ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ หลายบ้านจึงจัดมุมห้องพระไว้ภายในบ้าน เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคล ทำให้รู้สึกสงบอบอุ่น และปลอดภัย ของคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน (เป็นความเชื่อเฉพาะบุคคล) แต่การจัดห้องพระใช่ว่าอยากจัดวางมุมไหนก็ได้ ควรคำนึงถึงตำแหน่ง และขนาดของห้องพระด้วย เพราะคนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าถ้าจัดห้องพระที่ดี จะยิ่งช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลภายในบ้านได้
การเลือกตำแหน่งของห้องพระ
สำหรับใครที่กำลังหาตำแหน่งวางห้องพระอยู่ Karuntee มีหลักในการเลือกมาให้ดูเป็นตัวอย่างค่ะ
1. ห้องพระควรจัดวางอยู่ชั้นบนของบ้าน เพราะพระถือเป็นของสูง เป็นแหล่งรวมความศรัทธาและที่สักการบูชาของคนในบ้าน การวางห้องพระในตำแหน่งที่ต่ำกว่าบริเวณที่คนอยู่อาศัยถือเป็นเรื่องไม่เป็นมงคล ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะวางห้องพระที่ชั้นล่างของบ้านไม่ได้ แต่การวางชั้นล่างมีข้อจำกัดเยอะ เช่น ห้องพระที่จัดไว้ชั้นล่างควรจะเป็นห้องว่าง และชั้นข้างบนต้องไม่ใช่ห้องนอนหรือห้องน้ำ
2. ไม่ควรวางห้องพระไว้หน้าห้องน้ำ และห้ามติดกับห้องส้วม เหตุผลในเชิงฮวงจุ้ยบอกว่า ห้องส้วมเป็นธาตุน้ำ ห้องพระเป็นธาตุไฟ ตามกฎเบญจธาตุ ( 5 ธาตุ) ธาตุน้ำพิฆาตธาตุไฟ หากวางห้องพระไว้ใกล้กับห้องน้ำจะทำให้ความศักดิ์สิทธ์ของพระเสื่อมลงได้
3. ห้องพระควรอยู่ในตำแหน่งที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพราะตามหลักของการบูชาพระ คือ มีการจุดธูป เทียน ห้องพระจึงควรมีหน้าต่างเพื่อถ่ายเทอากาศ หรืออาจลดขั้นตอนและอันตรายจากการเกิดไฟไหม้ (สาเหตุจากการจุดธูปเทียน) ในปัจจุบันมี ธูป เทียน แบบไฟฟ้าจำหน่ายแล้ว ซึ่งเหมาะกับห้องพระที่ไม่มีช่องระบายอากาศ
4. ห้องพระที่ติดกับห้องนอน ควรระวังเรื่องการวางเตียง อย่าให้ปลายเตียงหันไปทางห้องพระ ส่วนในกรณีที่วางหัวเตียงชนกับห้องพระ ควรดูว่าตำแหน่งขององค์พระหรือโต๊ะหมู่บูชาติดกับหัวเตียงหรือไม่ เพราะเชื่อว่าอาจทำให้ปวดหัวและนอนไม่ค่อยหลับ (เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล)
5. ห้องพระควรอยู่ในที่สงบ เพราะเป็นมุมที่สมาชิกภายในบ้านมักมานั่งปฏิบัติธรรมและนั่งสมาธิ หากห้องพระมีความสงบ ไม่มีสิ่งใดมารบกวน ก็จะทำให้เราฝึกจิต สร้างสมาธิได้ง่ายขึ้น
6.ห้องพระควรหันทิศไปทางตะวันออก หรือทิศเหนือ เนื่องจากเป็นทิศมงคลในการวางพระพุทธรูป เนื่องจากชื่อของทิศที่มีคำว่า “ใต้” กับ “ตก” ปนอยู่ในคำว่าทิศ จะฟังดูแล้วไม่เป็นมงคล จึงไม่หันหน้าพระไปยังทิศนี้
7.สำหรับบ้านไหนที่มีพื้นที่จำกัด อาจปรับหรือตกแต่งผนังด้านใดด้านหนึ่งประดิษฐานหิ้งบูชาพระ ยกสเตปของหิ้งให้ลดหลั่นเลียนแบบโต๊ะหมู่บูชา จัดวางลิ้นชักบริเวณใกล้เคียง เพื่อเก็บอุปกรณ์บูชา เช่น ธูป เทียน ดอกไม้แห้ง เป็นต้น หรืออาจเติมไฟดาวน์ไลท์ สร้างบรรยากาศให้ดูน่าเลื่อมใส น่าศรัทธามากขึ้น
วิธีการจัดตั้งที่บูชาในห้องพระ
หลังจากที่เลือกตำแหน่งห้องพระได้แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก็คือการจัดที่ตั้งบูชา โดยปัจจุบัน นิยมกันอยู่ 2 แนวทาง คือ
1.การจัดที่ตั้งบูชาแบบประเพณีนิยม เป็นการใช้โต๊ะหมู่บูชาที่มีขนาดหลากหลายหรือลดลั่นกันตามความสำคัญ โดยแบ่งเป็นหมู่ 5 หมู่ 7 หมู่ 9 หรือแล้วแต่จำนวนของพระพุทธรูปที่ศรัทธา
2.การจัดโต๊ะหมู่บูชาแบบทันสมัยการจัดแบบนี้จะขึ้นอยู่กับความชอบของเจ้าบ้าน แต่ส่วนใหญ่จะเน้นให้มีลักษณะเป็นชั้นๆ แบบอัฒจันทร์ เรียงลำดับกันลงมา เพราะสามารถวางพระพุทธรูปได้เยอะกว่าโต๊ะหมู่บูชา ทั้งยังทำความสะอาดได้ง่าย เคลื่อนย้ายสะดวกอีกด้วย
การวางพระ
ด้านการจัดวางพระที่เหมาะสม ควรลำดับความสำคัญ จากมากไปน้อย สูงลงต่ำ ดังวิธีการต่อไปนี้
1. ตำแหน่งของพระพุทธรูปควรวางไว้อยู่สูงสุด
2. ลดหลั่นลงมาเป็นพระสาวก อาทิ พระสังกัจจายน์ พระสิวลี ( อริยสงฆ์ )
3. สำหรับบ้านไหนที่บูชาองค์เทพอื่นๆ เช่น พระโพธิสัตว์กวนอิม พระแม่ศรีอุมาเทวี หรือพระพิฆเนศ ขอแนะนำให้จัดวางไว้ในพื้นที่ต่ำสุด หรืออาจแยกออกมาจากโต๊ะหมู่บูชาพระก็ได้เช่นกัน
4. ทางด้านบรรพบุรุษต่างๆ หากแยกออกจากโต๊ะบูชาก็จะเป็นการดี ซึ่งการวางแยกโต๊ะก็ควรให้อยู่ต่ำกว่าองค์พระประธาน เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าอยู่สูงกว่า หรือวางเท่ากัน จะทำให้บรรพบุรุษไม่มีความสงบสุข
การจัดตกแต่งห้องพระ
เพื่อให้บรรยากาศภายในห้องพระเต็มไปด้วยความน่าเลื่อมใสและศรัทธา ควรเน้นการตกแต่งให้ดูปลอดโปร่ง โล่ง พร้อมทั้งเข้ามาใช้งานแล้วรู้สึกสบายกาย สบายใจ โดยเน้นการเล่นโทนสีขาวหรือสีอ่อนๆ ให้ห้องดูสะอาดตา และควรให้ความสำคัญกับการออกแบบเครื่องใช้ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในห้องด้วย เช่น ตู้เก็บของ การจัดไฟ เป็นต้น ซึ่งจะต้องเหมาะสมและมีความกลมกลืนกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและดูไม่โดดไปจากส่วนอื่นๆ ถือเป็นอีกวิธีที่ช่วยสร้างความสงบ และทำให้มีสมาธิมากขึ้น ที่สำคัญยังดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ในขณะเดียวกันห้องพระอย่างควรหมั่นทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงควรเปิดไฟส่องสว่างองค์พระประธานอยู่ตลอด เพื่อเสริมความเป็นมงคลนั่นเอง
การรวมห้องพระไว้ในบริเวณอื่นๆ ของบ้าน
สำหรับบ้านพื้นที่ใช้สอยน้อย Karuntee มีวิธีการนำห้องพระไปจัดรวมกับมุมอื่นๆ ภายในบ้าน ซึ่งถือเป็นการตกแต่งที่ทำได้ ไม่ผิดหลักการค่ะ
โถงบันไดและห้องพระ
หลายบ้านมักใช้พื้นที่ถัดจากบันไดชั้นสองปรับเปลี่ยนเป็นห้องนั่งเล่น มุมหนังสือ หรือห้องอเนกประสงค์ หากอยากจะเพิ่มเติมมุมห้องพระไว้ด้วยกัน อาจออกแบบเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อถึงกันได้ แต่มีการแบ่งสัดส่วนที่ชัดเจน โดยต่อเติมประตูสำหรับเปิด-ปิด เพื่อการใช้งานที่เป็นส่วนตัวและกั้นสิ่งรบกวนจากภายนอก ส่วนบ้านไหนที่มีชานพักบันไดกว้างขวางพอสมควร ลองหาสตูลสูงๆ สำหรับไว้ประดิษฐานพระพุทธรูป และเลือกเพิ่มแสงไฟเฉพาะจุด ช่วยเพิ่มความแวววาวสวยงาม น่าเลื่อมใส
ห้องพระในห้องนอน
ในห้องนอนก็สามารถกั้นพื้นที่เป็นมุมห้องพระได้ด้วย แต่ต้องระวังไม่หันปลายเท้าไปทางองค์พระ และไม่ควรอยู่ในตำแหน่งที่ติดกับห้องน้ำ
ห้องทำงานและห้องพระ
สำหรับห้องทำงานเป็นมุมที่ต้องการสมาธิอยู่แล้ว เมื่อนำสองส่วนมารวมกันจะยิ่งทำให้ดูสงบมากขึ้น ซึ่งมุมนี้ควรจัดวางโต๊ะหมู่บูชาที่มีรูปทรงเรียบง่ายแต่ทันสมัย เพราะจะช่วยเติมความสวยเท่ดูและเหมาะกับการใช้งานยุคใหม่ได้มากขึ้น
พื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์และห้องพระ
สำหรับพื้นที่นั่งเล่นในสวนที่มีต้นไม้สีเขียวสบายตา อาจยกพื้นพื้นที่ส่วนแรกให้สูงกว่าระดับปกติประมาณ 25-30 เซนติเมตร พร้อมทั้งออกแบบตู้ตัวเตี้ยสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป และมีตู้สูงสำหรับจัดวางของใช้ต่าง ๆ
ระเบียงที่เชื่อมต่อกับห้องนอนและห้องพระ
สำหรับบ้านที่มีระเบียงบ้านเชื่อต่อกับห้องนอนแต่ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์มากนัก สามารถนำมาตกแต่งเป็นห้องพระได้ โดยติดตประตูบานกระจกบานเลื่อนเพื่อกั้นบริเวณกับห้องนอน ใช้แท่นประดิษฐานแบบลอยตัวขนาดพอดีกับพื้นที่ในความสูงลดหลั่นกัน พร้อมกับลิ้นชักเก็บของเพื่ออำนวยความสะดวกและทำให้มุมนี้ดูเป็นระเบียบมากขึ้น ในเรื่องการจัดวางห้องพระภายในบ้าน ถือเป็นความเชื่อและความศรัทธาของแต่ละบุคคล ใครคิดว่าตกแต่งห้องพระแล้วทำให้รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยขึ้นก็ทำเถอะค่ะ สำหรับใครที่ไม่เชื่อแต่ก็ไม่ลบหลู่ ก็โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยนะคะ
ข้อมูลบางส่วนจาก
baanlaesuan.com
รูปภาพจาก pinterest.com
|