editor talk
home
about bareo
art of design
decor guide
the gallery
living young
talk to editor
links
 
 
 
 

 

          ถ้าให้ลองหลับตาแล้วนึกถึงเสียงคลื่นที่มากระทบชายฝั่ง สายลมที่พัดมากระทบตัวเรา และความสัมผัสจากเม็ดทรายที่นุ่มละเอียดอยู่ใต้ฝ่าเท้าของเราในขณะที่เราก้าวเหยียบชายหาด และเสียงดนตรีจังหวะสนุกๆ ที่เข้ากับบรรยากาศ เมื่อลืมตาขึ้นหลายๆท่านคงจะนึกถึงชายทะเลที่มีแต่ความทรงจำดีๆ และเสียงเพลงแนว เร้กเก้ สกา ที่ให้จังหวะครึ๊กครื้นลอยมาตามสายลม หลายๆท่านอาจจะนึกถึงชายหาดได้ไม่ยากแต่ดนตรี เร้กเก้ สกา นี่มันเป็นยังไงหว่า แต่ถ้าเป็นธงแถบสีแดง-เหลือง-เขียว ใบกัญชา และชายผู้มีผมทรง dreadlock บ็อบ มาร์เลย์ แล้วผมว่าหลายๆท่านคงจะผ่านตากันมาบ้างแล้วนะครับ เพราะมันคือสัญลักษณ์ของสาวกเพลงเร้กเก้ สกา แต่ถ้าใครไม่เคยเห็นหรือได้ยินเลยจริงๆ ไม่เป็นไรครับงั้นเรามาทำความรู้จักกับแนวดนตรี เร้กเก้ สกา กันดีกว่าครับ
          คำว่า ‘เร้กเก้ สกา’ คนไทยนั้นชอบพูดอยู่ด้วยกัน แต่จริงๆ แนวเพลงสกานั้นเกิดขึ้นมาก่อนจากในประเทศจาไมก้า ช่วงปลายทศวรรษที่ 50 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสเพลงแนวร็อกแอนด์โรลล์ของ เอลวิส เพรสลีย์ กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงบนเกาะเล็กๆ ทางฝั่งตอนใต้ของอเมริกาอย่างเกาะจาไมกาด้วยเช่นกัน ชาวจาไมกานั้นได้นำแนวเพลงที่ได้รับอิทธิพลจากอเมริกา มาดัดแปลง ผสมกับดนตรีพื้นบ้าน จึงเกิดเป็นแนวดนตรีใหม่ที่เรียกว่า ‘สกา’ (Ska)
          สกา คือดนตรีที่มีพื้นฐานมาจาก Mento ดนตรีพื้นบ้านของชาวจาไมกา นำมาผสมกับอาร์แอนด์บีทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา พัฒนาเปลี่ยนแปลงจังหวะเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นดนตรีสกา (Ska) โดยมีลายแพทเทิร์นหรือลายเบสที่ใกล้เคียงกับร็อคแอนด์โรลล์ จุดเด่นอยู่ที่ความเป็นดนตรีจังหวะ เพราะกีตาร์เล่นจังหวะยก และมีการเล่นลัดจังหวะ ถือว่าเป็นการแปลความหมายของดนตรีอาร์แอนด์บีอีกรูปแบบหนึ่ง และเป็นที่นิยมกันอย่างมากในช่วงต้นยุคทศวรรษที่ 60 ผู้ฟังจึงสามารถขยับร่างกายสนุกสนานตามจังหวะเพลงไปได้ตลอด และเมื่อบวกกับสีสันของเครื่องเป่าทองเหลืองต่างๆ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เสน่ห์ของดนตรีแนวนี้ชัดเจนขึ้น


 
           ดนตรีแนวสกาได้มีการพัฒนาขึ้นอีกขั้นอีก บีทของดนตรีจึงถูกดึงให้ช้าลงโดยใช้เปียโนและเบสที่มีอิทธิพลดนตรีร็อกเข้ามา จึงเรียกว่า ร็อกสเตดี้ (Rocksteady) จนมาถึงปี 1968 ก็ได้มีการพัฒนาจนถึงขีดสุด ดนตรีเร็กเก้ จึงถือกำเนิดขึ้น เนื้อหาของเพลงแนวนี้มักเชื่อมโยงไปถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มคนผิวดำในประเทศจาไมก้าที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมจากการตกเป็นเบี้ยล่างของ สังคมในช่วงต้นยุค 30's ภายใต้แนวความคิดของลัทธิรัสตาฟาเรียน ทรงผมฟั่นเชือกหรือเดรด ล็อกและอุดมคติทางการเมืองและสังคม ในการพาชาวแอฟริกันแคริบเบียน กลับสู่แผ่นดินในทวีปแอฟริกา


 
           ผู้ที่ทำให้ดนตรีแนวเร้กเก้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกหรือเรียกได้ว่าราชาของเพลงเร้กเก้ นั่นคือ บ็อบ มาร์เลย์ เพราะเขาทำให้ดนตรีเร็กเก้เฟื่องฟูมากที่สุดในทศวรรษที่ 1970 เมื่อตั้งวงชื่อ Bob Marley and the Wailers ขึ้นในปี 1964 และถือเป็นศิลปินเพลงเร็กเก้คณะแรกที่ดังทั่วโลก จากบทประพันธ์เพลงของเขาที่เขียนในมุมมองการเมือง ชีวิต และสังคมที่แหลมคมจนหยั่งถึงจิตวิญญาณ


 
           ในประเทศไทยเองก็มีวงดนตรีที่เล่นแนวเพลง เร้กเก้ สกา มานานแล้วอย่าง T-bone แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมมากเท่าไหร่ แต่ในปัจจุบันนั้นกระแสดนตรีแนว เร้กเก้ สกา กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ทำให้เกิดวงที่เล่นดนตรีแนวนี้ขึ้นมาหลายวง เช่น วงไคโจ บราเธอร์ที่เป็นแนวเรกเก้ผสมกับโซลและฮิปฮอป, ส้ม อมรา กับแนวสกาวาไรตี้, วงสกาพั๊งค์หน้าใหม่อย่าง เท็ดดี้สกาแบนด์ และวงแนวร็อคสเตดี้-เรกเก้ร่วมสมัยอย่าง ศรีราชาร็อคเกอร์ ฯลฯ ก็ยิ่งช่วยยืนยันกระแสความนิยมที่กำลังเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี


 
           ส่วนในเอเชียเองก็มีวงที่เล่นดนตรี เร้กเก้ สกา หลายวงด้วยกัน แต่ผมจะขอแนะนำวงจากแดนปลาดิบ Tokyo Ska Paradise Orchestra เป็นวงที่ฟังครั้งแรกบอกได้คำเดียวเลยว่า "มันสะบัดจริงๆ" เสียงทรัมเป็ต ทรอมโบน แซกโซโฟน คีย์บอร์ด เบส เพอร์คัสชั่น กีตาร์ กลอง เขาใส่กันอย่างไม่ยั้ง ไม่เชื่อลองดูนะครับ


 
           เป็นอย่างไรบ้างพอจะสนุกกับดนตรี เร้กเก้ สกา กันบ้างหรือปล่าวครับ ผมว่าหลายๆท่านคงอาจถูกมนต์สะกดของดนตรีแนวนี้ไปแล้วแน่ๆ มันส์สะกดของเร้กเก้ สกา คือความสนุกครับ ใครที่เครียดจากเรื่องงานอยู่ผมขอแนะนำให้ลองเปิดเพลงเร้กเก้ สกา ฟังดูซิครับ รับรองว่าจะครึ๊กครื้นมีอารมณ์ที่จะกลับไปแก้ไขปัญหานั้นต่อไป ผมก็ใช้นะครับครับสูตรนี้ได้ผลดีจริงๆนะครับ สำหรับใครที่ยังไม่จุใจกับดนตรีแนวนี้ผมมีเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับเร้กเก้ สกา มาฝากและก่อนลาจากผมขอแถมท่าเต้นแบบเร้กเก้ สกา มาให้ลองฝึกกันดูนะครับเผื่อได้มีโอกาสออกสเต็ปจะได้ไม่อายเค้า
           เวบเร้กเก้ที่น่าสนใจ



 
 
     
 

 

   สวัสดีครับ

-- เจ้ากะจุ๊ก --

 

 

 


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538