Folding Furniture

เฟอร์นิเจอร์… พับ

โอริกามิ การพับกระดาษที่เป็นศาสตร์หนึ่งของงานศิลปะ นอกจากความสวยงามแล้ว ยังสามารถเลือกนำเอาหลักการ หรือแม้แต่รูปทรงจากการพับมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบในแขนงอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นตัวเข้ามาช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์จนเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
งานศิลปะมักมีความยืดหยุ่น ถึงแม้จะต่างประเภทกันแต่ก็สามารถประยุกต์เข้าหากันได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เช่นเดียวกับศาสตร์การพับกระดาษโอริกามิที่ถูกนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ จนกลายเป็นการผสมผสานที่น่าติดตามมากเลยทีเดียว
จากแนวคิดของการพับกระดาษที่โดดเด่นในส่วนของรอยพับที่นักออกแบบมักเลือกนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน ยังมีในส่วนของคุณสมบัติของการพับที่ถูกเลือกนำมาเป็นแรงบันดาลใจด้วยเช่นกัน กระดาษที่เคยเป็นแผ่นใหญ่ถูกทำให้เป็นรูปทรงที่เล็กลง และรูปทรงที่ได้จากการพับก็ยังสามารถคลี่ออกมากลายเป็นแผ่นใหญ่เช่นเดิมได้ แนวคิดนี้ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งประดิษฐ์ จนกลายมาเป็นตัวช่วยเสริมฟังก์ชันให้กับเฟอร์นิเจอร์ เช่นการออกแบบให้เฟอร์นิเจอร์สามารถพับเก็บได้ ซึ่งเป็นการลดพื้นที่การใช้งานอย่างแยบยล

Oru – Aljoud Lootah

Credit : archipanic
The Oru Series เป็นคอลเลกชันของเฟอร์นิเจอร์รูปทรงเรขาคณิตที่ถูกออกแบบโดย Aljoud Lootah ดีไซเนอร์รุ่นเยาว์จากประเทศดูไบ เธอมีความสนใจอย่างมากในแนวคิดเรื่องความแตกต่างระหว่างรูปแบบและการใช้งาน Aljoud Lootah เคย มีผลงานที่โดดเด่นในเรื่องของการผสมผสานภาพเงาแบบดั้งเดิม และเธอมีแนวคิดที่อยากจะออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้มีองค์ประกอบที่ทันสมัย โอริกามิจึงเข้ากับแนวคิดในการออกแบบของเธอ ทั้งรูปแบบของการพับกระดาษ และรูปทรงเรขาคณิตจึงกลายมาเป็นหัวใจของแรงบันดาลใจในการออกแบบครั้งนี้
Credit : archipanic
The Oru Series ประกอบไปด้วยโคมไฟตั้งโต๊ะ เก้าอี้ กระจกตกแต่ง และตู้ที่มีชั้นวางของแบบบานเปลือย ซึ่งทั้งหมดได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะการพับกระดาษแบบญี่ปุ่นโบราณหรือที่เรียกว่าโอริกามิ โดยชื่อ “Oru” (Kanji : 織る / Hiragana : おる) มาจากคำภาษาญี่ปุ่นที่ แปลว่า พับ แนวคิดในการออกแบบของดีไซน์เนอร์คือต้องการแสดงให้เห็นว่า การพับกระดาษแบบเรียบที่เรามักมองเห็นเป็น 2 มิตินั้น สามารถนำมาประยุกต์สร้างรูปแบบให้เกิดเป็นสามมิติและยังใช้งานได้จริง นอกจากนี้ในเรื่องของความสวยงามยังทำออกมาได้แปลกใหม่ เป็นที่น่าดึงดูดเหมาะสำหรับผู้ที่รักในการตกแต่งภายใน ที่ชอบในรูปแบบที่ทันสมัยและดูแตกต่าง

Playtime Collection – Ying Zhang and Ida Thonsgaard

Credit : fubiz.net
Playtime Collection เฟอร์นิเจอร์พับได้ที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์สองคนจากเบอร์ลิน Ying Zhang และ Ida Thonsgaard พวกเขาเปลี่ยนการประกอบ DIY ให้กลายเป็นเรื่องที่มีสีสัน ด้วยการสร้างชุดเฟอร์นิเจอร์ที่สลับซับซ้อน โดยมีแนวคิดเบื้องหลังมาจากความต้องการทำให้การตกแต่งภายในเป็นเรื่องที่สนุกสนาน และสามารถประกอบได้ง่ายทำได้ด้วยตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นระบบสร้างสรรค์ที่ให้ผู้ใช้งานได้ทำเก้าอี้หรือโต๊ะขนาดเล็ก ที่ชวนให้นึกถึงศิลปะการพับกระดาษนั่นเอง
Credit : quietyell
Playtime Collection ประกอบไปด้วยของตกแต่งภายในได้แก่ เก้าอี้ และโต๊ะ ความพิเศษคือเมื่อไม่ใช้งาน เฟอร์นิเจอร์จะสามารถวางราบเรียบกับพื้นเสมือนกับกระดาษ แต่เมื่อนำมาพับประกอบกันแล้ว กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีรายละเอียดสวยงามและมีมุมมองที่แตกต่างกัน

Chair-igami – Yanko Design

Credit : yankodesign
Chair-igami หนึ่งในเฟอร์นิเจอร์ที่มีคอนเซ็ปตรงไปตามชื่อของตัวมันเอง นั่นคือการพับกระดาษแบบโอริกามิ ถูกนำมาเป็นแรงบัลดาลใจในการสร้างสรรค์ ผลงานชิ้นนี้ถูกออกแบบโดย Uria Graver โดยมีแนวคิดให้รูปทรงง่ายๆที่เกิดจากการพับกระดาษ สามารถแปลงไปเป็นประติมากรรมที่มีดีไซน์สุดคูลได้ และยังนำมาใช้งานได้จริงอีกด้วย
Credit : yankodesign
Chair-igami เป็นเก้าอี้นั่งโลหะที่มีดีไซน์เฉียบคมด้วยทรงเรขาคณิตสามมิติ ออกแบบมาเพื่อรองรับร่างกายของมนุษย์ได้อย่างลงตัว ซึ่งรูปแบบมาจากการตัดทอนรอยพับกระดาษให้มีจำนวนน้อยที่สุด จะเห็นได้ว่ามีการออกแบบรูปทรงให้มีลักษณะเหมือนสันกระดาษเวลาถูกพับ ซึ่งเกิดจากการเน้นใช้เส้นตรงเป็นตัวนำสายตา โดยยิงจากขอบมาสู่บริเวณกึ่งกลางที่เป็นจุดรับน้ำหนักพอดี เป็นการตอกย้ำลวดลายการพับที่ให้ความรู้สึกที่ดูเฉียบและมั่นคง ในส่วนของขาเก้าอี้ใช้ตัวโครงสร้างที่เป็นวัสดุมาจากท่อโลหะ ถูกออกแบบให้มีรูปทรงรับกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจุดนี้เป็นส่วนช่วยให้ฐานของเก้าอี้แข็งแรง

Origami kinetic Table – Haeyoung Kim

Credit : parametrichouse
Origami kinetic Table เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่นอกจากจะเล็งเห็นถึงรูปทรงของการพับที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังนึกถึงคุณสมบัติที่มีประโยชน์ซึ่งได้มาจากการพับกระดาษอีกด้วย เพราะกระดาษประกอบด้วยเส้นใยที่พันกันอยู่จำนวนมาก และสิ่งนี้ก็เป็นตัวช่วยทำให้มันสามารถอยู่ด้วยกันได้โดยไม่ต้องใช้สื่ออื่นๆเพิ่มเติม และการพับกระดาษที่สร้างรูปร่างได้ด้วยตัวของมันเองโดยไม่เกิดรอยต่อ จึงเป็นแนวคิดให้ Haeyoung Kim นักออกแบบชาวเกาหลีใต้ เลือกนำการพับกระดาษมาใช้ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์
Credit : parametrichouse
การทำความเข้าใจคุณลักษณะของกระดาษเป็นสิ่งสำคัญในการทำเฟอร์นิเจอร์แบบพับและแบบปรับเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องใช้กาว หรือรอยต่อ การกระจายน้ำหนักจะเป็นไปตามรูปทรงเรขาคณิต ดีไซน์เนอร์ออกแบบฐานโต๊ะให้มีการบีบอัดที่ซับซ้อน ซึ่งมาจากโครงสร้างการพับแบบ Origami และพวกมันสามารถเปลี่ยนรูปเพื่อเป็นการกระจายน้ำหนักได้ เช่นเมื่อต้องการใช้งาน Origami kinetic Table กับวัตถุที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ก็สามารถปรับเปลี่ยนการพับตัวฐานโต๊ะเป็นรูปทรงอื่นที่รองรับน้ำหนักเยอะๆได้นั่นเอง

Origami Bench by blackLAB architects

Credit : design-milk
Origami Bench เป็นชุดม้านั่งที่ออกแบบโดยสถาปนิกจาก BlackLAB ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นที่นั่งสำหรับสาธารณะ มีแนวความคิดมาจากการพับโอริกามิ ถูกนำมาใช้ในการเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้าง ตัวม้านั่งทำจากไม้อัด baltic birch ที่ใช้วิธีเชื่อมต่อกันด้วยบานพับ วัสดุด้านบนใช้เป็นลามิเนตสีขาว โดยมีรูปทรงเป็นแนวระนาบ ในแต่ละแผ่นสามารถพับเข้าหากันได้ แผ่นไม้เหล่านี้ถูกวางอยู่บนขาเหล็กทรงท่อที่มีความแข็งแรง ด้วยความที่สามารถพับให้เกิดเหลี่ยมมุมได้ จึงทำให้แผ่นไม้รับกับขาตั้งได้อย่างมั่นคง
Credit : design-milk
การพับกระดาษคือความซับซ้อนของรูปร่างรูปทรงเชิงเรขาคณิต งานออกแบบในสไตล์โอริกามิจึงเป็นการผสมผสานระหว่างการคิดคำนวณและจินตนาการ เพราะนอกจากความสวยงามแล้ว ดีไซน์เนอร์ต้องคำนึงถึงการใช้งาน เพราะม้านั่งในลักษณะนี้ยิ่งถูกวางมาเพื่อเป็นของสาธารณะ คงจะมีผู้ใช้งานในเวลาเดียวกันมากกว่าหนึ่งคน ความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน หลักการค้ำและกระจายน้ำหนักจึงได้ถูกนำมาศึกษาเป็นอย่างดีก่อนทำการออกแบบ

ORIGAMI Coffee table – Svyatoslav Boyarancev

Credit : kronodesigners
ORIGAMI coffee table เป็นผลงานการสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์ที่ผสมผสานการใช้งานเข้ากับนวัตกรรม โต๊ะกาแฟที่ถูกออกแบบให้มีฟังก์ชันเสริมอย่างช่องวางหนังสือและนิตยสาร โดยไม่จำเป็นต้องมีชั้นวางนิตยสารและโต๊ะกาแฟแยก และเป็นการหลีกเลี่ยงการต้องเชื่อมต่อของวัสดุชิ้นอื่นๆอย่างชาญฉลาด นักออกแบบคือ Svyatoslav Boyarancev เป็นช่างเฟอร์นิเจอร์และนักออกแบบอิสระชาวรัสเซีย สไตล์งานของเขามีรูปลักษณ์และโทนสีที่โดดเด่น โดยเน้นการใช้เส้นตัดให้เกิดขอบสันจนเป็นเอกลักษณ์ และยังมีรูปแบบที่เรียบง่ายดูสะอาดหมดจด ซึ่งผลงานชิ้นนี้ของเขาจึงได้รับแรงบันดาลใจจาก origami
Credit : kronodesigners
ดีไซน์เนอร์ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่จัดเก็บหนังสือให้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยการคิดค้นให้โต๊ะกาแฟเกิดช่องใส่หนังสือโดยไม่ต้องมีพื้นผิวด้านบนที่แยกจากกันสองส่วน และยังมีดีไซน์ที่แปลกใหม่หน้าตาคล้ายๆ กับกระดาษที่ถูกพับอยู่ มีขาโต๊ะที่ค่อนข้างเล็กซ่อนอยู่ด้านใต้จนมองผิวเผินแล้วเหมือนกับกระดาษที่พับอยู่จริงๆ ความพิเศษอยู่ที่การออกแบบให้ท็อปโต๊ะเกิดเป็นร่องลงไปบริเวณกึ่งกลาง เพื่อสามารถเสียบหนังสือหรือนิตยสารได้ เรียกได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนที่ดูเล็กน้อยแต่ทำให้เฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้แปลกตาและโดดเด่นขึ้นมาอย่างมากเลยทีเดียว
เป็นเรื่องที่เกินคาดคิดว่าการพับกระดาษแบบโอริกามิ จะสามารถสร้างสรรค์และพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายใน ที่มีรูปแบบที่แปลกใหม่และยังใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดก็เกิดมาจากการที่นักออกแบบได้เล็งเห็นศักยภาพของการพับกระดาษ ที่จะสามารถกลายเป็นทุกอย่างได้ตามที่จินตนาการ
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Archipanic .com
fubiz .net
parametrichouse .com
kronodesigners.wordpress .com
design-milk .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO