สวัสดีเพื่อนๆชาวบาริโอทุกคนครับ สำหรับเดือนมีนาคมนี้ เป็นเดือนแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่หนาวในกรุงเทพและปริมณฑล ที่กลับมาให้เราได้สัมผัสกันอีกครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา ส่วนเดือนมีนาคมนี้ก็คงเริ่มเข้าสู่ฤดูที่หลายๆคนไม่ค่อยรอคอยกันเท่าไรนัก ฮ่าๆ ☺ แต่ก็อย่าเป็นกังวลไปเลยครับ เพราะวันนี้บียอนขอนำเสนอบทความ ที่จะทำให้คุณผู้อ่านได้เพลิดเพลินและผ่อนคลายแบบเย็นทั้งใจและกาย สวนกระแสอากาศกันเลยทีเดียว นั้นก็คือเรื่องราวของ การจัดสวนแบบญี่ปุ่น (Japanese Garden)ครับ
การจัดสวน สไตล์ญี่ปุ่น (Japanese Garden) ถือเป็นการจัดตกแต่งสวนสไตล์เอเชีย ในแบบฉบับของญี่ปุ่น ที่นำเอาวัฒนธรรม ปรัชญาแนวคิดมาอยู่ใน การจัดสวน ทำให้สวนเป็นที่พักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ ปล่อยวางจากโลกภายนอก เชื่อมคนให้เข้ากับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
ทั้งโลกยกย่องในศิลปะการจัดสวนแบบญี่ปุ่น นับวันความนิยมในการจัดสวนแบบนี้จะยิ่งแพร่หลายออกไปยังประเทศต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ในประเทศไทยนิยมจัดสวนแบบญี่ปุ่นกันมากเพราะสวนญี่ปุ่นใช้เนื้อที่ในการจัดสวนไม่มากนัก มีความสวยงามอย่างเรียบ ๆอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า สวนญี่ปุ่นเป็นสวนที่มีความงามอย่างมีศิลปะ
ความเป็นมาของสวนญี่ปุ่น
สวนญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากสวนจีนพร้อมๆกับการเข้ามาของศาสนาพุทธ ในช่วงศตวรรษที่ 6 มีพระภิกษุญี่ปุ่น 2 รูป จาริกไปศึกษาในดินแดนจีนและกลับมาตั้งลัทธิใหม่ 2 ลัทธิคือ Shingon และ Tendi ซึ่งเป็นศาสนาพุทธแบบมหายานลัทธิทั้งสองนี้เน้นทางปฏิบัติโดยให้ผู้ปฏิบัติธรรมหาที่วิเวกเข้าสู่ความเงียบของธรรมชาติทำสมาธิเพื่อให้เกิดสติปัญญา การจัดสวนในญี่ปุ่นจึงมีจุดเริ่มต้นจากวัดเช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของสวนจีน จากนั้นจึงแผ่ขยายเข้าไปในวังและบ้านคหบดีในเวลาต่อมาครับ
ในศตวรรษที่ 12-15 การเข้ามาของลัทธิ Zen ในญี่ปุ่นทำให้เกิดสวน อีกประเภทที่เรียกว่า Dry Garden (kare sansui) มีลักษณะเป็นสวนแบบ Minimalism ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อให้เอื้อต่อการทำสมาธิ สวน Zen จึงเป็นสวนที่มีองค์ประกอบน้อยมากแสดงให้เห็นแก่นแท้ของธรรมชาติ สวนมีลักษณะเป็นลานกรวดที่มีต้นไม้น้อยที่สุดเพื่อให้เห็นผิวสัมผัสของหินว่าอาจปกคลุมด้วยตะไคร่หรือมอส แนวคิดในการออกแบบจึงเป็นการหยิบส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นต่างๆออกไป หากเปรียบเทียบกับสวนแบบจีน สวนจีนจะมีลักษณะเป็นตัวแทน ( Representation) สิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ อาทิ แทนภูเขา แทนน้ำตก ฯลฯ แต่ สวนญี่ปุ่น เป็นสวนที่มีลักษณะแบบชี้แนะ (Suggestion) ให้คิดว่านี่คือภูเขาผู้ชมต้องใช้ความคิดและจินตนาการประกอบการรับรู้นั้น
ตัวอย่างสวน Zen ที่ขึ้นชื่อในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่สวนเรียวอันจิ (Ryoan-ji) ในเมืองเกียวโต ซึ่งเป็นสวนหิน
cr. pumpkintale.wordpress
ช่วงศตวรรษที่ 21-22 เริ่มมีการจัดสวนเพื่อการพักผ่อนให้เดินเล่นเดินทอดอารมณ์ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ สวนที่กล่าวมาเป็นลักษณะที่ผู้ใช้ไม่ออกไปเดินในสวน ได้แต่มองและพิจารณาถึงความสวยงามและความหมาย แต่ในช่วงศตวรรษนี้ เกิดความนิยมจัดสวนที่ให้มีการใช้งานบริเวณนั้นด้วยจริงๆ ดังนั้นแนวความคิดจากเดิมก็เริ่มเปลี่ยนไป จากแบบ Minimalism ก็เริ่มออกแบบให้มีความอลังการโดยการเพิ่มองค์ประกอบต่างๆ และใช้จินตนาการในการสร้างมากขึ้นครับ
พอทราบประวัติความเป็นมาคราวๆกันแล้ว ต่อไปบียอนจะขอแนะนำประเภทของสวนญี่ปุ่นว่ามีอะไรบ้าง ไปติดตามกันต่อเลยครับ>>>
ประเภทของสวนญี่ปุ่น แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1. สวนภูเขา (Tsukiyama)เป็นสวนที่ลอกเลียนแบบธรรมชาติ เป็นสวนที่จะจำลองธรรมชาติกว้างใหญ่ มาไว้ในที่จำกัด จึงมีองค์ประกอบเกือบทุกอย่างทั้งภูเขา เนินดิน ทะเลหรือน้ำ สวนในลักษณะนี้เหมาะอย่างยิ่งในการประยุกต์ใช้สวนญี่ปุ่นในเมืองไทย สามารถดัดแปลงและยืดหยุ่นได้ดีในเรื่องการใช้ต้นไม้มาดัดแปลงให้เกิดความใกล้เคียงครับ
สวนภูเขา ประกอบไปด้วย
- พันธุ์ไม้ประดับ ที่ใช้ประดับในสวนประเภทนี้จะประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด อาทิ พันธุ์ไม้ใหญ่ ต้นสน พืช พลับ โอ๊ก เมเปิล ซากุระ หลิว ฯลฯ
พันธุ์ไม้พุ่มเตี้ย เช่น ไผ่ อาซาเลีย ปรง ชา ฯลฯ
พืชคลุมดิน เช่น เฟิร์น ไม้ซุ้มต่าง ๆ มอส ฯลฯ
พันธุ์ไม้น้ำ เช่น กก บัว ไอริส ฯลฯ
-สระน้ำหรือลำธาร
มักจะไม่ลึกนัก ในน้ำใสสะอาดนอกจากจะมองเห็นก้อนหิน ก้อนกรวดที่ก้นสระหรือก้นลำธารแล้ว ยังสามารถมองเห็นปลาแฟนซีคาร์พสีสวยงาม ว่ายวนเวียนไปมาทำให้มีระรอกน้ำ เมื่อมองดูแล้วจะเกิดความรู้สึกว่ามีชีวิตชีวามากขึ้น
ลำธารถ้ามีความกว้างมากก็จะทำสะพานสำหรับข้าม และถ้าสระน้ำมีขนาดกว้างขวาง มักจะจัดให้มีเกาะอยู่กลางสระน้ำ บนเกาะอาจประดับด้วยก้อนหินเมื่อมองไกล ๆ มีรูปร่างคล้ายเต่า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นศิริมงคลแก่บ้าน เพราะคนญี่ปุ่นถือว่าเต่าเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืน นอกจากนั้นมักจะปลูกต้นสนไว้บนเกาะด้วย โดยถือว่าต้นสนเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงถาวร เพราะต้นสนทนต่ออากาศอันหนาวเย็นได้
Photo by BEBECITA
-การปลูกต้นไม้
สวนญี่ปุ่นจะไม่ปลูกต้นไม้ใหญ่ใว้ใกล้บ้านเพื่อไม่ให้บดบังความงามของสวนเมื่อมองออกไปจากตัวบ้าน สีของพันธุ์ไม้นิยมสีที่ไม่ฉูดฉาดนัก โดยปกติจะเป็นสีเขียว จะออกดอกหรือใบเปลี่ยนสีเพิ่มสีสรรบ้างก็ตามฤดูกาลเท่านั้น
cr. inf.news
2. สวนในที่ราบ (Karesansui)เป็นสวนแห่งการสมมุติ เป็นสวนที่จัดขึ้นบนพื้นที่ราบ ปราศจากภูเขาหรือเนินดินหรือสระน้ำเป็น เครื่องตกแต่ง เกิดขึ้นในสมัย Muromachi Era โดยนิกายเซน ซึ่งยึดมั่นใน ความสงบสันโดษ เป็นสวนแบบจินตนาการ ที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาทางธรรม จึงเน้นความเรียบง่าย สงบ มากกว่าแบบอื่น สวนแบบนี้เดิมทีจัดในบริเวณลานวัด ซึ่งมีกำแพงเป็นฉากหลัง แต่ต่อมาได้มีผู้นิยมนำแบบอย่างไปจัดในบริเวณบ้านหรือที่พักอาศัย ซึ่งจะเหมาะกับบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด เพราะไม่นิยมปลูกต้นไม้หลายๆต้นครับ
cr. ifuun
สวนในที่ราบ ยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
สวนแบบเขียวชอุ่ม - ปกคลุมด้วยหญ้าหรือมอสสีเขียวขจี สมมุติว่าเป็น "น้ำ" นิยมจัดไว้ที่ มุมใดมุมหนึ่งใกล้ๆเรือนน้ำชาหรือบ้านพัก สวนแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับสภาพอากาศของเมืองไทยเท่าไรนะครับ เพราะร้อนและแล้ง การใช้หญ้าหรือมอสมักไม่ค่อยได้ผล เพราะต้องการความชื้นสูงและอากาศเย็น พอมาปลูกแบบของเรามันจึงจะไม่เขียวชอุ่มครับ
สวนแบบพื้นที่แห้ง - สวนชนิดนี้ สร้างตามปรัชญาของนักบวช นิกายเซน ในบริเวณลานวัดเพื่อทำสมาธิ พิจารณาความสงบทางจิต องค์ประกอบไม่มีต้นไม้เป็นส่วนประกอบ และปราศจากน้ำ สวนแบบนี้เหมาะกับการจัดพื้นที่เล็กๆแบบสวนหย่อม หรือตามอาคารเช่นระเบียงหรือดาดฟ้าได้ และดูแลไม่ยากครับ
3. สวนน้ำชา (Chaniwa)เป็นสวนที่นำลักษณะเด่นของสวนภูเขาและสวนที่ราบมาผสมกัน ประกอบด้วยสวนย่อมเล็ก ๆ 2 ข้าง ทางเดิน ไปสู่เรือนน้ำชา ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวหลังเล็ก ๆ การจัดสวนในมุมนี้ นอกจากจะมีลักษณะการจัดวางต้นไม้และวัตถุจนได้สัดส่วนกันแล้ว สิ่งที่เด่นสง่าก็คือ วัตถุต่าง ๆ ที่ใช้ประดับภายในบริเวณสวนล้วนแต่เป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นที่แปลกตาไม่ซ้ำแบบใคร มีการเคลื่อนไหวของน้ำที่หยดและไหลไป กิ่งไม้และใบไม้โอนเอียงไปมาเมื่อต้องกระแสลม มีแสงริบหรี่จากตะเกียงหินในยามค่ำคืน ทำให้บริเวณดังกล่าวนี้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น มีอ่างน้ำ สำหรับใช้เพื่อล้างมือล้างหน้าหรือบ้วนปาก มีแผ่นทางเดิน วางคดเคี้ยวไปมาห่างกันพอดีกับระยะก้าวเพื่อใช้เป็นแนวทางนำไปสู่อ่างน้ำ เรือนน้ำชา และชมความงามของสวน
cr. ifuun
องค์ประกอบของสวนญี่ปุ่น
น้ำ
เป็นต้นกำเนิดของชีวิต เป็นสิ่งที่ชโลมใจให้เยือกเย็นและมีความสุข กระแสน้ำมีอำนาจที่จะไหลพังทลายสิ่งที่กีดขวางได้ กระแสน้ำไหลทำให้เกิดเสียง เกิดความรู้สึกมีชีวิตชีวา จึงนิยมใช้น้ำเป็นสิ่งประกอบที่สำคัญ การใช้น้ำในสวนญี่ปุ่นก็เพื่อสมมุติว่าเป็น ลำธาร หนอง บึง สระน้ำ ทะเล มหาสมุทร ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ การจัดน้ำไว้ภายในบริเวณสวนอย่างน้อยที่สุดก็มีน้ำในอ่างน้ำ ที่วางไว้ในสวนในที่ราบแบบเขียวชอุ่ม ส่วนสวนในที่ราบพื้นแห้ง ถึงแม้ภายในบริเวณจะไม่มีน้ำจริง ๆ แต่ก็ใช้กรวดหรือทรายโรยบนพื้นที่รายเรียบแล้วใช้ไม้ปลายแหลมขีดเส้นโค้งรอบ ๆ กลุ่มก้อนหิน ชิดกันบ้างห่างกันบ้างเหมือนระรอกน้ำหรือเกลียวคลื่น ซึ่งเป็นการใช้น้ำโดยสมมุติ
Photo by Kenta Young
เกาะ
ถ้าเกาะมีขนาดกว้างใหญ่ มักจัดให้มีเกาะไว้กลางสระน้ำ บนเกาะประดับด้วยก้อนหินใหญ่/เล็ก เมื่อมองไกล ๆ อาจเห็นมี รูปร่างคล้ายเต่า มักเรียกว่า "Tortoise island" ซึ่งเชื่อว่าเป็นศิริมงคลแก่บ้าน เพราะคนญี่ปุ่นถือว่าเต่าเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืน
cr. cruisebe
สะพาน
ภายในบริเวณที่มีลำธารหรือเกาะ มักจะจัดทำสะพานเอาไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการเดินข้ามน้ำและใช้เป็นเครื่องประดับ วัสดุที่ใช้ทำสะพานประกอบด้วยหินหรือไม้ครับ แต่ในสมัยใหม่อาจจะมีหินเป็นน้ำสมมุติก็สามารถทำสะพานได้ครับ
cr. zhuanlan.zhihu
หิน
คัดเลือกรูปทรงและสีเป็นพิเศษ ไม่นิยมหินที่มีรอยสกัด เพราะผิดไปจากธรรมชาติชนิดของหินได้แก่ หินทราย หินแกรนิต หินชนวน หินคลอไรท์ ฯลฯ การวางก้อนหินในสวนไม่นิยมวางเป็นก้อนโดด ๆ อย่างน้อยจะต้องมีก้อนหินก้อนอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าวางไว้ข้าง ๆ เป็นส่วนประกอบ
cr. mamietitine.centerblog
ต้นไม้
ที่น่าสนใจก็คือ ไม่นิยมปลูกแปลงไม้ดอกไว้ในสวนเลย ถ้าจะปลูกแปลงไม้ดอกก็มักจะจัดสัดส่วนไว้ต่างหากแยกออกไปไม่นำมาปะปนกับสวน ไม้ป่าบางชนิดที่นำมาปลูกเมื่อถึงฤดูออกดอกก็จะมีดอกที่สวยงามเหมือนกัน แต่ก็มีเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น และก็มีน้อยต้นไม่มากนัก เช่น อาซาเลีย เป็นพันธุ์ไม้ที่ค่อนข้างเล็กหนาและสีเขียวเข้มลักษณะเป็นมัน นำมาปลูกเป็นกอแล้วตัดแต่งให้เป็นพุ่มทรงกลมหรือรูปไข่ เมื่อถึงฤดูออกดอกก็จะให้ดอกสีชมพูอ่อนบ้างเข้มบ้าง และขณะออกดอกจะไม่ทิ้งใบหมด
cr. novocom.top
รั้ว
รั้วญี่ปุ่นมีอยู่ 2 ชนิดคือ รั้วรอบบ้าน รั้วประดับภายในสวน
- รั้วรอบบ้าน มีลักษณะรูปร่างต่างกัน บางบ้านใช้ไม้ไผ่ขัดแตะตลอดทั้งแนว บางบ้านใช้วัสดุต่างกัน เป็นลักษณะในสมัยก่อน ซึ่งสมัยนี้อาจพบเห็นได้น้อยแล้วครับ
- รั้วประดับภายในบ้าน วัสดุที่ใช้ประกอบส่วนใหญ่เป็นไม้ไผ่หรือกิ่งไม้ ลักษณะโปร่งสามารถมองทะลุได้ ความงามของรั้วชนิดนี้อยู่ที่ศิลปะและฝีมือในการสานขัดเป็นลวดลายต่าง ๆ
cr. reginakayinteriors
ตะเกียงหิน
คนญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาชินโตมีความเคารพบรรพบุรุษ และธรรมชาติ มักจะจุดตะเกียงเพื่อบูชาและส่งวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีจินตนาการให้ความหมายส่วนต่าง ๆ ของตะเกียงว่าเป็น สวรรค์ มนุษย์ และพิภพ ตะเกียงหินเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง สร้างขึ้นเพื่อประดับเขตของวัดและเพื่อบูชาดวงวิญาณ นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ในการให้แสงสว่างแก่สวนอีกด้วย ขนาดของตะเกียงมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ มีลวดลายและรูปทรงต่าง ๆ เพื่อให้เลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม ตะเกียงหินจะมีปรากฏให้เห็นในสวนญี่ปุ่นแทบทุกแบบจนเป็นเครื่องตกแต่งที่ขาดไม่ได้ครับ
cr. misjardines
อ่างน้ำ
อ่างน้ำที่ประดับอยู่ในสวนญี่ปุ่นและใช้ประโยชน์จากอ่างน้ำจริง ๆ มักจะตั้งอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งของเรือนน้ำชา เพื่อให้แขกผู้ทรงเกียติได้ล้างมือหรือบ้วนปากก่อนเข้าพิธีชงชา หรือตั้งไว้ใกล้ ๆเพื่อเติมเต็มองค์ประกอบของสวนครับ
cr. zhuanlan.zhihu
ทางเดินในสวน
-STEPPING STONES การวางแผ่นทางเดินในแบบนี้ จะวางให้ห่างกันพอดีกับระยะก้าว การวางจะวางคดโค้งไปมาเหมือนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
cr. zhuanlan.zhihu
- PAVED WALKS ใช้แผ่นหินรูปร่างต่าง ๆ ปูสลับเป็นลวดลายอย่างสวยงาม บางแบบมีขอบซีเมนต์เพื่อกันไม่ให้ก้อนกรวดกระจายออกไปด้านนอก ทางเดินในลักษณะนี้มักใช้ในสวนที่มีขนาดใหญ่มีพื้นที่กว้างขวาง โดยปูลาดไปยังส่วนต่าง ๆ ของสวนหรือปูลาดรอบตัวบ้าน หรือเรือนน้ำชาบริเวณใต้ชายคา เพื่อป้องกันน้ำฝนที่ไหลลงมาให้กัดเซาะสนามหรือพื้นดินรอบ ๆ
cr. zhuanlan.zhihu
ข้อมูลแน่นไม่มีกั๊กเลยละครับ มีมาให้อ่านกันแบบเต็มอิ่มอย่างแน่นอน จริงๆแล้วสวนญี่ปุ่น มีเอกลักษณ์ที่ค่อนข้างชัดเจน ส่วนตัวถ้าให้บียอนเลือกหยิบมาประยุกต์ใช้ บียอนคงเลือกสวนในที่ราบแบบพื้นแห้ง เพราะคงเหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทยมากที่สุดแล้วละครับ ดูแลไม่ยุ่งยากด้วย แต่ถ้าใครชอบความชุ่มฉ่ำแบบมีมอสขึ้น อันนี้ก็ลองศึกษาหาข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญการทำสวนดูก็น่าจะดีนะครับ น่าจะสามารถเนรมิตสวนสวยในแบบเขียมชอุ่มได้ไม่ยาก ยังไงแล้วขอฝากบทความของบียอนไว้ด้วยนะครับ ถ้าชอบก็สามารถกดถูกใจและกดแชร์ไปยัง Facebook ได้ ถือว่าเป็นการแบ่งปันเรื่องราวดีๆครับ สำหรับวันนี้ขอตัวลาไปก่อน สวัสดีครับ ^^
ขอบคุณข้อมูลจาก
bloggang.com natres.psu.ac.th pinterest.com
|