home
about bareo
news & event
art of design
decor guide
the gallery
living young
talk to editor
links
 
 

 

 

               กลับมาอีกครั้ง สำหรับเรื่องภาคต่อ... พูดแล้วก็อายนิดๆ เพราะโดยปกติ ถ้าเป็นหนังภาคต่อ ก็ต้องเป็นหนังทำเงินใช่มั้ยค่ะ แต่สำหรับรำเพย เรื่องภาคต่อ มักจะเป็นเรื่องที่โม้ไว้ไม่เสร็จ ยังคุยไม่หมด เลยต้องเขียนภาคต่อให้อ่านกันให้หมดเปลือกกันไปเลยล่ะค่ะ

               ความเดิมของตอนที่แล้ว รำเพยได้โม้ไปมากถึงโคมไฟตั้งโต๊ะกับตั้งพื้น ซึ่งมักจะเป็นพระเอกยามรัตติกาลของงานออกแบบของรำเพยเสมอ (ฟังดูเหมือนโซโร หรือ มนุษย์ค้างคาวเลยเนอะ...อิอิ) และถ้าเจ้าโคมทั้งสองประเภทนั้นเป็นพระเอกยามดึกของรำเพยล่ะก้อ (ฟังดูเหมือนพระเอกวัยดึกหรืออายุมากยังไงไม่รู้ แต่อย่าเข้าใจผิดนะคะ รำเพยหมายถึงฮีโร่ที่ชอบมาโชว์ออฟหลังพระอาทิตย์ตกดินค่ะ) รำเพยคงยินดีที่จะแต่งตั้งเจ้าโคมไฟ Chandelier เป็นนางเอกแสนสวยของเรื่องอย่างแน่นอนค่ะ

               ก่อนที่จะแนะนำนางเอกของเรา รำเพยอยากจะอธิบายย้อนไปนิดนึงว่า แสงที่เราใช้ภายในบ้าน และตามสถานที่ต่างๆ มักจะประกอบไปด้วย Ambient Light หรือแสงสว่างทั่วไป ซึ่งถ้าเป็นตอนกลางวัน เรามักจะหมายถึงแสงจากดวงอาทิตย์ ที่ลอดหน้าต่างหรือผ่านผ้าม่านเข้ามา แสงนี้จะผ่านเข้ามาในปริมาณมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับนักออกแบบที่จะเป็นคนกำหนดตามความเหมาะสมของการใช้งานทั่วไปในแต่ละพื้นที่

 

 
   
 

 

 

               แต่พอตกกลางคืน แสง Ambient ที่มาจากดวงอาทิตย์ก็จะหายไป เราก็จะใช้แสง artificial ที่มาจากดวงโคม Down Light เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแสงประเภทนี้ จะให้ความสว่างกระจายไปทั่วทั้งห้อง และจะให้เงาที่ขอบไม่ชัดนัก เหมาะสำหรับการทำกิจกรรมโดยทั่วไป

               อย่างไรก็ดี หากเราต้องการนั่งทำงาน หรือมีกิจกรรมใดๆ ที่ต้องใช้แสงสว่างที่มากขึ้น เราจำเป็นต้องใช้แสงประเภท Functional Lighting เข้ามาช่วย โดยแสงประเภทนี้ จะเป็นแสงที่ให้ความเข้มของแสงมากกว่า และกินไฟมากกว่า ดังนั้น เราจึงมักจะออกแบบให้อยู่ตามจุดสำคัญต่างๆ ที่เราจะใช้งาน เพื่อให้ประหยัดไฟ และยังทำให้เกิดมิติของแสงอีกด้วย ซึ่งโคมที่มักจะมีบทบาทในแสงประเภทนี้ มักจะเป็นโคมตั้งโต๊ะและโคมตั้งพื้นเป็นหลัก สำหรับผู้ที่ต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาไปตามนี้นะคะ

               ทีนี้ เคยมีลูกค้าบางท่าน ถามมาว่า แล้วอย่างนี้ แทนที่เราจะออกแบบไฟให้มันยุ่งยาก เราใช้วิธีติดตั้งไฟดาวน์ไลท์ให้สว่างมากๆ ทั้งบ้านเลยได้หรือไม่ รำเพยก็เลยขออนุญาตตอบตรงนี้เลยนะคะว่า ทำได้ หากต้องการ แต่นอกจากจะเปลืองไฟโดยไม่จำเป็นแล้ว สิ่งที่ตามมา คือ บ้านก็จะค่อนข้างแบน เพราะแสงมันสว่างเท่ากันไปหมด เหมือนกับบ้านตึกแถวสมัยก่อน ที่นิยมติดหลอดฟลูออเรสเซนต์ทั้งหลัง ทำให้เราหาจุดเด่นของงานตกแต่งภายในไม่เจอ และทำให้บ้านขาดเสน่ห์ในตอนกลางคืนไปค่ะ

 

 
   
 

 

 

               เอาล่ะคะ กลับมาว่ากันต่อถึงไฟประเภทสุดท้าย หรือ Decorating Lighting หรือไฟตกแต่ง ซึ่งไฟประเภทนี้ จะมีหน้าที่เป็นจุดเด่น หรือจุดรวมสายตาของห้อง และทำให้ห้องหรือพื้นที่นั้นๆ มีความสวยงามมากขึ้น เช่นเดียวกับนางเอกของภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่จะต้องงดงาม โดดเด่น เหนือใคร

               คราวนี้ เรามารู้จักนางเอกแสนสวยของเรากันดีกว่า สำหรับตอนนี้ รำเพยขอแนะนำ นิโคล คิดแมน เอ๊ย...ไม่ใช่ ขอแนะนำไฟ Chandelier หรือโคมไฟระย้ากันค่ะ

               เมื่อเราพูดถึงโคมไฟ Chandelier เราอาจจะนึกถึงโคมไฟขนาดใหญ่ที่ห้อยลงมาจากฝ้าเพดานกลางห้อง มีคริสตัลประทับชิ้นเล็กชิ้นน้อย ดูหรูหรา อลังการ ราคาแพงมหาศาล เล่นเอาเจ้าของบ้านหลายท่านบ่นกันอุบเวลาไปเลือกซื้อไฟชนิดนี้

               สำหรับไฟ Chandelier นี้ มีประวัติเก่าแก่ยาวนานมากเชียวค่ะ โดยเริ่มในยุโรปตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 6 (แต่ไม่รู้ว่าประเทศไหน เพราะนานไป และไม่มีใครจดบันทึกไว้) ซึ่งแรกเริ่มเดิมที ในสถานที่ใหญ่ๆ ที่สำคัญต่างๆ เช่นโบสถ์ หรือวิหาร และพระราชวัง มักจะมีปัญหาเรื่องของแสงสว่างไม่พอ ทำใช้งานในตอนกลางคืนได้ไม่ดี จะใช้แค่เทียนไขที่ติดไว้ตามผนัง ตรงส่วนกลางๆ ก็จะมืด จึงได้มีการคิดค้นชุดอุปกรณ์สำหรับวางแหล่งกำเนิดแสงแบบต่างๆ จำนวนหลายๆ ชิ้น มารวมกันเพื่อเพิ่มความสว่าง ให้ห้อยลงมาจากกลางเพดาน โดยเจ้าอุปกรณ์ที่ว่านี้ มักจะทำจากโลหะ โดยมีชื่อเรียกว่า Polycandelon ซึ่งว่ากันว่าเป็นต้นฉบับของโคม Chandelier ในยุคต่อมาค่ะ

 

 
   
 

 

 

               ต่อมา เมื่อการแก้ปัญหาเรื่องแสงสว่างด้วยวิธีนี้ได้ผลดี สำหรับอาคารใหญ่ๆ ก็เลยมีการดัดแปลงให้สามารถนำมาใช้กับอาคารที่มีขนาดย่อมลงมาด้วย โดยมีการนำเอาแท่งไม้สองแท่งมีไขว้กันเป็นกากบาท และแขวนลงมาจากเพดาน โดยด้านบนของแท่งไม้ก็ได้วางแท่งเทียนไขไว้ตามความเหมาะสม ก็เลยเกิดเป็นที่มาของคำว่า Chandelier หรือ ที่วางเทียน เพราะคำว่า Chandelle เป็นคำในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า “เทียนไข” ค่ะ

               หลังจากนั้นเป็นต้นมา ความนิยมของไฟ Chandelier ก็มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ มนุษย์เราชอบความสว่างมากกว่าความมืด ดังนั้น ทุกคนที่มีสตางค์พอก็จะพยายามติดตั้งเจ้าไฟ Chandelier นี้ไว้ในบ้าน เพราะนอกจากจะให้ความสว่างที่มากกว่าโคมชนิดอื่นแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องประดับได้ เพราะมีบรรดาผู้ขายโคมไฟต่างๆ ก็พากันประดับประดาสินค้ายอดนิยมนี้ ด้วยสารพัดของมีค่า ตั้งแต่ กระจกเงาธรรมดา โลหะชนิดต่างๆ และแก้วหินคริสตัลที่หายาก รวมทั้งกระจกสีที่เป่าขึ้นมาโดยช่างฝีมือจากเกาะบูราโน ในเมืองเวนิส ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 18

               ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็มีนาย Daniel Swarovsky จากออสเตรีย (นามสกุลคุ้นหูมั้ยคะ) ได้คิดค้นเครื่องเจียรนัยเพชรพลอยรุ่นใหม่ ทำให้ได้อัญมณีคุณภาพสูง และได้นำมาประยุกต์ใช้กับการเจียรนัยแก้วคริสตัลเพื่อประกอบกับโคมไฟ Chandelier รุ่นใหม่ๆ ให้มีราคามากขึ้น และนอกจากนี้ เขายังได้พัฒนาการหลอมแก้วปรอท (Leaded Glass) ให้มีความใสบริสุทธ์จนนำมาใช้แทนแก้วหินคริสตัลของเดิมได้อีกด้วย

 

 
   
 

 

 

               จากนั้น วิวัฒนาการของโคม Chandelier ก็ได้เปลี่ยนจากการใช้เทียนไขธรรมดา มาเป็นหลอดไฟ และมีรูปร่างที่หลากหลายมากขึ้น จนถึงปัจจุบัน และแม้ว่าเราจะไม่ได้ใช้เทียนไขเป็นแหล่งกำเนิดแสงของโคมชนิดนี้แล้ว แต่เราก็ยังคงเรียกโคมไฟแสนสวย ที่แขวนลงมาจากเพดานว่า Chandelier เช่นเดิมค่ะ

               ในปัจจุบัน มีนักออกแบบมากมายที่พยายามออกแบบโคม Chandelier ให้สวยแปลกตาออกไปเรื่อยๆ ก็อย่างที่รำเพยเปรียบให้ฟังไงคะ ว่าเหมือนกับนางเอกแสนสวยของเรื่อง ดังนั้น ใครๆ ก็พยายามหานางเอกหน้าตาดีๆ มาสร้างสีสันให้กับเรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ส่วนที่จะวุ่นวายหน่อย ก็น่าจะเป็นดีไซน์เนอร์ของเรา ที่ต้องหาความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับแบบโคม Chandelier อยู่เรื่อยๆ

               สำหรับเทคนิคในการเลือกโคม Chandelier ของรำเพย จะเริ่มต้นจากการเลือกสไตล์ที่ต้องการใช้ ไว้ในใจก่อน เพราะถ้าสไตล์ไม่เข้ากับตัวบ้านแล้ว ยังไงก็แก้ไขลำบาก จากนั้น ก็จะต้องไปดูในเรื่องของแบบว่าสวยงาม มากน้อยเพียงใด รายละเอียดดูดีมากแค่ไหน แล้วสุดท้าย ก็อย่าลืมดูที่ขนาดด้วยค่ะ เพราะถ้าขนาดไม่เหมาะสม จะทำให้งานเสียสมดุลย์ได้ง่ายๆ

               บ่อยครั้งที่รำเพยจะต้องไปเลือก Candidates มาก่อนรอบนึง อาจจะมีสักสามหรือสี่ตัวเลือก แล้วก็นำเอาขนาดทั้งหมด มาเขียนในรูปด้าน เพื่อหาชิ้นที่เหมาะสมที่สุด ก่อนที่จะตัดสินใจ ซึ่งกระบวนการนี้ อาจจะต้องเร็วนิดนึง เพราะของดีดี มักจะมีคนมาชอบหลายคน และบางแบบ ก็มีมาแค่ชิ้นหรือสองชิ้น ทำให้ต้องรีบดู รีบคิด รีบตัดสินใจ (แต่ห้ามพลาด เพราะของมันแพง)

 

 
   
 

 

 

               ฟังดูก็ยุ่งยากพอสมควร แต่พอทำบ่อยๆ ก็สนุกดีเหมือนกันค่ะ
เป็นอันว่า เราได้รู้จักกับพระเอก (Function Light) นางเอก (Decorative Light) และตัวประกอบ (Ambient Light) ไปแล้ว คราวนี้รำเพยจะมาแนะนำคนสำคัญอีกคนหนึ่ง ซึ่งรำเพยให้เป็นเพื่อนนางเอกก็แล้วกันค่ะ โดยเพื่อนนางเอกคนนี้ มีหน้าที่ช่วยเหลือและสนับสนุนนางเอก ให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเทียบแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นกับบทของ.................โคมไฟผนังค่ะ

               เวลาเราเลือกโคมไฟผนัง เรามักจะเลือกแบบที่เข้ากับบรรยากาศโดยรอบ หรือถ้าในบริเวณนั้นมี Chandelier อยู่ เราก็จะพยายามให้เข้ากันให้มากที่สุด หรือส่งเสริมให้ Chandelier ดูดีที่สุด เวลาดูไปแล้ว จะได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องราวเดียวกัน นั่นก็เลยเป็นสาเหตุที่รำเพยเปรียบให้เป็นเพื่อนนางเอกไงล่ะคะ

               เจ้าโคมไฟผนัง หรือ Wall Lamp หรือบางทีก็เรียก Wall Mounted Lamp น่าจะถือกำเนิดมานานกว่าโคม Chandelier ซะอีก เพราะเวลาเราดูภาพยนตร์ Period ต่างๆ เราก็จะเห็นพระราชาหรือเจ้าของปราสาทสมัยโบราณ ถือคบเพลิงไปปักตามที่ต่างๆ ที่ต้องการจะเพิ่มความสว่าง แต่พอมีคนหัวดี คิดประดิษฐ์ Chandelier ได้แล้ว เจ้าโคมผนังก็เลยต้องลดบทบาทลงไปเป็นได้แค่เพื่อนนางเอกค่ะ...

 

 
     
 

 

 

               แต่ถ้าในห้องไหนที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก เราก็อาจจะไม่ใช้ Chandelier และหันมาชูบทนางเอกให้กับ Wall Lamp ก็ได้ เพราะหน้าตาของโคมชนิดนี้ในปัจจุบัน ก็มีให้เลือกมากมาย แถมยังราคาไม่แพง จึงเหมาะกับห้องทั่วๆ ไปมากกว่า ซึ่งแนวทางการเลือกโคมไฟผนังนี้ ก็ไม่ยาก เพราะเราสามารถเลือกตามขั้นตอนของ Chandelier ได้เลยค่ะ เริ่มจากสไตล์ แล้วก็ดูแบบ สุดท้ายก็มาที่ขนาด เพียงแต่ขนาดของ Wall Lamp มักจะไม่ค่อยต่างกันนัก เราเลยไม่ต้องมานั่งเขียนแบบก็ได้ค่ะ

               เอาล่ะค่ะ รำเพยก็โม้มามากแล้ว ก็คงต้องขอลาไปสักที เดี๋ยวแฟนๆ ที่รักของรำเพยจะหนีหน้าไปเสียก่อน แต่อันที่จริง ยังมีโคมไฟพิเศษอีกมากมายในท้องตลาด เพียงแต่ว่าบางที เราจะไม่ได้เห็น ไม่ได้ใช้ รำเพยเลยโมเมข้ามไปเลยดีกว่า...อิอิ

               ก่อนที่จะลาจากกันในเดือนนี้ รำเพยขอติดกระแสกาลิเลโอสักหน่อยนะคะ เพราะตามตำนาน (ไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จ) เค้าเล่าว่า กาลิเลโอ กาลิเลอินั้น ได้ไปเห็นการแกว่งของโคมไฟ Chandelier เป็นจังหวะ ในระยะเวลาเท่าๆ กัน ทั้งๆ ที่บางครั้ง ระยะของการแกว่งตัวจะลดลงก็ตาม ทำให้ท่านกาลิเลโอ ที่กลับมาดังในประเทศไทยในตอนนี้ คิดกฎแห่งเพนดูลัม (Law of Pendulum) ขึ้นมาได้สำเร็จในที่สุด (อันนี้สงสัยหน่อย ทำไม ท่านกาลิเลโอ ถึงไม่ตั้งชื่อว่า Law of Chandelier ไปเลยนะ...)

               โม้ได้ที่แล้ว สำหรับเดือนนี้ รำเพยขอสวัสดีค่ะ...

 

 
 

 

--รำเพย รำพัน--

 

       

 


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538