Dinosaur Descendant
ทายาท ไดโนเสาร์

“โลก” เป็นสถานที่ที่ท้าทายและมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกสรรพสิ่งตั้งแต่อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทร ไปจนถึงปริมาณออกซิเจนในชั้นบรรยากาศนั้น มีการไหลเวียนอย่างไม่เคยหยุดหย่อน และในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ของโลกใบนี้ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนต่างต้องต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่และปรับตัวให้อยู่รอด ไม่เช่นนั้นก็จะจบลงด้วยการตาย
บนพื้นโลกของเรานั้นเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลายสปีชีส์ และมีมาแล้วอย่างยาวนาน สำหรับสิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์อย่างเช่น “ ไดโนเสาร์ ” ที่แม้จะสูญพันธุ์ไปเมื่อหลายล้านปีก่อน แต่ก็ยังมีสัตว์ในปัจจุบันที่มีความเชื่อมโยงกับพวกมัน ทุกวันนี้หลายคนตั้งคำถามว่า ยังคงมีสิ่งมีชีวิตที่เป็นลูกหลานของไดโนเสาร์หลงเหลืออยู่หรือไม่?
Credit : CNN
ไดโนเสาร์ ปกครองโลกมาประมาณ 165 ล้านปี เป็นเผ่าพันธุ์ที่มีขนาดตัวที่ใหญ่โต สูงตระหง่านเหนือเหล่าสัตว์บกส่วนใหญ่ พวกมันปรากฏตัวครั้งแรกในยุคไทรแอสซิก (Triassic) เมื่อประมาณ 250 ล้านปีที่แล้ว และมีชื่อเสียงโด่งดังในยุคจูราสสิค แต่หลังจากที่ดาวเคราะห์น้อยชิคซูลูบ (Chicxulub Crater) ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 180 กิโลเมตรพุ่งเข้าชนโลกทางตอนเหนือสุดของคาบสมุทรยูคาทาน (Yucatán) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน ทำให้สิ้นสุดยุคครีเทเชียส (Cretaceou) ซึ่งก็คือ ยุคถัดมาจากยุคจูราสสิค ซึ่งเป็นยุคสุดท้ายที่ไดโนเสาร์ได้ครองโลกก่อนจะสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 66 ล้านปีก่อน
ความจริงก็คือ ในยุคปัจจุบันสัตว์ที่เราเห็นว่ากำลังเดิน ว่ายน้ำ หรือโบยบินบนท้องฟ้า ล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตที่สืบเชื้อสายวิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์แทบทั้งสิ้น อย่างเช่นสัตว์บางสายพันธุ์ที่มีรูปร่างหน้าตาค่อนข้างแปลกประหลาดไปจากสัตว์ชนิดอื่นๆ ดังต่อไปนี้

Nautilidae หอยงวงช้าง

Credit : Wikipedia
“หอยงวงช้าง” แม้จะเรียกว่าหอย แต่จริงๆ แล้วมันคือเป็นปลาหมึกขนาดใหญ่ที่เคลื่อนที่ได้ ถูกเรียกว่า “ฟอสซิลที่มีชีวิต” สัตว์ชนิดนี้มีมาประมาณ 500 ล้านปีแล้ว เรียกได้ว่ามีมาก่อนไดโนเสาร์ด้วยซ้ำ ด้านประวัติศาสตร์วิวัฒนาการ หอยงวงช้างเป็นบรรพบุรุษของปลาหมึกที่เก่าแก่ที่สุด มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างมากนักในช่วง 500 ล้านปีที่ผ่าน หอยงวงช้างในยุคก่อนประวัติศาสตร์มีเปลือกหอยที่มีขนาดใหญ่ถึง 2.5 – 3 เมตร พวกมันครองท้องทะเลมาอย่างยาวนาน ในขณะที่ปลายังไม่ได้มีวิวัฒนาการดีพอที่จะแข่งขันกับพวกมันเพื่อล่าเหยื่อด้วยซ้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปตัวของมันก็ค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ
Credit : Wikipedia
หอยงวงช้าง เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและเป็นหอยที่มีสายพันธุ์เกี่ยวข้องกับปลาหมึก หอยงวงช้างเป็นสัตว์น้ำมีกระดองที่มองเห็นได้ชัดเจน ปัจจุบันมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ถึง 20 – 25 ซม. ด้านล่างเป็นสีขาว และมีแถบสีน้ำตาลอยู่ด้านบน เปลือกไม่เพียงแต่สวยงาม แต่ยังให้ความปกป้องพวกมันอีกด้วย หอยงวงช้างสามารถมุดเข้าไปในเปลือกหอย และปิดผนึกทางเข้าด้วยประตูกลที่เรียกว่า ฮูด (Hood)
Credit : Thoughtco .com
เปลือกของหอยงวงช้างที่โตเต็มวัยประกอบด้วยห้องต่างๆ มากกว่า 30 ห้อง ซึ่งก่อตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อหอยเติบโตขึ้น ตามรูปร่างสายพันธุกรรมที่เรียกว่า “เกลียวลอการิทึม (Logarithmic Spiral)” ด้านในตัวของมัน ลำตัวอ่อนของหอยงวงช้างจะอยู่ในห้องใหญ่สุดที่อยู่ชั้นนอก ส่วนที่เหลือของห้องเป็นถังอับเฉาที่ช่วยให้หอยงวงช้างสามารถลอยตัวได้
หอยงวงช้างพบได้เฉพาะในน่านน้ำเขตร้อนและเขตอบอุ่นที่มีแสงสลัวในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย มันใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่ที่ระดับความลึกสูงสุด 700 เมตร ในเวลากลางคืนมันจะอพยพอย่างช้าๆ ขึ้นไปตามแนวลาดของแนวปะการังเพื่อหาอาหารที่ระดับความลึกประมาณ 75 เมตร พวกมันเป็นสัตว์กินซากของสัตว์จำพวก กุ้ง ปลาและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ตายแล้ว
Credit : pixabay
หอยงวงช้างมีการมองเห็นที่ไม่ดีนักด้วยตารูเข็มขนาดใหญ่สองดวง ใต้ตาแต่ละข้างมีตุ่มเนื้อยาวประมาณ 0.25 เซนติเมตร เรียกว่านอ ซึ่งหอยงวงช้างใช้ในการตรวจจับเหยื่อ หอยงวงช้างเคลื่อนที่ด้วยแรงขับไอพ่นน้ำเข้าไปในโพรงเปลือกหอย และถูกบีบให้ขับกาลักน้ำออกเพื่อขับเคลื่อนตัวหอยให้ถอยหลัง เดินหน้า หรือไปด้านข้าง โดยหอยงวงช้างถือเป็น “หมึก” (Squid) ที่มีอายุยืนที่สุด พวกมันมีอายุตั้งแต่ 10 – 15 ปี ตัวเมียจะผลิตไข่ปีละ 10 ถึง 20 ฟอง โดยวางไข่ครั้งละฟอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจกินเวลาตลอดทั้งปี และอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปี ไข่จึงจะฟักเป็นตัว และด้วยระยะเวลาที่ยาวนานนี้ ทำให้หอยงวงช้างมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ รวมทั้งในบางประเทศเปลือกของพวกมันเป็นที่นิยมในการเอามาทำเครื่องประดับอีกด้วย

Ostriches นกกระจอกเทศ

Credit : pbs .org
นกกระจอกเทศ เป็นญาติที่ใกล้เคียงที่สุดของ ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ หรือ ที เร็กซ์ (Tyrannosaurus Rex) ซึ่งในภาพยนตร์จูราสสิค พาร์ค เจ้าไดโนเสาร์น่ากลัวนี้จริงๆ แล้วก็คือสัตว์จำพวก นก เช่น ไก่ และ นกกระจอกเทศ ในปัจจุบัน ถูกยืนยันโดยนักบรรพชีวินวิทยา (Paleontology) ที่ค้นพบฟอลซิลโดยบังเอิญ ในปี ค.ศ. 2003
ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex)
Credit : iflscience .com
2 นักวิทยาศาสตร์ Jack Horner และ Mary Schweitzer ได้ค้นพบวัตถุที่ไม่กลายเป็นฟอสซิล ภายในกระดูกของ ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus Rex) โดยการค้นพบหลักฐานครั้งนั้น นักวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยโชค สายตาที่แหลมคม และการตัดสินใจครั้งใหญ่ เมื่อต้องเผชิญปัญหาการเคลื่อนย้ายเพื่อนำเอาโคนขาขนาดยักษ์ของซาก ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus Rex) ออกจากพื้นที่อันไกลโพ้นในเมืองมอนทานา สหรัฐอเมริกา …พวกเขาจำเป็นต้องหักกระดูกขาของไดโนเสาร์ออกเป็นชิ้นๆ เพื่อให้มีขนาดเล็กลงมาพอที่จะนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ได้
Jack Horner นักบรรพชีวินวิทยา ยืนอยู่หน้ากระดูกต้นขาที่หัก ของ ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex)
Credit : nbcnews .com
Mary Schweitzer นักบรรพชีวินวิทยา
Credit : montana .ed
เมื่อพวกเขาหักกระดูกไดโนเสาร์ออกเป็นชิ้นๆ เพื่อการขนส่งที่ง่ายขึ้น พวกเขาประหลาดใจที่พบว่าเนื้อเยื่ออ่อนของไดโนเสาร์บางส่วนดูเหมือนถูกเก็บรักษาไว้ภายใน ก่อนหน้านี้นักบรรพชีวินวิทยาเคยคิดว่าเนื้อเยื่อทั้งหมดของฟอสซิลจะต้องกลายเป็นแร่ธาตุไปแล้วในช่วงเวลาหลายล้านปี แต่หลังจากวิเคราะห์เนื้อเยื่อด้วยกล้องจุลทรรศน์ Mary Schweitzer ได้ทำรายงานใน ปี ค.ศ. 2005 พบว่าเนื้อเยื่อด้านในยังคงมีลักษณะคล้ายกับเซลล์และหลอดเลือดที่พบในกระดูกนกกระจอกเทศ
Credit : osc .org
ชีวิตจริงของนักวิทยาศาสตร์นั้น ไม่เหมือนกับในภาพยนตร์ จูราสสิค พาร์ค ที่จะสามารถกู้คืน DNA จากซากสัตว์โบราณได้ แต่พวกเขาสามารถดึงเอาโมเลกุลของคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนโครงสร้างที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกันเล็กน้อยในสัตว์หลายชนิด พวกเขาเปรียบเทียบรุ่นของไดโนเสาร์กับสัตว์ที่มีชีวิต 21 ชนิด รวมทั้งมนุษย์ ลิงชิมแปนซี หนู ไก่ นกกระจอกเทศ จระเข้ และปลาแซลมอน จนในที่สุด คอลลาเจนของ ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความคล้ายคลึงกับ ไก่ และ นกกระจอกเทศ มากที่สุด
ถ้าหากวันนั้นพวกเขามีเฮลิคอปเตอร์ที่ใหญ่กว่านี้ และไม่มีการหักกระดูกไดโนเสาร์เกิดขึ้น วันนี้เราอาจไม่มีทางรู้เลยว่า ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) เป็นสิ่งมีชีวิตตระกูลเดียวกับนกกระจอกเทศ

Crocodile จระเข้

Credit : thoughtco .com
จระเข้ถูกสร้างขึ้นมาให้ทนทานต่อวิวัฒนาการประมาณ 200 ล้านปี ในยุคเมโซโซอิก (Mesozoic era – ยุคทองของไดโนเสาร์) จระเข้มีอายุยืนยาวกว่าไดโนเสาร์มาก กระจายอยู่กว่า 90 ประเทศทั่วโลก ลำดับจระเข้ มีถึง 23 สายพันธุ์ กระจายอยู่ทั่วแม่น้ำ ลำธาร และหนองน้ำจืด จระเข้ทั้ง 23 ชนิดนี้แยกออกเป็น 3 วงศ์ ได้แก่ Alligatoridae ( Alligators และ Caimans ), Crocodylidae (จระเข้) และ Gavialidae ( Gharials ) โดยนักชีววิทยาวิวัฒนาการตั้งข้อสงสัยว่า อาจเป็นเพราะธรรมชาติการใช้ชีวิตของจระเข้ที่ช่วยให้พวกมันรอดชีวิตเมื่อครั้งเกิดอุกกาบาตตกลงสู่โลกครั้งใหญ่ และเป็นต้นเหตุการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ ด้วยเพราะจระเข้สามารถอยู่ได้เป็นเวลานานโดยไม่มีอาหาร และพวกมันไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพืชสีเขียว (ซึ่งส่วนใหญ่ถูกทำลายไปหมดแล้ว) เพื่อความอยู่รอด พวกมันสามารถปรับตัวได้สูงและยังปรับตัวได้ตลอดเวลา นักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่าบางทีในอีกล้านปีข้างหน้า จระเข้อาจจะยังคงมีลักษณะเหมือนเดิม
ภาพจำลองเหตุการณ์ Deinosuchus จระเข้โบราณที่มีฟันขนาดใหญ่พุ่งเข้าใส่ไดโนเสาร์ Albertosaurus
Credit : National Geographic Image Collection
สัตว์อื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับไดโนเสาร์ นอกเหนือจากนกที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน จระเข้ก็ถือเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับไดโนเสาร์ที่สุดเช่นกัน พวกมันมีวิวัฒนาการมาก่อนจะมีไดโนเสาร์ และผู้เชี่ยวชาญจัดให้จระเข้อยู่ในกลุ่มอาร์คโคซอร์ (Archosaur – มาจากภาษากรีกแปลว่า กิ้งก่าผู้ครองโลก) ซึ่งเป็นกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานตระกูลใหญ่จำพวกหนึ่ง ซึ่งมีกะโหลกแบบ Diapsid (มีสองโพรงในแต่ละด้าน)
ว่ากันตามตรงก็คือ นกกระจอกเทศ เป็นเพียงผู้สืบทอดโดยตรงของไดโนเสาร์ยักษ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนจระเข้ก็เป็นญาติสนิทของไดโนเสาร์นั่นเอง
ภาพจำลอง Confractosuchus sauroktonos โจมตีไดโนเสาร์ประเภท Ornithopod dinosaur
Credit : Julius Csotonyi / White et al., doi: 10.1016/j.gr.2022.01.016
นักบรรพชีวินวิทยาได้ขุดพบซากโครงกระดูกที่เป็นฟอสซิลของ Confractosuchus Sauroktonos ซึ่งเป็นสกุลและสายพันธุ์ของจระเข้ที่ไม่รู้จักมาก่อน โดยมีส่วนท้องที่เก็บรักษาไว้เป็นพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ชนิดอื่น นั่นก็คือไดโนเสาร์ออร์นิโธพอด ซึ่งหมายความว่ามันโดนจระเข้ตัวนั้นกินเข้าไป
จากข้อมูลคาดว่า Confractosuchus Sauroktonos เคยอาศัยอยู่ในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อประมาณ 96 ล้านปีที่แล้ว และเนื่องจากไม่มีตัวอย่าฟอสซิลอื่นๆ จากทั่วโลก ที่สามารถนำมาเทียบเคียงได้ ดังนั้นฟอสซิลของจระเข้ยุคก่อนประวัติศาสตร์และอาหารมื้อสุดท้ายของมันที่ถูกค้นพบ จึงเป็นเบาะแสสำคัญที่เกี่ยวโยงความสัมพันธ์ และพฤติกรรมของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียเมื่อหลายล้านปีก่อน

Beluga Sturgeon ปลาสเตอร์เจียนเบลูก้า

Credit : Wikipedia
“ปลาสเตอร์เจียนเบลูก้า” เป็นหนึ่งในปลากระดูกแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก! และไข่ของมันที่เราเรียกกันว่า “ไข่ปลาคาเวียร์” ก็จัดว่าเป็นไข่ปลาที่แพงมากที่สุดในโลกเช่นกัน! ปลาสเตอร์เจียนมีวิวัฒนาการมากว่า 250 ล้านปีมาแล้ว เป็นหนึ่งในปลากระดูกแข็งประเภท “สัตว์ดึกดำบรรพ์” ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ สายพันธุ์ปลาดั้งเดิมนั้นถูกส่งต่อมายังปลาสเตอร์เจียนเบลูก้ารุ่นปัจจุบันที่ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งโครงสร้างร่างกายและการมีอยู่ของเกราะโล่บนหนังของปลาเป็นข้อพิสูจน์ถึงสายเลือดโบราณของพวกมันที่ส่งต่อกันมานับล้านปี ปลาสเตอร์เจียนมีทั้งหมด 27 สายพันธุ์ทั่วโลก ส่วนมากอาศัยอยู่ในซีกโลกเหนือ
Credit : panda .org
ลักษณะของปลาสเตอร์เจียนเบลูกา เป็นปลาที่มีขนาดลำตัวยาวและใหญ่ มีโหนก โค้งมน มีโครงสร้างชุดแผ่นกระดูกด้านนอก ด้านข้าง และด้านบน หางมีขนาดใหญ่รูปร่างไม่สมมาตรซึ่งมองดูเกือบคล้ายหางของปลาฉลาม มีจมูกยาวยื่นออกมาจากใบหน้าและมีหนาม (คล้ายกับที่พบในปลาดุก) ซึ่งจะทำหน้าคล้ายเรด้าห์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ โดยสิ่งนี้จะช่วยให้มันหาเหยื่อในน้ำได้
Credit : a-z-animals .com
ปลาสเตอร์เจียนที่โตเต็มวัยมีสีขาว น้ำเงิน และเทา น้ำหนักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 225-900 กิโลกรัม มีบางตัวที่หนักถึง 1800 กิโลกรัมขึ้นไป (และลำตัวยาวได้เกือบ 6 เมตร) ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ประมาณ 20% ดังนั้นตัวโตเต็มวัยจริงๆ จะมีขนาดใหญ่และยาวเกือบเท่ารถกระบะในปัจจุบันเลยทีเดียว ปลาสเตอร์เจียนที่เคยถูกจับได้ในทะเลสาบที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม และเชื่อกันว่ามันมีอายุมากกว่า 125 ปี
ฟอสซิล Yanosteus longidorsalis เป็นสมาชิกของวงศ์ Acipenseriform วงศ์ Peipiaosteidae ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว จากต้นยุคครีเทเชียส พบที่แนวหินอี้เซียน ซึ่งเป็นชั้นหินทางธรณีวิทยา ในเหลียวหนิง ประเทศจีน
Credit : Wikipedia
ซากดึกดำบรรพ์ของปลาสเตอร์เจียนยุคแรกสุดมีอายุถึงยุคครีเทเชียสตอนปลาย (Cretaceous) และสืบเชื้อสายมาจากปลาจำพวกอะซิเพนเซริฟอร์มรุ่นก่อนๆ (Acipenseriform Fish) ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงยุคจูราสสิคตอนต้น (Jurassic) คือเมื่อประมาณ 174 ถึง 201 ล้านปีก่อน ในช่วงเวลานั้นปลาสเตอร์เจียนมีการเปลี่ยนแปลงทางรูปร่างภายนอกเพียงเล็กน้อย ซึ่งบ่งชี้ว่าวิวัฒนาการของพวกมันช้ามากๆ เพราะพวกมันยังคงมีลักษณะดั้งเดิมอยู่หลายอย่าง เช่น หางแบบเฮเตอโรเซอคอล (Heterocercal Tail) คือ ครีบหางแบบที่จะมีครีบหางแพนบน ยาวกว่าครีบหางแพนล่าง มีการยุบตัวเป็นชั้นๆ ของครีบ และกรามที่มีลักษณะเฉพาะ
ไข่ปลาคาร์เวียร์
Credit : Wikipedia
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในปลากระดูกแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปลาชนิดนี้จึงไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติที่รู้จักในถิ่นกำเนิดของมัน… ยกเว้นมนุษย์ที่ค้นพบว่าเนื้อและไข่สามารถนำมาเป็นอาหารได้ จึงออกทะเลตามล่าเพื่อเนื้อและไข่ของมันมากมาย เนื่องไข่ปลามีราคาซื้อขายที่แพงสูงลิ่ว อย่างไรก็ตาม ความเสื่อมโทรมของทะเลจากการประมง และโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการควบคุม อาจนำไปสู่การลดประชากรปลาสเตอร์เจียนเบลูกาลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Horseshoe Crab แมงดา

Credit : popularmechanics .com
อีกหนึ่งสัตว์ที่มีรูปร่างแปลกประหลาดอย่างแมงดาทะเล มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับแมงมุมและแมงป่อง เป็นสัตว์เลือดเย็น อาศัยอยู่ตามปากแม่น้ำและอ่าวที่เป็นพื้นทรายปนโคลนเกือบทั่วโลก พวกมันสามารถอยู่อาศัยลึกลงในท้องทะเลได้ถึง 30 เมตร แต่ชอบอยู่ที่น้ำตื้นระดับ 5 – 6 เมตร แมงดาทะเลเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น “ฟอสซิลที่มีชีวิต” เพราะพวกมันมีวิวัฒนาการมามากกว่า 230 ล้านปีที่แล้ว ญาติสนิทของพวกมันคือ ไทรโลไบท์ (Trilobite) ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยสามารถพบเห็นได้แค่ซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์เท่านั้น
Credit : digitalatlasofancientlife .org
ไทรโลไบท์ (Trilobite) คือ สัตว์โลกล้านปีที่ใกล้ชิดกับแมงดาทะเลมากที่สุด เป็นหนึ่งในสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพราะฟอสซิลของพวกมันมีความอุดมสมบูรณ์ หลากหลาย ถูกพบเจออย่างมากมาย พวกมันอยู่อาศัยแพร่กระจายในวงกว้างในช่วงยุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic Era) สัตว์ขาปล้องที่เป็นสัญลักษณ์เหล่านี้ปรากฏตัวครั้งแรกในบันทึกซากดึกดำบรรพ์เมื่อ 521 ล้านปีก่อน และรอดชีวิตมาจนถึงการสูญพันธุ์ในยุคเพอร์เมียน (Permian) เมื่อประมาณ 250 ล้านปีก่อน การค้นพบพวกมันครั้งแรกก็ทำให้เรารู้ว่าไทรโลไบท์มีสายพันธุ์ที่หลากหลายและมีจำนวนเยอะมาก ซึ่งฟอสซิลที่ค้นพบสามารถบ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์ชีวิตอันยาวนานของพวกมันได้นั่นเอง
รูปไทรโลไบท์ที่วาดโดย Joachim Barrande ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลงานชิ้นแรกของเขาเกี่ยวกับไทรโลไบท์ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1852
Credit : digitalatlasofancientlife .org
ความอุดมสมบูรณ์ของไทรโลไบท์ในบันทึกซากดึกดำบรรพ์ เกิดจากโครงสร้างกระดูกที่แข็งของพวกมัน และนอกจากซากของไทรโลไบท์แต่ละตัวเมื่อพวกมันตายลงแล้ว การลอกคราบของพวกมันยังพบเจอได้ทั่วไปในรูปของฟอสซิล ซึ่งช่วยเพิ่มเรื่องราวข้อมูลของพวกมันในบันทึกให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
สำหรับแมงดาทะเลในปัจจุบัน พวกมันจะเติบโตขึ้นโดยมีลำตัวใหญ่ขึ้นด้วย และจะมีความแข็งแรงขึ้นทุกครั้งที่ลอกคราบใหม่ จากนั้นพวกมันจะลอกคราบอย่างน้อยปีละครั้งจนกว่าจะตาย สำหรับวงจรชีวิตนั้น พวกมันหลังลอกคราบ 2 -3 ครั้งแรก เมื่ออายุได้ประมาณ 1 ปี และพวกมันก็จะตกลงลงสู่พื้นมหาสมุทรที่ซึ่งพวกมันสามารถกินหนอนทะเล สาหร่าย และหอยกาบ ซึ่งเป็นที่น่าเกรงขามอย่างยิ่งสำหรับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล เพราะมันมีเกราะป้องกันด้านนอกที่แข็งแรง ขา 6 คู่ และดวงตา 9 ดวง
Credit : defenders .org
และเมื่อแมงดาทะเลมีอายุประมาณ 10 ปี พวกมันจะโตเต็มที่และพร้อมที่จะเริ่มสืบพันธุ์ ตัวเมียที่โตเต็มวัยสามารถวางไข่ได้ประมาณ 4,000 ฟองต่อปี และจะสืบพันธุ์ทุกปีหลังจากโตเต็มที่จนกระทั่งมันตายลง ซึ่งอาจมีอายุระหว่าง 20 ถึง 40 ปี เลยทีเดียว ปัจจุบันแมงดาทะเลมีความสำคัญมาก เลือดสีน้ำเงินของมันถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ และมีมูลค่ามหาศาล
มีการนำพวกมันมาทำเป็นอาหารที่เอร็ดอร่อย จนได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคอย่างล้นหลาม ทำให้นักวิทยาศาสตร์เกรงว่าการใช้ประโยชน์จากแมงดาทะเลที่มากเกินพอดี อาจนำไปสู่การล่มสลายของระบบนิเวศ ถ้าหากมีจำนวนของพวกมันไม่เพียงพอต่อท้องทะเลก็เป็นได้

Jellyfish แมงกระพรุน

Credit : greece-is .com
“แมงกระพรุน” เป็นสัตว์ทะเลที่ว่ายน้ำอย่างอิสระ รูปลักษณ์ของพวกมันสามารถจดจำได้ง่าย เพราะคล้ายกระดิ่งรูปร่มและมีหนวดยาวต่อท้าย แม้ว่าจริงๆ แล้วแมงกระพรุนบางประเภทจะเคลื่อนที่ไม่ได้และตัวของมันจะถูกยึดไว้กับก้นท้องทะเลด้วยขาหรือหนวด อาวุธร้ายแรงของแมงกะพรุนก็คือพิษที่อยู่ในหนวดของพวกมัน พิษถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเอาไว้จับเหยื่อและป้องกันตัวจากผู้ล่า ถึงแม้ว่าแมงกระพรุนจะสร้างความตกใจและพิษของมันทำร้ายมนุษย์ในบางครั้ง แต่สิ่งนี้มักเกิดจากขึ้นการสัมผัสโดยบังเอิญมากกว่าการถูกแมงกระพรุนทำร้ายโดยเจตนา ด้านโครงสร้างแมงกะพรุนไม่มีโครงสร้างศีรษะที่แน่นอน ไม่มีอวัยวะภายใน และส่วนใหญ่มีเพียงประสาทสัมผัสดั้งเดิมที่ใช้อาศัยในการดำรงค์ชีวิตเท่านั้น
แต่รู้หรือไม่ว่าแมงกระพรุนตัวใสๆ ที่เราเห็นนั้น สืบเชื้อสายมาจากสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงมายาวนานกว่า 600 ล้านปี
ฟอสซิลรูปวงรีนี้เป็นเพียงสิ่งที่เหลืออยู่ของแมงกะพรุนที่เกยตื้นบนชายหาดเมื่อ 540 ล้านปีก่อน ซึ่งมีเหตุการณ์แมงกะพรุนเกยตื้นจำนวนมาก
Credit : livescience .com
แมงกะพรุนอยู่ในไฟลัมที่เรียกว่า ซีเลนเทอราตา (Cnidaria) ไฟลัมนี้ประกอบด้วยสัตว์หลากหลายชนิด ซึ่งเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซีเลนเทอราตามีปากตรงกลางล้อมรอบด้วยหนวดซึ่งมีเซลล์ที่มีพิษ เรียกว่า เนมาโทซิสต์ (Nematocysts) มีลักษณะเป็นกระเปาะ ภายในมีเข็มพิษ ใช้ในการล่าเหยื่อและป้องกันตัว หนวดยาวใช้ในการจับเหยื่อซึ่งจะเอาไว้ดึงเหยื่อเข้าไปในปากและกัดกิน
ซากดึกดำบรรพ์ของแมงกะพรุนที่เกยตื้นส่วนใหญ่ที่รู้จักกันนั้น มีอายุย้อนไปถึงยุคแคมเบรียน (Cambrian) โดยยุคนั้น แมงกะพรุนเป็นที่รู้จักจากการศึกษาหาข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสัตว์กินเนื้อและเป็นสัตว์นักล่าที่น่ากลัวที่สุดในยุคพาลีโอโซอิกตอนต้น (Paleozoic era)
ฟอสซิลแมงกะพรุนตัวนี้น่าจะถูกฝังอยู่ในทรายหลังจากที่เกยตื้น ร่างของมันพังทลายลง และซากถูกเก็บรักษาไว้ในตะกอนที่อุดมด้วยจุลินทรีย์
Credit : livescience .com
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปะการัง ดอกไม้ทะเล และแมงกะพรุน ล้วนสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษร่วมกันซึ่งมีลักษณะดั่งเช่นในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะแมงกะพรุนที่พบมีมากมายหลายพันชนิด พวกมันอาศัยอยู่ในทะเลขั้วโลกเช่นเดียวกับทะเลในเขตร้อน พบได้ในทะเลน้ำตื้นและทะเลที่ระดับความลึกมาก เชื่อกันว่ามีแมงกะพรุนมีอีกหลายแสนชนิด แต่มีเพียงไม่กี่ตัวอย่างฟอสซิลเท่านั้นที่ได้รับการเก็บรักษาไว้ในบันทึกฟอสซิล
วงจรชีวิตแมงกะพรุน
Credit : thoughtco .com
ปัจจุบันการสืบพันธุ์ของแมงกะพรุน มี 2 แบบ ได้แก่ แบบอาศัยเพศ และแบบไม่อาศัยเพศ โดยแบบอาศัยเพศจะเกิดขึ้นหลังจากไข่และน้ำเชื้อทำการผสมกัน จากนั้นจะพัฒนาเป็นตัวอ่อนที่มีขนรอบๆ ตัว เราเรียกระยะนี้ว่า ระยะพลาลูล่า (Planula) ซึ่งตัวอ่อนจะดำดิ่งลงพื้น และคืบคลานไปหาจุดที่เหมาะสมและพัฒนารูปร่างให้คล้ายกับดอกไม้ทะเล มีปากและหนวดด้านบน ซึ่งเราเรียกระยะนี้ว่า ระยะโพลิป (Polyp) จากนั้นจะมีการแตกหน่อออกไปเป็นชั้นๆ ซึ่งระยะนี้เรียกว่า ระยะสโตรบิล่า (Strobila) และแมงกะกรุนจะหลุดออกไปเป็นตัวๆ เป็นแมงกะพรุนขนาดเล็ก หรือระยะอีไฟร่า (Ephyra) หลังจากนั้น ก็จะเริ่มคว่ำลำตัวลง โดยเอาหนวดลงด้านล่าง เราเรียกระยะนี้ว่า ระยะเมดูซ่า (Medusa) แล้วหลังจากนั้นเหล่าแมงกะพรุนจะเติบโตขึ้นจนกลายเป็นแมงกะพรุนขนาดใหญ่ต่อไป
สำหรับสิ่งมีชีวิตและสัตว์ต่างๆ ที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่บนโลกในปัจจุบัน ล้วนถูกส่งต่อยีนส์ ดีเอ็นเอ และพันธุ์กรรม มาจากสิ่งมีชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์มากมายหลายชนิด ทั้งนี้ต่างก็มีการเปลี่ยนรูปลักษณ์และโครงสร้างร่างกายทั้งภายในและภายนอก เพื่อปรับตัวต่อการมีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบันให้ง่ายดายมากขึ้น
อย่างไรก็ตามนักบรรพชีวินวิทยาบางคนเชื่อว่า แม้จะไม่มีเหตุการณ์ลูกอุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลก ไดโนเสาร์ ก็ยังจะสูญพันธุ์ไปก่อนยุคของมนุษย์เราอยู่ดี เนื่องจากต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงในช่วงใกล้จบยุคครีเทเชียส เพราะคาดว่าพวกมันไม่มีความสามารถในการปรับตัวเท่ากับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กำลังขยายจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน โดยจำนวนไดโนเสาร์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้าเหตุการณ์อุกกาบาตตกลงมายังโลกก่อนหน้าถึง 40 ล้านปี หรือ หากพวกมันยังคงมีชีวิตอยู่ ไดโนเสาร์ จะสามารถดำรงเผ่าพันธุ์และปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการมาเป็นสัตว์ที่สามารถมีชีวิตร่วมกับยุคของมนุษย์เราในวันนี้ได้
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
discovermagazine .com
thoughtco .com
livescience .com
smithsonianmag .com
sciencenews .org
sturgeonfest .org
digitalatlasofancientlife .org
seacoastscience .com
livescience .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO