Chinese Tea Pairing
ของหวานและชาจีน
By รำเพย | Febuary 2021 | Living Young |
ชาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมตั้งแต่สมัยอดีตกาล ต้นกำเนิดของชาอยู่ในประเทศจีน ก่อนที่จะแพร่หลายไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น เกาหลี และญี่ปุ่น ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 -1644) ชาเริ่มนำเข้าไปในยุโรป โดยชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรก แต่ในช่วงเวลานั้น เครื่องดื่มชนิดนี้ยังไม่ได้รับความสนใจจากชาวยุโรปมากนัก จนกระทั่งชาวดัชท์ได้นำชาจีนเข้าไปเผยแพร่ในสังคมชั้นสูงและชนชั้นปกครองอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นกระแส และเกิดความนิยมอย่างมากในเวลาต่อมา
อังกฤษกลายเป็นชาติที่นิยมดื่มชามากที่สุด โดยได้รับเอาความนิยมในเครื่องดื่มรสละมุนนี้ เข้าไปในวัฒนธรรมประจำชาติอย่างรวดเร็วและกลายเป็นเครื่องดื่มหลักประจำโต๊ะอาหาร ชากลายเป็นเครื่องดื่มที่ชาวอังกฤษโปรดปรานตั้งแต่กษัตริย์ลงจนถึงชนชั้นสามัญ ความนิยมในชาจีนรสเลิศนี้ แทบจะทำให้ประเทศอังกฤษต้องล้มละลายด้วยการขาดดุลการค้าครั้งใหญ่ จนกระทั่งอังกฤษได้นำเอาฝิ่นเข้าไปแลกเปลี่ยน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามฝิ่นที่โหดร้าย (Opium War หรือชาวอังกฤษเรียกอย่างหรูหราว่า Trade War)
Cr. tangkwas.blogspot
ชาที่ชาวอังกฤษนิยมนั้น เป็นชาประเภทชาดำ (Black Tea แต่คนจีนจะเรียกว่า หงฉา หรือ Red Tea) ซึ่งเป็นชาที่ผ่านการทำปฎิกิริยากับออกซิเจนมากที่สุดในบรรดาชาทุกชนิด ซึ่งทำให้ชาดำเป็นชาที่มีอายุการจัดเก็บนานที่สุดด้วยเช่นกัน (ไม่นับรวมชาผู่เอ๋อ Pu’er ที่สามารถจัดเก็บได้นานหลายปี) Black Tea จึงเหมาะสำหรับการขนส่งข้ามทวีปเพื่อนำเข้าไปในทวีปยุโรป
อย่างไรก็ดี ชา Black Tea นี้ไม่เป็นที่นิยมในประเทศต้นกำเนิดชาอย่างประเทศจีนเท่าใดนัก แต่ชาดำนี้กลับเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากในยุโรป โดยจะนำใบชาประเภทนี้ไปผสมกับเครื่องเทศ หรือดอกไม้แห้งเพื่อสร้างกลิ่นและรสชาติใหม่ๆ หรือ Blended Tea เช่น English Breakfast, Earl Grey เป็นต้น
Cr. thespruceeats
Blended Tea นี้ มักนิยมเติมนมกับน้ำตาลเพื่อปรุงรสชาติให้ถูกปากชาวยุโรปมากขึ้น ซึ่งชาประเภทนี้ ในปัจจุบัน จะมีการปลูกอยู่บริเวณรัฐอัสสัม ประเทศอินเดียเป็นหลัก ซึ่งใบชาจะมีลักษณะเป็นชาใบใหญ่ และมีรสชาติที่เข้มข้น และหยาบ กระด้างกว่าชาจีน
ในปัจจุบัน ชาจีนสายพันธ์ต่างๆ จะนิยมปลูกกันในแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และบางส่วนมาอยู่บริเวณประเทศพม่า และตอนเหนือของประเทศไทย ซึ่งจะมีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชาแต่ละชนิด และยังแตกต่างกันจากแหล่งเพาะปลูก ตลอดจนกรรมวิธีในการปรุงชานั้นๆ ด้วย
Cr. sites.google