เชื่อว่าหลายๆ คนคงรู้จักดาวเรืองแสง แผ่นดาวสีเขียวเล็กๆ ที่ในวัยเด็กเราได้สมมุติบรรยากาศบนท้องฟ้ามาไว้ในห้องนอน  แต่เมื่อโตขึ้นเราก็อยากจะสัมผัสกับบรรยากาศบนท้องฟ้าของจริง สำหรับไอเดียในวันนี้ เพิ่มความเป็นโปรในการตกแต่งบ้านกันสักหน่อย ด้วยการตกแต่งหลังคา Skylight ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เราได้ใกล้ชิดกับท้องฟ้ายามค่ำคืนมากขึ้นครับ

หลังคาสกายไลท์ (Skylight)

      เป็นการสร้างหลังคาบ้านหรือห้องจากกระจก ซึ่งจะทำให้บ้านของเรานั้นหรูหราและทันสมัย มีความเป็นเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น กระจกจะช่วยเพิ่มวิสัยทัศน์ในการชมบรรยากาศนอกบ้าน ทั้งการรับแสงจากธรรมชาติในเวลากลางวันและสามารถเห็นดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืนได้อย่างชัดเจน  เป็นความผ่อนคลายที่หาได้ง่ายๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านไปนอนชมดาวในที่ไกลๆ หลังคาสกายไลท์นั้นมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับวัสดุในการทำ ประเภทของการใช้ และประเภทของห้องครับ

      1. Fixed Skylight

      Fixed skylight คือสกายไลท์ชนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีลักษณะเป็นกระจกแบบติดตายที่เชื่อมเข้ากับตัวหลังคา ใช้ในพื้นที่ทีมีแสงน้อย เช่น บันไดแลห้องใต้หลังคา อาจสร้างเป็นกระจกธรรมดา หรือนำอลูมิเนียม ไม้ มาประกอบเป็นที่ครอบรอบกระจกก็ได้ สร้างความสวยงามและสะดวกสบายในการนอนดูดาวได้ไม่ต่างกัน

 

(Credit : http://www.caspidesign.com)

 

      2. Ventilated Skylight

      สกายไลท์ชนิดนี้เป็นสกายไลท์แบบเอนกประสงค์ คือสามารถระบายอากาศและแสงในตัว เหมาะสำหรับห้องครัวและห้องน้ำ เพราะช่วยจัดความชื้นส่วนเกินและรักษาอากาศบริสุทธิ์ไว้ในขณะที่ทำให้อาคารสว่างด้วยเช่นกัน หรือจะตกแต่งไว้สำหรับห้องนอนเพื่อเปิดรับลมเย็นๆยามค่ำคืนก็สามารถทำได้เช่นกัน  ลักษณะของสกายไลท์ชนิดนี้คล้ายกันกับ Fixed skylight ต่างกันเพียงแค่สามารถเปิด-ปิดได้ด้วยตนเองหรืออัตโนมัติครับ

 

(Credit : http://www.classeinfissi.com)

 

      3. Custom Skylight

      Custom Skylight เป็นสกายไลท์ที่ตอบโจทย์เรื่องความสวยงามให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้มากที่สุด เพราะสามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ตามที่ต้องการโดยสร้างเป็นรูปทรงเลขาคณิตแบบใดก็ได้ เพียงแต่ต้องมั่นใจว่าวัสดุที่ใช้สร้างสกายไลท์นั้นทนทานต่อสภาพอากาศ พายุ และฤดูกาลต่างๆ ได้อย่างยาวนานซึ่งสกายไลท์แบบนี้เมื่อประยุกต์มาสร้างเป็นห้องกระจกบนดาดฟ้า จะช่วยเนรมิตให้ห้องนอนของเรากลายเป็นห้องดูดาวยามค่ำคืนได้อย่างสวยงามครับ

 

(Credit : http://www.telegraph.co.uk)

 

      4. Pyramid Skylight

      ลักษณะของสกายไลท์ชนิดนี้ เป็นสกายไลท์ทรงปิรามิด โดยฐานของปิรามิดนั้นจะถูกยึดไว้ด้วยขื่อตามแนวนอน เราสามารถสร้างสกายไลท์แบบปิรามิดนี้ในขนาดใดก็ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการในการใช้งาน นอกจากรูปทรงที่ทันสมัย ทำให้มองเห็นบรรยากาศของท้องฟ้าได้อย่างสบายตาแล้วยังเสริมให้อาคารมีความหรูหราและแปลกตามากขึ้นอีกด้วย

 

(Credit : https://www.wascoskylights.com)

 

      5. Dome Acrylic Skylight

      โดยส่วนใหญ่สกายไลท์ชนิดนี้จะมีสองชั้นเพื่อเป็นฉนวนกันความร้อน ชั้นนอกจะมีความหนากว่าชั้นในที่เป็นวัสดุใสและมักนำไปใช้บริเวณโถงทางเดินเพื่อดึงดูดความสนใจ เช่น การโชว์ผลงานศิลปะ สวนกระจก หรือบริเวณห้องรับแขกซึ่งสามารถนำมาติดตั้งบนหลังคาบ้านเพื่อไว้นอนดูดาวได้เช่นกัน

 

(Credit : https://www.journalnow.com)

 

      สำหรับวัสดุที่ใช้ทำหลังคาสกายไลท์นั้นมีอยู่หลายประเภทครับ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นไฟเบอร์กลาส แผ่นอะคริลิค แผ่นโพลีคาร์บอเนต และกระจกนิรภัยลามิเนต ซึ่งแต่ละชนิดนั้นมีคุณสมบัติและราคาแตกต่างกันไป แต่แผ่นไฟเบอร์กลาสและแผ่นอะคริลิคจะมีความทนต่อรังสียูวีน้อยกว่า ทำให้เมื่อใช้ไปนานๆ ความใสของกระจกก็จะย่ิงน้อยลง

      ส่วนแผ่นโพลีคาร์บอเนตนั้น มีคุณสมบัติทนรังสียูวีได้มากกว่า ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องความขุ่นมัวของกระจกและมีน้ำหนักเบา สามารถดัดโค้งได้ แต่หากพูดถึงความทนทาน ปลอดภัย กระจกนิรภัยลามิเนตเป็นกระจกที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาทำเป็นหลังคาสกายไลท์ เพราะมีลักษณะเป็นกระจกสองแผ่นประกบกันโดยมีแผ่นฟิล์มคั่นกลาง เมื่อกระจกแตก แผ่นฟิล์มจะช่วยยึดกระจกไม่ให้หล่นลงมาเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ยังมีกระจกอีกหลายชนิดที่เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการทำหลังคาสกายไลท์ เช่น

  • กระจกโปร่งแสง (Clear Float Glass) มีค่าการสะท้อนแสงน้อย จึงเหมาะสำหรับห้องที่ต้องการมองทัศนียภาพภายนอก

  • กระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass) เหมาะสำหรับใช้งานในสภาพที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทกหรือร้อนจัด หนาวจัด

  • กระจกกึ่งนิรภัย (Heat Strengthened Glass) รับแรงอัดของลมได้ดีกว่ากระจกธรรมดาที่มีความหนาเดียวกัน สามารถนำไปใช้ในการติดตั้งกระจกกับโครงสร้างอาคารสูงหรือทำเป็นโครงสร้างบ้านที่อยู่อาศัย

  • กระจกฉนวนความร้อน (Insulating Glass Units) ช่วยป้องกันการถ่ายเทความร้อนระหว่างภายในกับภายนอกอาคาร ก่อให้เกิดบรรยากาศสบายแก่ผู้อยู่อาศัยและปะหยัดพลังงาน

  (Credit : https://proloftconversionsbristol.co.uk)

 

      แต่ข้อคำนึงถึงการใช้หลังคาแบบสกายไลท์นั้นอยู่ตรงที่เราไม่สามารถควบคุมแสงได้ อาจจะต้องทำผ้าม่านชนิดพิเศษเพื่อติดกระจกไว้กันความร้อนและรังสียูวี โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีแดดจ้าเกือบตลอดปี การเลือกตำแหน่งในการติดตั้งหลังคาสกายไลท์จึงควรอยู่ในทิศทางหรือด้านที่ไม่ถูกแสงแดดโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนแผ่กระจายเข้ามาในบ้านมากเกินไป

      นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือปัญหารั่วซึมจากการติดตั้งเมื่อถึงฤดูฝนตก ควรให้ความสนใจในขั้นตอนของการยาแนวเป็นพิเศษ และหาช่างที่มีฝีมือดีหรือบริษัทที่เชี่ยวชาญงานด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพ ไม่มีปัญหาให้ต้องตามแก้ไขในภายหลัง

      ส่วนขั้นตอนของการทำความสะอาดหลังคาสกายไลท์นั้นอาจลำบากเล็กน้อย ในกรณีที่หลังคาเกิดสกปรกขึ้นมาจากคราบฝุ่น เศษใบไม้ และขี้นก ซึ่งจำเป็นต้องปีนขึ้นไปบนหลังคาเพื่อทำความสะอาด แต่เราควรหมั่นทำความสะอาดสกายไลท์อยู่เสมอเนื่องจากบานกระจกจะกลายเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นและมีน้ำขังได้

 

(Credit : http://www.onyxsolar.com)

 

      สำหรับใครที่อยากจะมีหลังคาสกายไลท์สวยๆ ก็ลองหารูปแบบที่ชอบจากเนื้อหาในบทความนี้ดูนะครับ นอกจากจะเป็นรูปแบบที่สวยงามแล้ว หลังคาแบบสกายไลท์ยังช่วยระบายอากาศ และทำให้เราได้สัมผัสกับบรรยากาศของธรรมชาติและแสงอาทิตย์ใกล้ตัว รวมไปถึงแสงดาวในยามค่ำคืนก็เห็นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องออกไปไหนไกลบ้านก็มีความสุขได้ครับ ☺

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

ksgglass.com

community.akanek.com

pinterest.com

nuvisionusa.net