จาก issue ที่แล้ว Guide ของเราได้พาไปดู พระราชวังบางปะิอิน และ เยี่ยมชมศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ไปแล้วนะคะ issue นี้ ขอพาไปตื่นตากับความรุ่งเรืองแห่งมรดกทางวัฒนธรรมของอดีตราชธานี ที่ทางยูเนสโก(องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) ได้ยกย่องไว้ เรามาตามดูความวิจิตร และบรรเจิดของราชธานีเก่ากันดีกว่านะคะ
เริ่มต้นกันที่วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมเป็นวัดของพระสงฆ์ที่สืบมาจากสำนักของพระวันรัตน์มหาเถระในลังกา รู้จักกันในนาม วัดป่าแก้ว หรือ วัดเจ้าพระยาไทย หรือ วัดพระยาไทย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2135 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี พระองค์จึงให้สร้างมหาเจดีย์ ชัยมงคล ขึ้นที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ นามว่า พระเจดีย์ชัยมงคล แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า พระเจดีย์ใหญ่ นานวันเข้าวัดนี้จึงเรียกชื่อเป็น วัดใหญ่ชัยมงคล
พระพุทธรูปโดยรอบระเบียงคต |
พระนอน หรือพระไสยาสน์ วัดใหญ่ชัยมงคล |
ด้านซ้ายมือเป็นวิหารพระนอนหรือพระไสยาสน์หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระเศียรทางทิศใต้ ถัดมาเป็นพระอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระมหาเจดีย์ เชื่อกันว่านี่คือพระอุโบสถที่เหล่าขุนนางและพระเฑียรราชาได้มาชุมนุมกันเสี่ยงเทียนเพื่อตัดสินใจว่า จะร่วมกันทำการยึดอำนาจจากองค์กษัตริย์ขุนววรวงศาและพระแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์ หรือไม่ ตามที่เราดูในหนังเรื่องพระศรีสุริโยทัยนั่นเอง
ออกจากวัดใหญ่ชัยมงคลให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามถนนประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเห็นวัดพนัญเชิงอยู่ทางขวามือ วัดพนัญเชิงเป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งซึ่งครองเมืองอโยธยาเป็นผู้สร้างขึ้นตรงที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก และพระราชทานนามวัดว่า วัดพระเจ้าพระนางเชิง หรือ "วัดพระนางเชิง"
หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง |
พระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตามพงศาวดารกล่าวว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1867 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี เดิมชื่อ พระพุทธเจ้าพนัญเชิง ( พระเจ้าพะแนงเชิง) แต่ในรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์นี้ได้พระราชทานนามใหม่ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก ( ชาวบ้านนิยมเรียกหลวงพ่อโต ชาวจีนนิยมเรียกว่า ซำปอกง ผู้คุ้มครองการเดินทางทางทะเล) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอู่ทองปางมารวิชัยลงรักปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 19.13 เมตร ฝีมือปั้นงดงามมาก เบื้องหน้ามีตาลปัตรหรือพัดยศ และพระอัครสาวกที่ทำด้วยปูนปั้นลงรักปิดทองประดิษฐานอยู่เบื้องซ้ายและขวา อาจนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปนั่งสมัยอยุธยาตอนต้นที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง เข้าใจว่าเมื่อสร้างพระองค์ใหม่เสร็จแล้วจึงสร้างพระวิหารหลวงขึ้นคลุมอีกทีหนึ่ง ตามตำนานเล่าว่า เมื่อคราวพระนครศรีอยุธยาจะเสียกรุงแก่ข้าศึกนั้น พระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง ส่วนในพระวิหาร เสาพระวิหารเขียนสีเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งสีแดงที่หัวเสามีปูนปั้นเป็นบัวกลุ่มที่มีกลีบซ้อนกันหลายชั้น ผนังทั้งสี่ด้านเจาะเป็นซุ้มเล็กประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กโดยรอบจำนวน 84,000 องค์เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนประตูทางเข้าด้านหน้าซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นบานประตูไม้แกะสลักลอยตัวเป็นลายก้านขดยกดอกนูนออกมา เป็นลักษณะของศิลปะอยุธยาที่งดงามมากแห่งหนึ่ง |
|
|
|
พระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูป 5 องค์ ศิลปะสุโขทัย วิหารเซียน อยู่ด้านหน้าของพระวิหารหลวงเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งแต่เดิมมีภาพจิตรกรรมเขียนไว้บนผนังทั้งสี่ด้าน แต่ถูกโบกปูนทับไปแล้วเมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์ ข้างในพระวิหารหลังนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอยุธยา ศาลาการเปรียญ หลังเก่าย้ายจากริมแม่น้ำมาอยู่ด้านหลังของวัด เป็นศาลาทรงไทยสร้างด้วยไม้ หน้าบันประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ บริเวณคอสอง(ขื่อ) ด้านในศาลามีภาพเขียนสีบนผ้าเป็นภาพพุทธประวัติอยู่โดยรอบ มีตัวอักษรเขียนไว้ว่าภาพเขียนสีนี้เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2472 ภายในศาลามีธรรมาสน์อยู่ 1 หลังสลักลวดลายสวยงามเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์
ภายในวัดพนัญเชิงยังจะพบอาคารเก๋งจีนขนาดเล็กที่ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าแม่แม่สร้อยดอกหมาก ตามตำนานกล่าวกันว่า พระนางเป็นธิดาของพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งพระราชทานให้แก่กษัตริย์ของอยุธยา คือ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ขบวนพยุหยาทตราอันใหญ่โตของพระนางเสด็จมาทางชลมารค แต่มิได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติจากพระเจ้าสายน้ำผึ้งในฐานะราชธิดาของจักรพรรดิจีน ทำให้พระนางน้อยพระทัยเลยกลั้นลมหายใจจนสิ้นพระชนม์ไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงพระราชทานเพลิงศพ แล้วตั้งศาลให้ ณ ที่ตรงนี้ ก่อสร้างเป็นตึกแบบจีนเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมากในเครื่องแต่งกายแบบจีน ชาวจีนเรียกว่า จูแซเนี๊ย เป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนทั่วไป |
ออกจากวัดพนัญเชิงวิ่งย้อนผ่านวัดใหญ่ เข้าตัวเกาะกรุงศรีอยุธยา เลียบแม่น้าไปยังอีกฟากของเกาะจะพบวัดไชยวัฒนาราม ในแง่ของประวัติศาสตร์ เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของอยุธยา แม้ว่าจะตั้งอยู่นอกเกาะกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าปราสาททอง เป็นวัดหลวงที่ใช้บำเพ็ญพระราชกุศลของกษัตริย์สมัยอยุธยา และเคยถูกใช้เป็นค่ายตั้งรับพม่าในสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 อีกด้วย
วัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนาราม |
ในแง่ของสถาปัตยกรรม วัดไชวัฒนาราม ถูกสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเขมรเป็นการจำลองการวางผังงานสถาปัตยกรรมมาจากนครวัด ดังนั้นท่านใดอยากไปนครวัดแต่ไม่มีโอกาส ก็มาชมที่วัดไชยวัฒนารามไปพลางๆ แทนล่ะกัน
มีองค์พระปรางค์ประธานล้อมรอบด้วยพระปรางค์บริวาร 4 ทิศ แต่ละทิศเชื่อมด้วยระเบียงคดที่มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยเรียงรายจำนวนมาก decor guide นับให้แล้วนะคะมีทั้งหมด 120 องค์ด้วยกัน
จากแผนผังของวัดจะเห็นได้ว่าวันนี้วัดนี้มีผังรูปสี่เหลี่ยม เป็นอีกสิ่งที่น่าทึ่งของคนโบราณว่าทำได้ไงนี่
ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะและเปิดให้เข้าชม และยังคงมองเห็นเค้าแห่งความสวยงามยิ่งใหญ่ตระการตา ซึ่งผู้ไปเยือนไม่ควรพลาดชมอย่างยิ่ง นอกจากนี้ทางด้านทิศตะวันออกหรือด้านหน้าของวัดติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่มีประชาชนมานั่งพักรับลมเย็นๆ เพื่อรอชมการส่องไฟชมพระปรางค์ในยามค่ำ
หมายเหตุ : ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30- 21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน |
สุดท้าย ขอพาคุณคุณกลับเข้าเกาะกรุงศรีอยุธยา เพื่อชมความงามของวัดพระศรีสรรเพชญ์ในยามค่ำคืนคุณจะพบว่าวัดพระศรีสรรเพชญ์สวยอีกแบบที่นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ พลาดไม่ได้
วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสำคัญที่สุดของราชสำนักอยุธยาที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานครหรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย มีฐานะเป็นวัดส่วนพระองค์ของพระมาหากษํตริย์ ซึ่งอยู่ในเขตพระราชฐาน ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ อาทิ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา(ปีละ 2 ครั้ง) รวมถึงใช้เป็นที่เก็บพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์อยุธยาเกือบทุกประองค์ จึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
วัดพระศรีสรรเพชญ์
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์เมื่อ พ.ศ. 2035 องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดาและองค์ที่สองคือองค์กลางเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา ต่อมาในปี พ.ศ. 2042 ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปี พ.ศ. 2043 ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา ( 16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร พระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด ในสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญชิ้นส่วนชำรุดของพระประธานองค์นี้ลงมากรุงเทพฯและบรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า เจดีย์สรรเพชญดาญาณ
สำหรับเจดีย์องค์ที่สามถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4
( พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา ระหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั่นไว้ซึ่งคงจะมีการสร้างในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และมีร่องรอยการบูรณะปฏิสังขรณ์หนึ่งครั้งในราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.0018.30 น.
ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท
หมายเหตุ : ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30-21.00 น.
จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน |
|
จากที่เราตะลอนเที่ยวมา 2 issue เราต่างตื่นตาตื่นใจกับความงามวิจิตรและประวัติอันยาวนานของกรุงศรีอยุธยา จึงไม่แปลกใจเลยที่กรุงเศรีอยุธยามีคำขวัญว่า ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี คนดีศรีอยุธยา เป็นดังนั้นแล...
หมายเหตุ : ขอแนะนำให้ซื้อบัตรเข้าชมแบบรวม ชาวไทยท่านล่ะ 60 บาท ชาวต่างประเทศท่านละ 180 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน อันได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานศิลปากรที่ 3 โทร. 0 3524 2501, 0 3524 2448
หรือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทร. 0 3524 2284, 0 3524 2286 |