สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อคิดจะออกแบบบ้านให้กับผู้สูงอายุ
บันได
บันไดควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1. 5 เมตร มีชานพักให้ผู้สูงอายุ และมีจมูกบันไดที่มีสีแตกต่างกันจากพื้นผิวเดิม พื้นบันไดไม่ควรขัดเงาหรือทำให้มีลักษณะเลื่อนเพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แล้วควรมีราวบันไดให้จับยื่นออกมา ราว 30 ซม. เพื่อความสะดวกในการขึ้นบันได แต่สำหรับบียอนแนะนำว่าถ้าจะสร้างให้ผู้สูงอายุจริงๆควรเป็นบ้านชั้นเดียว หรือถ้าเป็น2ชั้นก็อาจจะเสริมห้องนอนชั้นล่างเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากบันไดได้ครับ
ราวจับ
ติดราวจับตลอดการสัญจรตลอดบริเวณบ้าน นอกจากเป็นทียึดเกาะแล้ว ยังเป็นการฝึกให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองและเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ตัวราวจับควรมีผิวเรียบจะเป็นอะลูมิเนียมหรือสแตนเลสก็ได้ ติดตั้งสูงจากพื้นราว 80 – 90 เซนติเมตร ติดห่างจากผนังราว 5 เซนติเมตร
ทางลาด
หลาย ๆ คนมักเลือกจะทำขั้นบันไดเล็ก ๆ ไว้ตามทางเดินหน้าบ้านหรือหลังบ้านเพียงอย่างเดียว แต่ลืมที่จะสร้างทางลาดเอาไว้ด้วย ทั้ง ๆ ที่ทางลาดก็มีความสำคัญไม่น้อยสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น ทางลาดควรมีความกว้างอย่างน้อย 90 ซม. แต่ถ้าหากทางลาดมีความยาวเกิน 5 -6 เมตรขึ้นไป ควรมีชานพักไว้ด้วยจะทำให้ผู้สูงอายุไม่เหนื่อยมากนัก
ทางเดินภายในบ้าน
ทางเดินหลักในบ้านอาจจะดูว่าเป็นเรื่องง่ายๆแต่จริงแล้วถือเป็นหัวใจสำคัญ ควรมีความกว้าง 90 ซม. หรือในกรณีที่บ้านมีผู้สูงอายุที่ต้องใช้วีลแชร์ จำเป็นต้องมีความกว้าง 1.5เมตร เผื่อสำหรับการหมุนตัวของรถเข็น ไม่ควรทำพื้นต่างระดับหรือมีธรณีประตูเพราะจะเสี่ยงต่อการสะดุด หรือหกล้มเกิดอุบัติเหตุได้ครับ วัสดุปูพื้นควรมีลักษณะหยาบไม่ลื่น อาทิ กระเบื้องยาง หินขัด เป็นต้น
ห้องน้ำ
ห้องน้ำถือเป็นห้องที่ต้องระวังมากที่สุดเพราะมักเกิดอุบัติเหตุจากการลื่นล้มของคนชราอยู่บ่อยครั้ง ควรมีพื้นกันลื่นและเรียบเสมอกันไม่มีธรณีประตู แยกพื้นที่อาบน้ำที่เป็นส่วนเปียกออกจากส่วนแห้งเพื่อกันน้ำกระเด็นลื่น แต่ต้องไม่แบ่งพื้นที่จนเข้าถึงยากจนเกินไป
ห้องนั่งเล่น
เป็นพื้นที่ใช้งานของผู้สูงอายุเกือบตลอดวัน ห้องนี้จึงควรอยู่ในทิศเหนือเพื่อได้รับแสงสว่างตลอดวัน แต่ไม่มีแสงแดด และมีพื้นที่ต่อเนื่องกับทิศใต้เพื่อรับลมประจำได้ตลอดปี บานหน้าต่างควรอยู่สูงจากพื้นไม่มากนัก เพื่อให้แสงเข้าได้ดี และสามารถมองเห็นทิวทัศน์นอกบ้านได้ หาแจกันใส่ดอกไม้วางที่โต๊ะเพื่อกระตุ้นให้รู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ
ประตู
ประตูควรมีขนาดกว้างสักหน่อย เพราะมันจะช่วยให้คุณขนย้ายเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ เช่น โซฟา เตียงนอน และ โต๊ะอาหาร ได้ง่ายดายยิ่งขึ้นแล้ว มันยังสะดวกต่อคนชราหรือคนพิการที่จำเป็นต้องนั่งรถเข็นอีกด้วยครับ ลักษณะประตูควรเป็นบานเลื่อนหรือประตูเปิด – ปิด เพื่อง่ายต่อการใช้งาน และควรมีน้ำหนักเบา เป็นแบบดึงหรือดัน จะสะดวกกว่าขนาดของประตูที่เหมาะสมควรกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตรเพื่อให้เข้าออกสะดวกครับ
เฟอร์นิเจอร์และการตกแต่ง
ควรมีความสูงที่เหมาะสมสะดวกต่อการใช้งาน ไม่ควรวางต่ำจนต้องก้มหรือวางสูงคนต้องเขย่งขา เตียงหรือเก้าอี้ควรมีความสูงระดับ หัวเข่า สิ่งแวดล้อมภายในบ้านอาทิ พื้นบ้านไม่ควรปูกระเบื้องลวดลายจนเกินไปเพราะอาจทำให้มึนงง สับสน ควรใช้สีพื้นอ่อนๆ ให้ตัดกับสีผนัง เพื่อให้คนชราสามารถแยกแยะได้ครับ
สำหรับการออกแบบบ้านผู้สูงอายุก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพียงแต่เราต้องใส่ใจในรายละเอียดให้มาก เพราะคนชราการเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมต่างๆอาจจะช้าลง และทำให้ได้ไม่ค่อยสะดวกสักเท่าไร เราจึงต้องออกแบบตกแต่งบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ท่าน แต่เหนือสิ่งอื่นใด นอกจากการเอาใจใส่ในรายละเอียดบ้านแล้ว เราก็ต้องไม่ลืมที่จะเอาใจใส่คนชรากันให้มากๆด้วยนะครับ บ้านจะได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น แล้วพบกันใหม่กับเรื่องราวดีๆแบบนี้เช่นเคยนะครับ สำหรับวันนี้บียอนขอไปเสาะหาเรื่องราวดีๆก่อน สวัสดีครับ ^^
ขอขอบคุณ
นิตยสารRoom pinterest.com
|