Before the Time
เครื่องบอกเวลา
“นาฬิกา” เป็น “เครื่องบอกเวลา” เกิดขึ้นมานานนับพันปีแล้ว โดยมนุษย์ในอดีตต่างก็พยายามคิดค้นวิธีที่แตกต่างกันเพื่อจะหาอุปกรณ์ที่ใช้บอกเวลาได้ อย่างเช่น การเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของแสงจากดวงอาทิตย์ และสำหรับภาษาอังกฤษ “นาฬิกา” ( Clock ) ถูกใช้แทนที่ภาษาอังกฤษสมัยเก่า “Daegmael” ซึ่งหมายถึง “การวัดวัน” ทั้งนี้คำว่า “นาฬิกา” ( Clock ) ก็ผันมาจากคำภาษาฝรั่งเศส “Cloche” ซึ่งหมายถึง ระฆัง ซึ่งเป็นภาษาในช่วงศตวรรษที่ 14 ในช่วงเวลาที่นาฬิกาเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลาย
– Sundial –
นาฬิกาแดด
เสาโอเบลิสก์สองเสาสุดท้ายในวัด Karnak ประเทศอียิปต์
Credit : Bist/Shutterstock
นาฬิกาแดด คือ เครื่องบอกเวลา คิดค้นขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฎชัดเจน แต่หลักฐานบางส่วนพบว่านาฬิกาแดดพัฒนาขึ้นจากเสาโอเบลิสก์ในประเทศอียิปต์สมัยโบราณ ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อนคริสตกาล ถือเป็นหนึ่งในนาฬิกาแดดที่เก่าแก่ที่สุดของโลกที่ค้นพบ โดยนาฬิกาแดดถือเป็นอุปกรณ์ชิ้นแรกๆที่ใช้ในการดูเวลาแต่ละวันในประเทศอียิปต์โบราณ
ทางเข้าวิหารลักซอร์ที่มีเสาโอเบลิสก์แห่งรามเสสที่ 2
Credit : agsaz/Shutterstock
นาฬิกาแดดโบราณอายุ 2,000 ปี ค้นพบที่เมือง Denizli ทางตอนใต้ของประเทศตุรกี
Credit : AA Photo
สมัยโบราณการใช้ดวงอาทิตย์เป็น “เครื่องบอกเวลา” ถือว่าสำคัญเป็นอย่างมาก เช่น เวลาเช้าดวงอาทิตย์จะขึ้น เวลาเที่ยงดวงอาทิตย์อยู่ตรงเหนือศีรษะ เวลากลางวันในช่วงเวลาอื่นๆก็ต้องคอยสังเกตดูการทอดเงาของแสงจากวัตถุที่ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องบอกเวลาของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนเวลาเย็นดวงอาทิตย์จะตกลับขอบฟ้า การวัดเวลาแบบนี้อาจไม่เที่ยงตรงเสียทีเดียว แต่ก็ถือว่ายอมรับได้สำหรับสมัยนั้น ดังนั้นมนุษย์ในยุคก่อนจึงได้ประดิษฐ์คิดค้นนาฬิกาแดด ( Sundial )ให้มีรูปทรงที่เหมาะสมและง่ายขึ้นเพื่อนำมาใช้งาน
นาฬิกาแดด ลานหน้าพระอุโบสถวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
Credit : picdb.thaimisc
สำหรับประเทศไทย นาฬิกาแดดถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อต้องการให้ประเทศสยามในสมัยนั้นมีความทัดเทียมกับนานาประเทศ ดังนั้นพระองค์ฯจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้ากรมอุทกศาสตร์ท่านแรกของสยาม ชื่อ Captain Loftus จัดทำนาฬิกาแดดไว้ให้เป็นเครื่องกำหนดหมายบอกเวลา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานนาฬิกาแดด ไว้ที่ลานหน้าพระอุโบสถวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ โบสถ์ไทยสไตล์ฝรั่ง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
– Water Clock –
นาฬิกาน้ำ
Credit : thinglink
เครื่องบอกเวลา ในยุคแรกๆถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยชาวกรีกเมื่อประมาณ 250 ปีก่อนคริสตกาล ชาวกรีกเรียกมันว่า Klepsydra ( คำนี้เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน คำว่า clep แปลว่า “ขโมย” และคำ sydra ที่แปลว่า “น้ำ” ดังนั้น clepsydra จึงหมายถึง “ขโมยน้ำ” )
หลักการทำงานของนาฬิกาน้ำก็คือ ภาชนะดินเผาที่มีน้ำบรรจุเต็ม จะถูกเจาะที่ก้นเพื่อให้น้ำจะไหลออกจากภาชนะทีละน้อยๆเหมือนการขโมยน้ำ ดังนั้นชาวกรีกโบราณจึงได้กำหนดระยะเวลาที่น้ำไหลออกจนหมดภาชนะว่า 1 clepsydra แต่นาฬิกาน้ำชนิดนี้ต้องมีการเติมน้ำใหม่ทุกๆครั้งที่หมดเวลาลงใน 1 clepsydra และในฤดูหนาวน้ำจะแข็งตัวทำให้ไม่สามารถใช้นาฬิกาชนิดนี้ได้
Klepsydra นาฬิกาน้ำกรีก
Credit : The Athenian Agora: Excavations in the Heart of Classical Athens
Clepsydra ถือเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนานาฬิกา หลังจากมีนาฬิกาน้ำแล้วต่อมาถึงมีการพัฒนานาฬิกาจักรกล และก็นำไปสู่หอนาฬิกาที่มีกลไกซึ่งนำไปสู่นาฬิกาควอตซ์ และวิวัฒนาการก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน
นาฬิกาน้ำทำจากทองแดง โล่วหู สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ประเทศจีน
( 206 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 9 )
Credit : hoardercomesclean.wordpress
ในประเทศจีนสมัยโบราณก็มีระบบการนับเวลาแบบนาฬิกาน้ำด้วยเช่นกัน เรียกว่า “ โล่วหู ” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับถังน้ำที่ปล่อยให้น้ำหยดลงมาใส่ภาชนะรองรับเรื่อยๆ โดยที่ภาชนะจะมีเส้นขีดไว้ทั้งหมด 100 ขีด ซึ่งเท่ากับ 1 วันนั่นเอง (1 ขีด = 15 นาที) อีกหนึ่งวิธีการนับเวลาที่เราเห็นได้บ่อยๆในละครหรือภาพยนตร์จีน ก็คือการนับเวลาแบบหนึ่งก้านธูป ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้แม่นยำนัก เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความสั้นยาวของธูป แต่ถ้าเอาตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ 1 ก้านธูปจะเท่ากับ 1 ชั่วโมง นั้นเอง
– Candle Clock –
นาฬิกาเทียน
Credit : My Modern Met
นาฬิกาเทียนที่ถูกกล่าวถึงกันมากที่สุดและมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรนั่นก็คือ นาฬิกาเทียนของ อัลเฟรดมหาราช กษัตริย์แห่งเวสต์แอกซอน ซึ่งประกอบไปด้วยเทียนหกเล่มที่ทำจากขี้ผึ้ง 72 เพนนีเวท แต่ละแท่งสูง 12 นิ้ว ( 30 ซม. ) และมีความหนาสม่ำเสมอกันทุกนิ้ว ( 2.54 ซม. ) ในขณะที่เทียนเหล่านี้ถูกเผาไหม้ ใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงซึ่งแต่ละรอยขีดจะแทน 20 นาที เมื่อจุดเทียนแล้วเทียนจะถูกวางไว้ในกล่องแก้วกรอบไม้เพื่อป้องกันไม่ให้เปลวไฟดับลง
นาฬิกาเทียนสมัยโบราณ จากประเทศเยอรมัน
Credit : Fact Republic
แม้นาฬิกาเทียนจะเลิกใช้ไปแล้วในปัจจุบัน แต่ในสมัยโบราณ ผู้คนอาศัยตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในการบอกเวลาของวัน และตำแหน่งของดวงจันทร์ในการบอกเวลาในตอนกลางคืน อย่างไรก็ตาม การดูเวลาด้วยทั้งสองวิธีนี้จะล้มเหลวทันทีเมื่อท้องฟ้ามีเมฆมาก ดังนั้นเมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ นาฬิกาเทียนจึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับการวัดเวลาที่แม่นยำได้ดีที่สุด
– Hourglass –
นาฬิกาทราย
ภาพวาด Temperance แบกนาฬิกาทราย
Lorenzetti’s Allegory of Good Government, 1338
Credit : wikipedia
ภาพวาดนาฬิกาทรายที่เป็นสัญลักษณ์ของกาลเวลาพบเห็นได้ตามงานศิลปะ โดยเฉพาะบนหลุมฝังศพหรืออนุสาวรีย์อื่นๆ ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน หลายคนคงเคยเห็นนาฬิกาทรายติดปีกโดยความหมายของมันก็คือ “เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว” ( Time flies )
Time files
Credit : wikipedia
ที่มาของนาฬิกาทรายไม่ทราบชัดเจนนัก คาดว่าอาจพัฒนามาจากนาฬิกาน้ำ ทว่านาฬิกาทรายเป็นอุปกรณ์จับเวลาตัวแรกที่เชื่อถือได้ ใช้ซ้ำได้ มีความแม่นยำพอสมควร และสร้างได้ง่าย เริ่มใช้แพร่หลายตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา
นาฬิกาทรายครึ่งชั่วโมงของเยอรมัน จากศตวรรษที่ 16 ทำจากบรอนซ์ทองและเงิน-ทอง
ความสูง: 8.3 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง: 8.4 ซม.
ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน ( นครนิวยอร์ก )
Credit : wikipedia