จากวันนั้น จนวันนี้ยังคงเป็นวันที่เศร้าใจ และยังคงตราตรึงจิตคิดถึงพระองค์ท่านตราบจนทุกวันนี้ ประเทศไทยคือแผ่นดินที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ และมีพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นประมุข โดยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นประวัติความเป็นมาของไทยจึงมีมาอย่างยาวนาน รวมถึงความสวยงามของสถาปัตยกรรมของแต่ละสมัย ที่สร้างไว้ และทะนุบำรุงมาเรื่อยๆจนกลายเป็นมรดกล้ำค่าของปวงชนชาวไทย
ในสมัยรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ทรงร่วมออกแบบ สถาปัตยกรรมไว้อย่างมากมายทั้งสถานที่ วัดวาอาราม รวมทั้งยานพาหนะที่ใช้ในพิธีต่างๆ ด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงให้ความสำคัญอย่างมากกับสถาปัตยกรรม งานออกแบบ และงานศิลปะ โดยพระองค์ทรงถือว่างานเหล่านี้คือพระราชกรณียากิจอย่างหนึ่งที่สร้างสรรค์ออกมาจนกลายเป็นมรดกล้ำค่าของประเทศไทย
ทำให้มรดกล้ำค่าของชาวไทยที่เกิดขึ้นจากพระอัจฉริยภาพที่มีมาตั้งแต่วัยเยาว์ของพระองค์ ได้กลายเป็นผลงานทางด้านสถาปัตยกรรม งานศิลปะ และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆมากมาย ทั้งได้เป็นผู้ออกแบบเอง และเป็นผู้วินิจฉัยร่วมกับเหล่านักออกแบบต่างๆของไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นประวัติและสมบัติอันล้ำค่าที่คนไทยควรจดจำไว้ เพราะสถาปัตยกรรมไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
ดังนั้นนอกจากสถาปัตยกรรมมากมายทั่วโลกที่เรารู้จัก ทั้งความสวยงาม และความเป็นเอกลักษณ์ ก็ยังมีสถาปัตยกรรมไทยที่คนทั่วโลกยกย่อง เราจึงนำผลงานอันทรงคุณค่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงออกแบบ หรือมีส่วนร่วมมาแสดงต่อให้เห็นจากที่ได้แสดงนิทรรศกาลมาแล้ว เพื่อลำลึกถึงพระองค์ท่าน และนำมาฝากแก่คนไทยที่ไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงานการจัดแสดงผลงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงรวบรวมประวัติผลงาน และความสำคัญอย่างสั้นๆเพื่อน้อมลำลึก และเพิ่มความรู้แก่ปวงชนชาวไทย
“พระอุโบสถ วัดโสธรวรารามวรวิหาร”
Cr.www.dosee.in.th
วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ริมแม่น้ำบางปะกง ถือเป็นวัด และสถานที่ทางศาสนาของชาวจังหวัด และของประเทศ เป็นที่รู้จักอย่างดีของชาวไทยทั้งประเทศ จากประวัติความเป็นมา และความศักด์สิทของหลวงพ่อโสธร ทำให้ประชาชนมากมายมีความศรัทธา และเลื่อมใส ใครมีโอกาสก็จะไปเยือนเพื่อความเป็นศิริมงคล ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงเสด็จไปยังวัดแห่งนี้และทอดพระเนตรเห็นหลวงพ่อพุทธโสธร ประทับอยู่พระอุโบสถหลังเก่า พระองค์ทรงพระราชดำริว่า หลวงพ่อโสธรไม่ได้มีที่ตั้งที่สมเกียรติ พระองค์ท่านจึงมีรับสั่งให้สร้างพระอุโบสถให้สมเกียรติกับหลวงพ่อพุทธโสธร ทำให้มีการออกแบบพระอุโบสถขึ้นมาใหม่โดยมีพระองค์ทรงเป็นผู้วินิจฉัย และควบคุมดูแล
การออกแบบพระอุโบสถนั้น ผู้ออกแบบได้ออกแบบประยุกต์ซึ่งไม่ได้อิงตามแบบแผนของเขตพุทธาวาสที่พบเห็นกันทั่วไป แต่ได้ออกแบบอย่างพิเศษ โดยนำพระอุโบสถ จัดวางรวมกับสถานที่ต่างๆของวัดเพื่อการใช้สอย ให้เป็นหลังเดียวกัน ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมใหม่ที่เกิดในรัชกาลที่ ๙ และมีคุณลักษณะตามพระราชวินิจฉัย คือ มีความสง่างาม ประณีต และทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม รวมไปถึงตามพระราชดำริคือ เป็นอาคารที่สร้างอย่างสมเกียรติของหลวงพ่อพุทธโสธร
“พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี”
Cr.www.thai-arch.su.ac.th
หนึ่งผลงานที่สร้างขึ้นอย่างวิจิตร และสวยงามในสมัยรัชกาลที่ ๙ โดยเป็นสถาปัตยกรรมอย่างหนึ่ง ออกแบบโดยอาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี สถาปนิกผู้ถวายงาน โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยผู้ออกแบบได้นำรูปร่าง รูปแบบ และชั้นเชิงของพระเมรุมาศของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ (องค์กลาง) นำมาเป็นแนวทางในการออกแบบพระเมรุมาศให้แก่พระนางเจ้ารำไพพรรณี แต่มีเพียงรูปร่างเท่านั้นที่ใช้ลักษณะเดียวกัน ส่วนการตกแต่งภายใน ลวดลายต่างๆได้ออกแบบ และตกแต่งใหม่ทั้งหมด โดยการตกแต่งได้คำนึงถึงพระราชจริยวัตรในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่สง่างาม นุ่มนวล จึงได้วาดลวดลายอย่างเป็นสีสัน แต่ยังคงความอ่อนหวาน และอ่อนช้อยในลักษณะของสตรี
ลักษณะเด่นชัดของพระเมรุมาศคือ พระเมรุมาศเป็นอาคารทรงปราสาทแบบจตุรมุข ยอดทรงมณฑป ประกอบด้วย พรหมพักตร์ ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฏลเศวตฉัตร ได้สร้างอย่างสมเกียรติ และใช้ในงานพิธีที่สำคัญของประเทศไทย ถือเป็นความสวยงามทางด้านการออกแบบอย่างหนึ่งของไทยในรัชกาลที่ ๙ และมีพระองค์เป็นผู้ดูแล ปัจจุบันพระเมรุมาศได้เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหาชมได้ยาก
“พระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก”
Cr.www.baanruenthai.com
ทรงเป็นอีกหนึ่งผลงานตามแนวพระราชดำริ ให้ทรงออกแบบ และสร้างพระอุโบสถที่เน้นประโยชน์ใช้สอยภายในอาคาร โดยมีพลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น สถาปนิกผู้ถวายงานน้อมรับตามพระราชดำริ มาดำเนินการออกแบบพระอุโบสถ โดยมีการออกแบบที่ใช้สถาปัตยกรรมไทยควบคู่กับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ออกมาเป็นลักษณะตัวอุโบสถสีขาว รูปทรงปูนตามสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความประหยัดของการสร้าง เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และถือเป็นแบบอย่างในการสร้างพระอุโบสถภายในวัดของชุมชน อื่นๆ
“การอนุรักษ์พระพุทธรัตนสถาน”
Cr.www.artbangkok.com
การอนุรักษ์พระพุทธรัตนสถาน คือ พระอุโบสถพระพุทธนิเวศน์แห่งพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ซึ่งเรียกโดยย่อว่าพระพุทธบุษยรัตน์ ซึ่งตั้งอยู่ในสวนศิวาลัย เขตพระราชฐานชั้นกลาง พระบรมมหาราชวัง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาบริเวณสวนศิวาลัยเป็นเขตพุทธาวาส จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระพุทธรัตนสถานเพื่อเป็นพระวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์ และใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศลของฝ่ายใน โดยมีความสำคัญรองลงมาจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพุทธรัตนสถานใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆมาโดยตลอดจนถึงรัชกาลที่ ๙ พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของงานจิตกรรมฝาผนังแบบโบราณ จึงทรงมีพระราชดำรัชว่า “ จิตรกรรมฝาผนังในพระพุทธรัตนสถานนั้น เนื้อเรื่องมิได้เกี่ยวข้องกับพระพุทธรัตนสถาน ซึ่งคติช่างไทยแต่โบราณจะกำหนดภาพเขียนให้มีความสัมพันธ์กับประวัติและความสำคัญของอาคาร แนวศิลปกรรมและการใช้สีขัดแย้งกับภาพจิตรกรรมตอนบนที่เขียนเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ อันเป็นการเขียนภาพแบบไทยประเพณี สมควรรักษาแนวคิดของช่างโบราณ” ทำให้หลังจากวันนั้นนายนิคม มุสิกะคามะ อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้นจึงได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับแนวทางการเขียนภาพโดยมีสาระสำคัญคือ “ขอให้รักษาลักษณะศิลปะอย่างกระบวนการช่างแต่โบราณ ยึดความถูกต้องตามข้อมูลที่เป็นจริง และไม่ควรสร้างสิ่งผิดให้ปรากฏ”
Cr.download.clib.psu.ac.th
โดยพระพุทธรัตนสถาน เป็นอาคารชั้นเดียว ยกพื้นสูง แบ่งเป็น ๓ ระดับ หลังคาทรงไทย ลงมุขทั้งทางด้านทิศตะวันออก และด้านทิศตะวันตก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี บริเวณผนังประดับด้วยหินอ่อนสีเทา หลังจากนั้นได้มีการบูรณะซ่อมแซม และสนองตามพระราชดำริของรัชกาลที่ ๙ ในการดำเนินการอนุรักษ์และเขียนภาพจิตรกรรมบนพื้นผนังระหว่างช่องพระบัญชรทั้ง ๘ ผนัง ภายในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน โดยรายละเอียดของภาพแสดงถึงเรื่องราวความเป็นมาในอดีตในยุครัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัย ออกแบบภาพบนฝาผนังอย่างละเอียดด้วยพระองค์เอง ทำให้ได้จิตกรรมฝาผนังที่คงการเขียนแบบเดิม และเป็นผลงานทางด้านการออกแบบของไทยที่มีรัชกาลที่ ๙ เป็นผู้ออกแบบ ถือเป็นมรดกอันล้ำค่าของไทยที่หามีที่ใดมาเปรียบได้
“ศาลหลักเมือง”
Cr.www.panoramio.com
เป็นสถานที่ที่รู้จักกันดีสำหรับชาวกรุงเทพฯ เป็นสถานที่สำคัญที่รวมความศรัทธาไว้ แต่เป็นอีกหนึ่งผลงานทางด้านสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าตามแนวพระราชดำริ และพระมหากษัตรย์ในรัชกาลที่ ๙ เป็นผู้วินิจฉัย และดูแลการออกแบบ โดยมีพลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น เป็นสถาปนิกผู้รับการถวายงาน
ศาลหลักเมืองหลังใหม่นี้มีลักษณะการออกแบบตามสถาปัตยกรรมในยุครัชกาลที่ ๔ มีลักษณะเป็นอาคารเครื่องปูนทรงยอดปรางค์ มีมุขยื่นทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีหลังคาซ้อน 2 ชั้น และมีการฝังมุขอีกด้านละ 1 ชั้น มีหลังคากันสาดโดยรอบ และเครื่องมุงประดับกระเบื้องเคลือบ ลักษณะศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากวัดเฉลิมพระเกียรติ โดยมีช่อฟ้าเป็นแบบนกเจ้า ซึ่งเป็นศิลปกรรมที่เป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 4
นอกจากนี้ใบระกานั้นทำเป็นลายช่อหางโตแทนลายใบเทศ หน้าบันเป็นรูปดอกพุดตานประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ พื้นลายสีเหลือง ตัวดอกและช่อลายสลับสี มีโครงสร้างที่ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก บริเวณผนังบุหินอ่อน มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ออกแบบบริเวณพื้นโดยยกระดับโดยรอบ บุด้วยหินอ่อน และมีพนักระเบียงหินอ่อนโดยรอบ นอกจากนี้ยังใช้มุขพักระเบียงประดับ และเสาหัวเม็ดทำด้วยหินอ่อนเช่นเดียวกับบริเวณอื่นๆ ทำให้ศาลหลักเมืองมีความสวยงาม อ่อนช้อยตามแบบไทยเดิมในรัชกาลที่ ๔ และตามประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๙
“ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”
Cr.www.nppao.go.th
ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของไทย ที่จารึกบุคคลสำคัญไว้ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงให้ นายประเวศ ลิมปรังษี สถาปนิกได้รับใช้ถวายงานออกแบบ โดยได้มีการออกแบบศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีการออกแบบอย่างสมเกียรติ และคำนึงถึงความหมายของพระนเรศวร โดยมีรูปแบบอาคารที่มีลักษณะคล้ายหอพระ หรือ ศาลที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทย ตัวศาลเป็นอาคารไม้ทรงไทย ผู้ออกแบบได้ออกแบบตกแต่งอาคารอย่างมีความหมาย โดยใช้รูปแบบของเครื่องศาสตราวุธและเครื่องทรงที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้ในการศึกครั้งสำคัญเป็นองค์ประกอบหลักในการตกแต่งหน้าบัน เป็นรูปพระแสงของ้าวไขว้กับพระแสงดาบคาบค่าย
เหนือขึ้นไปเป็นรูปพระมาลาเบี่ยง ประดับตกแต่งปิดทองลายเพดานและดาวเพดานภายในศาลและเพดานปีกนก ภายในศาลประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประทับยืนขนาดเท่าองค์จริง โดยศาลสมเด็จพระนเรศวรได้สร้างขึ้นที่จังหวัดหนองบัวลำพู และมีความสำคัญทั้งทางสถาปัตยกรรม และทางประวัติความเป็นมาของชาติไทย ดังนั้นถือเป็นสถานที่สำคัญอีกหนึ่งที่ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๙
“พระมหาธาตุ เฉลิมราชศรัทธา”
Cr.www.oknation.nationtv.tv
สถาปัตยกรรมไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนร่วมในการทรงงานการออกแบบ และวินิจฉัยไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยแต่ยังเป็นสถานที่สำคัญที่ได้จัดออกแบบ และสร้างไว้ในต่างแดนนั่นคือ “พระมหาธาตุ เฉลิมราชศรัทธา” ซึ่งอยู่ที่ รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย โดยมีวนิดา พึ่งสุนทร เป็นสถาปนิกผู้รับการถวายงาน ถือเป็นสถาปัตยกรรมไทยในต่างแดนที่เป็นมรดกล้ำค่าของคนไทย สร้างชื่อเสียงอย่างมากแก่สถาปัตยกรรมไทย โดยพระมหาเจดีย์องค์นี้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมผสมผสาน มีลักษณะเด่นตามแบบสถาปัตยกรรมไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยลงมาจวบจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งประกอบด้วยการใช้บัวฝาละมีซ้อนสามชั้นเป็นส่วนรับเรือนธาตุ อันเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยสุโขทัย
มีการใช้เรือนธาตุแบบระฆังคว่ำ มีแนวบัวรอบปากระฆัง ซึ่งพบมากในสมัยอยุธยา และการใช้ปลียอดเป็นแบบบัวกลุ่มซ้อนชั้น อันเป็นลักษณะเด่นของสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีเจดีย์ประธานขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ส่วนปลายยอดเป็นฉัตรโลหะหล่อ 9 ชั้น ล้อมด้วยเจดีย์ขนาดเล็กบนมุขหลังคาซุ้มพระ 8 ยอด รวมเป็นพระเจดีย์เก้ายอด องค์ระฆังของเจดีย์ทั้งเก้ายอดประดับด้วยโมเสกสีทองทั้งหมด ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่ออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์ ผสมผสานศิลปะของไทยในแต่ละสมัยไว้อย่างชัดเจน จนเกิดความสวยงามอย่างหาที่ติไม่ได้ ซึ่งสมพระเกียรติที่มีพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นผู้วินิจฉัย
“พระอุโบสถวัดพุทธประทีป”
Cr.www.artbangkok.com
เป็นอีกหนึ่งผลงานด้านการออกแบบอุโบสถของวัดไทย ในต่างประเทศ ซึ่งพระอุโบสถวัดพุทธประทีปตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีประเวศ ลิมปรังษี สถาปนิกผู้รับการถวายงานได้เป็นผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมไทย หรือพระอุโบสถในต่างแดน ในช่วยสมัยรัชกาลที่ ๙ ผู้ออกแบบได้เน้นการประยุกต์รูปแบบ และระบบการก่อสร้างอาคารที่เหมาะสมกับสภาพที่ตั้ง และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศของประเทสอังกฤษที่มีความหนาวเย็น โดยใช้ผังพื้นรูปแบบโบสถ์ฝรั่ง และดัดแปลงหลังคาบางส่วนให้มีศิลปะแบบวัดไทย โดยสำหรับชาวไทยยังคงเป็นพระอุโบสถที่ธรรมดา แต่ตั้งอยู่ในแดนไกลเพื่อเป็นตัวถ่ายทอดความสวยงามของสถาปัตยกรรม หรือวัดไทยในต่างแดนให้คนไทยแดนไกลได้เห็น โดยสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๙
“อาคารประดิษฐานพระบรมรูป พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”
Cr.www.artbangkok.com
ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ขาดไม่ได้ในรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นอาคารประดิษฐานพระบรมรูป พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หรือรัชกาลที่ ๙ สร้างขึ้นที่ รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย โดยมี วนิดา พึ่งสุนทร เป็นผู้ออกแบบ
แบบทางสถาปัตยกรรมได้ถูกร่างให้สอดคล้องกับความสูงของพระบรมรูปที่มีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเพื่อความสง่างาม โดยมีการผสมผสานศิลปสถาปัตยกรรมของไทยและอินเดียเข้าด้วยกัน ผังอาคารเป็นผังพื้นแปดเหลี่ยมรับกับฐานภายใน ซึ่งรองรับองค์พระบรมรูปบรอนซ์ทอง ประทับยืนฉลองพระองค์ด้วยชุดกองทัพไทย ขนาดสูง 2.30 เมตร การตกแต่งอาคารภายในวาดภาพจิตรกรรมภายใต้โดมกลีบมะเฟืองหินอ่อนเป็นภาพฉัตรเก้าชั้น มีพระปรมาภิไธยย่อ ลอยเด่นอยู่เหนือฉัตร แสดงถึงความสง่างาม บ่งบอกได้ว่าพระองค์เป็นที่รักของคนทั่วโลกนั่นเอง
สถาปัตยกรรมไทยถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงให้ความสำคัญ ซึ่งจากที่นำเสนอมา ถือเป็นความรู้เพียงบางส่วน แต่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามอย่างไม่มีที่ใดเหมือน ศิลปะ งานออกแบบ และสถาปัตยกรรมไทยยังคงใช้ในงานชั้นสูง และเหล่าราชวงศ์ ยังคงเป็นที่เลื่องลือไกลในทั่วทุกแดนทั้งการออกแบบภายใน และการออกแบบภายใน ผลงานในรัชกาลที่ ๙ ถือเป็นสิ่งที่น่าจดจำของคนทั่วแผ่นดิน
ดังนั้นบริษัทบาริโอ ขอมอบบทความดีๆ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่คนรักการออกแบบตกแต่งภายใน คนรักประเทศไทย ความเป็นไทย และสถาปัตยกรรมไทย ซึ่ง ๙ สถาปัตยกรรมนิคงตราตรึงจิตสำหรับคนไทยอย่างล้ำค่า และภาคภูมิใน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.manager.co.th
www.artbangkok.com