วันที่ระลึก "วันทรงดนตรี"
ห่างหายกันไปพักหนึ่งกับคอลัมน์ Music สำหรับใน Issue นี้กลับมาอีกครั้งพร้อมกับในเดือนกันยายนนี้มีวันสำคัญอีกหนึ่งวันที่หลายๆ ท่านที่ยังไม่ค่อยทราบกัน นั่นคือ “วันทรงดนตรี” เนื่องในวโรกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 84 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2554 นี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้จัดงาน “วันที่ระลึกวันทรงดนตรี” ขึ้นเป็นประจำทุกปี และในปีนี้ก็เช่นกันค่ะ แต่วันทรงดนตรีนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีความเป็นมาและสำคัญกับชาวจุฬาฯ อย่างไร …Alana เลยไปขอข้อมูลจากทางจุฬาฯ เพื่อมานำเสนอให้กับชาวบาริโอโดยเฉพาะเลยค่ะ
ที่มาของ “ วันที่ระลึกวันทรงดนตรี ”
วันที่ 20 กันยายน เป็นวันสำคัญวันหนึ่งสำหรับชาว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของสมเด็จพระปฐมบรมราชูปถัมภ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถึงสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แล้ว วันดังกล่าวยังตรงกับ “ วันทรงดนตรี ” ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีในระหว่างปี 2500-2516 บรรยากาศแห่งความทรงจำที่ประทับใจในครั้งนั้น ยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจของนิสิตเก่าชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสืบสาน สู่นิสิตปัจจุบันที่ตั้งใจร่วมกันจัดงาน “ วันที่ระลึกวันทรงดนตรี ” ทุกวันที่ 20 กันยายน เพื่อให้ “ วันทรงดนตรี ” อยู่คู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตลอดไป
ความเป็นมา
วันทรงดนตรี ถือกำเนิดจาก พระมหากรุณาธิคุณพิเศษที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของจุฬาฯ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัส แก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าทรงเสียพระราชหฤทัยที่ไม่สามารถประทับอยู่ต่อในช่วงเวลาถวายพระสุธารสชาได้ ทั้งนี้เป็นเพราะ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ใหม่ ที่ประชุมจึงพร้อมใจถวายพระพรชัยมงคล และด้วยเหตุที่สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ใหม่ประสูติในช่วงเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชประสงค์พระราชทานนามสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ใหม่ให้มีคำว่า “จุฬา” อยู่ด้วย
ต่อมาคณะนิสิตได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายของขวัญและถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นิสิตเข้าเฝ้าฯ ในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2500 ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เนื่องจากวันนั้นตรง กับวันศุกร์ ซึ่งเป็นวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงดนตรีกับ “วงลายคราม” เพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส.
ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้นิสิตทำตัวตามสบายไม่เป็นทางการ ให้ถือว่า “อยู่ในบ้านของพระองค์ท่าน” พระองค์ทรงเดี่ยวแซกโซโฟนพระราชทานแก่นิสิต และผู้ขอฟังเพลง ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงขอฟังเพลงจากวงดนตรีและให้นิสิตร้องเพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” อีกด้วย
การแสดงดนตรีส่วนพระองค์ในวันนั้นเริ่มเวลาประมาณ 14.00 น. และสิ้นสุดเมื่อเวลาประมาณ 18.45 น. นิสิตราว 2,500 คน ได้ร่วมกันบริจาคเงินสมทบทุนอานันทมหิดลเป็นจำนวน 4,000 บาท หลังจากนั้นจึงพร้อมใจกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วตั้งแถวส่งเสด็จฯ และเปล่งเสียง “ไชโย” ถวายความจงรักภักดี ต่อมา ในปี พ.ศ. 2501 พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณนำ “วงลายคราม” ไปแสดงดนตรีที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยากาศของงานคล้ายกับการแสดงดนตรีที่สวนอัมพร จากนั้นทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรีที่หอประชุมจุฬาฯ เป็นประจำทุกปี เว้นปีที่ทรงมีพระราชภารกิจมาก คือ เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ และหากไม่มีพระราชภารกิจ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระ บรมราชินีนาถ รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอก็จะโดยเสด็จพระราชดำเนิน และทรงร่วมในการแสดงดนตรีด้วย
เรื่องเล่าจากความทรงจำวันทรงดนตรี
สันทัด ตัณฑนันทน์ ประ ธานชมรมดนตรี ส.จ.ม. ปี 2501 เล่าถึงความประทับใจในวันทรงดนตรีในปีนั้นว่าบรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนานและประทับใจ นิสิตทุกคนตื่นเต้นยินดี เฝ้ารอคอยวันเสด็จพระราชดำเนินด้วยใจจดจ่อ วันเสด็จพระราชดำเนิน น้องใหม่ยืนเข้าแถวรับเสด็จฯ ตั้งแต่ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย จนถึงหน้าหอประชุม นิสิตชายแต่งชุดพระราชทานสวมเสื้อราชปะแตน นิสิตหญิงนุ่งกระโปรงน้ำเงิน สวมถุงเท้าขาว เป็นแถวรับเสด็จฯ ที่งดงามมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง เป็นกันเองกับผู้ชมเป็นที่สุด ระหว่างการแสดงดำเนินไป มีผู้ถือพานรับบริจาค เงินสมทบทุนอานันทมหิดล วนเวียนอยู่ในหอประชุมตลอดเวลา ทรงมีรับสั่งว่า “ใครขอเพลงต้องบริจาค มากน้อยไม่เป็นไร เพลงไหนเล่นดีก็จะเล่น ให้ เพลงไหนเล่นไม่ได้ก็จะพยายามเล่น” สร้างความครื้นเครงให้กับผู้เข้าเฝ้าฯ ในวันนั้นเป็นที่สุด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีรวม 15 ครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เนื่องจากพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชภารกิจเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ไม่สามารถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีได้ และด้วยเหตุที่นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน ตลอดจนคณาจารย์เห็นว่า “วันทรงดนตรี” เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวจุฬาฯ จึงพร้อมใจกันจัดงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีทุกวันที่ 20 กันยายน เริ่มตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา
ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ รูปแบบของงานเป็นการขับร้อง และบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเพลงประจำมหาวิทยาลัย โดยนักร้องนักดนตรีวง ซี.ยู.แบนด์ พร้อมนักดนตรีรับเชิญกิตติมศักดิ์ ซึ่งเป็นสมาชิกวงดนตรีสากล ส.จ.ม. หรือวงซี.ยู.แบนด์ในปัจจุบัน ตลอดจนนักร้องรับเชิญซึ่งเคยเฝ้ารับเสด็จฯ ในงานวันทรงดนตรีในอดีตมาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย
กิจกรรมวันทรงดนตรี
เพื่อรำลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนเพื่อเผยแพร่และสืบทอดการบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ในลักษณะวง Big Band ที่หาฟังได้ยาก รวมทั้งรวบรวมเงินสมทบทุนอานันทมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะจัดงาน “วันที่ระลึกวันทรงดนตรี” ขึ้นทุกปี
ในงานจะเริ่มด้วยการบรรยายเรื่อง “พระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พร้อมกับเล่าย้อนความทรงจำเกี่ยวกับวันทรงดนตรี นอกจากนี้ ยังจัดนิทรรศการ “วันทรงดนตรี” อีกด้วย ซึ่งการจัดงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีเมื่อปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมาก มีนิสิตเก่าและประชาชนที่สนใจมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี พระราชนิพนธ์เพลง และเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิด และทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วยพระองค์เอง รวมทั้งทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่างๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญาว่า "อัครศิลปิน”
สำหรับใครสนใจงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีในปีนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยงดจัดงาน “วันที่ระลึกวันทรงดนตรี” เนื่องจากอยู่ในระหว่างพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี แต่ในปีนี้ขอเชิญชมรายการ "หนึ่งในพระราชดำริ" ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี นำเสนอเรื่อง "วันทรงดนตรี" ในวันเสาร์ที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๒๐.๓๐ น. ร่วมชื่นชมพระอัจฉริยภาพทางดนตรี และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จฯมาทรงดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ ถ่ายทอดความประทับใจโดย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา นายสันทัด ตัณฑนันทน์ อดีตประธานชมรมดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาฯ รศ.วิไลลักษณ์ ภัทโรดม นิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี อ.สพ.ญ.ดร.วรพร สุขุมาวาสี อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ได้รับทุนอานันทมหิดล นายวรท ลีลาเจริญ นักเรียนทุนอานันทมหิดล ปี ๒๕๕๔
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานกิจการนิสิต จุฬาฯ โทร. ๐-๒๒๑๘-๗๐๔๕ ต่อ ๓๐๖ และขอเชิญชวนร่วมบริจาคเงิน เพื่อสมทบทุนอานันทมหิดลผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี “สมทบทุนอานันทมหิดลที่ระลึกวันทรงดนตรี” เลขที่บัญชี ๐๔๕-๒-๙๘๑๓๙-๙ หรือ โทร. ๐-๒๒๑๘-๗๐๖๓
-- Alana --
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ระลึกวันทรงดนตรี ICU on PhotoPeach ปี 2552