The Tabernacle ห้องพระ สไตล์บาริโอ

Thailand

About

“ ห้องพระ เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของหลายๆ บ้าน สำหรับวางพระพุทธรูปเพื่อบูชาให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครองและเสริมสิริมงคลให้แก่ครอบครัว”

Space

  • ห้องพระ

Space & Style

หลายครั้งที่มักจะมีคนสงสัยว่าเราสามารถตกแต่งภายในห้องพระได้รึเปล่า หรือทำได้เพียงตั้งโต๊ะหมู่บูชาเอาไว้เท่านั้น สำหรับข้อนี้ทางเราขอตอบว่าสถานที่ตั้งพระพุทธรูปประจำบ้านนั้นไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัว เพียงแต่ควรอยู่ที่ชั้นบนของบ้านหรือตั้งไว้ให้สูงขึ้นมาจากระดับพื้น เพราะนอกจากจะช่วยให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์สอดส่องดูแลบ้านได้อย่างทั่วถึงแล้ว ยังทำให้เราไม่ต้องไปรบกวนท่านเมื่อต้องทำความสะอาดห้องหรือระหว่างเดินไปมาอีกด้วย
อีกหนึ่งอย่างของการยกฐานวางพระพุทธรูปให้สูงก็เพื่อให้เราสามารถใช้สอยพื้นที่ด้านล่างใต้ฐานพระเอาไว้เก็บของ อาทิ หนังสือสวดมนต์ ธูป เทียนและอุปกรณ์สำหรับบูชาอื่นๆ นั่นเอง
สำหรับเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับการจัดห้องพระ สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ การจัดห้องพระอย่างถูกวิธี และ ไอเดียการจัดห้องพระ โดยสามารถกดเข้าไปที่ลิ้งค์ได้เลยค่ะ
ในวันนี้เราจะพาทุกท่านไปชมห้องพระที่เราคัดเลือกออกมา 3 สไตล์หลักๆ เพื่อเป็นไอเดียในการตกแต่งห้องพระของทุกคนกันค่ะ

Photo

|| Style 1 : ดั้งเดิม มีมนต์ขลัง ||

ห้องพระสไตล์ดั้งเดิมหรือสไตล์ที่เน้นสีทอง พื้นหลังสีแดงประดับด้วยลวดลายต้นโพธิ์ เป็นหนึ่งในสไตล์ที่ได้รับความชอบมากที่สุดจากลูกค้า เนื่องจากเมื่อทำเสร็จสมบูรณ์ออกมาแล้วจะให้ความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์มีมนต์ขลัง ชวนให้รู้สึกจิตใจสงบและรู้สึกได้รับการปกป้องคุ้มครอง
งานออกแบบสไตล์นี้ ดีไซน์เนอร์ของเรามักจะออกแบบให้ตัวห้องมีโทนสีขาวเพื่อให้พื้นหลังสีแดงที่ประดับลวดลายต้นโพธิ์ดูสวยงามโดดเด่น เป็นจุดนำสายตาให้เราหยุดมองไปเพื่อเห็นฉากหลังนี้อยู่เบื้องหลังพระพุทธรูปที่ตั้งสง่าอยู่เบื้องหน้า
บริเวณรอบๆ จะตกแต่งด้วยลายเส้นแนวตั้งหรือแนวนอนเป็นส่วนใหญ่เพื่อให้ดูสบายตา อาจมีเพิ่มคิ้วหรือขอบสีทองหรือเงินเข้ามาตกแต่งบ้างเพื่อให้พื้นที่ดูภูมิฐาน อีกทั้งยังราวกับเป็นการให้เกียรติพระพุทธรูปประจำบ้านของเราอีกด้วย
สำหรับห้องพระที่เรานำมายกตัวอย่างนี้ก็มาจากโปรเจค Palladian Consistency อัญมณีแห่งศตวรรษที่ 17 [Part 2] และ The Golden Luxury นั่นเอง

|| Style 2 : หรูหรา สง่างาม ||

ห้องพระไม่ได้จำเป็นต้องมีสีแดงเสมอไป…อาจสงสัยกันว่าทำไมถึงต้องเป็นสีแดงและไม่เป็นสีอื่น? ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเอาอย่างตามเจ้าที่จีนที่เป็นสีแดงและเชื่อว่าสีแดงเป็นสิริมงคล แต่เพราะพระพุทธรูปนั้นเราเชื่อกันว่าท่านเป็นธาตุไฟค่ะ และสีแดงก็เป็นหนึ่งในสีที่เป็นตัวแทนของธาตุนี้นั่นเอง
แต่จริงๆ แล้วตัวพระพุทธรูปเป็นธาติไฟไม่ได้หมายความว่าพื้นที่โดยรอบต้องเป็นธาตุเดียวกันค่ะ ขอเพียงไม่เป็นธาตุน้ำ (เพราะน้ำไม่ถูกกับไฟ) สีและวัสดุอื่นๆ ก็สามารถใช้ได้ค่ะ
สำหรับห้องพระที่เรานำมายกตัวอย่างในหัวข้อนี้นั้น จะเน้นการตกแต่งเป็นสีโทนเข้มเพื่อให้เข้ากับตัวบ้านตัดกับสีทองที่ช่วยเพิ่มความหรูหราและสง่างามให้กับพื้นที่สถิตย์ของพระพุทธรูปประจำบ้าน มีการเล่นกับขั้นและชั้นวางให้ดูโดดเด่น ทำให้เมื่อวางพระพุทธรูปลงไปแล้วดูสวยสง่ามากขึ้น
วัสดุหลักที่มักจะนำมาใช้ในงานออกแบบนี้ก็ได้แก่ ไม้ พ่นหรือย้อมสี และกระจกเพื่อเพิ่มมิติให้กับตัวพื้นที่ และสามารถตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ห้องอื่นๆ ได้เพราะสไตล์นั้นกลมกลืนไปกับงานออกแบบส่วนอื่นๆ ของตัวบ้าน
สำหรับห้องพระที่เรานำมายกตัวอย่างนี้ก็มาจากโปรเจค Taste of the Season และ Romancing in Classical Mansion Part 2 ค่ะ

|| Style 3 : เรียบง่าย จิตใจสงบ ||

และอีกหนึ่งสไตล์ที่เรามานำเสนอทุกท่านในวันนี้ก็เป็นสไตล์ที่เรียบง่ายและชวนให้จิตใจสงบ ด้วยการตกแต่งภายในที่เน้นให้ดูสงบนิ่งเรียบร้อย แต่งแฝงไปด้วยฟังก์ชันการใช้งานที่ครบครัน
สำหรับลูกค้าบางท่านนั้นอาจมองว่าห้องพระควรเป็นห้องที่มีสไตล์การตกแต่งที่เรียบง่ายไม่หวือหวาจนเกินไป ซึ่งดีไซน์เนอร์ของเราเองก็ได้ตีความและออกแบบห้องพระออกมาจากมุมมองดังกล่าว โดยห้องพระสไตล์นี้นั้นจะดึงเอางานออกแบบสไตล์ Modern ที่เน้นการใช้รูปทรงเรขาคณิตและโทนสีขาวเทาดำ ที่สร้างให้เกิดบรรยากาศเรียบหรูเข้ามาใช้
ยกตัวอย่างเช่นการใช้ระนาบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ร่วมกับทรงวงกลมและฐานสี่เหลี่ยมคางหมูที่ดูสวยงามและเรียบร้อยในเวลาเดียวกัน หรือจะเป็นห้องพระที่แม้จะมีพื้นหลังเป็นต้นโพธิ์สีทองเหมือนกัน แต่ก็คุมโทนให้เป็นพื้นหลังสีขาวทำให้ดูสุภาพและชวนให้ตั้งสมาธิได้สงบมากขึ้น
และห้องพระที่เรานำมายกตัวอย่างนี้ก็มาจากโปรเจค Happy Home บ้านแสนสุข Part 1 และ Majestic Habitation ความสงบที่งดงาม นั่นเอง

|| เจ้าที่ประจำบ้าน ||

สำหรับบ้านที่มีเชื้อสายจีน แทนที่จะตั้งห้องพระแล้วอาจจะตั้งเป็นเจ้าที่ประจำบ้านแทน ซึ่งทั้งพระพุทธรูปและเจ้าที่นั้นสามารถปกปักษ์รักษาคุ้มครองบ้านได้เช่นเดียวกัน หลายคนอาจชินตากับเจ้าที่สีแดง แต่จริงๆ แล้วเจ้าที่ก็คือสถานที่อยู่ของเทพเจ้าประจำบ้าน สามารถเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาให้ต่างออกไปเพื่อให้เข้ากับตัวบ้านได้ ภายใต้ ‘สัดส่วนมงคล’ ที่จะเสริมสิริมงคลให้แก่เจ้าบ้าน
บาริโอได้ออกแบบและจัดทำเจ้าที่ขึ้นมาภายใต้สัดส่วนมงคลเพื่อช่วยส่งเสริมเจ้าบ้านสามด้านด้วยกัน ได้แก่ Shin เจ้าที่ที่เสริมพลังด้านการค้า, Vega เจ้าที่ที่เสริมพลังด้านการงาน และ Meridian เจ้าที่ที่เสริมพลังด้านครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข นั่นเองค่ะ

|| มีห้องพระแล้วมีเจ้าที่ได้มั๊ย? ||

เป็นอีกหนึ่งคำถามที่เรามักจะถูกถามบ่อยๆ และสำหรับคำตอบก็คือ “ได้ค่ะ”
ห้องพระนั้นโดยมากจะอยู่ชั้นบนบ้านหรือบนที่สูงอย่างที่เคยได้กล่าวไป ส่วนเจ้าที่ หรือ ตี่จู่เอี๊ยะจะเป็นเทพเจ้าธาตุดิน นิยมตั้งไว้ติดพื้นหรือบริเวณชั้นล่างของตัวบ้าน ทั้งพระพุทธรูปและเจ้าที่เป็นเทพเจ้าคนละองค์กันและสามารถอยู่ด้วยกันได้ (หากอยากทราบเรื่องราวของตี่จู่เอี๊ยะเพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ เจ้าที่ตี่จู่เอี๊ยะ และงานออกแบบตกแต่งภายใน)
ขอแอบกระซิบนิดนึงว่าส่วนตัวแล้วที่บ้านอาม่าของผู้เขียนเองก็มีตั้งไว้ทั้งหิ้งพระและเจ้าที่ เวลากราบไหว้บูชาจะแยกของไหว้กันคนละส่วนกัน ในเรื่องนี้นั้นซินแสที่ผู้เขียนเคยได้พบเองก็ไม่ได้มีข้อห้ามว่าห้ามตั้งเอาไว้คู่กัน ดังนั้นหากเราสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงเราก็สามารถตั้งและเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทพเจ้าเข้ามาอาศัยอยู่และช่วยคุ้มครองเราได้นั่นเองค่ะ
และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของห้องพระที่เราได้ยกตัวอย่างมาให้ทุกท่านได้ดูกันในวันนี้ค่ะ หากใครสนใจเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูผลงานอื่นๆ ของเราได้ที่ Portfolio ของเว็บไซต์ Bareo-Isyss หรือ ถ้ามีข้อสงสัยก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ 02 408-1341 – 44 และ 085 072-8998 และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Design by Bareo ค่ะ
แล้วพบกันใหม่ในเดือนหน้า
สวัสดีค่ะ : )

PROJECT RELATED

NEW CONTENT