แม้จากกันไปไกล แต่ความทรงจำดี ๆ มากมายยังคงชัดเจนอยู่ ภาพติดตาของคนไทยที่มีต่อในหลวง ร.9 คือพระราชาที่ลุยไปทุกที่ทั่วทั้งแผ่นดินไทย พร้อมกล้องถ่ายรูปคล้องคออยู่ตลอดเวลา ซึ่งเหตุผลหลักของพระองค์คือ ใช้ถ่ายรูปพื้นที่ทุรกันดานเพื่อเปลี่ยนให้เป็นแหล่งทำกินและใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้ และเพราะความชอบส่วนตัวของพระองค์ที่ชื่นชอบการถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จึงจัดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “น้อมรำลึกองค์อัครศิลปิน” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะองค์อัครศิลปิน และพระมหากรุณาธิคุณในฐานะองค์อุปถัมภ์งานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย
สำหรับภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่นำมาแสดงในครั้งนี้มีจำนวน 200 ภาพ มีทั้งที่เคยเผยแพร่และไม่เคยเผยแพร่ ภัณฑารักษ์ คือ คุณนิติกร กรัยวิเชียร แบ่งการนำเสนอเป็น 3 ช่วงรัชกาล คือ ช่วงต้นรัชกาล ช่วงกลาง และช่วงปลายรัชกาล
นิติกร กรัยวิเชียร ภัณฑารักษ์ที่คัดเลือกภาพถ่ายมาจัดแสดงนิทรรศการได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ The Standard ถึงจุดประสงค์ในการจัดแสดงงานภาพถ่ายว่า “ผมตั้งใจที่จะเสนอภาพรวมในช่วงเวลาของรัชกาลโดยจัดภาพออกไล่ตามเวลาเป็น 3 ช่วงแล้วค่อย ๆ ผสมกลมกลืนเข้าหากันในแต่ละช่วงก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งในบทความนี้ เราได้หยิบเอาภาพถ่ายฝีพระหัตถ์บางส่วนที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการมาให้ทุกคนได้ชมกันอย่างจุใจเลยค่ะ
ในช่วงต้นรัชกาล เป็นช่วงเวลาของหนุ่มสาว ถ้าจะพูดกันตามธรรมชาติของคนเรา พระองค์ทรงเน้นเรื่องภาพครอบครัวที่อบอุ่นสวยงาม แต่ก็ไม่ได้แปลว่าพระองค์ทรงเน้นแต่ตัวพระองค์เอง เราเห็นได้เลยว่ามีพระราชกรณียกิจที่ท่านเสด็จ ฯ ไป ในช่วงนั้นมากมาย และภาพที่ประชาชนคนไทยนึกถึงพระองค์และจำได้จะเป็นภาพในลักษณะนี้
(ซ้ายไปขวา) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จังหวัดเชียงใหม่ (5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517)
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ (31 มกราคม พ.ศ. 2512)
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
(13 มีนาคม พ.ศ. 2533)
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนพรรณวดี (พ.ศ. 2498)
พระราชโอรส และพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทั้ง 4 พระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2509 (จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนพรรณวดี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ณ จังหวัดขอนแก่น พฤศจิกายน พ.ศ. 2498
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พ.ศ.2498
ราษฎรรอรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เมื่อพฤศจิกายน พ.ศ. 2498
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ณ ดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (พ.ศ. 2498)
ช่วงกลางรัชกาลใคร ๆ ต่างรู้ว่าพระองค์ทรงงานหนักขนาดไหน เพราะฉะนั้นภาพในช่วงนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามักจะเป็นภาพที่ทรงเสด็จเยือนจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทยตามพระราชกรณียกิจ จะมีภาพในเชิงศิลปะแซมบ้าง ไม่ว่าจะเป็นภาพพระฉายา (เงา) ของพระองค์เอง หรือภาพในแนวขบขันก็มีบ้าง แต่โดยรวมของช่วงกลางรัชกาลจะเป็นเรื่องของพระราชกรณียกิจเป็นหลัก
ณ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2518
ณ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2518
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ขณะทรงเยี่ยมราษฎร วัดวิเศษไชยชาญ อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2517
วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2548
วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543
ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2543
อ่างเก็บน้ำยางชุม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2548
ช่วงปลายรัชกาลพระองค์มีพระชนมพรรษามากขึ้นแต่พระวรกายไม่ทรงแข็งแรงเท่าเดิม เพราะฉะนั้นเวลาส่วนใหญ่ก็เหมือนกับคนในวัยที่เกษียณแล้ว แม้กระนั้นพระองค์ก็ยังทรงเสด็จ ฯ เยี่ยมประชาชนเท่าที่พระองค์จะมีพละกำลังเสด็จ ฯ ได้ แต่ว่าสิ่งที่ทำให้พระองค์ทรงมีความสุขในช่วงเวลานั้น ก็คงหนีไม่พ้นสุนัขทรงเลี้ยงที่เราได้เห็น เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกัน
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กรุงเทพฯ วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2542
คุณทองแดง และลูกทั้ง 9 วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2543
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กรุงเทพฯ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2547
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีและสุนัขทรงเลี้ยง วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2549
ขบวนเรือพยุยาตราทางชลมารคในแม่น้ำเจ้าพระยา จากโรงพยาบาลศิริราช วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
โรงพยาบาลศิริราช วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
จากโรงพยาบาลศิริราช วันปีใหม่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551
ยังมีรูปสวย ๆ จากภาพถ่ายฝีพระหัตถ์อีกมากมายให้ประชาชนคนไทยได้รับชมพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 อันเป็นที่รักของมวลชนชาวสยาม เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ สำหรับใครที่ยังหาโอกาสไปไม่ได้ มีเวลาถึงวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561 นี้ เท่านั้นนะคะ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 9 ซึ่งจะเปิดให้ชมตั้งแต่ 10:00 – 21:00 น. (ปิดวันจันทร์) ก่อนเข้าชมให้นำกล้องถ่ายรูปและกระเป๋าขนาดใหญ่กว่าขนาดกระดาษ A4 ไปฝากไว้ที่เคาน์เตอร์ชั้น 5 และเก็บในห้องล็อกเกอร์ให้เรียบร้อย โดยภายในงานจะอนุญาตให้ถ่ายภาพได้ด้วยโทรศัพท์มือถือเท่านั้นค่ะ
โดยพร้อมกันนี้บริเวณชั้น 7 นิทรรศการ “ดิน น้ำ ป่า ฟ้า” นิทรรศการแรงบันดาลใจจากพ่อ นำเสนอการตีความเพื่อการศึกษา สืบสาน ส่งมอบพระราชปณิธานของในหลวงรัชการที่ 9 สร้างสรรค์แรงบันดาลใจให้แก่เด็ก เยาวชน และพสกนิกรของท่านให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และชั้น 8 ได้จัดนิทรรศการ “พระราชาในดวงใจ” เป็นการจัดแสดงผลงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่าหาชมยากจากฝีมือศิลปินชั้นนำของไทยในหลายยุคสมัยที่มีผลงานหลากหลายรูปแบบรวมทั้งหมดกว่า 160 ผลงานและวัตถุสะสมเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ได้จัดขึ้นพร้อม ๆ กันกับนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ แต่การจัดแสดงได้สิ้นสุดลงก่อนแล้ว ส่วนนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ยังมีให้ชมกันยาว ๆ ถึง 7 มกราคม พ.ศ. 2561 เลยค่ะ