัดดินปืน ดังนั้นเวลาที่จุดระเบิดก็จะพุ่งขึ้นไปในอากาศเป็นการบวงสรวงพญาแถน โดยบั้งไฟจะมีขนาดที่นิยมอยู่ 3 ขนาดคือ “บั้งไฟธรรมดา” บรรจุดินปืนไม่เกิน 12 กิโลกรัม และ “บั้งไฟหมื่น” บรรจุดินปืนเกิน 12 กิโลกรัม และขนาดสุดท้ายก็คือ “บั้งไฟแสน” บรรจุดินปืนถึงขนาด 120 กิโลกรัม
Credit : bloggang
การเสี่ยงทายก็คือ ถ้าหากบั้งไฟพุ่งขึ้นสูง ก็แปลว่าฝนฟ้า ข้าวปลาอาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี แต่ถ้าหากบั้งไฟแตกหรือไม่พุ่งขึ้น ก็หมายความว่าฝนฟ้าจะไม่ตกต้องตามฤดูกาลนั่นเอง สำหรับวันแรกของเทศกาลจะเรียกกันว่า “วันโฮม” ชาวบ้านจะนำเอาบั้งไฟออกมาแห่ตามหมู่บ้าน และในวันที่ 2 ถึงจะนำบั้งไฟไปจุดกันกลางทุ่งนา โดยที่จุดบั้งไฟต้องทำเป็นฐานพาดขึ้นไปบนต้นไม้ใหญ่ แล้วจึงจุดชนวนให้ดินปืนเกิดการระเบิด
ในปัจจุบันได้มีการประกวดความสวยงามและความสูงของบั้งไฟที่จุดขึ้นไปบนท้องฟ้า และหากบั้งไฟอันไหนไม่ยอมพุ่งขึ้นเพราะดินปืนด้าน เจ้าของบั้งไฟก็จะถูกจับโยนลงในโคลนตมกลางทุ่งนาเพื่อเป็นการทำโทษที่สนุกสนานอีกด้วย สำหรับการจัดงานบุญบั้งไฟชาวบ้านยังคงเน้นการจัดตามแบบประเพณีดั้งเดิม คือทำบั้งไฟเองทุกขั้นตอน เพื่อต้องการให้ลูกหลานได้รู้เรียนรู้ถึงวิธีการทำบั้งไฟและเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมให้คงอยู่สืบไป
ประเพณีผีตาโขน Phi Ta Khon Festival
Credit : bangkokbigears
ประเพณีผีตาโขน เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคอีสานของประเทศไทย เป็นเทศกาลที่เกิดขึ้นในเดือน 7 ซึ่งมักจัดมากกว่าสามวัน ระหว่างเดือนมีนาคมและกรกฎาคม โดยแต่ละปีจะถูกกำหนดวันโดยคนทรงประจำเมือง ซึ่งงานบุญประเพณีพื้นบ้านนี้มีชื่อเรียกว่า “บุญหลวง” โดยแบ่งออกเป็นเทศกาลผีตาโขน, ประเพณีบุญบั้งไฟ และงานบุญหลวง หรือ บุญผะเหวด สำหรับการละเล่น “ผีตาโขน” เป็นคำที่เรียกชื่อการละเล่นชนิดหนึ่งที่ผู้เล่นต้องสวมหน้ากากที่วาดหรือแต้มให้หน้ากลัว โดยต้องแต่งชุดผีตาโขนที่ใช้ผ้าเก่า ผ้ามุ้ง หรือใช้เศษผ้านำมาห่อหุ้มร่างกายให้มิดชิด ซึ่งจะร่วมเข้าขบวนแห่และแสดงท่าทางต่างๆระหว่างที่มีประเพณีบุญหลวง โดยถือเป็นงานที่มีบรรยากาศของความสนุกสนานรื่นเริง และมีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศไทย
Credit : bangkokbigears
ผีตาโขน เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจากเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นนิทานชาดกในทางพระพุทธศาสนา ที่ว่าถึง พระเวสสันดรและพระนางมัทรี จะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมืองหลวง และจะมีบรรดาสัตว์ป่ารวมถึงภูติผีที่อาศัยอยู่ในป่านั้นได้ออกมาส่งเสด็จกลับด้วยความอาลัยอาวรณ์ดังนั้นผีเหล่านี้จึงได้พากันแห่แหนแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า ผีตามคน หรือ ผีตาขน จนกลายมาเป็น ผีตาโขน อย่างในปัจจุบันในที่สุด
พิธีวันแรกของเทศกาลผีตาโขน เรียกว่าวันโฮม ขบวนผีตาโขนจะแห่รอบหมู่บ้านตั้งแต่เช้ามืด เป็นการทำพิธีอัญเชิญ “พระอุปคุต” เข้ามาอยู่ที่วัด
วันที่สอง เป็นพิธีการแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง คือสมมติให้วัดเป็นเมือง และจะมีการนำบั้งไฟมาร่วมในขบวนแห่เพื่อทำพิธีขอฝน โดยจะแห่รอบวัด 3 รอบ และมีเหล่าผีตาโขนไปร่วมในขบวนแห่ ซึ่งผีตาโขนในขบวน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ผีตาโขนใหญ่ เป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สาน มีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาสองเท่า มีการตกแต่งรูปร่างด้วยผ้าสีต่างๆ และยังมีผีตาโขนเล็ก คือ การที่ชาวบ้าน ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ จะแต่งตัวและใส่หน้ากากเป็นผีตาโขน ร่วมเดินในขบวนแห่ โดยจะเดินเล่นหยอกล้อกับผู้คนที่มาร่วมงานอย่างสนุกสนาน
วันที่สุดท้ายจะเป็นวันที่ชาวบ้านมานั่งฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ ที่วัดโพนชัย เพื่อเป็นการสร้างกุศลและเป็นมงคลแก่ชีวิต
Credit : camerartmagazine